อาจารย์ นพ. จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี
กรรมการฝ่ายสื่อสารองค์กร สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
- การรักษาโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด และโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ต่อเนื่องด้วยยา
- การใช้ยารักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคหืด ควรใช้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเพื่อคุมอาการป้องกันโรคกำเริบ เช่น ยาสูดพ่นสเตียรอยด์ ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ โดยเฉพาะในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศปริมาณสูง
- ในช่วงมลพิษทางอากาศปริมาณสูงอาจทำให้ผู้ป่วยโรคหืดกำเริบได้ง่าย หากผู้ป่วยโรคหืดมีอาการกำเริบ พ่นยาชนิดฉุกเฉินแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบมาโรงพยาบาล รวมถึงโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อาจมีภาวะแทรกซ้อนเป็นโพรงไซนัสอักเสบติดเชื้อได้
- การรักษาป้องกันเสริมอื่น ๆ ด้วยยาหรือสารในอาหาร
- ยาต้านการอักเสบ เช่น ยาสูดพ่นชนิดคอติโคเสตียรอยด์ลดการอักเสบของหลอดลมได้ ยา Selective CXCR2 antagonist สามารถลดการอักเสบของหลอดลมชนิดนิวโทรฟิลได้
- สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แอลฟ่าโตโคฟีรอล (α-tocopherol) และวิตามินซี มีหลักฐานว่าสามารถป้องกันการลดลงของสมรรถภาพปอดจากก๊าซโอโซนได้ สารซัลโฟราเฟน (Sulforafane) ที่พบในผักบร๊อคโคลี่ มีข้อมูลว่าลดอาการอักเสบได้ และลดการผลิต IgE ได้
- ควรแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ตนเองแพ้อย่างจริงจัง เพราะมลพิษทางอากาศจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่มากยิ่งขึ้น แม้จะสูดดมสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณเท่าเดิม หากผู้ป่วยยังไม่ทราบว่าตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด สามารถตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ได้ด้วยวิธี ตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) หรือการเจาะเลือดส่งตรวจ specific IgE ต่อสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ เช่น หากผู้ป่วยตรวจพบการแพ้ต่อมูลโปรตีนไรฝุ่น ควรแนะนำให้ผู้ป่วย ใช้ผ้าปูกันไรฝุ่น ลดการใช้พรม ทำความสะอาดด้วยวิธีดูดฝุ่น ซักผ้าปูด้วยน้ำอุณหภูมิสูง จะช่วยให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นได้
- ซักประวัติอาชีพ และประวัติการสัมผัสมลพิษของผู้ป่วยเสมอ หากพบประวัติที่มีความเสี่ยงดังกล่าว เช่น ประกอบอาชีพแม่ค้าขายหมูปิ้ง หรือเป็นแม่ครัวที่ยังประกอบอาหารด้วยวิธีการเผาไหม้หรือกำเนิดควัน บุคลากรทางการแพทย์ควรแนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆ อาจช่วยลดการเกิดโรคหืดกำเริบ หรือลดการเกิดโรคหืดในผู้ป่วยรายใหม่ได้
- ร่วมรณรงค์ลดการเกิด Climate change ภาวะโลกร้อน โดยอธิบายให้ผู้ป่วย และสังคมตระหนักถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อน ในวงกว้าง และแนะนำวิธีการประหยัดพลังงาน และการนำวัสดุต่างๆกลับมาใช้ใหม่ (recycle)
.
ที่มา : สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย