CIMjournal
banner allergy ped

การป้องกันโรคหืดในเด็กและผู้ใหญ่ สามารถทำได้อย่างไรบ้าง


นพ. อธิพัฒน์ อธิพงษ์อาภรณ์นพ. อธิพัฒน์ อธิพงษ์อาภรณ์
กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

 

โรคหืด เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่มี Morbidity และ Mortality สูงทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง รวมถึงโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ดังนั้น การรักษาต้นตอของสิ่งเหล่านี้คือการ “ป้องกันโรค” ไม่ให้โรคเหล่านี้เกิดขึ้นและดำเนินต่อจนเกิดความเสียหายต่อร่างกายผู้ป่วย โดยการป้องกันโรคหืดในวัยเด็กสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนผู้ป่วยเด็กคลอด (Prenatal period) และหลังผู้ป่วยเด็กคลอด (Postnatal period) และการป้องกันโรคหืดในผู้ใหญ่ ปัจจุบันก็มีข้อมูลเพิ่มขึ้น ดังนี้


การป้องกันโรคหืดในเด็ก

ปัจจัยก่อนคลอดที่ทำให้ผู้ป่วยเด็กเป็นโรคหืด (Prenatal period)  
  1. การสัมผัส PM 2.5 ตั้งแต่ช่วงมารดาตั้งครรภ์ มีข้อมูลแบบ Birth cohort study ในประเทศจีน โดยเก็บข้อมูลเด็กประมาณ 30,325 ราย พบว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กเล็กมีอาการ Wheezing หรือเป็น Asthmaในปีแรกของชีวิตคือ การทีมารดาได้รับ 5 ตั้งครรภ์ (1) ซึ่งข้อมูลเป็นไปแนวทางเดียวกับงาสนวิจัยประเทศไต้หวันที่เก็บข้อมูลลักษณะ Birth cohort study จำนวนประชากร 184,604 ราย โดยมีข้อมูลเพิ่มเติมคือ ระยะเวลาที่มารดาตั้งครรภ์แล้วสัมผัสกับ PM2.5 ในช่วงอายุครรภ์ 6 – 22 สัปดาห์ เป็นช่วงที่เพิ่มความเสี่ยงให้เด็กเป็นโรคหืดมากที่สุด (2) และทั้งสองงานวิจัยนำเสนอข้อมูลที่สอดคล้องกันคือ เด็กทารกที่คลอดออกมา แล้วสัมผัสกับ PM2.5 ในช่วงขวบปีแรกของชีวิต เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหืด
  2. มารดาสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ เพิ่มการเกิดโรคหืดในเด็ก นอกจากนั้นยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิด Recurrent wheezing และการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างอีกด้วย (3)
  3. ปัจจัยด้านโภชนาการของมารดา พบว่า มารดาที่รับประทานอาหารที่เป็น cooked green vegetables จะเป็นปัจจัยป้องกันการเกิดโรค ส่วนมารดาที่รับประทานอาหารกลุ่ม เนื้อ (Meat) สูง จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิด Wheezing, ภูมิแพ้จมูก (Allergic rhinitis) และภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis), สำหรับวิตามินดี ข้อมูลปัจจุบันแนะนำในคนไข้ที่ขาดวิตามินดี จะเป็นป้จจัยป้องกันโรคหืดในลูก แต่มีหลายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าข้อมูลยังไม่ชัดเจน และอาหารกลุ่ม Omega3 fatty acid ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่ชัดเจน (4)
  4. ปัจจัยด้านการคลอด เกี่ยวกับการคลอดแบบผ่าตัดคลอด (Cesarean section) พบว่าข้อมูลจาก Metaanalysis พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหืด ทั้งการผ่าตัดคลอดแบบ Elective cesarean section หรือ Emergency cesarean section (5)


ปัจจัยหลังคลอดที่ทำให้ผู้ป่วยเด็กเป็นโรคหืด (Postnatal period)  

  1. การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศในเด็กเล็ก มีข้อมูลที่ศึกษาแบบ Cohort study โดยเก็บข้อมูลเด็กที่เป็นภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ทั้งภูมิแพ้จมูกและโรคหืด พบว่าการมี Sensitization ต่อไรฝุ่น รังแคสุนัขและแมว เพิ่มการเกิดภูมิแพ้จมูกและโรคหืด ส่วนการมี Sensitization ต่อหญ้าและรา เพิ่มโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้จมูกแบบมีนัยสำคัญทางสถิติ (6)
  2. ปัจจัยด้าน Gut microbiome พบว่ามี Microbiome บางสายพันธุ์ที่เป็นปัจจัยด้านการป้องกันโรคหืด เช่น Phylum Firmicutes, Streptococcus and Bacteroides species และการมี Microbiome บางชนิดลดลง Bifidobacterium species and Ruminococcus gnavus ซึ่งการมี Gut microbiome ที่ไม่สมดุลสัมพันธ์กับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมในวัยเด็ก ส่วนปัจจัยด้าน Lung microbiome พบว่าการมี Colonization ของ pneumoniae, H. influenzae หรือ M. catarrhalis เพิ่มความเสี่ยงการเกิด Recurrent wheezing (7)
  3. ปัจจัยด้านการติดเชื้อไวรัสในเด็กเล็ก มีข้อมูลจากหลายงานวิจัยพบว่า การติดเชื้อ Respiratory syncytial virus (RSV) หรือ Human Rhinovirus (HRV) เพิ่มโอกาสการเป็นโรคหืด และถ้าติดเชื้อทั้ง 2 ชนิด ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงสูงขึ้น (8) โดยปัจจัยอื่นที่มีผลร่วมกันคือปัจจัยด้านพันธุกรรม การมีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ และการติดเชื้อในเด็กอายุน้อย (9)


การป้องกันโรคหืดในผู้ใหญ่

  1. การป้องกันโรคหืดไม่ให้เกิดขึ้นในเด็ก สามารถป้องกันการเกิดโรคหืดในผู้ใหญ่ได้ เนื่องจากการดำเนินโรคของผู้ป่วยโรคหืดในเด็ก จะมีผู้ป่วยบางส่วนที่หายจากโรคแบบ Remission แต่ผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่ง ประมาณ 5 – 15% จะมีการกลับมาเป็นโรคหืดซ้ำตอนเป็นวัยรุ่นหรือเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งมีปัจจัยร่วมเช่น พันธุกรรม การมี Aeroallergen polysensitization การมีโรคร่วมเป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะ Eosinophilia ดังนั้นการป้องกันการเกิดโรคหืดในผู้ใหญ่ สิ่งหนึ่งที่สำคัญและมีข้อมูลชัดเจนคือการป้องกันการเกิดโรคหืดในเด็ก (10, 11)
  2. การรักษาโรคหืดในคุมได้ดีในวัยเด็ก จะส่งผลดีต่อการเกิดโรคหืดซ้ำในผู้ใหญ่ เช่น การรักษาโรคหืดให้สงบด้วย Controller รวมถึงการรักษา Severe asthma ด้วยการรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้โรคสงบและ remission จะทำให้ลดโอกาสการเกิดโรคหืดในผู้ใหญ่ (10, 11)
  3. การควบคุมสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงบุหรี่ หรือมลพิษกลุ่ม PM2.5 หรือการป้องกันการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเรณูของหญ้าปริมาณสูง เช่น เมื่อเกิด Thunderstorm asthma อาจป้องกันการเกิดหืดกำเริบรุนแรง หรือการเกิดโรคหืดครั้งแรกในผู้ป่วยแพ้หญ้าได้ (11)
  4. การป้องกันการเกิดโรคอ้วน เนื่องจากผู้ป่วยโรคอ้วนจะมี IL-6 สูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย และทำให้เกิด Lung function declines ได้ ดังนั้นการป้องกันโรคอ้วน จึงลดการเกิดการอับเสบในร่างกาย และลดโอกาสการเกิดโรคหืดได้ นอกจากนั้นโรคอ้วนยังเป็นโรคร่วมที่สำคัญของโรคหืด การป้องกันโรคอ้วนจึงเป็นทั้ง Primary prevention และ Secondary prevention ในโรคหืด (12)

จะเห็นได้ว่าข้อมูลในปัจจุบัน การป้องกันโรคหืดมีเพิ่มขึ้น แต่การป้องกันโรคหืดให้สำเร็จมีหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น การสูบบุหรี่ หรือการได้รับควันบุหรี่, การได้รับยาปฏิชีวนะในวัยเด็ก บางปัจจัยต้องอาศัยนโยบายระดับประเทศ เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่อง PM2.5 และบางปัจจัยอาจควบคุมไม่ได้ เช่น ปัจจัยด้านพันธุกรรม อย่างไรก็ดีในส่วนของปัจจัยที่ป้องกันได้ ควรเป็นปัจจัยที่ทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญ ควรปรับเปลี่ยนหรือหลีกเลี่ยงอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ลดการเกิดโรคหืด ที่เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็กหรือผู้ใหญ่ให้ลดลงมากที่สุด เพื่อส่งผลดีด้านสุขภาพของผู้ป่วยและทางเศรษฐศาสตร์สุขภาพของประเทศ

 

เอกสารอ้างอิง
    1. Zhang Y, Yin Z, Zhou P, Zhang L, Zhao Z, Norbäck D, et al. Early-life exposure to PM2.5 constituents and childhood asthma and wheezing: Findings from China, Children, Homes, Health study. Environ Int 2022;165:107297.
    2. Jung CR, Chen WT, Tang YH, Hwang BF. Fine particulate matter exposure during pregnancy and infancy and incident asthma. J Allergy Clin Immunol 2019;143(6):2254-62.
    3. Zacharasiewicz A. Maternal smoking in pregnancy and its influence on childhood asthma. ERJ Open Res 2016;2(3):00042-2016.
    4. Nuzzi G, Di Cicco M, Trambusti I, Agosti M, Peroni DG, Comberiati P. Primary prevention of pediatric asthma through nutritional interventions. Nutrients 2022;14(4):754.
    5. Darabi B, Rahmati S, HafeziAhmadi MR, Badfar G, Azami M. The association between caesarean section and childhood asthma: an updated systematic review and meta-analysis. Allergy Asthma Clin Immunol 2019;15:62.
    6. Stoltz DJ, Jackson DJ, Evans MD, Gangnon RE, Tisler CJ, Gern JE, et al. Specific patterns of allergic sensitization in early childhood and asthma & rhinitis risk. Clin Exp Allergy 2013;43(2):233-41.
    7. Hufnagl K, Pali-Scholl I, Roth-Walter F, Jansen-Jarolim E.Dysbiosis of the gut and lung microbiome has a role in asthma. Semin Immunopathol. 2020 Feb;42(1):75-93.
    8. Busse WW, Lemanske RF Jr, Gern JE. Role of viral respiratory infections in asthma and asthma exacerbations. Lancet 2010;376(9743):826-34.
    9. Jartti T, Gern JE. Role of viral infections in the development and exacerbation of asthma in children. J Allergy Clin Immunol 2017;140(4):895-906.
    10. Porsbjerg C, Melén E, Lehtimäki L, Shaw D. Asthma. Lancet 2023;401(10379):858-73.
    11. Dharmage SC, Perret JL, Custovic A. Epidemiology of asthma in children and adults. Front Pediatr 2019;7:246.
    12. Reyes-Angel J, Kaviany P, Rastogi D, Forno E. Obesity-related asthma in children and adolescents. Lancet Child Adolesc Health 2022;6(10):713-24.

     

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก