พันโท รศ. นพ. ศักรินทร์ จิรพงศธร
แผนกโรคทางเดินอาหารและตับ
กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
นพ. คณิศร์ บุนนาค
แพทย์ประจำบ้านต่อยอด แผนกโรคทางเดินอาหารและตับ
กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
โรคตับคั่งไขมัน (metabolic dysfunction-associated steatotic liver disease หรือ MASLD) นับเป็นโรคตับเรื้อรังที่พบได้บ่อยทั่วโลก คาดการณ์ว่าความชุกของโรคพบได้มากถึงหนึ่งในสี่ของประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลก โดยโรคตับคั่งไขมันนั้นถูกพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาการเมทาบอลิก (metabolic syndrome) ซึ่งมักจะพบร่วมกับโรคอื่น เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง
นอกจากนี้ โรคตับคั่งไขมันจัดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้เกิดโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับ การศึกษาในปัจจุบันพบว่าโรคตับคั่งไขมันยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ผ่านการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจทํางานผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งโรคทั้งหมดนี้จะเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหลักของผู้ป่วยโรคตับคั่งไขมัน
การดําเนินโรคของโรคตับคั่งไขมันส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติ แต่มีบางส่วนจะตรวจพบความผิดปกติในตับ เช่น เกิดโรคตับอักเสบจากโรคตับคั่งไขมัน (metabolic dysfunction-associated steatohepatitis หรือ MASH) โรคตับแข็ง โดยในกลุ่มที่ไม่มีอาการผิดปกติแต่เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย หรือกลุ่มที่มีการดําเนินโรครุนแรงตามข้างต้นจัดว่ามีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผู้ที่เป็นตับคั่งไขมันทุกรายควรจะได้รับการตรวจประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดแม้จะไม่มีอาการผิดปกติ เพราะอาจจะมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งซ่อนเร้นอยู่ (subclinical atherosclerosis) นอกจากนี้ การพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพยังช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับการรักษาที่รวดเร็วและมีผลลัพธ์ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นเป้าหมายร่วมกันของการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดและกลุ่มอาการเมทาบอลิก
รูปที่ 1 แสดงความเกี่ยวข้องกันระหว่างโรคตับคั่งไขมันกับความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด