CIMjournal
banner สูติ 4

Which criteria to diagnose gestational diabetes mellitus ?


พญ. สิรินาถ สิรินทร์วราวงศ์ผศ. พญ. สิรินาถ สิรินทร์วราวงศ์
สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


บทนำ

Gestational diabetes mellitus (GDM) เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ที่พบได้บ่อย โดยพบอุบัติการณ์และความชุกเพิ่มขึ้นทั่วโลก อันเป็นผลจากภาวะอ้วนในหญิงวัยเจริญพันธุ์ และอายุของมารดาขณะตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขณะตั้งครรภ์สัมพันธ์กับการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั้งต่อมารดาและทารก ระหว่างการตั้งครรภ์ และระหว่างคลอด และยังส่งผลในระยะยาว กล่าวคือ หญิงที่มีประวัติเป็น GDM มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตสูงกว่าหญิงที่ไม่เป็น GDM ถึง 10 เท่า และส่วนใหญ่จะเป็นโรคเบาหวานภายใน 5 ปีแรกหลังคลอด(1) นอกจากนี้ บุตรของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็น GDM ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลุ่มเมตาบอลิค และโรคอ้วนในวัยเด็ก (childhood obesity) อีกด้วย 

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการคัดกรองเพื่อค้นหาผู้เป็น GDM และให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมสามารถลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ได้


คำนิยาม

โรคเบาหวานที่พบในหญิงตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ โรคเบาหวานที่พบก่อนการตั้งครรภ์ (pregestational diabetes) และโรคเบาหวานที่พบครั้งแรกหรือเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ (Hyperglycemia first detected during pregnancy) ซึ่งในบางองค์กรหรือกลุ่มวิชาชีพจะให้คำนิยามของโรคเบาหวานที่พบครั้งแรกหรือเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ว่า Gestational diabetes mellitus (GDM)(2, 3) อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2553 International Association of the Diabetes and Pregnancy Study Groups (IADPSG)(4) และในปี พ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO)(5) ได้ให้นิยามของภาวะน้ำตาลสูงในช่วงตั้งครรภ์ (Hyperglycemia in pregnancy) โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
  • Overt diabetes mellitus during pregnancy (overt diabetes)(4) หรือ Diabetes mellitus in pregnancy (DIP)(5) โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยเดียวกับหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ (ตารางที่ 1)
  • Gestational diabetes mellitus (GDM) โดยใช้วิธีการทดสอบและเกณฑ์การวินิจฉัย (ดังตารางที่ 1 และ 2)

เหตุผลของการแยก overt diabetes หรือ DIP ออกจาก GDM นั้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการคัดกรองตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง) ทั้งนี้เพื่อค้นหาผู้ที่เป็นเบาหวานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัย (unrecognized preexisting DM) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีความชุกเพิ่มขึ้นในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อันเป็นผลจากภาวะอ้วนในประชากร และ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงความสัมพันธ์ของภาวะน้ำตาลสูงตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์กับภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ (6, 7)

ตารางที่ 1 นิยามและเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะน้ำตาลสูงในหญิงตั้งครรภ์ (Hyperglycemia in pregnancy) (4, 5, 8)diagnose-gestational-diabetes-mellitusADA, American Diabetes Association; IADPSG, International Association of the Diabetes and Pregnancy Study Groups; WHO, World Health Organization; GCT, glucose challenge test; OGTT, oral glucose tolerance test
*วินิจฉัยในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (ก่อนอายุครรภ์ 15 สัปดาห์)

ส่วน American Diabetes Association (ADA) ให้คำนิยาม GDM โดยแบ่งตามอายุครรภ์ที่วินิจฉัย กล่าวคือ หากวินิจฉัยเบาหวานในช่วงไตรมาสแรก (ก่อนอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ จะให้การวินิจฉัยเป็น “ diabetes complicating pregnancy” หรือ “preexisting diabetes” แต่หากวินิจฉัยหลังจากนั้น จะให้การวินิจฉัยว่าเป็น “GDM”(8)


เกณฑ์การวินิจฉัยและความเป็นมา

การทดสอบ และ เกณฑ์การวินิจฉัย GDM ที่ใช้แพร่หลายมี 2 แบบ คือ แบบ 1 ขั้นตอน (1-step strategy) และ แบบ 2 ขั้นตอน (2-step strategy) แต่ละวิธีมีความเป็นมา เหตุผลในการกำหนดและปรับเปลี่ยนเกณฑ์การวินิจฉัยที่แตกต่างกัน ดังนี้ (ตาราง 2)

  1. 2-step strategy โดยทำ 50-g glucose challenge test (GCT) ตามด้วย 100-g oral glucose tolerance test (OGTT).
    วิธีนี้ได้รับการพัฒนามาจากการศึกษาของ O’Sullivan และ Mahan ในปี พ.ศ. 2507 ที่ใช้ 100-g OGTT ในการทดสอบ และตรวจเลือดจาก whole blood เกณฑ์การวินิจฉัย GDM ถูกกำหนดขึ้นโดยเลือกระดับน้ำตาลที่จะทำให้ได้ความชุกของ GDM เท่ากับความชุกของโรคเบาหวานในประชากรทั่วไป (ร้อยละ 2 ในเวลานั้น)​ และ โอกาสเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สองในอนาคต.
    ต่อมาได้มีการเสนอให้ใช้ 50-g GCT ก่อนการทำ 100-g OGTT หากผล 50-g GCT ผิดปกติ กล่าวคือ ระดับน้ำตาลหลังทำการทดสอบ 1 ชั่วโมง สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจึงจะทำ 100-g OGTT ต่อ ทั้งนี้เพื่อลดการทำ 100-g OGTT ในรายที่ไม่จำเป็นและมีความเสี่ยงต่ำ  หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2522 National Diabetes Data Group (NDDG) ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เสนอให้ปรับเกณฑ์การวินิจฉัยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนการตรวจวัดระดับน้ำตาลที่แต่เดิมตรวจจาก whole blood เป็นตรวจจาก plasma และ ในปี พ.ศ. 2525 Carpenter และ Coustan ได้แนะนำให้ใช้เกณฑ์ค่าน้ำตาลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของ NDDG เนื่องจากมีการเปลี่ยนวิธีการตรวจวัดระดับน้ำตาลเป็น enzymatic method อันเป็นที่มาของเกณฑ์ที่ใช้ในปัจจุบัน(6)
  2. 1-step strategy โดยทำ 75-g OGTT
    IADPSG เสนอให้มีการกำหนดเกณฑ์การวินิจฉัย GDM โดยอ้างอิงจากผลการศึกษา HAPO (Hyperglycemia and Adverse Pregnancy Outcome)(9) ซึ่งพบความสัมพันธ์แบบเป็นเส้นตรงระหว่างระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร และระดับน้ำตาลที่ 1 ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมงหลังการทำ 75 g OGTT กับ ผลลัพธ์รวมของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ทั้งต่อมารดาและทารกในครรภ์ (Composite outcomes of large for gestational age, cesarean section, neonatal hypoglycemia และ ระดับ cord blood C-peptide มากกว่า percentile ที่ 90)  IADPSG จึงได้เลือกค่าระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร (92 มก./ดล.)​ และค่าระดับน้ำตาลที่ 1 ชั่วโมง (180 มก./ดล.) และ 2 ชั่วโมง (153 มก./ดล.) หลังทำ 75-g OGTT ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เป็น 1.75 เท่าของผู้ที่มีระดับน้ำตาล (ทั้ง 3 จุด) เท่ากับค่าเฉลี่ยของประชากรในการศึกษา HAPO เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย โดยหากมีระดับน้ำตาลสูงกว่าเกณฑ์เพียง 1 ค่า ก็จะให้การวินิจฉัยเป็น GDM (4, 6) 


เปรียบเทียบข้อดีและข้อด้อยของการตรวจแบบ 1-step และ 2-step(10)

ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงข้อดีและข้อด้อยของการตรวจทั้งสองแบบ และยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าแบบใดได้ประโยชน์และคุ้มค่ามากกว่า

การตรวจแบบ 1-step มีความไวในการวินิจฉัย GDM มากกว่า เนื่องจากใช้เกณฑ์การวินิจฉัยที่ต่ำกว่า และ ให้การวินิจฉัยเมื่อระดับน้ำตาลเกินเกณฑ์เพียง 1 ค่า แตกต่างจากแบบ 2-step ซึ่งจะให้การวินิจฉัย GDM เมื่อค่าน้ำตาลผิดปกติตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไป ส่งผลให้อุบัติการณ์ของ GDM เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 5-6 (หากวินิจฉัยด้วยการตรวจแบบ 2-step) เป็นร้อยละ 15 – 20 หากวินิจฉัยโดยวิธี 1-step(11) ซึ่งจะทำให้มีจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่จะต้องได้รับการดูแลรักษามากขึ้น

ข้อมูลจากหลายการศึกษารายงานการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ (ทั้งต่อมารดาและทารก) ในหญิงที่ได้รับการวินิจฉัย GDM โดยวิธี 1-step แต่หากใช้เกณฑ์การวินิจฉัยแบบ 2-step จะไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น GDM (6, 12) การศึกษา HAPO FUS(13) ติดตามหญิงตั้งครรภ์ที่เข้าร่วมการศึกษา HAPO และ บุตรของหญิงเหล่านั้นเป็นเวลา 11 ปี พบว่าหญิงที่เป็น GDM โดยใช้เกณฑ์ 1-step มีโอกาสเกิดภาวะก่อนเบาหวานและเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าหญิงที่ไม่เป็น GDM ถึง 3.4 เท่า และ บุตรมีความเสี่ยงของภาวะอ้วนมากกว่าบุตรของหญิงที่ไม่เป็น GDM ข้อมูลเหล่านี้ช่วยสนับสนุนประโยชน์ของการตรวจแบบ 1-step ในการวินิจฉัย

การศึกษาโดย Duran และคณะ(14) ในประเทศสเปน ทำการเปรียบเทียบภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ในหญิงที่เป็น GDM 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับการวินิจฉัยด้วยวิธี 2-step (ระหว่างเดือน เม.ย. 2554 ถึง มี.ค. 2555, n=1,750) และ กลุ่มที่สองได้รับการวินิจฉัยด้วยวิธี 1-step (ระหว่างเดือน เม.ย. 2555 ถึง มี.ค. 2556, n=1,526) พบกว่าอุบัติการณ์ของ GDM ในกลุ่มที่วินิจฉัยด้วยวิธี 1-step มากกว่ากลุ่มที่วินิจฉัยด้วยวิธี 2-step (ร้อยละ 35.6 ในกลุ่ม 1-step และ ร้อยละ 10.6  ในกลุ่ม 2-step) แต่พบกว่าภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ (ได้แก่ ความดันสูงขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การคลอดโดยการผ่าคลอด ทารกตัวใหญ่ หรือ เล็กกว่าอายุครรภ์ และ การเข้ารักษาตัว neonatal ICU) ในกลุ่ม 1-step น้อยกว่ากลุ่ม 2-step อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่าการวินิจฉัย GDM ด้วยวิธี 1-step และให้การรักษาที่เหมาะสม สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะแทรกซ้อนได้กว่า 14,000 ยูโรต่อหญิง 100 คน เมื่อเปรียบเทียบกับการวินิจฉัยด้วยวิธี 2-step ซึ่งจะมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์มากกว่า อย่างไรก็ตามการศึกษานี้มีข้อด้อยคือเป็นการศึกษาขนาดเล็กในสถาบันเดียว และ เป็น observational study ที่การวินิจฉัย GDM ทั้ง 2 วิธี ทำในประชากรคนละช่วงเวลากันจึงอาจจะไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง

ต่อมาได้มีการศึกษา ScreenR2GDM(15) ซึ่งเป็นการศึกษาแบบ pragmatic randomized controlled trial (pragmatic RCT) ที่ต้องการเปรียบเทียบภาวะแทรกซ้อน (perinatal outcome) ในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัย GDM ด้วยวิธี 1-step กับ วิธี 2-step โดยได้ทำการคัดเลือกหญิงที่ตั้งครรภ์จำนวน 23,792 คน และทำการแบ่งเป็น 2 กลุ่มโดยการสุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับมอบหมายให้คัดกรอง GDM ด้วย วิธี 1-step และ วิธี 2-step (ประชากรประมาณ 12,000 คนในแต่ละกลุ่ม) และทำการเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ระหว่าง 2 กลุ่ม ผลการศึกษาพบว่าผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ในทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ US National Institute of Health (NIH) จึงสนับสนุนการตรวจแบบ 2-step มากกว่า 1-step เพราะนอกจากจะไม่มีความแตกต่างระหว่างภาวะแทรกซ้อนแล้วในทั้งสองกลุ่มแล้ว การตรวจแบบ 1-step จะทำให้มีหญิงตั้งครรภ์ได้รับการวินิจฉัยเป็น GDM จำนวนมากและอาจทำให้เกิดการรักษามากเกินความจำเป็นและไม่คุ้มค่า(16) แต่ในการศึกษานี้พบข้อจำกัดหลายประการ กล่าวคือ เป็นการศึกษาแบบ pragmatic ดังนั้นแพทย์ผู้ดูแลสามารถเลือกวิธีการคัดกรองที่ไม่ตรงกับกลุ่มที่ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับการจัดไว้ กล่าวคือ กลุ่มที่ถูกจัดให้คัดกรองด้วยวิธี 1-step มีถึงร้อยละ 66 ที่คัดกรองด้วยวิธี 2-step แทน นอกจากนี้ยังพบว่า หญิงที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 1-step และตรวจพบว่าเป็น GDM ร้อยละ 40 มี fasting glucose สูงเพียงค่าเดียว (> 92 มก./ดล.) และ กว่าครึ่งหนึ่งของหญิงเหล่านี้มีระดับ fasting glucose อยู่ระหว่าง 92 – 94 มก./ดล. ซึ่งต่ำกว่า target ของ fasting glucose ในการรักษา GDM (<95 มก./ดล.) ดังนั้นจึงอาจแปลผลการศึกษานี้ได้ว่า การรักษา mild GDM (หมายความถึง GDM ที่วินิจฉัยด้วยวิธี 1-step) ไม่มีประโยชน์เหนือกว่าการวินิจฉัยแบบ 2-step เนื่องจากอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนไม่แตกต่างกัน หรือ แท้จริงแล้วเป้าหมายระดับfasting glucose ควรต่ำกว่า 95 มก/ดล.

ตารางที่ 2 วิธีการและเกณฑ์การวินิจฉัย Gestational Diabetes (3-6, 8)diagnose-gestational-diabetes-mellitusACOG, American College of Obstetricians and Gynecologists; ADA, American Diabetes Association; IADPSG, International Association of the Diabetes and Pregnancy Study Groups; NIH, National Institute of Health; WHO, World Health Organization; GCT, glucose challenge test; OGTT, oral glucose tolerance test; หมายเหตุ GCT ไม่ต้องงดอาหาร ส่วน OGTT งดอาหาร 8-12 ชั่วโมง
ตารางโดย สิรินาถ สิรินทร์วราวงศ์


อายุครรภ์ที่ควรได้รับการตรวจคัดกรอง

เดิมการตรวจคัดกรองแนะนำให้ทำในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย เมื่ออายุครรภ์ 24 – 28 สัปดาห์ โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยแบบ 1-step หรือ 2-step แต่ในปัจจุบันแนวทางเวชปฏิบัติของสถาบันและองค์กรต่าง ๆ แนะนำให้เริ่มคัดกรองตั้งแต่เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในรายที่มีความเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2(3, 8) เพื่อให้การวินิจฉัย และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อมารดาและทารก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการคัดกรองที่แนะนำโดย ADA และ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย

ADA(8) แนะนำให้คัดกรองในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย ก่อนอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ เพื่อค้นหา undiagnosed preexisting DM โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยเช่นเดียวกับคนที่ไม่ตั้งครรภ์ หากผลการคัดกรองเป็นลบ ให้ทำการคัดกรอง GDM เมื่ออายุครรภ์ 24 – 28 สัปดาห์ (โดยใช้วิธีและการแปลผลตามตารางที่ 2)

ส่วนสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย(3) แนะนำให้ทำการคัดกรอง ในหญิงตั้งครรภ์ทุกรายเมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรก (ยกเว้นหญิงที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ได้แก่ อายุน้อยกว่า 25 ปี น้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์ปกติ และ ไม่มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว และ ไม่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติมาก่อน) โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยของ Carpenter and Coustan หรือ IDF

การคัดกรองแบบ 2-step โดยใช้เกณฑ์ของ Carpenter and Coustan หากผลการคัดกรองเมื่อฝากครรภ์ครั้งแรกเป็นลบ หรือ เป็นกลุ่มที่ความเสี่ยงต่ำมาก (ซึ่งไม่ได้คัดกรองเมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก) ให้ทำการคัดกรองอีกครั้งเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ ส่วนการคัดกรองโดยใช้เกณฑ์ของ IDF(2) ให้ตรวจ fasting glucose หรือ HbA1c หาก fasting glucose≥ 92 มก./ดล. หรือ HbA1c ≥ 6.5% สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ทันที แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ ให้ทำการคัดกรองโดย 75-g OGTT เมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ และให้การวินิจฉัยตามเกณฑ์ของ IASDPG (1-step) 


บทสรุป

Gestational diabetes mellitus สัมพันธ์กับการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกตั้งครรภ์โดยเฉพาะในรายที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อค้นหาผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง และให้การรักษาที่เหมาะสม ซึ่งสามารถลดภาวะแทรกซ้อนในมารดาและทารกได้

สำหรับวิธีการคัดกรอง ระหว่างวิธี 1-step และ 2-step ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าวิธีใดเหมาะสมและมีประโยชน์ในทางคลินิกมากกว่า ดังนั้นแพทย์และทีมผู้ดูแลควรเลือกวิธีการคัดกรองที่เหมาะสมกับบริบทและทรัพยากรของแต่ละสถาบันหรือสถานพยาบาล

การรักษาประกอบไปด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต และ การใช้ยาอินซูลินในรายที่มีข้อบ่งชี้ หลังคลอดหญิงตั้งครรภ์ที่เป็น GDM ทุกรายควรได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวานชนิดที่ 2

 

เอกสารอ้างอิง
  1. Vounzoulaki E, Khunti K, Abner SC, Tan BK, Davies MJ, Gillies CL. Progression to type 2 diabetes in women with a known history of gestational diabetes: systematic review and meta-analysis. Bmj. 2020;369:m1361.
  2. Group IDFW. Global guideline on pregnancy and diabetes. Brussels, Belgium: International Diabetes Federation; 2009.
  3. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560. Clinical Practice Guideline for Diabetes 2017. 2017.
  4. Metzger BE, Gabbe SG, Persson B, Buchanan TA, Catalano PA, Damm P, et al. International association of diabetes and pregnancy study groups recommendations on the diagnosis and classification of hyperglycemia in pregnancy. Diabetes Care. 2010;33(3):676-82.
  5. Diagnostic criteria and classification of hyperglycaemia first detected in pregnancy: a World Health Organization Guideline. Diabetes Res Clin Pract. 2014;103(3):341-63.
  6. Sweeting A, Wong J, Murphy HR, Ross GP. A Clinical Update on Gestational Diabetes Mellitus. Endocr Rev. 2022;43(5):763-93.
  7. Li M, Hinkle SN, Grantz KL, Kim S, Grewal J, Grobman WA, et al. Glycaemic status during pregnancy and longitudinal measures of fetal growth in a multi-racial US population: a prospective cohort study. Lancet Diabetes Endocrinol. 2020;8(4):292-300.
  8. ElSayed NA, Aleppo G, Aroda VR, Bannuru RR, Brown FM, Bruemmer D, et al. 2. Classification and Diagnosis of Diabetes: Standards of Care in Diabetes-2023. Diabetes Care. 2023;46(Suppl 1):S19-s40.
  9. Metzger BE, Lowe LP, Dyer AR, Trimble ER, Chaovarindr U, Coustan DR, et al. Hyperglycemia and adverse pregnancy outcomes. N Engl J Med. 2008;358(19):1991-2002.
  10. McIntyre HD, Sacks DA, Barbour LA, Feig DS, Catalano PM, Damm P, et al. Issues With the Diagnosis and Classification of Hyperglycemia in Early Pregnancy. Diabetes Care. 2016;39(1):53-4.
  11. Sacks DA, Hadden DR, Maresh M, Deerochanawong C, Dyer AR, Metzger BE, et al. Frequency of gestational diabetes mellitus at collaborating centers based on IADPSG consensus panel-recommended criteria: the Hyperglycemia and Adverse Pregnancy Outcome (HAPO) Study. Diabetes Care. 2012;35(3):526-8.
  12. Hung TH, Hsieh TT. The effects of implementing the International Association of Diabetes and Pregnancy Study Groups criteria for diagnosing gestational diabetes on maternal and neonatal outcomes. PLoS One. 2015;10(3):e0122261.
  13. Lowe WL, Jr., Scholtens DM, Kuang A, Linder B, Lawrence JM, Lebenthal Y, et al. Hyperglycemia and Adverse Pregnancy Outcome Follow-up Study (HAPO FUS): Maternal Gestational Diabetes Mellitus and Childhood Glucose Metabolism. Diabetes Care. 2019;42(3):372-80.
  14. Duran A, Sáenz S, Torrejón MJ, Bordiú E, Del Valle L, Galindo M, et al. Introduction of IADPSG criteria for the screening and diagnosis of gestational diabetes mellitus results in improved pregnancy outcomes at a lower cost in a large cohort of pregnant women: the St. Carlos Gestational Diabetes Study. Diabetes Care. 2014;37(9):2442-50.
  15. Hillier TA, Pedula KL, Ogasawara KK, Vesco KK, Oshiro CES, Lubarsky SL, et al. A Pragmatic, Randomized Clinical Trial of Gestational Diabetes Screening. N Engl J Med. 2021;384(10):895-904.
  16. Vandorsten JP, Dodson WC, Espeland MA, Grobman WA, Guise JM, Mercer BM, et al. NIH consensus development conference: diagnosing gestational diabetes mellitus. NIH Consens State Sci Statements. 2013;29(1):1-31.

 

 

 

 

PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก