CIMjournal
banner ไวรัส 1

Long covid สำคัญไฉน

 

พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจศ. พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ2
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกศิริราชและอาจารย์สาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล2

พญ. นพไท โศจิศิริกุลพญ. นพไท โศจิศิริกุล1
แพทย์ประจำบ้านต่อยอดหน่วยกุมารโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล1

 

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการก่อโรค วิธีการแพร่เชื้อ ลักษณะอาการทางคลินิก การดำเนินโรคและแนวทางการรักษาของโรค โควิด 19 ในระยะเฉียบพลัน แต่สำหรับข้อมูลและงานวิจัยเกี่ยวกับพยากรณ์โรคหรือผลแทรกซ้อนในระยะยาวของโรคนั้นยังมีค่อนข้างจำกัด มีการรายงานเกี่ยวกับผลแทรกซ้อนภายหลังการติดเชื้อโควิด 19 เป็นครั้งแรกในประเทศอิตาลี โดย Carfi A. et al. ได้จัดทำ case series ติดตามผู้ป่วยที่วินิจฉัยโรคโควิด 19 จำนวน 179 ราย พบว่า 87.4% ของผู้ป่วยเหล่านี้ยังมีอาการหลงเหลืออยู่อย่างน้อย 1 อาการ ที่ระยะเวลา 2 เดือนหลังติดเชื้อ อาการที่พบได้แก่ อ่อนแรง เหนื่อยง่าย ปวดข้อและแน่นหน้าอก2 หลังจากนั้นมีงานวิจัยมากมายที่ช่วยสนับสนุนภาวะอาการเกี่ยวกับผลแทรกซ้อนภายหลังการติดเชื้อโควิด 19  Leon et al. ได้จัดทำ systematic review และ meta-analysis เพื่อประเมินผลกระทบระยะยาวของโรคโควิด 19 พบว่า ร้อยละ 80 ยังคงมีอาการภายหลังการติดเชื้อไม่หายเสียที หรือเป็นอาการใหม่ โดยอาการที่พบบ่อย 5 อันดับแรก ได้แก่ อ่อนเพลีย (58%) ปวดศีรษะ (44%) ขาดสมาธิ (27%) ผมร่วง (25%) และหายใจเหนื่อย (24%)3, 4 มีการศึกษาว่า อาการที่ยังคงมีอยู่หลังจากหายจากโควิด 19 นั้น มักจะพบในผู้ที่มีอาการโควิด 19 รุนแรง แต่ก็พบในผู้ที่อาการไม่รุนแรงได้ถึงประมาณหนึ่งในสี่ และอาการอยู่ได้นานเกิน 6 เดือนในประมาณหนึ่งในสามของอาการเหล่านี้อาจเป็นเรื้อรังและสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้

ในปี พ.ศ. 2564 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อเรียกภาวะอาการที่พบภายหลังการติดโรคโควิด 19 ว่า long covid หรือ post COVID-19 condition หรือ post acute sequelae of COVID-19 โดยเจาะจงผลกระทบต่อประชากรที่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่เป็นหลักและได้ให้คำนิยาม ณ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ว่า ได้แก่ผู้ที่มีอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และอาการนั้นอยู่ยาวนานกว่า 2 เดือน หลังจากวินิจฉัยว่า เป็นโควิด 19 โดยอาจเป็นอาการใหม่ที่เกิดหลังจากหาย หรืออาการตั้งแต่ตอนที่เป็นโรค โดยไม่มีเหตุผลอื่น (“Post COVID-19 condition occurs in individuals with a history of probable or confirmed SARS- CoV-2 infection, usually 3 months from the onset of COVID-19 with symptoms that last for at least 2 months and cannot be explained by an alternative diagnosis. Common symptoms include fatigue, shortness of breath, cognitive dysfunction but also others* and generally have an impact on everyday functioning. Symptoms may be new onset following initial recovery from an acute COVID-19 episode or persist from the initial illness. Symptoms may also fluctuate or relapse over time”)1

สำหรับในกลุ่มคนไข้เด็กที่เป็นโรคโควิด 19 นั้น แม้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรงในระยะเฉียบพลัน แต่สามารถพบผลแทรกซ้อนหลังจากหายได้ ไม่ว่าช่วงที่ป่วยด้วยโควิด 19 จะหนักหรือไม่ โดยมีแก่ภาวะ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C) ซึ่งรุนแรง เฉียบพลัน และภาวะ long covid ซึ่งเป็นภาวะไม่เรื้อรังแต่ไม่รุนแรง แต่รบกวนสุขภาพและพัฒนาการของเด็กได้อย่างมาก ภาวะ MIS-C จะเกิดตามหลังการติดเชื้อประมาณ 2-6 สัปดาห์ โดยมีอุบัติการณ์การเกิดโรคประมาณ 320 รายต่อประชากรเด็กที่ติดเชื้อ 1,000,000 ราย (0.03%)6 ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้สูงถึงร้อยละ 80 ทำให้ผู้ป่วยมีอาหารช็อค หัวใจเต้นผิดปกติ หรือหลอดเลือด coronary โป่งพองคล้ายกับโรค Kawasaki ได้7 ซึ่งจะไม่กล่าวในรายละเอียดในบทความนี้

สำหรับข้อมูลงานวิจัยที่สนับสนุนภาวะ long covid ในกลุ่มประชากรเด็กนั้นยังมีค่อนข้างน้อยมาก ในช่วงต้นของการะบาดเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2653 Ludvigsson et al. ได้รวบรวม case report ที่ติดตามคนไข้เด็กภายหลังจากที่ป่วยเป็นโควิด ในประเทศสวีเดน จำนวน 5 ราย พบว่าเด็กทุกคนยังมีอาการทางร่างกายต่อเนื่องหลังจากหายจากโรคโควิด 19 ได้นานถึง 6 – 8 เดือน โดยได้อธิบายอาการต่างๆของ long covid ที่พบในเด็ก เช่น อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ไม่มีสมาธิ เป็นต้น8 อาการเหล่านี้มักไม่รุนแรงแต่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและส่งผลต่อการเรียนของเด็ก ในปีค.ศ. 2021 – 2022 พบจำนวนเด็กที่ติดโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีข้อมูลเกี่ยวกับภาวะ long covid ในเด็กเผยแพร่เพิ่มมากขึ้น


ความชุกของภาวะ Long COVID ในเด็ก (Epidemiology)

Behnood et al. และ Fainardi et al. ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยแบบ systematic review เรื่อง long covid ในเด็กและสรุปรายงานความชุกของการเกิด long covid ในเด็กมีแนวโน้มค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละงานวิจัย โดยพบได้อยู่ในช่วงร้อยละ 4 – 66 อย่างไรก็ตามพบว่าความชุกในการเกิดโรคในเพศหญิงและชายไม่แตกต่างกัน และอายุเฉลี่ยของเด็กที่มีอาการ long covid ประมาณ 11 ปี (median age 9 – 13 ปี)9-11 นอกจากนี้ประชากรเด็กส่วนใหญ่ในการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ long covid นั้นเป็นประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป เช่น เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ลัตเวีย สหราชอาณาจักร สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี เป็นต้น สำหรับความชุกของ long covid ในเด็กในประเทศแถบเอเชียนั้น มีการศึกษาค่อนข้างน้อย 

Asadi-Pooya et al. ได้ทำการศึกษาขนาดเล็กที่จังหวัด Fars ประเทศอิหร่าน โดยติดตามอาการของเด็กที่เคยวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด 19 เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน (n= 58) พบว่า ความชุกของ long covid ในเด็กประมาณร้อยละ 4512


กลไกการเกิดภาวะ Long COVID (Pathophysiology)

ในเดือนกันยายน ปีพ.ศ.2564 Buonsenso et al. ได้รายงานกรณีศึกษาเกี่ยวกับ organ damage ภายหลังการติดเชื้อโควิด 19 ในเด็กเป็นครั้งแรก ผู้ป่วยเด็กหญิง 14 ปีมาด้วยอาการใจสั่น  ปวดหัว และแน่นหน้าอกเป็นระยะเวลานานถึง 7 เดือน และได้ตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาความผิดปกติทางกาย พบว่าผู้ป่วยมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติและระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดอยู่ในค่าปกติ แต่มีระดับของ inflammatory cytokines เช่น interleukin-1, interleukin-6 และ α-tumor necrosis factor ที่สูงขึ้น ระดับของ anti-SARS-CoV2 antibodies IgG and IgA ที่สูงขึ้น ร่วมกับมีระดับของ CD27+ memory B cells ที่ต่ำกว่าปกติ ความผิดปกติของผลตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าวทำให้นึกถึงภาวะการอักเสบเรื้อรังจากระดับ proinflammatory cytokines และการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้เกิดการบาดเจ็บของหลอดเลือดแบบเรื้อรัง (chronic endothelitis) ภาวะนี้จะกระตุ้นให้เกิดการสร้าง microthrombus ไปอุดกั้นหลอดเลือดฝอยที่ปอด ดังนั้นกลไกนี้สามารถอธิบายอาการเหนื่อย แน่นหน้าอกร่วมกับตรวจพบสมรรถภาพปอดลดลงจากการตรวจ pulmonary function test หรือ ตรวจพบ ventilation and perfusion mismatch  จากventilation-perfusion single-photon emission computed tomography (V/Q SPECT) ในผู้ป่วยรายนี้ได้13, 14  

จากกรณีศึกษานี้จะเห็นได้ว่า long covid นั้นอาจมีกลไกการเกิดโรคจากหลายปัจจัยร่วมกัน  ในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกแน่ชัดที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการที่มีความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละบุคคล (spectrum of disease) ของภาวะ long covid อย่างไรก็ตามได้มีการสรุปรวบรวมสมมติฐานที่เป็นไปได้10, 14, 15 ดังต่อไปนี้

  1. ภาวะการอักเสบเรื้อรังจากระดับ proinflammatory cytokines ที่สูงและการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ (Chronic or persistent tissue inflammation related from immune system dysregulation and consequent autoimmunity)
  2. การคงอยู่ของไวรัสภายหลังจากติดเชื้อในระยะเฉียบพลัน (Viral persistence)
  3. การบาดเจ็บของหลอดเลือดแบบเรื้อรัง (Chronic endothelitis)

Cheng et al. และ Li Y. et al. ได้บรรยายลักษณะกลไกการก่อโรคของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ว่าเป็นลักษณะของ superantigen กล่าวคือ เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองอย่างรุนแรงของภูมิคุ้มกันร่างกายในระยะเฉียบพลัน ผ่านกลไกของ ACE-2 mechanism ส่งผลให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดและกระตุ้นให้เกิดการสร้าง proinflammatory cytokines อย่างมากจนเกิดเป็น cytokines storm และมีการสร้าง microthrombus อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเสบเรื้อรังและการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง T cell ที่ผิดปกติได้16, 17 นอกจากนี้การคงอยู่ของไวรัสภายหลังจากติดเชื้อในระยะเฉียบพลัน (Viral persistence) อาจมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลไกของ long covid จากการศึกษาของ Stein et al. และ Patterson et al. พบว่ายังสามารถตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 ภายหลังการติดเชื้อได้นานถึง 7 – 15 เดือน ซึ่งการคงอยู่ของไวรัสนี้ อาจสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะการอักเสบเรื้อรังในร่างกายได้  ภาวะการอักเสบเรื้อรังจะทำให้เกิดการบาดเจ็บของหลอดเลือดแบบเรื้อรัง (chronic endothelitis) ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการสร้าง microthrombus ไปอุดกั้นหลอดเลือดฝอยที่อวัยวะต่างๆได้ หากเกิดกับหลอดเลือดขนาดเล็กใน alveoli ของปอด อาจทำให้เกิด ventilation and perfusion mismatch และส่งผลให้เกิด hypoxemia ในผู้ป่วยได้ นอกจากนี้หากเกิดการอักเสบเรื้อรังที่กล้ามเนื้อหัวใจ (cardiomyositis) จะกระตุ้นให้เกิดการสร้าง cardiac fibromyoblast ร่วมกับพบว่าภายหลังการติดเชื้ออาจทำให้มี cardiovascular dysfunction จาก abnormal autonomic nervous system ส่งผลให้เกิด postural orthostatic tachycardia syndrome (POTS) สำหรับผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง พบว่าการติดเชื้อหรือการอักเสบเรื้อรังทำให้เกิด blood-brain barrier dysfunction ได้ จึงอาจทำให้มี cytokines และเม็ดเลือดขาวบางส่วนผ่าน blood brain barrier เข้าสู่เนื้อสมอง ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังต่อ gial cells และneurons รวมถึงอาจทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของ autonomic nervous system บริเวณ brainstem ได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของระบบประสาทส่วนกลางที่ผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย (fatigueless) ภาวะสมองล้า (brain fog) ความรู้คิดบกพร่อง (cognitive impairment) ไม่มีสมาธิ (inattention) นอนไม่หลับ (insomnia) และมีภาวะทางอารมณ์ผิดปกติ (mood disorders) เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีอาการของระบบประสาทส่วนปลายที่ผิดปกติร่วมด้วย เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (myalgia) กล้ามเนื้ออ่อนแรง (muscle weakness) การได้ยินผิดปกติ (hearing loss or tinnitus) การรับรู้ส่วนปลายผิดปกติ (sensorimotor deficit) เป็นต้น3, 18, 19


ลักษณะอาการทางคลินิก (Clinical manifestation)

จากหลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบัน พบว่าอาการของ long covid นั้นมีความหลากหลายและความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละบุคคล (spectrum of disease) ทางผู้เขียนจึงได้รวบรวมลักษณะอาการทางคลินิกของ long covid ในเด็ก ดังตารางแสดง

Long-covid
.
อาการต่าง ๆ ของ long covid ในเด็กส่งผลต่อหลาย ๆ ระบบในร่างกาย อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ระบบหายใจ (21.2%) ระบบประสาท (16.2%) ระบบผิวหนัง (15%) ระบบทางเดินอาหาร (13.8%) ระบบหัวใจและหลอดเลือด (11.2%) และอื่น ๆ20 โดยสรุปรวมแล้วอาการของ long covid ที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ได้แก่ อ่อนเพลีย (47%) หายใจเหนื่อย (43%)  และปวดศีรษะ (35%) ตามลำดับ (ตารางที่ 1) อาการเหล่านี้มักเป็นไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ แต่มักรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนของเด็ก8 นอกจากนี้อาการทางระบบหายใจมักเป็นอาการที่พบได้บ่อยรองลงมา ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการคล้ายกับหอบหืด (asthma-like illness) เช่น อาการไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก เป็นต้น21 ผู้ป่วยเด็กมีอาการของ long covid ส่วนใหญ่นั้นจะมีอาการอย่างน้อย 1 อาการ (ร้อยละ 55 – 70) และมีอาการอย่างน้อย 2 อาการขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 38 – 50 ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่ไม่รุนแรง22, 23 Bonsenso et al. พบว่ามีเพียง 7.1% ของเด็กที่มีอาการ long covid ที่ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย9 สำหรับระยะเวลาของอาการ long covid ในเด็กนั้นสามารถคงอยู่ได้ยาวนานโดยเฉลี่ย 125 วัน (IQR 99 – 231) ภายหลังการติดเชื้อในระยะเฉียบพลันทั้งแบบไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยพบว่า 5 – 14% ของผู้ป่วยเด็กมีอาการของ long covid ยาวนานมากกว่า 4 สัปดาห์9 และ 25 – 60% ของผู้ป่วยเด็กมีอาการของ long covid ยาวนานได้ถึง 6 เดือน20, 24 โดยสรุปพบว่า long covid ในเด็กนั้นมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าและระยะเวลาการดำเนินโรคสั้นกว่าเมื่อเทียบกับ long covid ในผู้ใหญ่ซึ่งอาจยาวนานมากถึง 1 ปี25


ผลกระทบระยะยาว (Long term consequences)

มีการรายงานว่าพบจำนวนคนไข้เด็กอายุน้อยกว่า 18 ปีที่มีประวัติติดเชื้อ SARS-CoV-2 มานานมากกว่า 1 เดือน ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes mellitus) เพิ่มมากขึ้น26, 27 โดย Centers for Disease Control and Prevention (CDC) พบว่าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคในเด็กกลุ่มนี้สูงถึง 316 รายต่อประชากร 100,000 ราย-ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด 19 และกลุ่มที่วินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ก่อนที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 พบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคเบาหวานในเด็กที่เป็นโรคโควิด 19 สูงกว่าในสองกลุ่มหลัง 2 – 2.5 เท่า นอกจากนี้ความเสี่ยงของเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็กภายหลังการเป็นโรคโควิด 19 สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด 19 (Hazard ratio=2.66, 95%CI 1.98 – 3.56) และสูงกว่าช่วงก่อนที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 (Hazard ratio=2.16, 95%CI 1.64 – 2.86) อย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก28 นอกจากนี้เด็กที่ได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นครั้งแรกที่มีประวิติการติดโรคโควิด 19 มักมาด้วยอาการของ diabetic ketoacidosis (DKA) ที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น28 โดยพบความชุกของการเกิดภาวะ DKA ในกลุ่มคนไข้เด็กเหล่านี้ ได้ร้อยละ 40.2 – 48 ในขณะที่ความชุกของการเกิดภาวะ DKA ในกลุ่มคนไข้เด็กที่ไม่มีประวัติติดเชื้อโควิด 19 หรือกลุ่มที่วินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในช่วงก่อนที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 พบการเกิดภาวะ DKA เพียงร้อยละ 13.6 และ 22.5 – 29.7 ตามลำดับ29


การรักษา เฝ้าระวังและติดตามอาการของ Long COVID (Treatment, monitoring and follow-up)

เนื่องจากภาวะ long covid นั้นเกิดจากภาวะอักเสบเรื้อรังของอวัยวะหลายระบบในร่างกายดังที่กล่าวไปข้างต้น การรักษาภาวะ long covid จึงเป็นการรักษาตามอาการและจำเป็นต้องใช้ทีมสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary team) ในการดูแลรักษา ประเมินอาการและติดตามคนไข้ในระยะยาว ในขณะนี้ European Society of Cardiology ได้ออกคำแนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโควิดแม้จะมีอาการไม่รุนแรงและมีอาการของ long covid ให้เข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนทางระบบหายใจและระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น pulmonary embolism หรือ acute coronary syndrome เป็นต้น โดยกำหนดระยะเวลาการตรวจคัดกรองหลังจากติดเชื้อ 6 – 9 เดือน(30) สำหรับในประชากรเด็กนั้น ข้อมูลปัจจุบันเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของ long covid ยังมีค่อนข้างน้อย จึงยังไม่ได้มีแนวทางปฏิบัติเพื่อวินิจฉัยและติดตามอาการอย่างชัดเจน 

Fairnardi et al. ได้เสนอให้มีการติดตามคนไข้เด็กภายหลังวินิจฉัยการติดโรคโควิด 19 โดยปรับจากคำแนะนำของ National Institute for Health and Care Excellence (NICE) ที่เผยแพร่ออกมาเพื่อดูแลและติดตามคนไข้ที่มีภาวะ long covid31 โดย Fairnardi et al. แนะนำให้ติดตามครั้งแรกที่ 4 สัปดาห์เพื่อประเมินตรวจคัดกรองอาการของ long covid และประเมินอาการต่าง ๆ ซ้ำที่ 3, 6 และ 12 เดือนตามลำดับ5 อย่างไรก็ตามเนื่องจากกลไกการเกิด long covid นั้นเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดเป็นหลัก จึงอาจต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับ autoimmune disease หรือ microthrombotic events ในอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เช่น หัวใจ ปอด สมอง เป็นต้น

ในขณะนี้มีการรายงานว่าการฉีดวัคซีนสามารถลดโอกาสในการเกิดภาวะ long covid ได้โดย Antonelli et al. ได้จัดทำ prospective community-based case-control study พบว่าคนที่ได้ฉีดวัคซีน mRNA 2 เข็ม สามารถลดโอกาสการเกิด long covid ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก (Odds ratio 0.51, 95%CI 0.32-0.82, p=0.006)32 อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนโควิด 19 กับโอกาสในการลดการเกิดภาวะ long covid ในเด็กแต่มีข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ในเด็กอายุ 12 – 18 ปีสามารถป้องกันการเกิด ภาวะ MIS-C ได้สูงถึง 91 – 100%33

Long-covidแผนภาพที 1 แนวทางการตรวจคัดกรอง ประเมินและติดตามอาการคนไข้เด็กภายหลังวินิจฉัยการติดโรคโควิด 19  


สรุป

ภาวะ long covid ในเด็กนั้นสามารถพบได้หลังการติดเชื้อเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ โดยพบความชุกของการเกิดโรคประมาณ 4 – 66% ถึงแม้ว่าผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยขณะติดเชื้อก็ยังสามารถพบอาการ long covid ได้ อาการ long covid จะคงอยู่ได้นานถึง 4 เดือนหลังการติดเชื้อและอาการที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก คืออ่อนเพลีย (47%) หายใจเหนื่อย (43%) และปวดศีรษะ (35%) ตามลำดับ ในแง่ของผลกระทบระยะยาว พบว่าโรคโควิด 19 มีความสัมพันธ์ในการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็ก สำหรับการรักษาภาวะ long covid ในปัจจุบันเป็นการรักษาตามอาการโดยใช้ทีมสหสาขาวิชาชีพในการดูแลคนไข้ในระยะยาว อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่มีวิธีการที่ชัดเจนในการป้องกันการเกิดภาวะ long covid มีหลักฐานว่าการฉีดวัคซีนโควิด 19 อาจลดการเกิดภาวะ long covid ในผู้ใหญ่ได้

 

เอกสารอ้างอิง
  1. A clinical case definition of post COVID-19 condition by a Delphi consensus, WHO 2021.
  2. Carfi A, Bernabei R, Landi F, Gemelli Against C-P-ACSG. Persistent Symptoms in Patients After Acute COVID-19. JAMA. 2020;324(6):603-5.
  3. Lopez-Leon S, et al. More than 50 long-term effects of COVID-19: a systematic review and meta-analysis. Sci Rep. 2021;11(1):16144.
  4. Nalbandian A, et al. Post-acute COVID-19 syndrome. Nat Med. 2021;27(4):601-15.
  5. Sudre CH, et al. Attributes and predictors of long COVID. Nat Med. 2021;27(4):626-31.
  6. Payne AB, et al. Incidence of Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Among US Persons Infected With SARS-CoV-2. JAMA Netw Open. 2021;4(6):e2116420.
  7. Wu EY, Campbell MJ. Cardiac Manifestations of Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C) Following COVID-19. Curr Cardiol Rep. 2021;23(11):168.
  8. Ludvigsson JF. Case report and systematic review suggest that children may experience similar long-term effects to adults after clinical COVID-19. Acta Paediatr. 2021;110(3):914-21.
  9. Behnood SA, et al. Persistent symptoms following SARS-CoV-2 infection amongst children and young people: A meta-analysis of controlled and uncontrolled studies. J Infect. 2022;84(2):158-70.
  10. Fainardi V, et al. Long COVID in Children and Adolescents. Life (Basel). 2022;12(2).
  11. Radtke T, Ulyte A, Puhan MA, Kriemler S. Long-term Symptoms After SARS-CoV-2 Infection in Children and Adolescents. JAMA. 2021.
  12. Asadi-Pooya AA, et al. Long COVID in children and adolescents. World J Pediatr. 2021;17(5):495-9.
  13. Buonsenso D, et al. Evidence of lung perfusion defects and ongoing inflammation in an adolescent with post-acute sequelae of SARS-CoV-2 infection. Lancet Child Adolesc Health. 2021;5(9):677-80.
  14. Crook H, Raza S, Nowell J, Young M, Edison P. Long covid-mechanisms, risk factors, and management. BMJ. 2021;374:n1648.
  15. Buonsenso D, et al. Long-term outcomes of pediatric infections: from traditional infectious diseases to long covid. Future Microbiol. 2022.
  16. Cheng MH, et al. Superantigenic character of an insert unique to SARS-CoV-2 spike supported by skewed TCR repertoire in patients with hyperinflammation. Proc Natl Acad Sci U S A. 2020;117(41):25254-62.
  17. Li Y, Luo C, Li W, Xu Z, Zeng C, Bi S, et al. Structure-based preliminary analysis of immunity and virulence of SARS coronavirus. Viral Immunol. 2004;17(4):528-34.
  18. Collantes MEV, Espiritu AI, Sy MCC, Anlacan VMM, Jamora RDG. Neurological Manifestations in COVID-19 Infection: A Systematic Review and Meta-Analysis. Can J Neurol Sci. 2021;48(1):66-76.
  19. Stefanou MI, et al. Neurological manifestations of long-COVID syndrome: a narrative review. Ther Adv Chronic Dis. 2022;13:20406223221076890.
  20. Osmanov IM, et al. Risk factors for post-COVID-19 condition in previously hospitalised children using the ISARIC Global follow-up protocol: a prospective cohort study. Eur Respir J. 2022;59(2).
  21. Esmaeilzadeh H, Sanaei Dashti A, Mortazavi N, Fatemian H, Vali M. Persistent cough and asthma-like symptoms post COVID-19 hospitalization in children. BMC Infect Dis. 2022;22(1):244.
  22. Roge I, et al. Comparison of Persistent Symptoms After COVID-19 and Other Non-SARS-CoV-2 Infections in Children. Front Pediatr. 2021;9:752385.
  23. Dolezalova K, Tukova J, Pohunek P. The respiratory consequences of COVID-19 lasted for a median of 4 months in a cohort of children aged 2-18 years of age. Acta Paediatr. 2022.
  24. Ashkenazi-Hoffnung L, et al. Long COVID in Children: Observations From a Designated Pediatric Clinic. Pediatr Infect Dis J. 2021;40(12):e509-e11.
  25. Munblit D, Sigfrid L, Warner JO. Setting Priorities to Address Research Gaps in Long-term COVID-19 Outcomes in Children. JAMA Pediatr. 2021;175(11):1095-6.
  26. Unsworth R, et al. New-Onset Type 1 Diabetes in Children During COVID-19: Multicenter Regional Findings in the U.K. Diabetes Care. 2020;43(11):e170-e1.
  27. Vlad A, et al. Increased Incidence of Type 1 Diabetes during the COVID-19 Pandemic in Romanian Children. Medicina (Kaunas). 2021;57(9).
  28. Kamrath C, et al. Ketoacidosis in Children and Adolescents With Newly Diagnosed Type 1 Diabetes During the COVID-19 Pandemic in Germany. JAMA. 2020;324(8):801-4.
  29. Barrett CE, et al. Risk for Newly Diagnosed Diabetes >30 Days After SARS-CoV-2 Infection Among Persons Aged <18 Years – United States, March 1, 2020-June 28, 2021. MMWR Morb Mortal Wkly Rep. 2022;71(2):59-65.
  30. Crea F. European Society of Cardiology guidance for the management of cardiovascular disease during the pandemic and a focus on long COVID. Eur Heart J. 2022;43(11):1017-21.
  31. COVID-19 rapid guideline: managing the long-term effects of COVID-19. National Institute for Health and Care Excellence: Clinical Guidelines. London2020.
  32. Antonelli M, et al. Risk factors and disease profile of post-vaccination SARS-CoV-2 infection in UK users of the COVID Symptom Study app: a prospective, community-based, nested, case-control study. Lancet Infect Dis. 2022;22(1):43-55.
  33. Zambrano LD, et al. Effectiveness of BNT162b2 (Pfizer-BioNTech) mRNA Vaccination Against Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Among Persons Aged 12-18 Years – United States, July-December 2021. MMWR Morb Mortal Wkly Rep. 2022;71(2):52-8.

 

 

PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก