CIMjournal
banner สมองทั่วไป 1

การบริหารจัดการคลินิกโรคลมชัก


นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่าศ. นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า1, 2
1 สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

2 กลุ่มวิจัยโรคลมชักแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

คลินิกโรคลมชักเป็นคลินิกเฉพาะโรค ที่มีแพทย์เฉพาะทางและบุคลากรทีมสุขภาพ ได้แก่ เภสัชกรและพยาบาลที่มีความชำนาญโรคลมชักอยู่ประจำ มุ่งเน้นการบริหารจัดการที่ง่าย แต่ให้ประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าในการรักษาแบบผู้ป่วยนอกทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยสะดวกและปลอดภัย ลดเวลาของทั้งผู้ป่วยและแพทย์ รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและสถานพยาบาล จากการศึกษาผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยโรคลมชัก คลินิกโรคลมชัก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ พบว่า การให้บริการคลินิกโรคลมชักโดยทีมสหสาขาวิชาชีพทำให้มีผลลัพธ์ทางคลินิกที่ดีขึ้น ความถี่ในการชักของผู้ป่วยลดลง และจากการศึกษาความพึงพอใจของผู้มารับบริการ ณ คลินิกโรคลมชัก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โดยภาพรวม พบว่า ผู้มารับบริการมีความพึงพอใจในระดับพึงพอใจมาก โดยมีความพึงพอใจในด้านบุคลากรมากที่สุด ทั้งแพทย์ เภสัชกรและพยาบาล ดังนั้น การจัดการคลินิกโรคลมชัก จึงควรให้การดูแลแบบทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยสูงสุด


บทบาทของทีมสหสาขาวิชาชีพในคลินิกโรคลมชัก

บทบาทหน้าที่ของแพทย์
แพทย์เป็นหัวหน้าทีม มีบทบาทหน้าที่หลักในการตรวจวินิจฉัยโรคลมชักแยกประเภทของการชัก เลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมตามแนวทางการรักษามาตรฐานให้ข้อมูลเรื่องโรคและพยากรณ์ของโรคแก่ผู้ป่วย และติดตามผลการรักษา

บทบาทหน้าที่ของพยาบาล
บทบาทหน้าที่ของพยาบาลในคลินิกโรคลมชัก มีดังนี้

  • การคัดกรอง ประเมินอาการผู้ป่วย เพื่อเป็นข้อมูลในการพยาบาลและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  • การให้ความรู้ คำแนะนำ พยาบาลเป็นบุคลากรทีมสุขภาพที่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยและญาติมากที่สุด จึงมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้คำแนะนำ อธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยโรคลมชักและญาติควรรู้ รวมถึงการสนับสนุนให้กำลังใจผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติตัวในการดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และเพื่อให้ผู้ป่วยโรคลมชักมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งกิจกรรมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักที่มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วย และผู้ดูแลมากที่สุด คือ กิจกรรมกลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยโรคลมชัก (epilepsy support group) ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคลมชักและผู้ดูแลได้มีโอกาสระบายความรู้สึก ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ความเจ็บป่วยซึ่งกันและกัน


กลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยโรคลมชัก (epilepsy support group)

การจัดกิจกรรมกลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยโรคลมชักเป็นกิจกรรมการพยาบาลที่มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยและญาติ ซึ่งใช้ระยะเวลาที่ผู้ป่วยและญาติ นั่งรอรับการตรวจมาเข้ากลุ่ม โดยการรวมตัวกันของผู้ป่วยโรคลมชักที่มีประสบการณ์ หรือมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคลมชักและผู้ดูแลได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ความเจ็บป่วยร่วมกัน ได้ช่วยเหลือเพื่อนที่มีความทุกข์มากกว่า จึงทำให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง เกิดความรู้สึกไม่แตกต่างเพราะผู้ป่วยมีปัญหาที่คล้ายกัน ช่วยให้มีความหวัง มีความรู้สึกต่อตัวเองดีขึ้น เมื่อได้รับรู้ว่าไม่เพียงแต่ตนเองแค่นั้นที่ต้องต่อสู้อยู่กับโรคเพียงลำพัง ยังมีเพื่อนร่วมต่อสู้แลกเปลี่ยนกัน มีความเข้าใจชีวิตมากขึ้น และได้รับกำลังใจจากการเข้าร่วมกลุ่ม เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกัน ได้ระบายความรู้สึกทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจทำให้เข้าใจตนเองและชีวิตมากขึ้น มีการปรับตัวต่อปัญหา ยอมรับปัญหา สามารถเผชิญปัญหาได้อย่างเหมาะสม มีแหล่งสนับสนุน เกิดความมั่นคงทางอารมณ์ มีการเรียนรู้แบบอย่างที่ดีในการดูแลตนเอง มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมกลุ่ม

ผู้นำกลุ่มเป็นพยาบาลประจำคลินิกโรคลมชักที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคลมชัก มีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้

  1. ขั้นเลือกสมาชิก สมาชิกกลุ่มควรมีลักษณะใกล้เคียงกันด้วยเพศ วัย และมีปัญหาคล้าย ๆ กัน
  2. กำหนดขนาดของกลุ่ม มีสมาชิกกลุ่มตั้งแต่ 6 – 10 คน ระยะเวลาในการทำกลุ่มประมาณ 60 – 90 นาที
  3. สถานที่ที่ใช้ในการดำเนินการกิจกรรมกลุ่มก็มีความสำคัญ โดยควรเป็นห้องที่มีความเป็นส่วนตัว สะอาด สงบ เงียบ ห้องไม่กว้าง หรือแคบจนเกินไปอากาศถ่ายเทสะดวก อากาศไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป และไม่ควรมีโต๊ะคั่นกลาง
  4. ขั้นการดำเนินการกลุ่มมี 3 ขั้นตอน
    • ระยะที่ 1 การสร้างสัมพันธภาพในกลุ่ม โดยผู้นำกลุ่มสร้างความคุ้นเคยให้สมาชิกแนะนำตัว สร้างสัมพันธภาพระหว่างสมาชิก สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ชี้แจงวัตถุประสงค์และกติกาภายในกลุ่ม
    • ระยะที่ 2 ช่วงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สมาชิกซักถามปัญหาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเจ็บป่วยและแลกเปลี่ยนความรู้สึก แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องโรคและแนวทางการดูแลตนเอง ผู้นำกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
    • ระยะที่ 3 หลังการแลกเปลี่ยนข้อมูล พยาบาลผู้นำกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ และประโยชน์ที่จะนำไปใช้กับตนเอง กำลังใจที่ได้รับจากการเข้าร่วมกลุ่ม


ประโยชน์ของกิจกรรมกลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยโรคลมชัก

  1. บรรยากาศสัมพันธภาพที่อบอุ่น เห็นอกเห็นใจ รับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งกันและกัน
  2. เกิดความไว้วางใจ ยอมรับซึ่งกันและกัน สามารถบอกเล่าความรู้สึกที่เป็นปัญหา ตลอดจนรับฟังเรื่องที่เป็นปัญหาของสมาชิกได้ เป็นการเปิดเผยปัญหา ถ่ายทอดความรู้สึกแก่กันและกัน
  3. สมาชิกกลุ่มได้รับข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพิ่มขึ้น
  4. มีความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว มีคนอื่น ๆ ที่มีปัญหาคล้าย ๆ กัน
  5. สมาชิกได้เรียนรู้การให้และรับความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
  6. สมาชิกได้เรียนรู้ประสบการณ์การเจ็บป่วยจากกันและกัน
  7. สร้างความเชื่อมั่นในการเผชิญและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม
  8. ได้ระบายความรู้สึก ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ ทำให้เข้าใจตนเองและชีวิตมากขึ้น

ผลการศึกษาของ Sawanchareon และคณะ พบว่า กิจกรรมกลุ่มสนับสนุนในผู้ป่วยโรคลมชัก มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยทำให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง (selfesteem) เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยเมื่อได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มย่อมเกิดความภาคภูมิใจ ได้รับกำลังใจ มีความหวัง มีความรู้สึกต่อตัวเองดีขึ้น เมื่อได้รับรู้ว่าไม่เพียงแต่ตนเองแค่นั้นที่เป็นโรคนี้ การได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเจ็บป่วยกันและกัน ทำให้มีความเข้าใจชีวิตมากขึ้นและได้รับกำลังใจจากการเข้ากลุ่มในกระบวนการกลุ่มผู้ป่วยได้เข้าใจโรค ยอมรับผลทางร่างกายและจิตใจ ส่งเสริมการทำหน้าที่ในสังคม รู้ว่าตนเองสามารถเป็นประโยชน์ให้กับคนอื่น ๆ ช่วยให้เกิดการปรับตัวที่ดีขึ้น จึงส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตนเองสูงขึ้นด้วย

การนัดหมายและให้ข้อมูล พยาบาลมีหน้าที่ให้คำแนะนำขั้นตอนของการรับบริการและการส่งตรวจอื่น ๆ แก่ผู้ป่วย ได้แก่ การเจาะเลือดวัดระดับยากันชัก การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalography; EEG) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) และการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น รวมถึงการติดตามผู้ป่วยให้มาตามนัดเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการรักษานอกจากนี้ พยาบาล คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประสานงานในทีมสุขภาพผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้การให้บริการผู้ป่วยในคลินิกโรคลมชักเป็นไปอย่างราบรื่นทั้งด้านการบริการตรวจวินิจฉัยและการให้คำปรึกษา ดังนี้้

  • ระบบบริการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองการจัดระบบการนัดตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองโดยเจ้าหน้าที่ห้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะส่งผู้ป่วยมาตรวจเพื่อนัดหมายวัน เวลาการตรวจที่แน่นอน นอกจากนี้ยังให้ผู้ป่วยหรือญาติที่จะมารับบริการตรวจสามารถโทรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ห้องตรวจได้โดยตรงเพื่อลดขั้นตอนการบริการ สะดวก รวดเร็ว และมีความพึงพอใจในบริการ รวมทั้งการรายงานผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองโดยยึดผู้ป่วยและญาติเป็นศูนย์กลาง สามารถให้เลือกว่าจะให้เจ้าหน้าที่ห้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองส่งผลรายงานการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองไปโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลจังหวัดที่ผู้ป่วยและญาติไปรับบริการได้สะดวก โดยประสานกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเพื่อส่งผลให้ทั้งทางจดหมาย e-mail หรือ line
  • ระบบการให้คำปรึกษา กรณีผู้ป่วยต้องการคำปรึกษา สามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและญาติในหลายช่องทาง ได้แก่ ทาง e-mail, facebook, line เช่น ผู้ป่วยไม่แน่ใจอาการแพ้ยากันชักหรือผลข้างเคียงจากยากันชัก ทำให้สามารถจัดการปัญหาผู้ป่วยได้ทันท่วงที ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา ผู้ป่วยและญาติมีความพึงพอใจ

บทบาทหน้าที่ของเภสัชกร
เภสัชกรเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญโดยมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยยาเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เภสัชกรจะต้องให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่าจะได้รับยาที่ปลอดภัยและเหมาะสม มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (rational use of drug) เภสัชกรต้องตรวจสอบดูแลผู้ป่วยแต่ละรายที่รับผิดชอบอยู่เพื่อค้นหาปัญหาการรักษาด้วยยาที่เกิดขึ้น (actual drug therapy problems) และค้นหาผู้ป่วยที่มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาการรักษาด้วยยา (potential drug therapy problem) เมื่อค้นพบปัญหาการรักษาด้วยยา เภสัชกรจะต้องมีบทบาทหน้าที่ในการแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาดังกล่าว


แนวทางปฏิบัติและบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรในการดูแลผู้ป่วยโรคลมชัก มีดังนี้

  1. สอบถามข้อมูลและประวัติการใช้ยาของผู้ป่วย ดังต่อไปนี้
    1. ข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วย เช่น ชื่อ นามสกุล เลขที่ประจำตัวผู้ป่วยเพศ อายุ เป็นต้น
    2. ข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ชนิดของโรคลมชัก ปัจจัยที่มีผลต่อโรคผู้ป่วย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประวัติการเป็นโรคหรือการผ่าตัด เป็นต้น
    3. ข้อมูลการรักษาด้วยยา เช่น ประวัติการสั่งใช้ยาของแพทย์ ประวัติการแพ้ยา ความร่วมมือในการใช้ยา
    4. ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลของการรักษา
    5. ข้อมูลด้านสังคมและเศรษฐศาสตร์ เช่น อาชีพ สิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษา เป็นต้น
  2. คัดกรองความถูกต้องของการสั่งยาและประเมินความเหมาะสมในการสั่งใช้ยาโดยใช้หลักการ “IESAC” (อ่านว่า “ไอแซค”) ซึ่งย่อมาจาก ข้อบ่งใช้ (indication) ประสิทธิภาพ (efficacy) ความปลอดภัย (safety) การใช้ยาตามแพทย์สั่ง (adherence) และราคา (cost)
  3. ค้นหาปัญหาการรักษาด้วยยา ในกรณีที่ค้นพบปัญหาการรักษาด้วยยาเภสัชกรจะแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าวโดยการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย หรือให้ข้อเสนอแนะกับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกับบันทึกข้อมูลในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ในการติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
    ปัญหาการรักษาด้วยยากันชักที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติมีดังนี้ คือ

    1. ปัญหาการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (adverse drug reactions; ADRs) ได้แก่
      • อาการข้างเคียงจากการใช้ยา (side effect) หรือพิษจากยา (toxicity)
      • อาการแพ้ (idiosyncrasy)
      • อาการข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ (teratogenicity)
        ซึ่งมีแนวทางในการปฏิบัติ คือ หากอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเป็นชนิดที่ไม่รุนแรงและจำเป็นที่ต้องใช้ยาตัวดังกล่าวสามารถใช้ยาต่อไปได้แต่ต้องติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยาอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดที่รุนแรงควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับลดขนาดยา หรือปรับเปลี่ยนยาตามความเหมาะสม สำหรับการป้องกันผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์จะยึดตามแนวทางปฏิบัติในการเตรียมการตั้งครรภ์ หรือเมื่อมีการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยที่มีอาการชัก
    2. ปัญหาความไม่ร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย (non adherence) เภสัชกรสามารถประเมินความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
      • การสอบถามจากผู้ป่วยโดยตรง โดยทำการสอบถามถึงวิธีการใช้ยาของผู้ป่วยว่าใช้ยาอย่างไร ถูกต้องตามที่แพทย์สั่งหรือไม่ ผู้ป่วยเคยลืมรับประทานยาหรือไม่
      • การนับเม็ดยา การนับเม็ดยาที่เหลือจะช่วยให้สามารถประมาณการณ์ได้ว่าผู้ป่วยไม่ได้รับยาตรงตามที่ควรจะได้มากน้อยเพียงใด อาจทำได้โดยให้ผู้ป่วยนำยาที่เหลือกลับมาให้ดูในการนัดครั้งถัดไป หรือสอบถามผู้ป่วยถึงจำนวนยาที่เหลืออยู่
      • การตรวจสอบว่าผู้ป่วยมาพบแพทย์ตรงตามนัดหรือไม่ เพื่อดูความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วย
      • การวัดระดับยาในเลือดว่าอยู่ในช่วงการรักษาหรือไม่ หากระดับยาในเลือดต่ำกว่าช่วงการรักษา อาจเกิดจากผู้ป่วยไม่ร่วมมือในการใช้ยา


แนวทางปฏิบัติในการเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย มีดังนี้

  1. แนะนำแนวทางการป้องกันการลืมรับประทานยา อาทิ ให้เก็บยาในตำแหน่งที่สามารถเห็นได้ในเวลา
    ที่ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาโดยให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้ป่วยแต่ละราย แนะนำวิธีการเตือนให้รับประทานยา เช่น ตั้งปลุกเตือนโดยใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ป่วย หรือแนะนำการปฏิบัติที่ถูกต้องหากมีการลืมรับประทานยาว่าสามารถรับประทานยาได้เมื่อไร หรือสามารถรวบขนาดยาได้หรือไม่ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติทางเภสัช-จลนศาสตร์ และลักษณะการออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัว
  2. เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นหรือแย่ลง เภสัชกรควรเน้นย้ำถึงความร่วมมือในการใช้ยาแก่ผู้ป่วยเนื่องจากผู้ป่วยจะมีแนวโน้มที่จะใช้ยาลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้
  3. เภสัชกรควรให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่วิตกกังวลจนเกินไป รวมทั้งแนะนำวิธีป้องกัน หรือการปฏิบัติตัวที่ช่วยลดความเสี่ยงของอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว แต่ถ้าอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงควรแนะนำให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์
  4. เภสัชกรควรให้ความสำคัญกับผู้ดูแลผู้ป่วย กล่าวคือ ควรแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและการรักษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นความสำคัญ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการรักษาต่อไป
  5. สำหรับผู้ป่วยที่บ้านอยู่ไกลและมีปัญหาในการเดินทางหรือปัญหาทางเศรษฐฐานะ อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายโดยนัดผู้ป่วยให้ห่างขึ้น หรือให้รับยาใกล้บ้านหากโรงพยาบาลใกล้บ้านไม่มีปัญหาในเรื่องของความพร้อมของยาที่ผู้ป่วยใช้ แต่ต้องมีการชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจในแนวทางการรักษา และเห็นความสำคัญของความร่วมมือในการใช้ยา

ปัญหาการเกิดอันตรกิริยาจากการใช้ยากันชักร่วมกัน และระหว่างยากันชักกับยาอื่น (drug interaction)
การใช้ยากันชักร่วมกันจะก่อให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาขึ้น เช่นเดียวกับการรับประทานยากันชักร่วมกับยาอื่น ดังนั้น การใช้ยากันชักร่วมกันหรือการรับประทานยากันชักร่วมกับยาอื่น ๆ จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง อาจจำเป็นต้องติดตามระดับยาในเลือด ดูอาการทางคลินิกทั้งด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยโรคลมชัก มีอาการเจ็บป่วยต้องนำยาที่รับประทานอยู่มาให้แพทย์ที่รักษาดูด้วยทุกครั้งว่าตนเองรับประทานยาอะไรอยู่เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาว่ายาที่จะสั่งให้นั้นมีอันตรกิริยาต่อกันหรือไม่ อย่างไร กรณีใช้ยากันชักที่มีอันตรกิริยาระหว่างยาร่วมกัน แนะนำให้ติดตามระดับยาและดูอาการทางคลินิกทั้งด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย และปรับขนาดการใช้ยาแต่ละชนิดให้เหมาะสม สำหรับ กรณีที่ยากันชักมีอันตรกิริยากับยาอื่นให้พิจารณาผลของอันตรกิริยาดังกล่าว และความจำเป็นของการใช้ยาอื่นที่ร่วมกัน อาจติดตามระดับยากันชัก และปรับตามความเหมาะสมโดยพิจารณาจากอาการทางคลินิกเป็นหลัก

ปัญหาการไม่ได้รับยาตามที่แพทย์สั่งจ่าย (failure to receive medication)
ปัญหาการไม่ได้รับยาตามที่แพทย์สั่งจ่าย มีความหมายครอบคลุมถึงการที่ผู้ป่วยได้รับยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่งจ่ายโดยมีสาเหตุมาจากเศรษฐฐานะของผู้ป่วย สิทธิทางการรักษาของผู้ป่วยทำให้เกิดข้อจำกัดของการได้รับยาการได้รับยาไม่ตรงตามที่แพทย์สั่งจ่าย กล่าวคือ ได้ยาคนละตัวยาเนื่องจากโรงพยาบาลไม่มียาดังกล่าวทำให้แพทย์ต้องเปลี่ยนยาหรือได้รับยาคนละชื่อการค้ากัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะใดก็ตามล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ หรือเกิดอาการชักเกิดขึ้นจากที่เคยควบคุมอาการชักได้ แนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขหรือป้องกันปัญหาดังกล่าว มีดังนี้

  • กรณีผู้ป่วยใหม่ ที่เพิ่งเริ่มต้นยากันชักจะใช้ยาชื่อสามัญ หรือยาต้นแบบก็ได้ ขอให้ใช้ยาดังกล่าวตัวเดิมอย่างต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนยี่ห้อไปมา เพื่อเป้าหมายในการควบคุมอาการชัก
  • กรณีผู้ป่วยที่ควบคุมอาการชักได้ดีแล้ว ไม่ว่าจะด้วยยาชื่อสามัญหรือยาต้นแบบ ให้คงการใช้ยาชนิดนั้นไว้
  • กรณีผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการทำงานของตับหรือไต ไม่ควรเปลี่ยนยี่ห้อยาไปมา เนื่องจากเภสัช-จลนศาสตร์ของผู้ป่วยดังกล่าวแตกต่างจากผู้ป่วยกลุ่มอื่น อาจส่งผลให้เกิดพิษจากยา หรือควบคุมอาการชักไม่ได้

ให้คำแนะนำเรื่องโรคและการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสม รวมถึงการให้ข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้น และการปฏิบัติตนที่เหมาะสมเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวแก่ผู้ป่วย ตลอดจนการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการชัก ได้แก่ การอดนอน การดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การรับประทานยากันชักไม่สม่ำเสมอ ความเครียด การทำงาน หรือออกกำลังกายอย่างหักโหม เป็นต้น

ให้ข้อมูลด้านยา และการเจาะวัดระดับยาในเลือดแก่แพทย์
ข้อมูลด้านยาที่เภสัชกรสามารถให้แก่แพทย์ได้มีดังนี้

  • การระบุชนิดยา (drug identification) ตัวอย่าง แพทย์ไม่ทราบชื่อยาที่ผู้ป่วยได้รับจากโรงพยาบาลอื่น และผู้ป่วยนำยาเดิมมาด้วย จึงขอให้เภสัชกรช่วยดูเม็ดยา และระบุชื่อยาให้
  • การมียาในโรงพยาบาล (drug availability)
  • เภสัชจลนศาสตร์ของยา (pharmacokinetics)
  • ผลของอันตรกิริยาระหว่างยา (drug interaction)
  • อาการไม่พึงประสงค์จากยา (adverse drug reaction/side effects)
  • ข้อบ่งใช้ ขนาดยาและแบบแผนการใช้ยา (indication, dose and dosage regimen)
  • ราคา (cost)
    ประเภทยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ และแนวทางปฏิบัติ
    เภสัชกรควรแนะนำให้แพทย์ส่งตรวจวัดระดับยาในเลือด เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
  • เพื่อประเมินความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย
  • ยืนยันอาการเป็นพิษ เมื่อผู้ป่วยใช้ยากันชักพร้อมกันหลายชนิด
  • ประเมิน และเฝ้าระวังผู้ป่วยที่อาจเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา
  • เพื่อหาระดับยาที่ควบคุมการชักได้ในแต่ละบุคคล
  • เฝ้าดูระดับยาในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย เช่น ระดับโปรตีนในเลือดเปลี่ยนแปลง เช่น มีภาวะโรคตับ ผู้ป่วยที่ค่าทางเภสัชจลนศาสตร์เปลี่ยนแปลง เช่น หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น


ลักษณะการจัดคลินิกโรคลมชัก

คลินิกโรคลมชักเป็นการบริหารจัดการที่ง่ายแต่ให้ประโยชน์สูงสุด เป็นคลินิกเฉพาะโรค ที่มีแพทย์เฉพาะทางและบุคลากรทีมสุขภาพ ได้แก่ เภสัชกรและพยาบาลที่มีความชำนาญโรคลมชักอยู่ประจำ ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพอาศัยเครื่องมือที่ง่าย ดังนี้

  1. สมุดบันทึกอาการชัก (epilepsy diary) สำหรับผู้ป่วยหรือญาติจดบันทึก (record) อาการชัก และติดตามผลการปรับยา
  2. สื่อและเอกสารให้ความรู้ คำแนะนำการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยและญาติ
  3. มีระบบการติดต่อสื่อสาร ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและญาติอย่างเป็นกันเองและใกล้ชิดในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ, website, facebook, line
    • การติดต่อสื่อสารผ่านทาง Facebook; Epilepsy club,Srinagarind Hospital โดยผู้ป่วยและญาติสามารถสมัครเป็นสมาชิกเพื่อเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคลมชักและสอบถามปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคลมชักจากทีมสุขภาพ ได้แก่ แพทย์ เภสัชกรและพยาบาล โดยตรง
    • Website ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชัก
  4. โปรแกรมการบันทึกข้อมูล (Epilepsy Database Program) ของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อเป็นฐานข้อมูล สำหรับการติดตามอย่างเป็นระบบ และเพื่อการวิจัยและพัฒนา


ความคุ้มค่าของคลินิกโรคลมชัก

  1. ส่งเสริมความสม่ำเสมอในการรับประทานยา (compliance) และการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมอาการชัก เช่น การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น (precipitating factor)
  2. ตอบปัญหาและแนะนำผู้ป่วยเกี่ยวกับโรค ยากันชัก คำแนะนำในการดำเนินชีวิต การเรียน การทำงาน การแต่งงาน ฯลฯ ทั้งทางตรง ทางโทรศัพท์หรือ website, facebook, line ทำให้ประหยัดเวลาที่ผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
  3. เป็นที่รับฟังปัญหาทางจิตสังคมของผู้ป่วย เช่น ผลกระทบต่อจิตใจจากโรคลมชัก ความด้อยโอกาสทางสังคม

จะเห็นว่า การบริหารจัดการคลินิกโรคลมชักเป็นการลงทุนที่น้อย เรียบง่าย อาศัยการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและความเอาใจใส่ของบุคลากร ก็สามารถทำให้เกิดผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม เป็นที่พึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ


บทสรุป

การบริหารจัดการคลินิกโรคลมชัก อาศัยการจัดการอย่างเป็นระบบและความเอาใจใส่ของบุคลากรที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักตามความเชี่ยวชาญของแต่ละวิชาชีพ และมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถควบคุมอาการชักได้เร็วที่สุด เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาน้อยที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

 

เอกสารอ้างอิง

  1. เฉลิมศรี ภุมมางกูร. การบริบาลทางเภสัชกรรม. ใน: บุษบา จิดาวิจักษณ์, เนติ สุขสมบูรณ์ (บรรณาธิการ). เภสัชกรรมบำบัดในโรงพยาบาล,กรุงเทพมหานคร: ไทยมิตรการพิมพ์.2539: 1-21.
  2. ชัยชน โลว์เจริญกุล. เวชศาสตร์พอเพียงกับการรักษาโรคลมชัก. ใน ชัยชน โลว์เจริญกุล. (บรรณาธิการ). วิทยาการโรคลมชัก 1 . กรุงเทพมหานคร:
  3. บริษัท เอ จี เน็ตเวิร์ค จำกัด. 2552:349-79.
  4. สุณี เลิศสินอุดม, ปวลี เนียมถาวร, สมศักดิ์ เทียมเก่า และคณะ. ความพึงพอใจของผู้มารับบริการ ณ คลินิกโรคลมชัก โรงพยาบาลศรีนครินทร์. วารสารประสาทวิทยาศาสตร์. 2553; 5(2): 7-18.
  5. สุณี เลิศสินอุดม, สุภิญญา ตันตาปกุล, สมศักดิ์ เทียมเก่า และคณะ. ผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยโรคลมชัก คลินิกโรคลมชัก โรงพยาบาลศรีนครินทร์.
  6. วารสารประสาทวิทยาศาสตร์. 2553; 5(2): 19-26.
  7. สุณี เลิศสินอุดม, อาภรณี ไชยาคำ, สุภิญญา ตันตาปกุล และคณะ. การจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาโดยเภสัชกรในคลินิกโรคลมชัก โรงพยาบาลศรีนครินทร์. วารสารประสาทวิทยาสาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. 2552; 4 (1): 39-50.
  8. สุณี เลิศสินอุดม, นันทพรรณ์ ชัยนิรันดร์. แนวทางการบริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก. ใน สุณี เลิศสินอุดม (บรรณาธิการ). การบริบาล
  9. ทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยโรคลมชักและการติดตามระดับยากันชักในเลือดขอนแก่น: หจก.โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา. 2556.
  10. อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย. การให้คำปรึกษาทางสุขภาพ. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์ธนาเพรส. 2549.
  11. Corey G. Theory and Practice of Group Counseling .7th edition. 2008. Thomson Brooks/Cole. Sawanchareon K, Pranboon S,Tiamkao S, Sawanyawisuth K. Moving the Self-Esteem of People with Epilepsy by Supportive Group: A Clinical Trial. Journal of Caring Sciences2013;2:329-35.

 

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก