CIMjournal
banner ไต ทั่วไป 2

Summary of Update in Thai Clinical Practice Recommendations for CKD 2022


พญ. สมกัญญา ตั้งสง่าอ.ดร. พญ. สมกัญญา ตั้งสง่า
คณะอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
หน่วยโรคไต และหน่วยอายุรศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พญ. วรวรรณ ชัยลิมปมนตรีน.อ.หญิง พญ. วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี
คณะอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
กองอายุรกรรม โรงพยาบาลจันทรุเบกษา

.
สรุปเนื้อหาจากงานประชุมวิชาการ CKD Weekend 2022 ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2565

 

โรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease) คือ ภาวะที่มีความผิดปกติของไตหรือการทำงานของไต หรือมีอัตราการกรองของไตลดลง เป็นระยะเวลานานเกิน 3 เดือน โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่พบได้บ่อย โดยในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมากถึงร้อยละ 17.5 ของจำนวนประชากร และยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี และหากมีการดำเนินโรคจนเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต มักนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน และภาวะทุพพลภาพจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

คณะอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรังของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยปี 2563-2565 จึงได้จัดทำข้อแนะนำเวชปฏิบัติสำหรับโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต พ.ศ. 2565 โดยปรับปรุงจากแนวทางเวชปฏิบัติฉบับปี 2558 ตามหลักฐานทางวิชาการที่เพิ่มขึ้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา


การคัดกรองโรคไตเรื้อรัง การติดตามระดับการทำงานของไต และการส่งปรึกษาหรือส่งต่อผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่มีประวัติต่อไปนี้ จัดเป็นผู้ที่ความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคแพ้ภูมิตนเอง นิ่วในทางเดินปัสสาวะ อายุมากกว่า 60 ปี โรคหัวใจและหลอดเลือด มีไตข้างเดียว ได้รับยาแก้ปวดหรือสารที่มีผลต่อไตเป็นประจำ ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบนซ้ำหลายครั้ง โรคติดเชื้อในระบบต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคไต โรคเกาต์ หรือระดับกรดยูริกในเลือดสูง มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว ตรวจพบถุงน้ำในไตมากกว่า 3 ตำแหน่ง และในคำแนะนำฉบับนี้ได้เพิ่มเติม ประวัติญาติสายตรงเป็นโรคถุงน้ำในไตชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรมชนิดยีนเด่น ประวัติไตวายเฉียบพลัน และประวัติใช้ยาสมุนไพรติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เป็นความเสี่ยงของโรคไตเรื้อรังด้วย

แนะนำให้ประเมินอัตราการกรองของไต (estimated glomerular filtration rate, eGFR) อย่างน้อยปีละครั้ง โดยคำนวณด้วย CKI-EPI equation และแนะนำให้ตรวจหาอัลบูมินในปัสสาวะ (albuminuria) โดยใช้แถบสีจุ่ม ในกรณีผู้ป่วยเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงที่ตรวจไม่พบอัลบูมินรั่วทางปัสสาวะด้วยแถบสีจุ่ม ควรตรวจวัดปริมาณ albuminuria เพิ่มเติม

ควรมีการติดตาม eGFR และ albuminuria อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และควรตรวจถี่ขึ้นในกรณีมีความเสี่ยงสูงที่ eGFR จะลดลงอย่างรวดเร็ว ในคำแนะนำฉบับนี้ได้เพิ่มเติม การตรวจติดตาม eGFR หลังเริ่มหรือเพิ่มยา Renin-angiotensin-aldosterone (RAAS) blockers ที่ 2-4 สัปดาห์ หลังเกิดการเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือหลังการเปลี่ยนแปลงการรักษา

ควรส่งปรึกษาอายุรแพทย์เมื่อ eGFR 30-59 mL/min/1.73 m2 และควรส่งปรึกษาอายุรแพทย์โรคไตเมื่อ eGFR ลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือน้อยกว่า 30 mL/min/1.73 m2 โดยเฉพาะเมื่อมีข้อบ่งชี้ร่วมอื่น ๆ


การควบคุมความดันโลหิต

แนะนำให้ประเมิน office blood pressure (BP) ด้วยวิธีมาตรฐาน และพิจารณาการใช้ home หรือ ambulatory BP monitoring ร่วมด้วย เป้าหมายความดันโลหิตคือน้อยกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท และในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน หรือ albuminuria ≥30 mg/g ควรได้รับยากลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitor (ACEI) หรือ angiotensin receptor blocker (ARB) ถ้าไม่มีข้อห้าม โดยไม่แนะนำให้ใช้ยา 2 กลุ่มนี้ร่วมกัน


การลดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ

เป้าหมายของระดับโปรตีนในปัสสาวะที่หวังผลชะลอการเสื่อมของไตคือ ลดให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่เกิดผลข้างเคียง โดยแนะนำให้ใช้ยา ACEI/ARB และในคำแนะนำฉบับนี้ได้เพิ่มเติมการใช้ยา SGLT2 inhibitors (SGLT2i) และ GLP-1 agonists (GLP-1 RA) ในผู้ป่วยเบาหวาน ร่วมกับการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมการรับประทานโซเดียมและโปรตีน


การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคไตเรื้อรัง

คำแนะนำในบทนี้เป็นคำแนะนำที่เพิ่มเติมใหม่เกือบทั้งหมด อ้างอิงตาม KDIGO Guideline for diabetic kidney disease 2022 โดยมุ่งเน้นการดูแลรักษาแบบครอบคลุม (comprehensive care) จากสหสาขาวิชาชีพ เพื่อชะลอการเสื่อมของไตและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดCKD 2022รูปที่ 1 การดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคไตเรื้อรังแบบครอบคลุม

.
แนะนำให้ติดตามการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยใช้ค่า HbA1C อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจติดตามด้วย continuous glucose monitoring หรือ self-monitoring of blood glucose ร่วมด้วย และควรกำหนดเป้าหมาย HbA1C ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายโดยอยู่ในช่วงตั้งแต่ 6.5% ถึง 8%

แนะนำให้ใช้ยา metformin และยากลุ่ม SGLT2i เป็นตัวเลือกแรก หากต้องเลือกยากลุ่มอื่นเพิ่มเติม ควรพิจารณาตามความประสงค์ของผู้ป่วย โรคร่วม ระดับ eGFR และราคายา ให้เหมาะสมในแต่ละราย โดยส่วนใหญ่แนะนำยา GLP-1 RA


การควบคุมระดับไขมันในเลือด

คำแนะนำฉบับนี้ได้เพิ่มเป้าหมายของระดับไขมันเพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดคือระดับ LDL <100 mg/dL หากระดับ LDL ไม่เป็นไปตามเป้าหมายควรตรวจสอบเรื่องการรับประทานยาว่าสม่ำเสมอหรือไม่ และแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการรักษา โดยควรพิจารณาให้ยากลุ่ม statin ในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และหาก eGFR < 60 mL/min/1.73 m2 อาจพิจารณาให้ยา ezetimibe ร่วมด้วย


โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

คำแนะนำฉบับนี้ได้เพิ่มการคัดกรองภาวะทางโภชนาการและการประเมินความเสี่ยงต่อภาวะ protein-energy wasting อย่างน้อยทุก 6 เดือน และในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับโภชนบำบัดควรได้รับการประเมินภาวะทางโภชนาการด้วย nutrition alert form (NAF) หรือ 7-point subjective global assessment (SGA)

พลังงานจากอาหารที่ควรได้รับคือ 25-35 kcal/kg IBW/day และในผู้ป่วยระยะที่ 3-5 แนะนำให้รับประทานอาหารโปรตีนต่ำ คือ 0.6 g/kg/day หรือต่ำมาก คือ <0.4 g/kg/day ร่วมกับ การให้ keto/amino acid analogs แนะนำให้รับประทานอาหารที่มี sodium ต่ำในทุกราย และ potassium หรือ phosphorus ต่ำ ในรายที่ระดับในเลือดสูง และไม่แนะนำให้ใช้วิตามินเสริม ทั้งนี้ควรได้รับการประเมินปริมาณโปรตีนที่ผู้ป่วยรับประทาน ด้วยวิธีคำนวณ normalized protein equivalent of nitrogen appearance (nPNA) หรือแบบจดบันทึกอาหาร (dietary record) หรือ dietary recall


การดูแลรักษาความผิดปกติของแคลเซียมและฟอสเฟต

ผู้ป่วยในระยะที่ 3-5 ควรได้รับการตรวจระดับ calcium, phosphate และ parathyroid hormone (iPTH) เป็นระยะ และควรได้รับการประเมินความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน โดยอาศัยข้อมูลจากประวัติ และ FRAX score ผู้ป่วยที่มีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง แม้ควบคุมฟอสฟอรัสจากอาหารและยาอย่างเหมาะสมแล้ว ควรได้รับยาจับฟอสฟอรัสในทางเดินอาหาร เพื่อลดระดับฟอสฟอรัสลงมาอยู่ในระดับปกติ โดยควรเลี่ยงยาที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ ผู้ป่วยที่มี iPTH สูงค้าง >65 pg/mL หรือสูงขึ้นต่อเนื่อง ควรได้รับการประเมินหาสาเหตุ ได้แก่ การได้รับฟอสฟอรัสมาก ระดับฟอสเฟตในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และภาวะขาดวิตามินดี และพิจารณารักษาด้วย active vitamin D


การดูแลรักษาภาวะโลหิตจาง

แนะนำให้ตรวจติดตามระดับ hemoglobin เป็นระยะ หากมีภาวะโลหิตจางควรได้รับการค้นหาสาเหตุอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะภาวะขาดธาตุเหล็ก พิจารณาให้ธาตุเหล็กเมื่อ TSAT ≤30% และหรือ ferritin ≤500 mg/L ด้วยวิธีรับประทานเป็นระยะเวลา 1-3 เดือน หากไม่ตอบสนองต่อ จึงพิจารณาให้ธาตุเหล็กแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หากยังไม่ถึงเกณฑ์จึงเริ่มให้ยากระตุ้นเม็ดเลือด (recombinant erythropoietin) โดยมีเป้าหมาย hemoglobin 10-12 g/dL


การดูแลรักษาภาวะเลือดเป็นกรด

แนะนำให้รับประทานผักหรือผลไม้หากไม่มีข้อห้าม เพื่อหวังผลลด net endogenous acid production แนะนำให้รักษาภาวะเลือดเป็นกรด ด้วยยา sodium bicarbonate โดยมีเป้าหมายให้ serum HCO3 อยู่ในเกณฑ์ปกติ


การตรวจทางรังสีวิทยาและการใช้ยาหรือสารที่มีผลต่อภาวะโรคไตเรื้อรัง

แนะนำให้หลีกเลี่ยงการได้รับสารทึบรังสี แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรเลือกใช้สารทึบรังสีชนิด low- หรือ iso-osmolar non-ionic agents ร่วมกับให้สารน้ำเพื่อป้องกันการเสื่อมของไต ผู้ป่วยในระยะที่ 5 ควรเลี่ยงการใช้ gadolinium-based contrast agents และไม่แนะนำให้ใช้ oral phosphate-containing bowel preparations ในผู้ป่วยระยะที่ 3-5


การเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

แนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกัน HBV หากยังไม่มี แนะนำให้ฉีดวัคซีน HBV โดยใช้ขนาดยาสองเท่า และควรได้รับ influenza, pneumococcal, COVID-19 vaccines ร่วมด้วย


การลดความเสี่ยงและการคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือด

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจสูงมาก ควรได้รับการตรวจคัดกรอง สำหรับยา antiplatelet แนะนำให้ใช้ aspirin สำหรับ secondary prevention โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง แต่ไม่แนะนำให้ใช้ primary prevention และแนะนำให้ใช้ cilostazol สำหรับโรคหลอดเลือดส่วนปลาย

สำหรับโรคหัวใจล้มเหลว แนะนำให้ใช้ ACEI/ARB, SGLT2i ในกรณี LVEF <40% และแนะนำให้ใช้ยากลุ่ม cardiac beta-blockers ในผู้ป่วยที่มี eGFR ≥30 mL/min/1.73 mร่วมกับมี LVEF ≤35% และยังมีอาการแม้ให้ยา ACEIs และ beta-blockers แล้ว แนะนำให้ยากลุ่ม mineralocorticoid receptor antagonists หากไม่มีข้อห้าม และหากยังมีอาการ พิจารณาให้ยากลุ่ม angiotensin receptor neprilysin inhibitor ร่วมกับพิจารณาใส่ implantable cardioverter-defibrillators (ICDs) เพื่อป้องกันภาวะ sudden cardiac arrest

 

สำหรับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ atrial fibrillation แนะนำให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ warfarin หรือยากลุ่ม direct oral anticoagulants ในผู้ป่วยที่มี eGFR ≥15 mL/min/1.73 mร่วมกับ CHA2DS2-VASc score ≥2 แต่หาก eGFR <15 mL/min/1.73 mพิจารณาให้ยา warfarin เท่านั้น


การเตรียมตัวเพื่อการบำบัดทดแทนไต

แนะนำให้เตรียมตัวเพื่อการบำบัดทดแทนไต เมื่อเริ่มเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 (eGFR <30 mL/min/1.73 m2)รวมทั้งข้อดีและข้อด้อยของการบำบัดทดแทนไตครอบคลุมการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง การปลูกถ่ายไตก่อนการเริ่มฟอกไต (pre-emptive kidney transplantation) การปลูกถ่ายไต และการรักษาแบบประคับประคอง ทั้งนี้แนะนำให้ทำ pre-emptive kidney transplantation เมื่อ eGFR <10 mL/min/1.73 m2


สรุป

การดูแลรักษาโรคไตเรื้อรังโดยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการชะลอความเสื่อมของไต ป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรค ข้อแนะนำเวชปฏิบัติสำหรับโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไตฉบับนี้ได้มีการปรับแนวทางจากของต่างประเทศให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยมากขึ้น โดยยึดตามหลักฐานทางวิชาการ เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโรคไตสามารถนำมาใช้ดูแลผู้ป่วยได้จริง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยชะลอการบำบัดทดแทนไตในที่สุด

 

เอกสารอ้างอิง
  1. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต พ.ศ. 2565.
  2. KDIGO work group. KDIGO 2012 Clinical Practice Guideline for the Evaluation and Management of Chronic Kidney Disease. Kidney Int Suppl. 2012;3(1):3.
  3. Ingsathit, A., Thakkinstian, A., Chaiprasert, A., Sangthawan, P., Gojaseni, P., Kiattisunthorn, K., Ongaiyooth, L., Vanavanan, S., Sirivongs, D., Thirakhupt, P., Mittal, B., Singh, AK., Thai-SEEK Group. Prevalence and risk factors of chronic kidney disease in the Thai adult population: Thai SEEK study. Nephrol Dial Transplant. 2010;25(5):1567-1575.
  4. Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) Diabetes Work Group. KDIGO 2020 Clinical Practice Guideline for Diabetes Management in Chronic Kidney Disease. Kidney Int. 2020;98(4S):S1-S115.
  5. Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) Blood Pressure Work Group. KDIGO 2021 Clinical Practice Guideline for the Management of Blood Pressure in Chronic Kidney Disease. Kidney Int. 2021;99(3S):S1-S87.
  6. สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดําและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย. คำแนะนำแนวทางเวชปฏิบัติโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตในผู้ใหญ่ พ.ศ. 2561.
  7. Herzog CA, Asinger RW, Berger AK, Charytan DM, Diez J, Hart RG, et al. Cardiovascular disease in chronic kidney disease. A clinical update from Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO). Kidney Int. 2011;80:572-86.

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก