CIMjournal
banner ภูมิแพ้ผู้ใหญ่ 2

Non-Pharmacological Treatments for Asthma

 

ศ. พญ. อรพรรณ โพชนุกูล
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้โรคหืดและระบบหายใจ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ถึงแม้ว่าการรักษาโรคหืดด้วยยามีความสำคัญในการป้องกันอาการหืดกำเริบ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังต้องการการดูแลรักษาที่มากกว่าการใช้ยาเพื่อทำให้สามารถควบคุมอาการได้ดี และลดการใช้ยาได้ ในแนวทางการรักษาโรคหืดทั่วโลกก็ให้ความสำคัญเรื่องการรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และการรักษาทางเลือก เป็นต้น ดังนั้น การรักษาโดยไม่ใช้ยาจึงมีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง และทีมผู้ดูแลที่ควรมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติและแนะนำผู้ป่วยต่อไป


การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายมีความสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจและสมรรถภาพปอด การออกกำลังกายทำได้หลายแบบ เช่น ว่ายน้ำ วิ่งลู่ ปั่นจักรยาน โยคะหรือไทชิชี่กง มีหลักฐานว่า ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคหืดได้ดีขึ้น มีความสามารถในการออกกำลังกายสูงขึ้น และทนทานในการออกกำลังกายมากขึ้น ทำให้เพิ่มสมรรถภาพปอด อาการหอบเหนื่อยลดลง และคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยทั่วไปการออกกำลังกายที่เหมาะสม ควรทำอย่างน้อย 5 – 7 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20 – 30 นาที ต่อเนื่อง 6 – 8 สัปดาห์ขึ้นไป จึงสามารถเห็นผลชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหืดกำเริบจากการออกกำลังกาย ซึ่งจะเกิดอาการหลังการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือการออกกำลังกายระยะเวลานาน หรือในบางรายเกิดอาการ แม้กระทั่งการออกแรงเล็กน้อย เรียกภาวะดังกล่าวว่า ภาวะหลอดลมหดเกร็งจากการออกกำลัง (Exercise-Induced Asthma หรือ Bronchoconstriction) เกิดจากการที่หลอดลมหดเกร็งทำให้มีขนาดเล็กลงเฉียบพลันในขณะออกกำลัง ภาวะนี้พบได้จำนวนมากในผู้ป่วยโรคหืด แต่ก็สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่ไม่เคยวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดมาก่อนก็ได้ ทำให้ผู้ป่วยหลายรายหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย เพราะกลัวหืดกำเริบ ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดคือ ไม่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอเพราะมีผลระยะยาวที่สามารถลดอาการของโรคได้ แต่ควรมีการเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนออกกำลังกาย ดังนี้

  • การวอร์ม หรืออบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย (warm-up) และการค่อย ๆ ผ่อนแรง (cooling down) หลังออกกำลังกายจะช่วยป้องกันการกำเริบได้
  • การพ่นยาขยายหลอดลมก่อนการออกกำลังกายจะช่วยควบคุมและป้องกันการกำเริบจากการออกกำลังได้ โดยแนะนำให้ใช้ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็ว เช่น salbutamol หรือ formoterol พ่น 15 นาทีก่อนออกกำลัง จะช่วยลดการเกิดอาการหอบเหนื่อยและยังสามารถใช้พ่นซ้ำเพื่อบรรเทาอาการได้ หากเกิดอาการในระหว่าง หรือหลังออกกำลัง
  • กรณีระหว่างออกกำลังกายแล้วได้ยินเสียงหายใจผิดปกติ หายใจแรง ไอเป็นชุด ๆ หรือเหนื่อยจนเกินไป ให้ค่อย ๆ ผ่อนแรงให้น้อยลง จนค่อย ๆ หยุดออกกำลัง หากยังคงมีอาการอยู่ให้ใช้ยาพ่นขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการหอบเหนื่อย และหากยังคงมีอาการควรรีบปรึกษาแพทย์หยุดพักการออกกำลังกายไปก่อนแล้วพ่นยาขยายหลอดลม หากยังเกิดอาการหอบในระหว่างการออกกำลัง (สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับ asthma action plan ได้ที่ application ชื่อ asthma care ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีในมือถือ iOS และ Android)
    นอกจากนี้ ควรแนะนำผู้ป่วยให้ฝึกการหายใจ (Breathing exercise) อาศัยหลักการ ได้แก่ การลดอัตราการหายใจ การลดปริมาตรของการหายใจแต่ละครั้ง เพิ่มการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้อด้านข้างทรวงอก ใช้จมูกในการหายใจ ผ่อนคลาย จากการศึกษาพบว่า สามารถลดอาการหอบเหนื่อย ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น อีกทั้งช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียดทางอารมณ์ได้อีกด้วย โดยแนะนำให้ทำในช่วงที่มีอาการหืดกำเริบ ยังคงมีอาการหอบเหนื่อยหรือทำในช่วงปกติก็ได้


การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

การหลีกเลี่ยงสิ่งก่อภูมิแพ้มีความสำคัญมากในการรักษาซึ่งควรทำควบคู่ไปกับการใช้ยา โดยสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสัตว์และเกสรหญ้า นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงมลภาวะในบ้าน หรือที่ทำงาน เช่น ควันบุหรี่ หรือควันธูป หรือมลภาวะนอกบ้าน เช่น มลพิษทางอากาศจากควันรถ และฝุ่นละอองขนาดเล็กบนท้องถนน ข้อแนะนำในการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยมีดังนี้

  • การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่น
    • ใช้ผ้าคลุมกันไรฝุ่นคลุมที่นอน ปลอกหมอน และหมอนข้างโดยผ้าที่แนะนำให้ใช้ควรมีขนาดของรูน้อยกว่า 10 ไมโครเมตร
    • ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มด้วยน้ำร้อน อุณหภูมิมากกว่า 55 องศาเซลเซียสทุก 1 – 2 สัปดาห์ โดยความร้อนจะสามารถลดความเข้มข้นของสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นได้ถึงร้อยละ 90 การซักล้างด้วย อุณหภูมิปกติถึงแม้ไม่ได้ฆ่าไรฝุ่น แต่สามารถชะล้างฝุ่น และสารก่อภูมิแพ้ออกได้ ยกเว้นการซักแห้งอาจทำลายตัวไรฝุ่นได้ การแช่ในช่องทำน้ำแข็งภายในตู้เย็นนาน 1 คืนก็สามารถทำลายตัวไรได้เหมือนกัน ดังนั้น แนะนำให้เอาตุ๊กตา หรือของเล่นที่เป็นเส้นใยใส่ถุงพลาสติกแช่ในช่องแข็ง ก่อนทำความสะอาดเพื่อเอาสารก่อภูมิแพ้ออก
    • ถึงแม้ว่าการนำที่นอนออกตากแดดไม่สามารถฆ่าตัวไรฝุ่นได้ แต่อย่างไรก็ตาม การนำที่นอนออกผึ่งแดดยังคงแนะนำให้ปฏิบัติอยู่ เพราะเป็นการลดความชื้นในฟูก ช่วยทำให้เชื้อราซึ่งเป็นอาหารอย่างหนึ่งของไรฝุ่นลดลงและการตากแดดเกิน 5 ชั่วโมงทำให้ไข่ของไรฝุ่นฝ่อได้
    • ทำความสะอาดบ้านโดยใช้ที่ดูดฝุ่นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ไม่มีข้อสรุปชัดเจนถึงประสิทธิภาพของการขจัดไรฝุ่น เช็ดถูเครื่องใช้ในบ้านด้วยผ้าชุบน้ำเปียกพอหมาด
    • จัดห้องให้โล่ง ห้องนอนไม่ควรมีพรม ม่าน ตุ๊กตา หรือหมอนหลาย ๆ ใบ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของตัวไรฝุ่น
    • ใช้เครื่องลดความชื้นกรณีที่ห้องชื้น เนื่องจากไรฝุ่นชอบอากาศชื้น
    • การใช้เครื่องฟอกอากาศไม่ค่อยช่วยในการลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นมีขนาดมากกว่า 10 ไมครอน จึงลอยอยู่ในอากาศได้ไม่เกิน 30 นาที ดังนั้น ผลของการใช้เครื่องฟอกอากาศในการลดอาการโรคหืดยังไม่ชัดเจนนัก
    • การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบ
    • ขจัดแหล่งอาหารของแมลงสาบโดยนำขยะและเศษอาหารใส่ในถุง หรือถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
    • ทำความสะอาดพื้นบ้านบ่อย ๆ เพื่อเป็นการลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบ และขจัดแหล่งอาหารของแมลงสาบ
    • ใช้ยาฆ่าแมลงสาบด้วยสารเคมี ได้แก่ abamectin, hydromethylnon และ pyrethrin นอกจากนี้ ยังอาจขจัดด้วยเจล หรือกับดักแมลงสาบโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญ
  • การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากสุนัขและแมว
    • ไม่ควรเลี้ยงแมวและสุนัข หรือถ้าเลี้ยงควรให้อยู่นอกบ้าน แต่เนื่องจากผู้ป่วยที่แพ้ขนแมวส่วนหนึ่งไม่ได้เลี้ยงแมว และการแพ้มักเกิดจากสัมผัสขนแมวจากเพื่อนที่โรงเรียน ดังนั้น บางครั้งถึงแม้ผู้ป่วยไม่ได้เลี้ยงแมวก็ยังอาจแพ้สารก่อภูมิแพ้จากแมวได้ นอกจากนี้ ยังพบว่า การนำแมวออกจากบ้านต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 – 24 เดือนจึงจะสามารถลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • อาบน้ำสุนัข หรือแมวอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์
    • การทำความสะอาดบ้านโดยการเช็ดถูด้วยผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ทำให้สามารถขจัดสารก่อภูมิแพ้ได้ดี เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้จากขนสัตว์สามารถละลายน้ำได้ดี ดังนั้น การซักล้างเครื่องนอนทุก 1 – 2 สัปดาห์ก็สามารถขจัดสารก่อภูมิแพ้ได้
    • การใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีตัวกรองประสิทธิภาพสูง (high efficiency particulate air หรือ HEPA filter) สามารถกรองสารก่อภูมิแพ้จากแมว และสุนัขที่ล่องลอยอยู่ในอากาศได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้เครื่องฟอกอากาศในการลดอาการของผู้ป่วยโรคหืดที่แพ้แมว และ/หรือสุนัข ยังไม่ชัดเจนนัก
  • การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากละอองเกสร
    • พยายามปิดหน้าต่างบ้านเพื่อไม่ให้ละอองเกสรปลิวเข้ามาในบ้าน นอกจากนี้ แนะนำให้พยายามหลีกเลี่ยงการเล่นข้างนอกช่วงเที่ยงถึงบ่าย เพราะเป็นช่วงที่มีละอองเกสรเยอะ


การหยุดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่

ผลของบุหรี่ทำให้เกิดอาการหืดกำเริบ ไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ และผู้ป่วยอาจกลายเป็นหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังร่วมด้วยได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดทุกรายควรหยุดสูบบุหรี่ และแนะนำให้คนในครอบครัวหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ในบ้าน หรือในรถ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีกลิ่น หรือควันบุหรี่


การลดน้ำหนัก

ภาวะอ้วนมีผลทำให้เกิดการอักเสบจากการเพิ่มขึ้นของ adipocytokines ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบที่สำคัญคือ leptin และกลไกทางกายภาพ โดยขนาดของต่อมไขมันที่มากเกินไปจะกดการทำงานของกระบังลม และทำให้ขนาดของปอดเล็กลง สำหรับระดับ leptin ในซีรั่มนั้นมีความสัมพันธ์กับ Th1/Th2 cell ratio และ IFN-γ ที่สูงขึ้น ดังนั้น มีผลทำให้เกิดการอักเสบชนิด nonatopic airway inflammation ทำให้ตอบสนองไม่ดีต่อการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นสูด นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อน และภาวะนอนกรนจนหยุดหายใจขณะนอนหลับ (GERD และ OSA) ซึ่งทำให้อาการหืดกำเริบได้ หากสามารถลดน้ำหนักลงได้เกินร้อยละ 10 จากเดิม จะช่วยให้ควบคุมโรคหืดได้ดีขึ้น และสมรรถภาพปอดดีขึ้น และใช้ยาลดลงได้ด้วย


อาหาร

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดควรได้รับคำแนะนำให้รับประทานอาหารที่เป็น antioxidants ได้แก่ อาหารประเภทปลา กรดไม่มันชนิดไม่อิ่มตัว และผัก ผลไม้ ที่มีวิตามินอี ซี เอ ดี ซิงค์ โดยเฉพาะวิตามินดี มีการศึกษาค่อนข้างมากว่ามีผลต่อความรุนแรงของโรคหืด โดยพบว่า ภาวะวิตามินดีในเลือดต่ำเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหืดกำเริบ (acute asthmatic attack) ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จาก systematic analysis and cochrane review เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องการเสริมวิตามินดีในผู้ป่วยโรคหืด ได้รวบรวมงานวิจัยชนิด double blind, randomized, placebo-controlled trial ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบว่า การเสริมวิตามินดีช่วยลดการเกิดหืดกำเริบรุนแรงที่ต้องได้รับยา systemic steroid (rate ratio 0.63, 95% CI 0.45 – 0.88) ลดการเกิดหืดกำเริบรุนแรงที่ต้องมาโรงพยาบาล หรือห้องฉุกเฉิน (relative risk 0.63) และการได้วิตามินดีเสริม มีโอกาสเกิดหืดกำเริบที่ต้องได้ systemic steroid น้อยกว่า ไม่ได้ วิตามินดีเสริม (Odd ratio 0.39) คือ ผู้ป่วยหืดกำเริบรุนแรงที่ต้องมาโรงพยาบาล หรือห้องฉุกเฉิน ได้วิตามินดีเสริมน้อยกว่า 0.39 เท่า โดยมี Number Needed to Treat หรือ NNT= 27 คือ ต้องเสริมวิตามินดีในผู้ป่วย 27 คน เพื่อป้องกันผู้ป่วย 1 ที่หืดกำเริบรุนแรงต้องมาโรงพยาบาล แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า การเสริมวิตามินดีไม่มีผลต่อสมรรถภาพปอด หรืออาการระหว่างวัน (asthma control test score)


วัคซีนภูมิแพ้

การบำบัดทางอิมมูนต่อสารก่อภูมิแพ้ (Allergen immunotherapy) เป็นวิธีการรักษาเดียวที่ไม่ใช่แค่เพียงประคับประคองตามอาการ ยังเป็นการรักษาที่สามารถเปลี่ยนแปลงการดำเนินโรคได้โดยปรับเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ลดปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่แพ้ได้ (immune tolerance)
ข้อบ่งชี้ของการรักษาโดยวิธีนี้คือ

  1. ผู้ป่วยที่เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ จมูกอักเสบ หรือโรคหืด เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ชัดเจน ทั้งนี้ ต้องมีหลักฐานว่า มี sensitization (serum specific IgE หรือ skin prick test ให้ผลบวก) ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น
  2. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ จมูกอักเสบ หรือโรคหืดที่แพ้ละอองเกสรหญ้าหรือดอกไม้ที่มีอาการมากและหลีกเลี่ยงยาก
  3. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ จมูกอักเสบ ที่มีอาการของโรคหืดร่วมด้วย
  4. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ จมูกอักเสบ ที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วย H1-antihistamine และ topical corticosteroid ขนาดกลาง
  5. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ จมูกอักเสบ หรือโรคหืด ที่ไม่ต้องการใช้ยาควบคุม
    อาการต่อเนื่องระยะยาว
  6. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ จมูกอักเสบ หรือโรคหืด ที่เกิดผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ในการรักษา
    การรักษาโดยวิธีนี้สามารถทำได้สองแบบ คือ ชนิดฉีด (subcutaneous immunotherapy: SCIT) และชนิดรับประทาน (sublingual immunotherapy: SLIT) แต่วัคซีนชนิดฉีดมีภาวะแทรกซ้อนเช่นเกิด anaphylaxis มากกว่า จึงไม่แนะนำให้ในผู้ป่วยที่ยังมีอาการหืดกำเริบหรือสมรรถภาพปอดที่ต่ำ แนวทางการรักษาโรคหืดในปัจจุบันแนะนำให้ SLIT ได้ในระดับ 3 หรือ 4 ของการรักษาระยะยาวในผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดร่วมกับโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่แพ้ไรฝุ่นและมีค่า FEV1 มากกว่า 70%


การให้วัคซีนป้องกันโรค

แนะนำให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีในผู้ป่วยที่มีอาการหืดรุนแรงระดับปานกลางขึ้นไป หรือตามข้อแนะนำสำหรับประชากรปกติ นอกจากนี้ ยังอาจพิจารณาให้วัคซีนในเด็กที่อยู่ในโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา หรือที่อยู่รวมกันมาก ๆ เพราะจะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้มาก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องการลดความเสี่ยงในการเกิดไข้หวัดใหญ่ ในต่างประเทศแนะนำให้ฉีดในเด็กทั่วไปทุกคนอายุ 6 เดือน – 18 ปี และผู้ดูแลเด็กที่อายุ < 5 ปีทุกคนด้วย เนื่องจากเด็กแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ง่าย และยังแนะนำให้ผู้สูงอายุที่อายุ > 50 ปีทุกคนด้วย สำหรับ pneumococcal vaccine นั้น อาจแนะนำให้ในผู้ป่วยโรคหืดที่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ แต่ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีไม่มากพอที่จะสรุปเป็นคำแนะนำในการให้วัคซีนชนิดนี้เในผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดทุกราย


Bronchial thermoplasty

เป็นการรักษาทางเลือกในระดับ 5 กรณีผู้ป่วยโรคหืดผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้แม้ว่าจะให้ยาขนาดสูงก็ตาม โดยการส่องกล้องและใช้ความร้อนประมาณ 55 – 65 องศาเซลเซียส ทำให้ขนาดของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมเล็กลงและลดการอักเสบ อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยวิธีนี้ยังใหม่อยู่มาก มีข้อมูลน้อย ราคาแพงมาก และยังไม่แพร่หลาย ดังนั้น คงต้องรอข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมต่อไป


การจัดการกับความเครียดและภาวะซึมเศร้า

ผู้ป่วยโรคหืดที่มีความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ มีผลทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคและหืดกำเริบได้ การศึกษาพบว่า ภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยที่มีอาการหืดรุนแรง หรือยากที่จะควบคุม (difficult to control asthma) จากการศึกษาพบว่า อุบัติการณ์ของโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคหืดสูงกว่าในคนทั่วไปถึง 6 เท่า ซึ่งกระทบต่อการควบคุมโรคหืดได้ ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินปัญหาทางจิตในผู้ป่วยและครอบครัว และควรสังเกตอาการของผู้ป่วยว่ามีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ ได้แก่ อาการเศร้า หงุดหงิด เบื่ออาหาร หดหู่ นอนไม่หลับ เป็นต้น ซึ่งอาจใช้แบบสอบถามของกรมสุขภาพจิต เช่น Center for Epidemiologic Studies Depression Scale (CES-D) score หรือหากสงสัยควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อประเมินภาวะความผิดปกติทางจิตใจและให้การรักษา ซึ่งหากเรารักษาภาวะนี้ก็สามารถทำให้อาการของโรคหืดดีขึ้น


การแพทย์ทางเลือก

ได้แก่ การฝังเข็ม และสมุนไพร สำหรับสมุนไพรไทยที่มีการศึกษาว่ามีฤทธิ์รักษาโรคหืด คือ สารสกัดจากไพล จากการศึกษาโดยอรพรรณและคณะ พบว่า สารสกัดไพลมีผลยับยั้งการคัดหลั่งฮิสตะมีน ลดการทำงานของ Matrix metalloproteinases (MMP-9) ในเซลล์ไฟโบรบลาสต์ (fibroblast) และลดการหลั่งมูก (mucin) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเกิดโรคหืด ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาในระยะที่ 2 (phase 2 study) สำหรับผู้ป่วยโรคหืดและโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก