CIMjournal

กระเทียม ช่วยลดไขมันได้จริงไหม


พ.อ. นพ.ปรีชา เอื้อโรจนอังกูร
แผนกโรคหัวใจ กองอายุรกรรม
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

 

Dyslipidemia เป็นความผิดปกติจากการเปลี่ยนแปลงระดับไขมัน หรือไลโปโปรตีนในพลาสมา ศูนย์ควบคุม และป้องกันโรครายงานว่าผู้มีระดับคอเลสเตอรอลรวมสูงจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงกว่าผู้ที่มีระดับไขมันปกติราวสองเท่า แต่ผู้ใหญ่ที่มีระดับไขมันชนิด LDL–C สูงได้รับการควบคุมดูแลเพื่อลดความเสี่ยงน้อยกว่าครึ่ง หลายรายนิยมรักษาตนเองด้วยการใช้อาหาร หรือสมุนไพรที่มีการเผยแพร่ถึงกันในสื่อสังคมออนไลน์ และปฏิเสธการรักษาตามแนวทางการรักษา หรือไม่ใช้ยาที่มีข้อมูลวิจัยตามแพทย์แผนตะวันตก ส่วนหนึ่งหวั่นวิตกถึงผลไม่พึงประสงค์จากตับอักเสบ หรือกล้ามเนื้ออักเสบ สมุนไพรที่นิยมใช้กันมากในการรักษาทางเลือกมีทั้งกระเทียม มะนาว บทความนี้ได้ทบทวนวรรณกรรมที่ศึกษาผลของกระเทียมต่อการรักษาไขมันในเลือด กระเทียมเป็นสมุนไพรที่เชื่อว่าช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ผ่านกลไกที่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ 3–hydroxyl–3 methylglutaryl co–enzyme A reductase (HMGCoA reductase) และลดการแสดงออกของยีน Microsomal triglyceride transfer protein ที่ลำไส้เล็ก และมีผลปกป้องหัวใจและหลอดเลือดจากการช่วยลดความดันโลหิต ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ผลดีต่อการไหลและการแข็งตัวของเลือดในสัตว์ทดลอง1-3

Peleg A และคณะได้ศึกษาผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูงที่ไม่มีโรคหัวใจมาก่อน และไม่มีโรคหรือภาวะอื่นที่เป็นสาเหตุให้ไขมันในเลือดสูง จำนวน 39 ราย ระดับ LDL–C ตั้งต้น 130–190 มก./ดล. หลังควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมวิจัย ผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างในโครงร่างไขมันทั้งสองกลุ่ม4 Jabbari A และคณะศึกษาผลของกระเทียมต่อการลดไขมันในผู้ป่วยที่รับการปลูกถ่ายไตจำนวน 50 ราย พบว่า กระเทียมจะมีผลลดไขมันเมื่อเคี้ยวก่อนกลืน5 Hussien ZM และคณะศึกษาผลของการรับประทานกระเทียมเสริมกับยา Statin ในผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง จำนวน 40 ราย เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่ากระเทียมช่วยเสริมฤทธิ์ในการควบคุมไขมันจากยา Statin ได้ดีกว่าการรับประทานยา Statin เพียงอย่างเดียว6 Ried K และคณะได้ทำการวิเคราะห์อนุมานผลการใช้กระเทียมในการควบคุมไขมันในเลือดจากงานวิจัย 39 งาน ในผู้ป่วยจำนวน 2,298 ราย พบว่า การรับประทานกระเทียมเป็นเวลานานอย่างน้อย 2 เดือน ช่วยลดคอเลสเตอรอลรวมได้ 17± 6 มก./ดล. และลดระดับ LDL–C ได้ 9 ± 6 มก./ดล. ในผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลรวมเกิน 200 มก/ดล โดยมีผลเพิ่ม HDL–C เพียงเล็กน้อยแต่ไม่มีผลต่อระดับไตรกลีเซอไรด์7 Aslani N และคณะเปรียบเทียบการรับประทานกระเทียมดิบ 20 กรัม และน้ำมะนาว 1 ช้อนชาต่อวันกับการรับประทานกระเทียมดิบ หรือน้ำมะนาวหรือไม่ใช้ทั้งสองอย่าง กลุ่มละ 30 ราย เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่มีไขมันคอเลสเตอรอลรวมในเลือด 200–240 มก./ดล. และ LDL–C ในเลือด 100–160 มก./ดล. (เฉลี่ย 125 มก./ดล.) คณะผู้วิจัยเลือกใช้กระเทียมดิบเพื่อเลี่ยงผลลบที่อาจเกิดจากการสกัดสารที่มีประโยชน์ออกในการวิจัยที่ใช้ผงกระเทียม ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มที่ได้ทั้งกระเทียมดิบ และน้ำมะนาวมีระดับโครงร่างไขมันระดับ Fibrinogen และระดับความดันโลหิตดีกว่า กลุ่มที่ได้กระเทียมดิบ หรือน้ำมะนาวอย่างเดียว และดีกว่าชัดเจนเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช้ทั้งกระเทียมดิบ และน้ำมะนาว8 Choudhary PR และคณะศึกษาผลของการรับประทานกระเทียมสดที่บดแล้ว จำนวน 100 มก./กก. (น้ำหนักตัว) วันละ 2 ครั้ง เทียบกับการรับประทานอาหารปกติเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ในผู้ป่วย Metabolic syndrome พบว่า กลุ่มที่ได้รับกระเทียมจะมีปัจจัยต่าง ๆ ของกลุ่มอาการนี้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งเส้นรอบเอว ความดันโลหิต ไขมันในเลือดและระดับน้ำตาลในเลือด9 การรับประทานกระเทียมยังส่งผลปกป้อง หรือลดภาวะไขมันพอกตับ (Non–alcoholic fatty liver disorder) ที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงผ่านกลไกการลดการแสดงออก (Expression) ของ Sterol regulatory element binding protein 1c (SREBP–1c), acetyl–CoA carboxylase (ACC),fatty acid synthase (FAS) และ HMGCoA reductase และกระตุ้นการแสดงออกของ Peroxisomal proliferator activator receptor α (PPAR–α) และ Carnitine palmitoyltransferase–1 (CPT–1) สารเหล่านี้เป็น Nuclear transcription factors หลักที่เกี่ยวข้องในการควบคุมการสร้าง และ Oxidation ของกรดไขมันของตับ (รูปที่ 1)10

รูปที่ 1 กลไกการออกฤทธิ์ปกป้องตับของกระเทียม


การถกแถลงของคณะผู้เชี่ยวชาญการใช้สารอาหารรักษาโรคได้สรุปผลการใช้กระเทียมเพื่อลดระดับไขมันในเลือด โดยแนะนำให้เลือกใช้ในรายที่มีระดับไขมันสูงปานกลาง (ไขมันคอเลสเตอรอลรวมในเลือด 200–240 มก./ดล. LDL–C ในเลือด 130–160 มก./ดล. และไตรกลีเซอไรด์ 150–200 มก./ดล.) เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดปฐมภูมิ หรือในผู้สูงวัยเกิน 75 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีกล้ามเนื้อพร่อง (Sarcopenia) หรือเสริมให้กับผู้ที่ได้รับการรักษาด้วย ยาลดไขมันทั้งสองกลุ่มแล้ว แต่ยังลดได้ไม่ถึงเป้าหมาย แนะนำให้ใช้กระเทียมในขนาด 6 กรัม/วัน เพื่อให้มีปริมาณสาร Allicin (Diallyl thiosulfinate) จากกระเทียมเพียงพอในการออกฤทธิ์11 ผลไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้จากการรับประทานกระเทียมสด คือ ผิวหนังอักเสบจากการแพ้ (Allergic dermatitis) ฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดที่อาจกระทบต่อฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin12 จากผลการทบทวนวรรณกรรมนี้ จะเห็นว่า สมุนไพรยังเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยควบคุมระดับไขมันในเลือด แต่ทั้งนี้ต้องรับประทานให้ถูกวิธี ในขนาดที่พอเพียง และเลือกผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Harenberg J, Giese C, Zimmermann R. Effect of dried garlic on blood coagulation, fibrinolysis, platelet aggregation and serum cholesterol levels in patients with hyperlipoproteinemia. Atherosclerosis. 1988;74(3):247–9.
  2. Mansell P, Reckless JP. Garlic. BMJ. 1991;303(6799):379–80.
  3. Mikaili P, Maadirad S, Moloudizargari M, Aghajanshakeri S, Sarahroodi S. Therapeutic uses and pharmacological properties of garlic, shallot, and their biologically active compounds. Iran J Basic Med Sci. 2013;16(10):1031–1048.
  4. Peleg A, Hershcovici T, Lipa R, Anbar R, Redler M, Beigel Y. Effect of garlic on lipid profile and psychopathologic parameters in people with mild to moderate hypercholesterolemia. Isr Med Assoc J. 2003;5(9):637–40.
  5. Jabbari A, Argani H, Ghorbanihaghjo A, Mahdavi R. Comparison between swallowing and chewing of garlic on levels of serum lipids, cyclosporine, creatinine and lipid peroxidation in renal transplant recipients. Lipids Health Dis. 2005;4:11.
  6. Hussien ZM, Ahmed LT, Hussain QGh. Effect of atorvastatin and garlic on lipid profile in hyperlipidemic patients. DJM.2013;5(1):63–8.
  7. Ried K, Toben C, Fakler P. Effect of garlic on serum lipids: an updated meta-analysis. Nutr Rev. 2013;71(5):282–99.
  8. Aslani N, Entezari MH, Askari G, Maghsoudi Z, Maracy MR. Effect of garlic and lemon juice mixture on lipid profile and some cardiovascular risk factors in people 30-60 years old with moderate hyperlipidaemia: A randomized clinical trial. Int J Prev Med. 2016;7:95.
  9. Choudhary PR, Jani RD, Sharma MS. Effect of Raw Crushed Garlic (Allium sativum L.) on Components of Metabolic Syndrome. J Diet Suppl. 2017 Sep 28:1–8.
  10. Guan MJ, Zhao N, Xie KQ, Zeng T. Hepatoprotective effects of garlic against ethanol-induced liver injury: A mini-review. Food Chem Toxicol. 2018;111:467–73.
  11. Cicero AFG, Colletti A, Bajraktari G, Descamps O, Djuric DM, Ezhov M, et al. Lipid lowering nutraceuticals in clinical practice: position paper from an International Lipid Expert Panel. Arch Med Sci. 2017;13(5):965–1005.
  12. Jahana F, Nanjib K, Qidwai W. Role of garlic in dyslipidemia: an evidence based review. Scientific Journal of Biological Sciences. 2015;4(5):36–42.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก