รศ. พญ. นฤชา จิรกาลวสาน
สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สรุปเนื้อหาจากงานประชุมวิชาการประจำปี 2564 จัดโดย สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย วันที่ 11 มีนาคม 2564
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) คือ ภาวะที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้นเป็นพัก ๆ ทำให้มีการตกลงของออกซิเจน หรือทำให้มีการตื่นตัวระหว่างคืน1 ภาวะนี้มีความสัมพันธ์กับโรคหืด โดยพบความสัมพันธ์เป็นลักษณะ bidirectional (รูปที่ 1, รูปที่ 2)2 มีข้อมูลวิจัย พบว่า อุบัติการณ์ของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยโรคหืดที่ควบคุมได้ยาก (difficult to treat asthma)
รูปที่ 1 ความสัมพันธ์แบบ bidirectional ของโรคหืด และภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (direct effect) ดัดแปลงจาก Abdul Razak MR, Chirakalwasan N. Obstructive sleep apnea and asthma. Asian Pac J Allergy Immunol. 2016; 34(4): 265 – 71.
รูปที่ 2 ความสัมพันธ์แบบ bidirectional ของโรคหืด และภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (indirect effect) ดัดแปลงจาก Abdul Razak MR, Chirakalwasan N. Obstructive sleep apnea and asthma. Asian Pac J Allergy Immunol. 2016; 34(4): 265 – 71.2.
โดยอาจพบได้ถึง 74.5%3 โดยทั่วไปการรักษาหลักของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในผู้ใหญ่ คือ การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (continuous positive airway pressure หรือ CPAP) มีข้อมูลวิจัยพบว่า การใช้เครื่อง CPAP สามารถลดจำนวนวันที่มีอาการโรคหืดกำเริบ ลดการที่จะมีโรคหืดกำเริบตอนกลางคืน ลดอาการโรคหืดตอนกลางคืน เพิ่มค่า peak expiratory flow rate และค่า FEV1 เพิ่มคุณภาพชีวิต และลดโอกาสการเกิดโรคหืดที่ควบคุมไม่ได้ 2 ส่วนในเด็กการรักษาหลักของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น คือ การผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดินอยด์ โดยข้อมูลวิจัยพบว่า สามารถลดการเกิดโรคหืดกำเริบ ลดการเกิดโรคหืดกำเริบที่รุนแรง ลดการที่จะต้องไปห้องฉุกเฉินจากโรคหืดกำเริบ และลดการนอนโรงพยาบาลจากโรคหืดกำเริบ2
สำหรับภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) นั้น พบว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จมูกนั้นมีความสัมพันธ์ต่อกันเป็นลักษณะ bidirectional เช่นเดียวกัน (รูปที่ 3) มีข้อมูลพบว่า การใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์สามารถช่วยทำให้ค่าดัชนีการหยุดหายใจและหายใจแผ่ว (apnea hypopnea index หรือ AHI) ลดลง รวมถึงระดับออกซิเจนและอาการง่วงนอนที่ดีขึ้น4
รูปที่ 3 ความสัมพันธ์แบบ bidirectional ของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ดัดแปลงจาก Chirakalwasan N, Ruxrungtham K. Linkage of allergic rhinitis and obstructive sleep apnea. Asian Pac J Allergy Immunol 2014; 32: 276 – 86
แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายงานวิจัยที่ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน5 โดยมีงานวิจัยในประเทศไทยที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับปานกลางถึงรุนแรงที่มีโรคจมูกอักเสบเรื้อรัง โดยงานวิจัยนี้พบว่า เมื่อใช้ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์เป็นเวลาหนึ่งเดือนสามารถลดค่า AHI ได้ แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบว่าสามารถลดค่าดัชนีการหายใจถูกรบกวน (respiratory disturbance index) ในท่านอนตะแคงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมทั้งพบว่า สามารถเพิ่มคุณภาพการนอนหลับได้6 ในทางตรงข้ามมีข้อมูลวิจัยที่พบว่า การรักษาโดยใช้ CPAP สามารถที่จะทำให้คุณภาพการนอนหลับ และอาการดีขึ้นในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้7
เอกสารอ้างอิง
- International Classification of Sleep Disorders (ICSD)-3 2014.
- Abdul Razak MR, Chirakalwasan N. Obstructive sleep apnea and asthma. Asian Pac J Allergy Immunol. 2016; 34(4): 265 – 71.
- Guven SF, et al. The prevalence of obstructive sleep apnea in patients with difficult-to-treat asthma. Asian Pac J Allergy Immunol. 2014; 32(2): 153 – 9.
- Acar M, et al. The effects of mometasone furoate and desloratadine in obstructive sleep apnea syndrome patients with allergic rhinitis. Am J Rhinol Allergy. 2013; 27(4): e113 – 6.
- Chirakalwasan N, Ruxrungtham K. Linkage of allergic rhinitis and obstructive sleep apnea. Asian Pac J Allergy Immunol 2014; 32: 276 – 86
- Phoophiboon V, Ruxrungtham K, Muntham D, Chirakalwasan N. A randomized, double-blind, placebo-controlled trial on the effect of intranasal corticosteroid as a treatment for moderate to severe obstructive sleep apnea with coexisting chronic rhinitis. Asian Pac J Allergy Immunol. 2020 Aug 23. doi : 10.12932/AP-070320-0785.
- Cisternas A, Aguilar F, Montserrat J, et al. Effects of CPAP in patients with obstructive apnoea: is the presence of allergic rhinitis relevant? Sleep Breath. 2017; 21(4): 893 – 900.