อ.นพ. กฤต ราชายนต์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านเท้าและข้อเท้า
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แผลเท้าเบาหวานพบในผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมาก และหลายรายมักต้องตัดนิ้วเท้าหรือเท้าส่วนที่ติดเชื้อออก ภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับเท้าเบาหวานเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในระยะยาว ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่จะได้รับทราบถึงวิธีการป้องกันแผลที่เท้าตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แต่ยังต้องระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะการติดเชื้อ หนึ่งในวิธีการรักษาแผลที่เท้าที่ดีที่สุดคือ การหยุดและป้องกันไม่ให้แผลพัฒนาหรือลุกลามออกไปอีก
แผลเท้าเบาหวานชนิดแผลเปิด ส่วนใหญ่พบบริเวณใต้ฝ่าเท้า เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยเป็นโรคปลายประสาทอักเสบโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการชาที่เท้า แล้วประสบอาการบาดเจ็บที่เท้า ทำให้ไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดหรือไม่รู้สึกถึงอาการผิดปกติ อาการบาดเจ็บนั้นจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดแผลที่เท้า
5 มาตรการการดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลที่เท้า
- เริ่มต้นจากตรวจสอบเท้าของตนเองเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณระหว่างนิ้วเท้า ตุ่มพอง ผิวหนาขึ้น สีเปลี่ยนไป แตก บวม ระคายเคือง ผิวหนังฉีกขาด หรือแผลเปิด
- ทำความสะอาดเล็บเท้าทุกวัน และหมั่นเช็กเสมอว่าเท้า ปลายเท้าแห้งสนิท
- อย่าเดินเท้าเปล่าหรือสวมรองเท้าโดยไม่ใส่ถุงเท้า เพราะมีความเสี่ยงอาจโดนเศษหินหรือทรายบาดเท้า ทำให้ผิวบอบช้ำได้
- สวมรองเท้าขนาดพอดีและอ่อนนุ่ม หลีกเลี่ยงรองเท้าพื้นแข็ง รองเท้าที่คับเกินไปหรือหลวมเกินไปอาจเป็นสาเหตุของแผลที่เท้าได้
- รักษาระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่ดี โดยการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและใยอาหารสูง ซึ่งสามารถช่วยควบคุมโรคเบาหวานได้ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
การปฏิบัติตาม 5 มาตรการเหล่านี้สามารถลดโอกาสการเป็นแผลที่เท้าจากเบาหวาน
ข้อควรระวังเพื่อป้องกันแผลที่เท้าไม่ให้ติดเชื้อ
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด
- รักษาแผลให้สะอาดและปิดด้วยผ้าพันแผลทุกวัน
- อย่าเดินเท้าเปล่าเมื่อมีแผลที่เท้า
การตระหนักถึงแนวทางการป้องกันเป็นสิ่งสำคัญแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะลดโอกาสการเกิดแผลที่เท้าจากเบาหวานได้ การรู้ลักษณะของผู้ที่มีแนวโน้มเป็นแผลที่เท้าจะช่วยป้องกันได้ดีขึ้น
ได้แก่ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม หลอดเลือดผิดปกติและภาวะเท้าผิดรูป หรือเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ และผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงจากการปฏิบัติตัว ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใส่รองเท้าไม่เหมาะสม เป็นต้น
เมื่อไรจะไปพบแพทย์ ? 8 ข้อที่สามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง
ในกรณีที่มีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาจส่งผลให้เกิดแผลเท้าเบาหวานได้
- ผิวหนังมีตุ่มพองหนาขึ้น เปลี่ยนสี แตกร้าว
- รู้สึกชา หรือรู้สึกหนาผิดปกติที่เท้า
- การผิดรูปของเล็บ และสีเล็บผิดปกติ
- ภาวะนิ้วเท้าผิดรูป เช่น ปลายนิ้วจิก หงิกงอผิดรูป มีอาการเจ็บปลายนิ้วหรือเล็บเท้า
- แผลที่ผิวหนังระหว่างนิ้วเท้า เช่น เปียกหรือมีของเหลวซึมออกมาจากแผล
- การผิดรูปของเท้า หรือข้อเท้า
- คลำเจอกระดูกที่นูน หรือปุ่มกระดูกผิดปกติ
- เท้าหรือนิ้วเท้าเปลี่ยนเป็นสีแดง น้ำเงิน หรือดำ บวม โดยอาจมีอาการปวดหรือไม่ก็ได้
แพทย์เฉพาะทางเท้าและเบาหวาน จะเป็นผู้พิจารณาความเสี่ยงที่จะเป็นแผลที่เท้าหรือไม่ การมองข้ามความผิดปกติเล็กน้อยอาจเป็นสาเหตุของแผลเท้าเบาหวานได้
การตรวจอาการที่เท้าด้วยตนเอง และดูแลไม่ให้เกิดแผลเท้าเบาหวานจากสัญญาณในระยะเริ่มต้นเป็นมาตรการป้องกันที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงการถูกตัดนิ้วเท้าหรือเท้า
- Pinzur MS. The diabetic foot. Foot Ankle Int. 2001 Sep;22(9)
- Dalla Paola L, Faglia E. Treatment of diabetic foot ulcer: an overview strategies for clinical approach. Curr Diabetes Rev. 2006
- Khalifa WA. Risk factors for diabetic foot ulcer recurrence: A prospective 2-year follow-up study in Egypt. Foot (Edinb). 2018
- Jeon BJ, Choi HJ, Kang JS, Tak MS, Park ES. Comparison of five systems of classification of diabetic foot ulcers and predictive factors for amputation. Int Wound J. 2017
- Martin JK, Davis BL. Diabetic Foot Considerations Related to Plantar Pressures and Shear. Foot Ankle Clin. 2023 Mar;28(1):13-25
- Brekelmans W, van Laar W, Tolen NJ, Hoencamp R, Borger van der Burg BLS. Recurrent diabetic foot ulcers: Results of a maximal multidisciplinary approach including reconstructive foot/ankle surgery. Int Wound J. 2023 Aug;20(6):1866-1873
- Bekele F, Chelkeba L. Amputation rate of diabetic foot ulcer and associated factors in diabetes mellitus patients admitted to Nekemte referral hospital, western Ethiopia: prospective observational study. J Foot Ankle Res. 2020 Nov 4;13(1):65
- Boulton AJ, Vileikyte L, Ragnarson-Tennvall G, Apelqvist J. The global burden of diabetic foot disease. Lancet. 2005;366(9498):1719-24.
- Armstrong DG, Boulton AJM, Bus SA. Diabetic Foot Ulcers and Their Recurrence. N Engl J Med. 2017;376(24):2367-75.
- Singh N, Armstrong DG, Lipsky BA. Preventing foot ulcers in patients with diabetes. JAMA. 2005;293(2):217-28.
- สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน: สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย; 2560.