ศ. ดร. นพ. ชุษณา สวนกระต่าย
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นพ. วรวงศ์ ชื่นสุวรรณ
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระบาดวิทยา
โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกาโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบครั้งแรกในลิงกัง (Sentinel rhesus macaque) ในป่าซิกา ประเทศอูกานด้า เมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยรายงานมีการติดต่อในคนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 ในประเทศไนจีเรีย หลังจากนั้นประมาณ 57 ปี ไม่เคยมีรายงานการระบาด ครั้งใหญ่2, 4 ใน 10 ปีที่ผ่านมามีรายงานการระบาดมากขึ้นในพื้นที่ของทวีปแอฟริกา เอเชีย อเมริกา และหมู่เกาะในแปซิฟิก โดยทั่วโลกมีแนวโน้มการระบาดของโรคมากขึ้น เนื่องจากยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค ยังมีกระจายอยู่ในหลายทวีปทั่วโลก2
สำหรับข้อมูลในประเทศไทย3 ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานล่าสุด ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2559 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ยืนยันทั้งหมด 441 ราย โดยพบผู้ป่วยทั้งหมดกระจายใน 32 จังหวัด 83 อำเภอ 156 ตำบล 237 หมู่บ้าน และในปัจจุบันยังมีการระบาดของการติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างต่อเนื่อง ในทวีปอเมริกา หมู่เกาะในแถบแคริบเบียน และแปซิฟิก ดังนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงประกาศให้การติดเชื้อไวรัสซิกา และภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับประเทศ
ไวรัสวิทยา
ปัจจุบันจีนัส (genus) Zika virus จัดอยู่ใน family Flaviviridae เป็น Enveloped, single-stranded, positive-sense RNA virus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับ Dengue virus, Yellow fever virus, West Nile virus, Hepacivirus C (Hepatitis C) และ Japanese encephalitis virus เป็นต้น
ส่วนพาหะนำโรค ได้แก่ ยุงลาย (Aedes mosquitoes) โดยมีรายงานทั้ง Aedes aegypti และ Aedes albopictus
อาการและอาการแสดง
ระยะฟักตัวของโรคไข้ซิกา ยังไม่ทราบแน่ชัดแต่คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 – 10 วัน ใกล้เคียงเชื้อในกลุ่ม Flaviviridae ตัวอื่น ๆ โดยเคยมีการศึกษาในอาสาสมัครที่ได้รับเชื้อไวรัสซิกาเข้าทางชั้นใต้ผิวหนัง ปรากฏว่าเกิดอาการไข้ หลังจากได้รับเชื้อไปแล้ว 82 ชั่วโมง7
อาการของโรคไข้ซิกา ใกล้เคียงกับโรคที่เกิดจากอาร์โบไวรัส (Arbovirus) ชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค เช่น โรคไข้สมองอักเสบ โรคไข้เหลือง และโรคไข้เลือดออก เป็นต้น โดยจะมีผู้ป่วยจะมีอาการแสดงเพียง 20 – 25% ของผู้ที่ได้รับการติดเชื้อ โดยอาการแสดงหลัก คือ ไข้ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ และปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ
โดยอาการที่พบได้มากที่สุด ได้แก่ ผื่นตามร่างกาย (90%) โดยลักษณะเป็นผื่น Maculopapular และมักมีอาการคัน ไข้ (65%) ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ (65%) โดยมักจะเป็นในข้อขนาดเล็ก ตามปลายมือและปลายเท้า และเยื่อบุตาอักเสบ (55%) โดยมีลักษณะเป็น conjunctivitis (nonpurulent) ตามลำดับ ส่วนอาการอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ สามารถพบได้เช่นกัน2
ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2555 – 2557 มีการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อซิกาในหลายพื้นที่ ในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 7 ราย โดยได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันด้วยวิธีการ Real-time PCR (polymerase chain reaction) พบว่า ผู้ป่วยทั้งหมดมาด้วยอาการไข้และผื่น และมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ8
อาการแสดงทางระบบประสาทอาการในเด็กแรกเกิด
ในช่วงที่เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง ในหมู่เกาะเฟรนช์โปลินีเซีย และประเทศบราซิล ในปี พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ได้รายงานภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการติดโรคไข้ซิกาต่อระบบประสาท พบว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล มีการเพิ่มขึ้นของภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) ในเด็กแรกเกิด1, 6
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีรายงานภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิดในเด็กแรกเกิด เป็นรายงานแรกในทวีปเอเชีย ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 โดยพบในเด็กแรกเกิดจำนวน 2 ราย
อาการแสดงทางระบบประสาทในผู้ใหญ่
ส่วนในผู้ใหญ่มีรายงานการก่ออาการคล้ายโรค Guillain–Barré syndrome เช่นกัน ในช่วงแรกคิดว่ากลไกอาจเกิดจากการติดเชื้อโดยตรง มากกว่าเกิดจากภาวะรบกวนภูมิคุ้มกัน เนื่องจากมีรายงานการเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศโคลัมเบีย ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันซึ่งอธิบายได้ยากจากสาเหตุ จากภูมิคุ้มกัน แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานภายหลังในประเทศบราซิล9 พบว่า สามารถเกิดจากภาวะรบกวนภูมิคุ้มกันส่วนได้เช่นกัน ดังนั้น จึงเชื่อว่าเกิดได้ทั้งสองกลไกก่อเกิดโรค ส่วนอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ เช่น Meningoencephalitis และ acute myelitis มีรายงานสามารถเกิดขึ้นได้
การวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยไวรัสซิกาทางห้องปฏิบัติการ ทำได้โดยการตรวจสารพันธุกรรมด้วยวิธี Real-time PCR (polymerase chain reaction) ทั้งในตัวอย่างเลือดและปัสสาวะ และการแยกเชื้อไวรัสจากตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย สำหรับการตรวจแอนติบอดีที่จำเพาะต่อไวรัสซิกา ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกับไวรัสในกลุ่ม Flaviviridae ตัวอื่น ๆ โดยสามารถส่งตัวอย่างเพื่อตรวจสารพันธุกรรมได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
โดยวิธีการเลือกส่ง
ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการป่วยน้อยกว่า 7 วันแรก นับจากวันเริ่มป่วย เก็บเลือด (plasma) และปัสสาวะ (urine) เพื่อส่งตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส Zika โดยวิธี RT-PCR ส่วนในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 7 วัน เป็นต้นไป นับจากวันเริ่มป่วย หรือไม่ทราบวันเริ่มป่วย ให้เก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส Zika โดยวิธี RT-PCR
วิธีเก็บตัวอย่าง3
- เลือด (Plasma) ให้เจาะเลือดใส่หลอด EDTA ประมาณ 5 มิลลิลิตร ปั่นแยกเอาน้ำเหลืองพลาสมา ใส่หลอดพลาสติกเล็ก แบ่งเป็น 2 หลอด หลอดละไม่ต่ำกว่า 0.5 มิลลิลิตร ติดฉลากชื่อ – อายุ ชนิด ตัวอย่าง และวันที่เก็บตัวอย่าง
- ปัสสาวะ (Urine) ให้เก็บตัวอย่างปัสสาวะไม่ต่ำกว่า 30 มิลลิลิตร บรรจุในกระปุกพลาสติกสะอาด หรือปลอดเชื้อ แบ่งเป็น 2 กระปุก กระปุกละ 10 – 15 มิลลิลิตร ปิดฝาให้แน่น และ sealed ขอบฝาด้วยพาราฟิน หรือเทปกาว ใส่ถุงพลาสติก หรือถุงซิปล็อกอีก 2 ชั้น แยกเป็นรายบุคคล ติดฉลากชื่อ – สกุล อายุ ชนิดตัวอย่าง และวันที่เก็บตัวอย่าง
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาจำเพาะที่ได้ผลชัดเจน การรักษาหลัก คือ รักษาตามอาการ โดยการให้สารน้ำทดแทน และการรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการปวด หากอาการไม่ดีขึ้นผู้ป่วยควรปรึกษา และทำตามคำแนะนำของแพทย์
.
ตารางที่ 1 สรุปลักษณะทางคลินิก การรักษา และระบาดวิทยาจากการติดเชื้อ Zika virus
การป้องกัน
ยุงและการขยายพันธุ์ของยุงเป็นสาเหตุ และเป็นปัจจัยเสี่ยงของการติดต่อของโรคไข้ซิกา การป้องกันและการควบคุมโรค ขึ้นอยู่กับการลดจำนวนของยุงตามแหล่งต่าง ๆ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ รวมถึงการป้องกันตนเองไม่ให้โดนยุงกัด ซึ่งสิ่งนี้สามารถทำได้โดย
- ใช้ยากำจัดแมลง หรือยาทาป้องกันยุง
- ใช้ฉากกั้น การปิดประตู ปิดหน้าต่าง การใช้มุ้ง
- การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยการทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง และถ้าหากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อให้ปรึกษาแพทย์
ในแง่ของการติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น มีรายงานการศึกษาการตรวจไวรัสซิกาในสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของร่างกาย10 พบว่า ในน้ำอสุจินั้นสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสได้นานถึง 3 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม คำแนะนำของ CDC4 ในการเว้นการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ในปัจจุบันยังแนะนำให้เว้นในผู้หญิง 2 เดือน และผู้ชาย 6 เดือน หลังมีอาการแสดงของโรคตามลำดับ
วัคซีนสำหรับการติดเชื้อไวรัสซิกา
ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับไวรัสซิกา แต่มีการศึกษาวัคซีนในสัตว์ทดลอง เริ่มมีผลการศึกษาที่ได้ผลดี แต่อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่เมื่อเทียบกับวัคซีนที่มีก่อนหน้านี้ในกลุ่ม Flaviviridae สามารถผลิตออกมาได้แล้ว ทั้งวัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนไข้เหลือง และวัคซีนไข้สมองเจอี ดังนั้น แนวโน้มวัคซีนสำหรับไวรัสซิกา มีโอกาสที่จะสามารถผลิตออกมาได้ในอนาคต11
- Rasmussen, Sonja A., et al. “Zika virus and birth defects—reviewing the evidence for causality.” N Engl J Med 2016.374 (2016): 1981 – 1987.
- Petersen, Lyle R., et al. “Zika virus.” New England Journal of Medicine 374.16 (2016): 1552 – 1563.
- แนวทางการสอบสวนโรคติดเชื้อ สำนักงานระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค 8 สิงหาคม 2559
- https://www.cdc.gov/zika/index.html
- Anderson, Kathryn B., Stephen J. Thomas, and Timothy P. Endy. “The Emergence of Zika VirusA Narrative ReviewThe Emergence of Zika Virus.” Annals of internal medicine 165.3 (2016): 175 – 183.
- Cao-Lormeau, Van-Mai, et al. “Guillain-Barré Syndrome outbreak associated with Zika virus infection in French Polynesia: a case-control study.” The Lancet 387.10027 (2016): 1531 – 1539.
- Bearcroft WG. Zika virus infection ex- perimentally induced in a human volun- teer. Trans R Soc Trop Med Hyg 1956;50: 442 – 8
- Buathong, Rome, et al. “Detection of Zika virus infection in Thailand, 2012–2014.” The American journal of tropical medicine and hygiene 93.2 (2015): 380 – 383.
- de Oliveira, Wanderson K., et al. “Zika virus infection and associated neurologic disorders in Brazil.” New England Journal of Medicine 376.16 (2017): 1591 – 1593.
- Paz-Bailey, Gabriela, et al. “Persistence of Zika virus in body fluids—Preliminary report.” New England Journal of Medicine (2017).
- Thomas, Stephen J. “Zika Virus Vaccines—A Full Field and Looking for the Closers.” New England Journal of Medicine 376.19 (2017): 1883 – 1886.