พญ. ปัณณิกา ปราชญ์โกสินทร์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
.
สรุปเนื้อหางานอบรมเชิงปฏิบัติการ “Diabetic foot : multidisciplinary training program” จัดโดย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ วันที่ 12 มกราคม 2564
ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่มักจะมีกิจกรรมทางกายน้อย (Physical Inactivity) หรือมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Lifestyle) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยที่ พบว่า การเพิ่มกิจกรรมทางกาย และการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน สามารถช่วยควบคุมโรคเบาหวาน และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้ นอกเหนือจากการคุมอาหารเพียงอย่างเดียว
การออกกำลังกายจะส่งผลดีต่อร่างกายในหลายระบบ ในระดับเซลล์การออกกำลังกายจะทำให้ความต้องการอินซูลินของเซลล์ในร่างกายลดลง และสามารถนำอินซูลินไปใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การออกกำลังกายทำให้ความแข็งแรง และความทนทานของกล้ามเนื้อดีขึ้น มีผลลดระดับความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ทำให้สุขภาพจิตดี ควบคุมรูปร่าง และเพิ่มสมรรถภาพกาย และสุขภาพร่างกายโดยรวม คำแนะนำทั่วไปสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในการออกกำลังกายควรทำ ดังนี้
- การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic exercise) เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น การเดิน การวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน รวม 150 นาทีต่อสัปดาห์ ในการออกกำลังกายระดับปานกลาง หรือรวม 75 นาทีต่อสัปดาห์ ในการออกกำลังกายระดับหนัก
- การออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (Strengthening exercise) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อกลุ่มใหญ่ของร่างกาย ได้แก่ กล้ามเนื้อรอบสะโพก กล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นแขน โดยให้ทำอย่างน้อย 10 – 15 ครั้ง จำนวน 3 ชุดต่อกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์
เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมักจะพบภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้บ่อย ซึ่งอาจจะทำให้มีข้อจำกัด หรือข้อควรระวังเพิ่มเติมในการออกกำลังกาย โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนที่เท้าที่สามารถพบได้บ่อย ลักษณะของผู้ป่วยเท้าเบาหวานจะ พบว่า ผู้ป่วยจะสูญเสียการรับรู้ความรู้สึกในการป้องกันตนเองที่เท้า (Loss of protective sensation) ในรายที่เป็นมาก อาจจะสูญเสียการรับรู้การทรงตัวที่เท้าร่วมด้วย มีภาวะหลอดเลือดส่วนปลายผิดปกติ มีการเคลื่อนไหวของข้อที่บริเวณเท้า และข้อเท้าลดลง แรงกล้ามเนื้อที่ควบคุมการทำงานของเท้าลดลง และมีการกระจายน้ำหนักที่เท้าขณะยืนเดินเปลี่ยนไปจากปกติ ปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเท้าเบาหวานมีความสามารถในการทรงตัวลดลง และมีท่าเดินที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น เดินระยะก้าวสั้นลง ฐานการเดินกว้างขึ้น เป็นต้น ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้จะนำไปสู่ความเสี่ยงในการหกล้มที่มากขึ้น ผู้ป่วยเท้าเบาหวานทุกรายจึงควรได้รับการตรวจเท้า โดยละเอียด และประเมินความเสี่ยงของการเกิดแผลที่เท้าก่อนเริ่มออกกำลังกาย เพื่อการวางโปรแกรมการออกกำลังกายให้เหมาะสม
ผู้ป่วยเท้าเบาหวานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลที่เท้าระดับปานกลางเป็นต้นไป และไม่มีแผลที่เท้า สามารถออกกำลังกายในลักษณะการเดินลงน้ำหนักที่เท้าได้ โดยจำนวนก้าวที่เดินไม่ควรเพิ่มเกิน 10% ของจำนวนก้าวต่อสัปดาห์ และไม่ควรเพิ่มเกิน 1,000 ก้าวต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลที่เท้า สำหรับผู้ป่วยเท้าเบาหวานที่มีแผลที่เท้า แนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักที่เท้า เพราะจะมีผลต่อการหายของแผล
นอกจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิก และการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านแล้ว ผู้ป่วยเท้าเบาหวานควรได้รับคำแนะนำให้ออกกำลังกายที่เกี่ยวกับเท้าร่วมด้วย (Foot-related exercise) การศึกษา พบว่า การออกกำลังกายที่เกี่ยวกับเท้า จะสามารถลดความเสี่ยงของโอกาสเกิดแผลที่เท้าเบาหวานได้ และบางการศึกษายัง พบว่า สามารถลดขนาดของแผลในกลุ่มผู้ป่วยที่มีแผลเท้าเบาหวานได้อีกด้วย โดยการออกกำลังกายที่เกี่ยวกับเท้าจะทำให้การขยับของข้อต่อที่บริเวณเท้าดีขึ้น พิสัยของข้อต่อที่เท้าและข้อเท้าดีขึ้น และทำให้การกระจายน้ำหนักที่ฝ่าเท้าที่ผิดปกติดีขึ้นได้ (กรณีที่ทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน) การออกกำลังกายที่เกี่ยวกับเท้าผู้ป่วยเท้าเบาหวานสามารถทำได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย และไม่จำเป็นต้องทำภายใต้การดูแล ยกเว้นครั้งแรกควรได้รับคำแนะนำในการทำที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญก่อน การออกกำลังกายที่เกี่ยวกับเท้าประกอบด้วย
- การออกกำลังกายเพื่อคงพิสัยของข้อ (Range of motion exercise) สามารถทำได้โดยการออกแรงที่เท้าด้วยตนเอง หรือการใช้มือช่วยในการทำ การออกกำลังกายจะทำการขยับข้อต่อของเท้า ให้ได้พิสัยของข้อที่มากที่สุด ท่าการออกกำลังกาย ได้แก่ การกระดกนิ้วเท้าขึ้นและลง (Toe dorsiflexion and plantarflexion) การกระดกข้อเท้าขึ้นและลง (Ankle dorsiflexion and plantarflexion) การบิดฝ่าเท้าเข้าด้านในและออกด้านนอก (Inversion and eversion of foot)
รูปที่ 1 ตัวอย่างการออกกำลังกายเพื่อคงพิสัยของข้อที่บริเวณเท้า (รูปโดยนางสาว ปวีณา เอกวัฒนพล)
. - การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching exercise) สำหรับผู้ป่วยเท้าเบาหวานการยืดเหยียดกล้ามเนื้อควรเน้นที่กลุ่มกล้ามเนื้อน่อง (Gastrocnemius-Soleus muscles) และกลุ่มกล้ามเนื้อขาด้านหลัง (Hamstring muscles)
รูปที่ 2 ตัวอย่างการยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่อง (รูปโดยนางสาว ปวีณา เอกวัฒนพล)
. - การฝึกการทรงตัว และฝึกเดิน (Balance and gait training exercise) เนื่องจากการฝึกการทรงตัวมีการฝึกหลายระดับ ขึ้นกับความสามารถของผู้ป่วยแต่ละคน และการฝึกมีความเสี่ยงต่อการหกล้ม จึงควรทำภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
การออกกำลังกายที่เกี่ยวกับเท้า (Foot-related exercise) แนะนำให้ทำในผู้ป่วยเท้าเบาหวานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลที่เท้าระดับปานกลางเป็นต้นไปทุกราย ในกรณีที่ผู้ป่วยเท้าเบาหวานไม่มีแผลที่เท้า สามารถออกกำลังกายในท่านั่ง หรือยืนก็ได้ แต่สำหรับผู้ป่วยเท้าเบาหวานที่มีแผลที่เท้า ควรออกกำลังกายในท่านั่ง หรือนอนเท่านั้น
ในการออกกำลังกายทุกชนิดในผู้ป่วยเบาหวาน จะมีข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวัง ดังนี้ ผู้ป่วยควรออกกำลังกายหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรสวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย ในกรณีผู้ป่วยเท้าเบาหวานที่แพทย์แนะนำให้ใส่อุปกรณ์เสริมในรองเท้า ก็ควรใส่อุปกรณ์ดังกล่าวขณะออกกำลังกายด้วย สังเกตอาการผิดปกติขณะออกกำลังกาย เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น เป็นต้น ให้หยุดออกกำลังกายทันที และปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยเท้าเบาหวานควรหมั่นตรวจเช็กเท้าของตนเองทุกครั้งหลังออกกำลังกาย ว่ามีรอยโรคที่ผิวหนังที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลหรือไม่ เช่น ผิวหนังพุพอง รอยจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง หนังด้านแข็ง (Callus) เป็นต้น
การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวานส่งผลดีต่อการควบคุมโรคเบาหวาน การป้องกันภาวะแทรกซ้อน และส่งเสริมสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายในผู้ป่วยเท้าเบาหวานนั้นควรทำอย่างถูกต้องและเหมาะสมภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ การออกกำลังกายควรทำควบคู่ไปปกับการรับประทานยา และการคุมอาหาร รวมถึงควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยเท้าเบาหวานออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะยาว
เอกสารอ้างอิง
- Schaper NC, van Netten JJ, Apelqvist J, Bus SA, Hinchliffe RJ, Lipsky BA; IWGDF Editorial Board. Practical Guidelines on the prevention and management of diabetic foot disease (IWGDF 2019 update). Diabetes Metab Res Rev. 2020 Mar; 36 Suppl 1: e3266.
- American College of Sports Medicine, et al. ACSM’s Guidelines for Exercise Testing and Prescription. Tenth edition. Philadelphia: Wolters Kluwer, 2018.
- Matos M, Mendes R, Silva AB, Sousa N. Physical activity and exercise on diabetic foot related outcomes: A systematic review. Diabetes Res Clin Pract . 2018 May; 139: 81 – 90.
- Mirtha LT, Ariono M, Putra SM. The Effect Of Foot Exercise On Diabetic Patients With Foot Ulcer: An Evidence Based Case Report. J Diabetes Metab Disord . Nov 08,2018. DOI:10.24966/DMD.