พญ. อัญชลี เสนะวงษ์
กุมารเวชศาสตร์ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา
สถาบันภูมิแพ้ Samitivej Allergy Institute (SAI)
โรงพยาบาล BNH สมิติเวชธนบุรี และสมิติเวชศรีราชา
ผื่นลมพิษคืออะไร
ลมพิษเป็นผื่นผิวหนังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นปื้น บวม นูน แดง พบได้บ่อยอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงชีวิตถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั่วไป มักพบช่วงอายุ 20 – 40 ปี ขนาดของผื่นอาจพบได้ ตั้งแต่เล็ก ๆ คล้ายตุ่มยุงกัดไปจนถึงขนาดใหญ่รวมกันเป็นปื้นคล้ายแผนที่ บางรายมีอาจบวมที่หนังตา ริมฝีปากอีกด้วย ผื่นมักจะขึ้นเป็น ๆ หาย ๆ ไม่ทิ้งรอยดำ ย้ายตำแหน่งไปเรื่อย ๆ
อาการลมพิษเป็นหนึ่งในอาการจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่เกิดที่ผิวหนัง ซึ่งถ้าเกิดที่บริเวณอื่น เช่น ทางเดินหายใจหรือคอหอย ทำให้หายใจไม่ออก กลืนลำบาก ระบบทางเดินอาหารทำให้อาเจียนเป็นชุด หรือระบบหัวใจหลอดเลือดทำให้ความดันต่ำ
ลมพิษแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- ลมพิษเฉียบพลัน คือ ลมพิษที่มีอาการต่อเนื่องไม่เกิน 6 สัปดาห์
- ลมพิษเรื้อรัง คือ ลมพิษที่มีอาการต่อเนื่องทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละอย่างน้อย 2 วัน นาน 6 สัปดาห์ขึ้นไป
ลมพิษเกิดจากอะไร
สาเหตุของลมพิษเฉียบพลันอาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ ฟันผุ เป็นหวัด ท้องเสีย หรือเกิดจากการแพ้ยา แมลง อาหาร สารประกอบอาหาร สารกันบูด การแพ้สัมผัส เป็นต้น
- สาเหตุของลมพิษเรื้อรัง สามารถแบ่งออกเป็นลมพิษที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของผู้ป่วย พบโดยประมาณ 20 – 30% เกิดจากแรงขีดข่วน ความร้อน วัตถุเย็น แรงกด แรงสั่นสะเทือน บนผิวหนัง เป็นต้น
- ลมพิษที่เกิดจากโรคทางกาย เช่น โรคภูมิคุ้มกันต่อตนเอง โรคไทรอยด์ โรคหลอดเลือด มะเร็ง ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ติดเชื้อแบคทีเรียเรื้อรังในไซนัส ช่องปาก การติดเชื้อ H pylori ในกระเพาะอาหาร เป็นต้น พบประมาณ 30 – 40%
- ไม่พบสาเหตุ พบได้ประมาณ 30 – 50%
มีลมพิษบ่อยหรือเรื้อรังควรตรวจอะไรบ้าง
ขึ้นกับประวัติอาการและการตรวจร่างกายเป็นหลัก หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อ อาจมีการตรวจเลือด ปัสสาวะหรือป้ายในลำคอ หากสงสัยสาเหตุจากภาวะภูมิแพ้ จะสามารถทดสอบโดยการสะกิดผิวหนังหรือการตรวจเลือดได้ ในผู้ป่วยลมพิษเรื้อรัง อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ จำนวนเม็ดเลือด ตรวจค่าการอักเสบในเลือด ตรวจอุจจาระหาพยาธิ ตรวจหาเชื้อที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ เช่น H pylori การทำงานไทรอยด์ แอนติบอดีของไทรอยด์ แอนติบอดีที่ต่อต้านภูมิค้มุ กันร่างกาย ตรวจเลือดหาการติดเชื้อบางชนิด ทั้งนี้ ขึ้นกับประวัติอาการที่สงสัย
ในลมพิษที่เกิดจากปัจจัยทางกายภาพ อาจจะต้องมีการตรวจพิเศษ เช่น Cold provocation test (ice cube, cold water) ในลมพิษจากความเย็น, Pressure test ในลมพิษจากแรงกดทับ, Warm bath test ในลมพิษจากความร้อน หรือ Dermatographism test ในลมพิษที่เกิดจากการขีดข่วน
การรักษาลมพิษทำได้อย่างไร
ลมพิษเฉียบพลัน สามารถรักษาโดยการใช้ยาแก้แพ้ ซึ่งปัจจุบันแนะนำเลือกชนิดที่ไม่เข้าสู่ระบบประสาท ไม่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ยาสเตียรอยด์การรักษาเฉพาะที่ และรักษาสาเหตุของโรค หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ต้นเหตุ ลมพิษอาจขึ้นเป็น ๆ หาย ๆ ได้เป็นสัปดาห์
ลมพิษเรื้อรัง สามารถแบ่งขั้นตอนการรักษาโดยพิจารณาเพิ่มหรือลดการรักษาประเมิน ทุก 2 – 4 สัปดาห์
การดูแลตัวเองเบื้องต้น
- ประคบเย็น ไม่เกาจนเกิดรอยแผล
- หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ สารกันบูด ผงชูรส อาหารรสจัด อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
- หลีกเลี่ยงยาลดปวดต้านอักเสบ (NSAIDs) แอสไพริน
- ดูแลผิวให้ชุ่มชื้น ไม่แห้งเกา