รศ. พิเศษ พญ. วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์
งานโรคติดเชื้อ กุมารเวชศาสตร์
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
สรุปเนื้อหาการประชุมประจำปี 2565 สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 4 ธันวาคม 2564
การแพร่ระบาดของโรค covid-19 และปัญหาเชื้อดื้อยา การใช้ยาปฏิชีวนะไม่สมเหตุผล เป็นปัญหาทางการแพทย์ที่นักวิชาการได้พยายามหาทางออกหลาย ๆ วิธี แต่ยังมีข้อจำกัดหลายประเด็น บางมาตรการ ในการควบคุมโรคได้ผลดีมากในบางช่วงแต่เมื่อเวลาผ่านไป มาตรการที่เคยใช้ได้ดี อาจจะมีความจำกัด ถ้ายังยึดติดกับความสำเร็จเดิมอาจจะส่งผลเสียใหญ่หลวงตามมา และไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติ
ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนเป็นทักษะที่จำเป็นมากขึ้นทุกวัน ในโลกปัจจุบันที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
แนวทางการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนอาจจะพอสรุปได้ประมาณ 6 ข้อดังต่อไปนี้
- Right question
- Right knowledge
- Right mindset
- Right understanding
- Right thinking tool
- Right technique
1. Right question :
การเข้าใจปัญหา และการตั้งคำถามที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่นการให้ยารักษาคนไข้ 1 ราย โดยให้ยาออกฤทธิ์กว้างครอบคลุมไปก่อน ต่อมาผลเพาะเชื้อพบว่าเป็นเชื้อที่ไว้กับยาทั่ว ๆ ไป เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว ทำไมจะต้องเปลี่ยนยาที่ออกฤทธิ์แคบด้วย ก็ให้แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ดีกว่าจะได้สบายใจทั้งแพทย์และคนไข้
ดังนั้นถ้าเรามองไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหา ไม่แม้แต่จะตั้งคำถามตรงนี้ อีกไม่นานปัญหาจึงกระจายเป็นวงกว้าง จนยากที่จะแก้ไข นอกจากนั้นจะต้องมองให้ลึกไปกว่าสิ่งที่มองเห็น หรือเพียงปัญหาหรือสถานการณ์ แต่มองให้เห็นถึงและระบบที่ขับเคลื่อนอยู่ภายใต้พฤติกรรม หรือเหตุการณ์นั้น ในแนวทางที่เรียกว่าการคิดเชิงระบบหรือ Systems Thinking
จากสมการ Event + Reponse = Outcome เวลาเกิดปัญหา คนส่วนใหญ่จะนึกถึงวิธีตอบสนองก่อนที่จะนึกถึงภาพเป้าหมายสุดท้ายที่เราต้องการ
แนวทางที่ถูกต้อง เราควรจะถามว่า อนาคตเราอยากเห็นองค์กรเราเป็นอย่างไร สุขภาพของพี่น้องลูกหลานคนไทยเป็นอย่างไร กล่าวคือควรจะสร้าง shared vision หรือเป้าประสงค์สุดท้าย ที่เราต้องการร่วมกันทุกฝ่าย สำหรับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (inclusiveness) ทั้งผู้กำกับนโยบายและผู้ปฏิบัติ และหลังจากนั้นก็คิดแบบย้อนกลับ ว่าจะสร้างผลลัพธ์แบบนี้ จะต้องทำอะไรบ้าง ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะสร้างวิสัยทัศน์ร่วมที่จะขับเคลื่อนองค์กรหรือทีมงานให้เคลื่อนไปพร้อมกัน
2. Right knowledge :
มีความรู้ที่ถูกต้องในด้านนั้น ๆ เรื่องทุกเรื่องที่มนุษย์เจอมาล้วนแล้วแต่มีคนอื่นเจอมาแล้วทั้งนั้น ไม่เคยมีเรื่องอะไรที่เราเจอปัญหานี้มาคนเดียวเป็นครั้งแรก ดังนั้นเมื่อมีปัญหาแล้วก็ถามตัวเอง มีความรู้อะไรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เจอ จะต้องพยายามทำความเข้าใจ แต่ต้องเท่าทันกับอคติที่อาจจะมีในใจอีกด้วย ดังนั้น ถ้าต้องการความรู้ที่ถูกต้อง จะต้องระมัดระวัง ว่าเรามีใจเป็นกลางพอที่จะหยิบความรู้ที่ถูกต้องมาใช้หรือไม่ หรือกำลังมองหาสิ่งที่สนับสนุนความเชื่อของตัวเอง ใช้ความรู้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและมีความถูกต้อง แต่ต้องรู้ว่า expert แต่ละคนจะมี blind spot ของตัวเองมีข้อจำกัดในมุมมองความคิดของตัวเอง
ในกระบวนการตัดสินใจเรื่องยาก มีความไม่แน่นอนมากมาย ภายใต้ปัญหานั้น จะมีวิธีการในการประเมินทางเลือกที่มีโอกาสที่จะประสบผลดีมากที่สุด โดยกระบวนคิดอย่างเป็นขั้นตอนที่เรียกว่า decision tree analysis ร่วมกับการใช้ dynamic risk model ในการประเมินปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คุณค่าและ purpose ขององค์กรที่เราให้ความสำคัญมากกว่าเพียงค่าใช้จ่าย
3. Right mindset :
ต้องมีวิธีคิดและทัศนคติที่ถูกต้อง วิธีคิด หรือ mindset และทัศนคติเป็นแบบไหน แบบ growth versus fixed mindset กรอบความคิดแบบเติบโตหรือแบบตายตัว การมองว่าเป็นปัญหาหรือความท้าทาย การที่มองว่า ในทุก ๆ วิกฤต คือ โอกาสในการสร้างทีมและพัฒนาภาวะผู้นำ
การสอนวิธีคิดจะต้องสอนตั้งแต่เด็ก ๆ โดยการให้เด็กฝึกกล้าคิดกล้าลอง เรียนรู้จากความผิดพลาด ความกล้าหาญ ความมั่นใจที่แท้จริง ที่จะช่วยให้เด็กกล้าที่จะล้มเหลวและเรียนรู้เติบโต ไม่ได้เกิดจากการที่ไม่เคยทำอะไรผิด แต่เกิดจากความรู้สึกที่ว่า ถ้าทำผิดแล้วมันจะไม่เป็นอะไร ไม่มีคำว่าล้มเหลว มีแต่คำว่าเรียนรู้ There is no failure, only feedback. ภายใต้ความเชื่อว่า ความพยายาม ยิ่งใหญ่กว่าผลลัพธ์ และความกล้าหาญ สำคัญของความสมบูรณ์แบบ เพราะอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของความสำเร็จ คือความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความล้มเหลว
4. Right understanding :
เข้าใจในธรรมชาติของกระบวนการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน คือมีขั้นตอน ต้องใช้เวลา และมีความหลากหลายแง่มุม จึงต้องแก้ไปทีละจุด
โจทย์ยากที่สุดของมนุษย์คือ ความสามารถที่จะอยู่กับความไม่แน่นอน ว่าอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือไม่รู้ว่าทำตรงนี้แล้วจะแก้ได้จริงหรือเปล่า ความไม่แน่นอนคือ สิ่งที่บีบคั้นความรู้สึกของมนุษย์ ที่ต้องการหาข้อสรุปเร็ว แต่การที่เรารู้ว่าปัญหานี้มันซับซ้อน เราจำเป็นต้องมีความสามารถที่จะอยู่กับความไม่แน่นอน แล้วค่อย ๆ เติมความเข้าใจไปทีละเล็กละน้อย การที่ต้องอยู่ในสภาวะที่ไม่มีคำตอบ ต้องอาศัยความจดจ่อและความตระหนักในจังหวะก้าวของเรา แล้วต้องอาศัยความเพียรพยายามทำ แล้ววางพัก แล้วมาทำต่อ ช่วงที่วางพักไว้เพื่อให้เกิดผลบางอย่าง ต้องรู้ว่าเราจะได้สิ่งนี้ก่อนแล้วเราจะได้สิ่งนั้นถัดมา เพราะมันจะเป็นขั้นตอน และกระบวนการที่มีความยาวนานและซับซ้อน
ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้เราก็จะแก้ปัญหาตามสัญชาตญาณ ในการพยายามแก้ปัญหาของเรา อาจจะทำให้ปัญหานั้นดูซับซ้อนหรือเลวร้ายลงกว่าเดิม เราต้องฝึกที่จะถอยมาก่อน เพื่อกลับไปมองดูใหม่ และทำความเข้าใจกับกระบวนการแล้วเลือกทำด้วยความเข้าใจ ว่าเราต้องอยู่ในกระบวนการนั้น ๆ เราต้องเผชิญกับการเพิ่มความชัดเจนทีละน้อยทีละน้อย การบรรลุความสำเร็จทีละขั้น ความสามารถในการอยู่กับความไม่แน่นอน แต่มันจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ และยอมรับว่ามันจะมีเรื่องใหม่ค่อย ๆ โผล่ขึ้นมา เหมือนตัวอย่าง กรณีของ covid 19 ก็เป็นตัวอย่างของสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ เปลี่ยนแปลงขึ้นมา อันนี้เป็นธรรมชาติของการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ที่เราต้องทำความเข้าใจ
นอกจากนั้นยังต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ทำอะไรตามความเคยชิน คิดอะไรเฉพาะหน้า มองไปไม่ค่อยไกล มองอะไรเป็นเฉพาะส่วนที่เราเกี่ยวข้อง ไม่ค่อยมองภาพรวมเชื่อมโยง มีงานวิจัยที่เยอะมากที่บอกว่ามนุษย์มักไม่ได้ใช้เหตุและผลในการตัดสินใจ ดังนั้น ในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนจึงจำเป็นต้องตระหนักว่าปัญหาทุกเรื่องจะต้องเกี่ยวข้องกับมนุษย์ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง มนุษย์มีแนวโน้มที่จะเป็นสาเหตุ และเป็นทางออกทางปัญหาที่ซับซ้อน เราต้องหยิบเอาปัจจัยความไม่เป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์ มาใส่ในสมการการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เพื่อหาทางที่จะจัดการอย่างไรที่จะสร้างความเข้าใจและความร่วมมือ อันจะนำมาสู่พลังในการขับเคลื่อนแก้ปัญหา คือเรื่องของความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์
5. Right thinking tool :
เมื่อเราเจอปัญหาเรามักจะใช้วิธีคิดที่เราคุ้นเคยคิดแบบอัตโนมัติ ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับปัญหาที่ซับซ้อนที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ดังนั้น การที่เราจะฝึกเลือกเอาเครื่องมือทางความคิด กลายเป็นทักษะที่สำคัญ ซึ่งเราไม่ค่อยถูกฝึก
ตัวอย่างหนึ่งของวิธีคิดแก้ปัญหา หรือกระบวนการหรือเครื่องมือทางความคิด เช่น คิดถึงสิ่งที่มีความสำคัญ 20% โดยเป็นจุดเน้นว่า นั่นคือ สิ่งที่เราต้อง focus ก่อน เพราะว่าถ้ามันซับซ้อนแล้วเราต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ เราจะทำมันไม่ไหว ดังนั้น ท่ามกลางอะไรที่มันมากมายไปหมด แต่จำเป็นที่จะรู้ว่าอะไรคือจุดเน้น และในความที่ปัญหามันใหญ่และซับซ้อนมาก เราจึงต้องมีความสามารถในการแยกแยะองค์ประกอบ ช่วยให้เราสามารถแบ่งภาระ และลงมือทำไปทีละส่วน แต่ก่อนที่จะทำได้เราก็ต้องเห็นภาพรวมก่อน กล่าวคือ เราต้องมีความสามารถในการมองภาพรวมที่เชื่อมโยง ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถแยกแยะองค์ประกอบ และแบ่งเนื้องานออกมา เป็นบางส่วนแล้วค่อยแก้ทีละชิ้น กล่าวคือมีทัศนะที่ถูก รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในแต่ละเรื่องนั้น ต้องยืดหยุ่นและกล้าที่จะลอง
6. Right technique :
การช่วยให้เราและเพื่อนร่วมทีม เห็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน เช่น การวาดผัง ความสัมพันธ์ หรือ conceptual framework ให้มองเห็นสิ่งที่ส่งผลกระทบให้ครบถ้วน มีวิธีระดมสมองที่ถูกต้อง โดยใช้กระบวนการของการอำนวยการเรียนรู้ หรือ facilitation technique หรือ dialogue ในกระบวนการกลุ่ม เพื่อสามารถสานพลังจากทุกคนให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นท่ามกลางความรู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจ เป็นหัวใจของการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนให้ประสบความสำเร็จ และเมื่อทำแล้วก็ให้ตรวจสอบและประมวลผลและแก้ไขเป็นวงจร PDCA (Plan-do-check-act) ต่อ ๆ ไป