ภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (Cerebral venous thrombosis, CVT) เป็นภาวะที่มักทำให้ผู้ป่วยมีความพิการ หรือเสียชีวิต ส่วนใหญ่รักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด (Anticoagulant) ปัจจุบันได้มีการศึกษาการรักษาโดยการผ่าตัดที่เรียกว่า Decompressive surgery พบว่า สามารถรักษาชีวิตผู้ป่วย และกลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติ
โดยทั่วไปภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน หรือ CVT มักจะเกิดขึ้นในผู้หญิงวัยกลางคน โดยมีความสัมพันธ์กับการรับประทานยาคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ การติดเชื้อ โรคมะเร็ง และปัจจุบันมีการพบหลังการได้รับวัคซีน COVID-19 ซึ่งผู้ป่วย CVT จะพบการมีเลือดออกในสมอง และภาวะสมองบวม โดย 4% ของผู้ป่วย CVT จะเสียชีวิตในช่วง acute phase จากการเลื่อนของเนื้อเยื่อสมอง (Transtenorial herniation) ซึ่งมีสาเหตุจากความดันในสมองที่เพิ่มขึ้นจากการมีแผลเลือดออกในสมองขนาดใหญ่ และการขาดเลือด (Venous infarction)
คณะผู้วิจัย Jose Ferro, MD, Hospital Santa Maria, Lisbon, Portugal ได้ทำการศึกษา The DECOMPRESS2 โดย ตั้งเป้าไปที่อัตราการรอดชีวิตและการกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ โดยศึกษาในผู้ป่วย 118 คน เป็นผู้หญิง 80 คน อายุเฉลี่ย 38 ปี โดย 22% รับประทานยาคุมกำเนิด 19% มีภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ (Genetic thrombophilia) 19% มีการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มีการอุดตันหลายตำแหน่ง ตำแหน่งหลัก ๆ คือ Superior sagittal sinus โดยอาการของผู้ป่วย พบว่า มีอัมพาตครึ่งซีก (Hemiparesis) อาการชัก (Seizures) และ 30% มี Glasgow Coma Scale (GCS) scores < 9 ภาพถ่ายรังสีสมองส่วนใหญ่พบ Parenchymal lesion , mean lesion size 6.5 cm และพบ herniation แล้ว 37% ได้รับการผ่าตัดหลังการวินิจฉัยเฉลี่ย 1 วัน โดยผู้ป่วย 115 คน ผ่าเปิดกะโหลก (Hemicraniectomy) และ 3 คนผ่าตัดระบายเลือด (Hematoma evacuation) โดย 28 คนเสียชีวิตตั้งแต่ระยะแรก และอีก 40 คน เสียชีวิตในระยะเวลา 12 เดือน ไม่สามารถติดตามผลได้ 5 คน
สำหรับผลการศึกษาผู้ป่วยที่รอดชีวิต โดยใช้ mRS เป็นตัวชี้วัดระหว่างที่อยู่โรงพยาบาล และหลังกลับบ้าน พบว่าหลัง 6 เดือน ผู้ป่วย 54% มี mRS 0-3 (สามารถเดิน และทำกิจกรรมต่างๆได้ด้วยตัวเอง อาจมีความพิการบ้างเล็กน้อย) และหลัง 12 เดือน ผู้ป่วย 35% มี mRS 0-2 (สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติไม่ต้องพึ่งพาผู้ดูแล) ผู้ป่วย 10.2% มี mRS 4 – 5 โดยภาพรวมครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นปกติหลังผ่าตัด จากการสอบถามทั้งผู้ป่วย และผู้ดูแลคิดว่าคุ้มค่ากับการเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งก่อนหน้าผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเสียชีวิต นอกจากนี้ การผ่าตัดแบบนี้ยังสามารถใช้ในผู้ป่วย CVT หลังได้รับวัคซีน COVID-19 โดยให้ปริมาณเกล็ดเลือดที่เพียงพอ ก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้
โดยสรุปการผ่าตัดแบบ Decompressive surgery ในผู้ป่วย CVT ที่มีอาการรุนแรง และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูง พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดรอดชีวิต และ 1ใน 3 สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติหลังติดตามผลการรักษาหลังผ่าตัด 1 ปี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.medscape.com
ภาพประกอบ www.freepik.com