.
พญ. ศศิธร คุณูปการ
อายุรแพทย์โรคไต
โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่ะ เดือนเมษายนที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นทุก ๆ ปี หมอก็อยากให้ผู้อ่านทุกท่านรักษาสุขภาพ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่ร้อนจัด ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ผ่านทางเหงื่อ จะได้ลดภาระการทำงานของไต และลดโอกาสในการเกิดฮีทสโตรกหรือลมแดดได้ค่ะ
ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีข่าวดีที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคไต นั่นก็คือการปลูกถ่ายอวัยวะจาก “ไตหมูสู่คน (Xenotransplantation)” ที่ประสบผลสำเร็จครั้งแรกของโลก เรื่องราวจะเป็นอย่างไรเดี๋ยววันนี้หมอจะมาเล่าให้ฟังค่ะ
การประสบผลสำเร็จในการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์จากไตหมูเข้าสู่ร่างกายคนที่เป็นโรคไตระยะสุดท้าย สร้างความหวังให้กับนักวิจัยและวงการสาธารณสุขเป็นอย่างสูงว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนอวัยวะได้ ในการผ่าตัดครั้งนี้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายชื่อว่า นาย Richard Slayman อายุ 62 ปี ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากหมูซึ่งมีการตัดแต่งพันธุกรรมทั้งหมด 69 จุด ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสในการเกิดการปฏิเสธอวัยวะและลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสจากอวัยวะหมูเข้าสู่คน แม้ว่าผลการทดลองยังอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆแต่ก็แสดงให้เห็นว่าอวัยวะจากหมูสามารถทำงานได้เป็นปกติและมีความปลอดภัยสูง และนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการนำอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้แก่ หัวใจและตับของหมู มาสู่กระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายจำนวนมากถึง 90,000 คนที่รอรับบริจาคอวัยวะ แม้จะมีอัตราการบริจาคมากขึ้นทุกปีแต่ก็ยังไม่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะให้ผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ การผ่าตัดในครั้งนี้จึงเป็นการจุดประกายความหวังให้แก่วงการแพทย์ที่มีความพยายามในการใช้อวัยวะจากหมูมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยเพื่อขจัดอุปสรรคดังกล่าว
Dr. Muhammad Mohiuddin ศัลยแพทย์ประจำ University of Maryland, Baltimore, USA และประธานของ International Xenotransplantation Association ผู้ผ่าตัดปลูกถ่าย “หัวใจหมู” สู่ผู้ป่วยที่มีชีวิตได้เป็นครั้งแรกในปี2022 กล่าวถึงความสำเร็จในการผ่าตัดครั้งนี้ว่า “นับเป็นข่าวดีที่สุดในวงการ” ซึ่งในอดีตมีการทดลองปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมเข้าสู่ผู้ป่วยมีชีวิตจำนวน 2 รายและมีการปลูกถ่าย “ไตหมู” ซึ่งผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมเข้าสู่ผู้ป่วยสมองตายอีกหลายราย แต่ยังไม่มีครั้งใดประสบความสำเร็จอย่างรายนี้มาก่อน
การผ่าตัดของคุณ Slayman ใช้เวลาทั้งหมด 4 ชั่วโมง โดยศัลยแพทย์นาม Tatsuo Kawai และคณะ ก่อนหน้ารับการผ่าตัดผู้ป่วยเคยได้รับการปลูกถ่ายไตจากมนุษย์ในปี 2018 หลังจากนั้นได้เกิด kidney failure อีกครั้ง ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้าสู่กระบวนการฟอกไตและเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากการฟอกไตจนได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกหลายครั้ง ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพื่อเป็นแคนดิเดตสำหรับการทำผ่าตัด xenotransplantation ในครั้งนี้
ไตที่นำมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยมาจากหมูที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมโดย process ที่เรียกว่า “CRISPR-Cas9 genome editing” โดยนักวิทยาศาสตร์จากบริษัท eGenesis โดยมีการตัดแต่งพันธุกรรมจำนวน 69 จุด มีการทดลองในลิงพบว่าการที่นำอวัยวะหมูที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมเหล่านี้ปลูกถ่ายเข้าไปในร่างกายลิง ลิงสามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็นปกติเป็นระยะเวลาตั้งแต่หลายเดือนจนถึงหลายปีและมีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอวัยวะที่ผ่านการปลูกถ่ายเข้าสู่ตัวผู้ป่วยจะสามารถใช้งานได้ยืนยาวมากกว่านั้นเนื่องจากการตัดแต่งพันธุกรรมนั้นเหมาะสมกับมนุษย์มากกว่าลิง
ในการตัดแต่งพันธุกรรมมีการนำเอา gene 3 ตำแหน่งที่มีหน้าที่สร้างน้ำตาลบนผิวของเซลล์หมูออก เนื่องจากภูมิต้านทานของมนุษย์จะเข้าโจมตีในตำแหน่งนั้นทำให้เกิดการปฏิเสธอวัยวะขึ้น และมีการใส่ gene ของมนุษย์เข้าไปจำนวน 7 ตำแหน่งเพื่อที่จะสร้างโปรตีนที่ป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ อีก 59 gene ที่เหลือมีการตัดแต่งเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสที่สามารถติดในหมูแพร่มายังมนุษย์ได้
สืบเนื่องจากการทดลองปลูกถ่ายหัวใจหมูเข้าสู่ผู้ป่วยมีชีวิตเป็นครั้งแรก ในช่วงระยะท้ายของการทดลองพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสในระยะ latent phase หลบซ่อนอยู่ในอวัยวะจากหมู และในที่สุดการติดเชื้อนั้นทำให้เกิดการทำงานของอวัยวะผิดปกติจนถึงขั้นอวัยวะล้มเหลว ซึ่งในการทดลองครั้งนี้หมูที่ถูกเอามาปลูกถ่ายอวัยวะได้มีการทดสอบเชื้อที่จะสามารถติดต่อเข้าสู่คนได้อย่างละเอียดรวมถึง porcine cytomegalovirus ที่สามารถติดเชื้อแอบแฝงอยู่ในมนุษย์ได้
ก่อนการผ่าตัดผู้วิจัยได้เก็บเอาตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวรวมถึงศัลยแพทย์ เพราะหากผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อทางนักวิจัยจะสามารถตรวจสอบได้ว่าการติดเชื้อมาจากแหล่งใด ผู้ป่วยจะมีการตรวจหาเชื้ออย่างสม่ำเสมอหลังผ่าตัดรวมถึงสมาชิกในครอบครัวและผู้ดูแลด้วย การทดสอบไม่พบการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือราในหมูก่อนที่จะผ่าตัดไตออกมา แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะบางครั้งการติดเชื้ออาจจะไม่แสดงอาการในคนปกติแต่สามารถเกิดโรคได้ในคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หลังจากการผ่าตัดต่อเส้นเลือดสำเร็จ ไตหมูซึ่งเข้าไปอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยสามารถผลิตน้ำปัสสาวะได้ทันทีเป็นสัญญาณที่ดีของการเริ่มการทำงานของไตหมูในร่างกายของมนุษย์ อีกทั้งยังพบว่าค่า creatinine ของผู้ป่วยจากเดิมอยู่ที่ 10 mg/dL ลดลงมาเหลือ 2.4 ในวันที่ 4 หลังจากการผ่าตัด แสดงในเห็นถึงผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจไม่ต่างไปจากการปลูกถ่ายไตตามปกติ แม้ว่าในวันที่ 4 เมษายน 2024 ผู้ป่วยจะได้จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลแล้ว แต่การติดตามผลการรักษายังคงต้องดำเนินการต่อไปและหวังว่าผลการรักษาจะเป็นที่น่าพึงพอใจแบบนี้ไปตลอดการรักษา
งานประชุมสาขาไตที่น่าสนใจ ปี 2567
• ประชุมวิชาการ CKD Weekend 2024 ระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ณ ห้อง Grand CHambray Ballroom ชั้น 7 โรงแรม อวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ
• งานประชุม APCN & KSN 2024 June 13 – 16, 2024 Coex, Seoul, Korea
• ประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมโรคไตฯ ระหว่าง 2 – 4 สิงหาคม 2567 the zign pattaya ชลบุรี