CIMjournal

Anticoagulant for Stable Coronary Heart Disease


นพ. วิพัชร พันธวิมล
อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลตำรวจ

 

 

ยาต้านเกล็ดเลือดและยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Atherothrombotic Drug) มีการศึกษามาอย่างยาวนานในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ยาทั้งสองกลุ่มได้รับการพิสูจน์ว่าได้ประโยชน์ แต่การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดนั้นพบว่า มีผลข้างเคียงในการเกิดภาวะเลือดออกสูง ทำให้ยาต้านเกล็ดเลือดได้รับคำแนะนำให้ใช้เป็นยาหลักในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งการป้องกันแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิจนถึงปัจจุบัน

การยับยั้งการกระตุ้นและการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด หลังเกิดการแตกของคราบบนผนังหลอดเลือดหัวใจ เป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดฉับพลัน กระบวนการเกิดขึ้นผ่านทั้งกลไกในเกล็ดเลือดเอง (Platlet Activation and Aggregation Pathway) และกลไกการแข็งตัวของเลือด (Coagulation Cascade) Aspirin ยับยั้งเอนไซม์ Cycloxygenase 1 และ 2 ลดปริมาณการสร้าง Thromboxane A2 ส่งผลยับยั้งการกระตุ้นเกล็ดเลือด ยาต้านเกล็ดเลือดกลุ่มใหม่ที่เป็น Adenosine Diphosphate Receptor (ADP) Antagonist ทั้งกลุ่มที่เป็น Thienopyridine ได้แก่ Clopidogrel, Prasugrel (Ticlopidine ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้วเนื่องจากเพิ่มอุบัติการณ์การเกิด Thrombotic Thrombocytopenic Purpura แม้พบได้ไม่บ่อยแต่รุนแรง) และกลุ่มที่เป็นสารอนุพันธุ์ของ Pyrimidine อย่าง Ticagrelor ยาเหล่านี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือดผ่าน P2Y12 receptor บนผิวของเกล็ดเลือด Cangrelor เป็น ATP analogue ที่ออกฤทธิ์โดยตรงผ่าน P2Y12 receptor เช่นกัน แต่บริหารในรูปยาฉีดผ่านหลอดเลือดไม่ใช่ยากิน ในกลไกการแข็งตัวของเลือด Thrombin ที่ได้จากการเปลี่ยน Prothrombin โดย Factor Xa จะกระตุ้นการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดผ่าน Glycoprotein IIb/IIIa ที่เป็น integrin complex บนผิวของเกล็ดเลือด

ดังนั้น ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง Thrombin จะมีผลยับยั้งการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดได้เช่นกัน ยาต้านการแข็งตัวของเลือดในปัจจุบันมีสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ Vitamin K Antagonist และ Non-Vitamin K Antagonist ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ ยาในกลุ่ม Vitamin K antagonist ที่ใช้ในประเทศไทย คือ Warfarin มีผลยับยั้งการสร้างปัจจัยการแข็งตัวของเลือดที่มี glutamate residues บน amino terminus ซึ่งกระบวนการสร้างในตับจำเป็นต้องอาศัย Vitamin K ได้แก่ Prothrombin, Factor IX, Factor VII และ Factor X ส่งผลให้การสร้าง Thrombin ลดลง ยาในกลุ่ม Non-Vitamin K Antagonist ทั้ง Direct Thrombin Inhinitor และ Factor Xa inhibitor ได้แก่ Dabigatran, Rivaroxaban, Apixaban และ Edoxaban สามารถออกฤทธิ์ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดผ่าน Thrombin ได้เช่นกัน และมีกลไกที่ดูมีความจำเพาะมากกว่า Warfarin

Aspirin หรือ acetylsalicylic acid (ASA) ใช้ลดอาการปวดลดไข้มาตั้งแต่หลายพันปีก่อน สกัดจากเปลือกของต้นวิลโลว์ ยาแบบสังเคราะห์เริ่มมีใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1899 ก่อนที่จะพบฤทธิ์ยับยั้งการกระตุ้นเกล็ดเลือดซะอีก ดังนั้น Aspirin ที่นำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการยับยั้งการกระตุ้นเกล็ดเลือด จึงเป็นแบบสังเคราะห์ การศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของ Aspirin ในการป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1970 – 1980 หนึ่งในการศึกษาหลักในยุคแรก ๆ คือ The Second International Study of Infarct Survival (ISIS-2) trial2 แสดงให้เห็นว่าการใช้ Aspirin 162.5 mg ต่อวัน ในผู้ป่วย ST-elevation MI ที่ได้รับยา Streptokinase เมื่อเปรียบเทียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับ Aspirin สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดจาก 11.8% เป็น 9.4% AntiThrombotic (ATT) collaborative วิเคราะห์ 16 การศึกษาขนาดใหญ่ที่ใช้ Aspirin ในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่า Aspirin สามารถลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ 20% เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ Aspirin หลังจากติดตามไปเป็นเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตาม โอกาสเกิดภาวะเลือดออกในสมอง และเลือดออกในทางเดินอาหารก็เพื่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน3 หลังการพัฒนายาต้านเกล็ดเลือดที่ออกฤทธิ์ได้ดีมากขึ้นอย่าง ADP recepotor antagonist มาใช้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ Clopidogrel, Prasugrel และ Ticagrelor การใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับ Aspirin ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหลังเกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจฉับพลัน พบว่า สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ การเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองลงได้มากกว่าการให้ Aspirin เพียงตัวเดียว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยโอกาสเกิดภาวะเลือดออกที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน จากการศึกษา The Clopidogrel in Unstable Angina to prevent Recurrent Events (CURE)4, The Trial to Assess Improvement in Therapeutic Outcomes by Optimizing Platelet Inhibition with Prasugrel–Thrombolysis in Myocardial Infarction 38 (TRITON-TIMI 38)5 และ the PLATelet inhibition and patient Outcomes (PLATO)6 ตามลำดับ นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดสองตัวร่วมกัน ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจฉับพลันมานานกว่า 12 เดือน พบว่า การให้ยาต้านเกล็ดเลือดสองตัว คือ Aspirin ร่วมกับ Clopidogrel และ Aspirin ร่วมกับ Ticagrelor สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ การเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองลงได้มากกว่าการให้ Aspirin เพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกันต้องแลกมาด้วยโอกาสเกิดภาวะเลือดออกที่สูงขึ้น จากการศึกษา The Dual Antiplatelet Therapy beyond one year after drug-eluting coronary stent procedure (DAPT)7 และ The Prevention of Cardiovascular Events in Patients with Prior Heart Attack using Ticagrelor compared to Placebo on a Background of Aspirin (PEGASUS-TIMI 54)8 ตามลำดับ แนวทางการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลันที่เป็น ST-elevation MI ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจทวีปยุโรป ค.ศ. 2017 ให้ระดับคำแนะนำ IIb คุณภาพหลักฐาน B สำหรับการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดสองตัว คือ Aspirin และ Ticagrelor ต่อไปอีกจนถึงสามปี เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ป้องกันการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิฉัยเป็น ST-elevation MI ที่มีความเสี่ยงสูง และได้รับยาต้านเกล็ดเลือดสองตัวเป็นเวลา 12 เดือน โดยไม่มีภาวะเลือดออก9

บทบาทของยาต้านการแข็งตัวของเลือด ในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจระยะยาว ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบฉับพลัน ในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำค่อนข้างจำกัด เนื่องจากยาในกลุ่มนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกหากใช้ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด โดยเฉพาะในผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน มีข้อบ่งชี้ในการให้ยาต้านเกล็ดเลือดสองตัวใน 12 เดือนแรก การศึกษาที่สำคัญรวมถึงการวิเคราะห์อภิมานหลัก สำหรับยาในกลุ่มนี้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

The Antithrombotics in the Secondary Prevention of Events in Coronary Thrombosis (ASPECT)-II10 ทำการศึกษาในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน 993 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับ moderateintensity anticoagulation (target INR 2-2.5) ร่วมกับ low-dose aspirin 80 มก.ต่อวัน กลุ่มที่สองได้รับ high-intensity anticoagulation (target INR 3-4) กลุ่มที่สามได้รับ low-dose aspirin 80 มก.ต่อวัน ติดตามไปเฉลี่ย 12 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้รับ moderate-intensity anticoagulation (target INR 2-2.5) ร่วมกับ low-dose Aspirin 80 มก.ต่อวัน กับกลุ่มได้รับ low-dose aspirin 80 มก.ต่อวัน พบว่า อัตราการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัตราการเสียชีวิตลดลง 50% และลดลง 40% เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้รับ high-intensity anticoagulation (target INR 2-2.5) กับกลุ่มได้รับ low-dose Aspirin 80 มก.ต่อวัน แต่อุบัติการณ์การเกิดภาวะเลือดออกสูงที่สุดในกลุ่มที่ได้รับ moderate-intensity anticoagulation (target INR 2-2.5) ร่วมกับ low-dose Aspirin 80 มก.ต่อวัน (2.1% เปรียบเทียบกับ 0.9%)

The Balloon Angioplasty and Anticoagulation Study (BAAS)11 ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่ได้รับการซ่อมแซมหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน 1,058 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ก่อนทำการซ่อมแซมหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน 6 วัน กลุ่มแรกได้รับ Warfarin (INR 2.1-4.8) ร่วมกับ Aspirin 100 มก.ต่อวัน กลุ่มที่สองได้รับ Aspirin 100 มก.ต่อวัน พบว่า อัตราการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หรือการซ่อมแซมหลอดเลือดซ้ำลดลง 47% หลังจากติดตามไป 30 วัน ในกลุ่มที่ได้รับ Warfarin ร่วมกับ Aspirin เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ Aspirin อย่างเดียว หลังจากติดตามไป 1 ปี พบว่า ลดลง 29% แต่อุบัติการณ์การเกิดภาวะเลือดออกสูงกว่าในกลุ่มที่ได้รับ Warfarin ร่วมกับ Aspirin (3.2% เปรียบเทียบกับ 1%)

The Combination Hemotherapy And Mortality Prevention (CHAMP)12 ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลัน 5,059 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับ Warfarin (INR 1.5 – 2.5) ร่วมกับ Aspirin 81 มก.ต่อวัน กลุ่มที่สองได้รับ Aspirin อย่างเดียว 162 มก.ต่อวัน เริ่มยาภายใน 14 วันหลังเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลัน หลังจากติดตามไปเฉลี่ย 2.7 ปี พบว่า กลุ่มที่ได้รับ Warfarin ร่วมกับ Aspirin มีอัตราการเสียชีวิตรวมไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับ Aspirin อย่างเดียว (17.6% เปรียบเทียบกับ 17.3%, p = 0.76) อัตราการกลับเป็นซ้ำของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไม่แตกต่างจากลุ่มที่ได้รับ Aspirin อย่างเดียว (13.3% เปรียบเทียบกับ 13.1%, p = 0.78) อัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ไม่แตกต่างจากลุ่มที่ได้รับ Aspirin อย่างเดียว (3.1% เปรียบเทียบกับ 3.5%, p = 0.52) ในขณะที่อุบัติการณ์การเกิดภาวะเลือดออกสูงกว่าในกลุ่มที่ได้รับ Warfarin ร่วมกับ Aspirin (1.28 เปรียบเทียบกับ 0.72 ต่อ 100 ประชากรต่อปี, p = 0.001)

The Organization to Assess Strategies for Ischemic Syndromes (OASIS)-II13 ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน ที่เป็น Unstable Angina 3,712 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มภายใน 12 – 48 ชั่วโมงหลังได้รับการวินิจฉัย กลุ่มแรก ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด Warfarin หรือ Dicumarol ร่วมกับ high-dose Aspirin 325 มก.ต่อวัน กลุ่มที่สองได้รับ Aspirin 325 มก.ต่อวัน อย่างเดียว ติดตามการรักษาไป 5 เดือน พบว่า กลุ่มที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดร่วมกับ Aspirin 325 มก.ต่อวัน มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับ Aspirin เพียงอย่างเดียว 10% อย่างไรก็ตาม อุบัติการณ์การเกิดภาวะเลือดออกสูงกว่าในกลุ่มที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดร่วมกับ Aspirin (2.7% เปรียบเทียบกับ 1.3%)

The Warfarin-Aspirin ReInfarction-II Study (WARIS-II)14 ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลัน 3,600 คน ที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับ Warfarin (INR 2-2.5) ร่วมกับ Aspirin 75 มก.ต่อวัน กลุ่มที่สองได้รับ Warfarin (INR 2.8-4.2) กลุ่มที่สาม Aspirin 160 มก.ต่อวัน หลังจากติดตามการรักษาไป 4 ปี พบว่า กลุ่มที่ได้รับ Warfarin ร่วมกับ Aspirin มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ การกลับเป็นซ้ำของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมองลดลง 29% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ Aspirin อย่างเดียว ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับ Warfarin อย่างเดียวมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ การกลับเป็นซ้ำของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมองลดลง 19% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ Aspirin อย่างเดียว อุบัติการณ์การเกิดภาวะเลือดออกของกลุ่มที่ได้รับ Warfarin ร่วมกับ Aspirin และกลุ่มที่ได้รับ Warfarin สูงกว่าในกลุ่มที่ได้รับ Aspirin อย่างเดียว (0.58% และ 0.52% เปรียบเทียบกับ 0.15% ต่อปีตามลำดับ)

การวิเคราะห์อภิมานจาก 13 การศึกษา15 รวม 5 การศึกษาข้างต้นเข้าไปในการวิเคราะห์ด้วย เปรียบเทียบระหว่างการให้ Warfarin ร่วมกับ Aspirin และการให้ Aspirin อย่างเดียว ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจประมาณ 20,000 คน พบว่า high-intensity anticoagulation (INR 1.8-4.8) ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อเปรียบเทียบกับการให้ Aspirin อย่างเดียว แต่ไม่แตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้รับ low-intensitiy anticoagulation (INR 2.0) กับกลุ่มที่ได้รับ Aspirin อย่างเดียวโดยมีอุบัติการณ์การเกิดภาวะเลือดออกสูงกว่า การวิเคราะห์อภิมานอีกหนึ่งชิ้นในผู้ป่วยประมาณ 25,000 คน16 แสดงให้เห็นผลในทิศทางเดียวกัน การให้ Warfarin ร่วมกับ Aspirin สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ Aspirin อย่างเดียว (OR 0.73, 0.63-0.84) และโอกาสเกิดภาวะเลือดออกสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (OR 2.32, 1.63-3.29)

The Apixaban for Prevention of Acute Ischemic Events 2 (APPRAISE-2)17 ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน 7,392 คน ที่มีลักษณะร่วมอื่นที่แสดงถึงความเสี่ยงสูง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มภายใน 7 วัน หลังได้รับการวินิจฉัย กลุ่มแรก ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ Apixaban 5 มก.สองครั้งต่อวัน (ลดขนาดเหลือ 2.5 มก.สองครั้งต่อวัน หากค่า Creatinine Clearance น้อยกว่า 40 มล./นาที) ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือดอาจจะเป็น Aspirin อย่างเดียว หรือ Aspirin ร่วมกับ Clopidogrel กลุ่มที่สองได้รับยาต้านเกล็ดเลือดโดยไม่ได้รับ Apixaban ติดตามการรักษาไปเฉลี่ย 240 วัน พบว่า กลุ่มที่ได้รับ Apixaban ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือดมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมองไม่แตกต่างจากการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดอย่างเดียว (HR 0.95, 0.80-1.11) ภาวะเลือดออกในกลุ่มที่ได้รับ Apixaban ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือดสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาต้านเกล็ดเลือดอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (HR 2.59, 1.50-4.46)

Anti-Xa Therapy to Lower Cardiovascular Events in Addition to Standard Therapy in Subjects with Acute Coronary Syndrome–Thrombolysis in Myocardial Infarction 51 (ATLAS ACS-TIMI 51)18 เป็นการศึกษาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน 15,526 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ภายใน 7 วันหลังได้รับการวินิจฉัย กลุ่มแรก ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ Rivaroxaban 2.5 มก. หรือ 5 มก.ต่อวัน ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด Aspirin และยาต้านเกล็ดเลือดกลุ่มที่เป็น Thienopyridine ได้แก่ Clopidogrel หรือ Ticlopidine กลุ่มที่สอง ได้รับยาต้านเกล็ดเลือดอย่างเดียว ติดตามการรักษาไปเฉลี่ย 13.1 เดือน พบว่า กลุ่มที่ได้รับ Rivaroxaban ทั้ง 2.5 มก. และ 5 มก.ต่อวัน ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาต้านเกล็ดเลือดสองตัวเพียงอย่างเดียว (HR 0.84, 0.74 – 0.96) ผลที่ได้มีแนวโน้มไม่แตกต่างกันในกลุ่มที่เป็น ST-elevation MI Non ST-elevation MI และ Unstable Angina การให้ Rivaroxaban ในขนาด 2.5 มก.ต่อวัน ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือดสองตัว มีแนวโน้มลดอัตราการเสียชีวิตรวม และอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคหัวใจ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาต้านเกล็ดเลือดสองตัวโดยไม่ได้รับ Rivaroxaban แต่อุบัติการณ์ของภาวะเลือดออกสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (2.1% เปรียบเทียบกับ 0.6%, HR 3.96,2.46-6.38)

The Cardiovascular Outcomes for People Using Anticoagulation Strategies (COMPASS)19, 20 เป็นการศึกษาแรกของการให้ยาต้านเกล็ดเลือด ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดตีบแบบเรื้อรัง (Stable Atherosclerotic Vascular Disease) ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ใช้ในการศึกษาเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ Rivaroxaban และยาต้านเกล็ดเลือดเป็น Aspirin เพียงตัวเดียวเพื่อหวังลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะเลือดออกอย่างที่พบในการศึกษา APPRAISE-2 และ ATLAS ACS-TIMI 51 การศึกษา COMPASS เป็น double-blind, double-dummy randomized controlled trial ที่เป็น superiority design รูปแบบเป็น 3 x 2 factorial เลข 3 คือ สามกลุ่มการรักษาด้วย Atherothrombotic Drugs กลุ่มแรก ได้รับ Rivaroxaban 2.5 มก.ต่อวัน ร่วมกับ Aspirin 100 มก.ต่อวัน กลุ่มที่สอง ได้รับ Rivaroxaban 5 มก.ต่อวัน ร่วมกับ aspirin-matched placebo กลุ่มที่สาม ได้รับ Aspirin100 มก.ต่อวัน ร่วมกับ rivaroxaban-matched placebo เลข 2 คือ pantoprazole ที่เข้าไปสุ่มแบบ 1:1 กับทั้งสามกลุ่ม เลือกผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดส่วนปลายตีบแบบเรื้อรัง ใน Cohort ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเรื้อรัง เกณฑ์การคัดเลือก ต้องเป็นผู้ป่วยที่เคยได้รับการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลันภายในระยะเวลา 20 ปี หรือถ้าไม่เคยได้รับการวินิจฉัยดังกล่าวก็จำเป็นต้องมีหลักฐานของหลอดเลือดหัวใจตีบ ≥ 50% จากการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ หรือผลตรวจ Non-Invasive Stress Test เป็นบวก ≥ 2 ischemic territories โดยผู้ป่วยต้องอายุ ≥ 65 ปี ถ้าอายุ < 65 ปี จำเป็นต้องมีโรคของหลอดเลือดอื่นที่ไม่ใช่หลอดเลือดหัวใจอีกหนึ่งตำแหน่ง หรือถ้าไม่มีโรคของหลอดเลือดตำแหน่งอื่นเลย ก็ต้องมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดมากกว่า 2 ข้อขึ้นไป

กล่าวโดยสรุป COMPASS เลือกผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเรื้อรังสูงอายุ หรือมีความเสี่ยงสูงนั่นเอง ตัดกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกสูง ภาวการณ์ทำงานของไตบกพร่องรุนแรง โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะเลือดออกในสมองออกไป มีระยะเวลาในการ run-in ก่อนเข้าการศึกษา 4 – 14 วัน วิเคราะห์ข้อมูลแบบ intention-to-treat analysis และทำ interim analysis เมื่อเกิด primary event ไปแล้ว 50% และ 75% เลือกหยุดการศึกษาก่อนกำหนดด้วย Haybittle-Peto stopping boundary การศึกษา COMPASS ถูกยุติหลังจากการทำ interim analysis ครั้งแรก (> 4SD, z = −4.592) ติดตามการรักษาไปแล้วเฉลี่ย 23 เดือน อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง ในกลุ่มที่ได้รับ Rivaroxaban 2.5 มก.ต่อวัน ร่วมกับ Aspirin 100 มก.ต่อวัน 4.1% กลุ่มที่ได้รับ Rivaroxaban 5 มก. ต่อวัน 4.9% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ Aspirin 100 มก.ต่อวัน 5.4%

HR 0.76 (0.66 – 0.86) p < 0.001, z = -4.126 (Rivaroxaban 2.5 มก. ต่อวัน ร่วมกับ Aspirin 100 มก.ต่อวันเปรียบเทียบกับ Aspririn 100 มก.ต่อวัน) HR 0.90 (0.79 – 1.03), p = 0.12, z = -1.575 (Rivaroxaban 5 มก.ต่อวัน เปรียบเทียบกับ Aspririn 100 มก.ต่อวัน)

ผลออกมาไปในทางเดียวกันทั้งหมด ในกลุ่มที่ได้รับ Rivaroxaban 2.5 มก.ต่อวัน ร่วมกับ Aspirin 100 มก.ต่อวันเปรียบเทียบกับ Aspirin 100 มก. ต่อวัน ไม่ว่าจะเป็น subgroup analysis ของ primary outcome และ secondary outcome อุบัติการณ์ในการเกิดภาวะเลือดออกสูงกว่าในกลุ่มที่ได้รับ Rivaroxaban 2.5 มก.ต่อวัน ร่วมกับ Aspirin 100 มก.ต่อวัน และกลุ่มที่ได้รับ Rivaroxaban 5 มก.ต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ Aspirin 100 มก.ต่อวัน (3.1%, 2.8% และ 1.9% ตามลำดับ) ส่วนใหญ่เป็นภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร แต่ภาวะเลือดออกรุนแรงจนเสียชีวิตไม่แตกต่างกัน

การยับยั้งทั้งการกระตุ้นและจับกลุ่มของเกล็ดเลือด ร่วมกับการแข็งตัวของเลือด (Dual Pathway Inbibition) ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ประโยชน์ในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดซ้ำ ทั้งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลันและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเรื้อรัง จากหลักฐานเชิงประจักษ์ในหลายการศึกษา ทั้งในยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มที่เป็น Vitamin K Antagonist และ Non-Vitamin K Antagonist ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่ม Vitamin K Antagonist อย่าง Warfarin เมื่อใช้ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือดพบภาวะเลือดออกได้มากกว่าการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่ม Non-Vitamin K Antagonist คำถามที่น่าสนใจและรอคอยคำตอบในอนาคต คือ 1) ขนาดที่เหมาะสมที่สุดของยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่แต่ละตัว ในการใช้ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือดระยะยาวในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่ได้สมดุลของการป้องกัน และผลข้างเคียงในการเกิดภาวะเลือดออกที่ดีที่สุด 2) เปรียบเทียบการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือดตัวเดียวในกลุ่ม P2Y12 inhibitor กับ Aspirin ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจบนบริบทที่แตกต่างกันไป

 

เอกสารอ้างอิง

  1. A critical reappraisal of aspirin for secondary prevention in patients with ischemic heart disease. Robert C. Welsh, Matthew T. Roe, MD, Philippe Gabriel Steg, MD, et al. Am Heart J 2016;181:92 – 100.
  2. Randomised trial of intravenous streptokinase, oral aspirin, both, or neither among 17,187 cases of suspected acute myocardial infarction: ISIS-2. ISIS-2 (Second International Study of Infarct Survival) Collaborative Group. Lancet 1988;2(8607):349 – 60.
  3. Collaborative meta-analysis of randomised trials of antiplatelet therapy for prevention of death, myocardial infarction, and stroke in high risk patients. BMJ 2002;324(7329):71 – 86.
  4. Effects of clopidogrel in addition to aspirin in patients with acute coronary syndromes without ST-segment elevation. Yusuf S, Zhao F, Mehta SR, et al. N Engl J Med 2001;345(7):494 – 502.
  5. Prasugrel versus Clopidogrel in Patients with Acute Coronary Syndromes. Stephen D. Wiviott, M.D., Eugene Braunwald, M.D., Carolyn H. McCabe, B.S., et al. N Engl J Med 2007; 357:2001 – 2015.
  6. Ticagrelor versus Clopidogrel in Patients with Acute Coronary Syndromes. Lars Wallentin, M.D., Ph.D., Richard C. Becker, M.D.,Andrzej Budaj, M.D., et al. N Engl J Med 2009; 361:1045 – 1057.
  7. Twelve or 30 months of dual antiplatelet therapy after drug-eluting stents. Mauri L, Kereiakes DJ, Yeh RW, et al. N Engl J Med 2014;371(23):2155 – 66.
  8. Long-term use of ticagrelor in patients with prior myocardial infarction. Bonaca MP, Bhatt DL, Cohen M, et al. N Engl J Med 2015;372(19):1791 – 800.
  9. 2017 ESC Guidelines for the management of acute myocardial infarction in patients presenting with ST-segment elevation: The Task Force for the management of acute myocardial infarction in patients presenting with ST-segment elevation of the Europe an Society of Cardiology (ESC). Eur Heart J 2018;39(2):119 – 177.
  10. Clinical trials update: IMPROVEMENT-HF, COPERNICUS, MUSTIC, ASPECT-II, APRICOT and HEART. Witte K, Thackray S, Clark AL, Cooklin M, Cleland JG. Eur J Heart Fail 2000;2:455 –  60.
  11. Effect of coumarins started before coronary angioplasty on acute complications and long-term follow-up: a randomized trial. Ten Berg JM, Kelder JC, Suttorp MJ, et al. Circulation 2000;102:386 – 91.
  12. Department of Veterans Affairs Cooperative Studies Program Clinical Trial comparing combined warfarin and aspirin with aspirin alone in survivors of acute myocardial infarction: primary results of the CHAMP study. Fiore LD, Ezekowitz MD, Brophy MT, et al. Circulation 2002;105:557 – 63.
  13. Effects of long-term, moderate-intensity oral anticoagulation in addition to aspirin in unstable angina. The OASIS Investigators. J Am Coll Cardiol 2001;37:475 – 85.
  14. Effects of warfarin, aspirin and the two combined, on mortality and thromboembolic morbidity after myocardial infarction. The WARIS-II (Warfarin-Aspirin Reinfarc- tion Study) design. Hurlen M, Smith P, Arnesen H. Scand Cardiovasc J 2000;34:168 – 71.
  15. Oral Anticoagulants in Patients With Coronary Artery Disease. Sonia S. Anand, MD, MSC, FRCP(C), Salim Yusuf, FRCP, DPHIL. J Am Coll Cardiol 2003(41);4 Suppl S:62S – 69S.
  16. Aspirin plus warfarin compared to aspirin alone after acute coronary syndromes: an updated and comprehensive meta-analysis of 25,307 patients. Andreotti F, Testa L, Biondi-Zoccai GG, et al. Eur Heart J 2006;27(5):519 – 26.
  17. Apixaban with antiplatelet therapy after acute coronary syndrome. Alexander JH, Lopes RD, James S, et al. N Engl J Med 2011;365(8):699 – 708.
  18. Rivaroxaban in patients with a recent acute coronary syndrome. Mega JL, Braunwald E, Wiviott SD, et al. N Engl J Med 2012;366(1):9 – 19.
  19. Rivaroxaban with or without Aspirin in Stable Cardiovascular Disease. John W. Eikelboom, M.B., B.S., Stuart J. Connolly, M.D.,Jackie Bosch, Ph.D., et al. N Engl J Med 2017; 377:1319 – 1330.
  20. An Important Step for Thrombocardiology. Braunwald E. N Engl J Med 2017; 377:1387 – 1388.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก