CIMjournal

Diet Modification and Impacts on Blood Pressure


พ.ท.หญิง พญ. สิรกานต์ เตชะวณิช
หน่วยโภชนศาสตร์คลินิก กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
.

สรุปเนื้อหางานประชุมวิชาการประจำปี 2562 ครั้งที่ 17 จัดโดย สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562

 

บทนำ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้มีสุขภาพดีแบบยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแต่สามารถป้องกัน และรักษาโรคความดันโลหิตสูง แต่ยังมีจุดมุ่งหมายให้แต่ละบุคคลมีสุขภาพโดยรวมที่ดี ซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases, NCDs) อื่น ๆ ด้วย ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงประเด็นด้านอาหารเป็นหลัก


หลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับแนวทางการกินอาหารเพื่อหวังผลลดความดันโลหิต

บุคลากรทางการแพทย์มักเข้าใจผิดว่า รูปแบบการกินอาหารแบบ DASH (Dietary Approaches to Stop Hypertension diet หรือ DASH diet) ที่สามารถลดความดันโลหิตได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น คือ อาหารโซเดียมต่ำ แต่แท้ที่จริงแล้ว DASH diet เป็นรูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพแบบหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยการเน้นกินคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืช ใยอาหารจากผักและผลไม้ โปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่มีไขมันอิ่มตัวน้อย (เช่น ปลา ไก่ เป็นต้น) นมไขมันต่ำและผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ ลดการกินเนื้อแดง น้ำตาล น้ำหวาน รวมถึงจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

รูปที่ 1 แสดงการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันโลหิตหลังการบริโภคอาหารรูปแบบต่าง ๆ ในการศึกษา DASH


การศึกษาดั้งเดิมของ DASH diet ซึ่งตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. 1997 ได้ศึกษาผลต่อระดับความดันโลหิตจากของรูปแบบกินอาหาร (dietary pattern) ที่แตกต่าง 3 แบบ ได้แก่

  1. อาหารแบบอเมริกัน (กลุ่มควบคุม) ซึ่งเป็นรูปแบบอาหารที่มีใยอาหาร โพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียมในปริมาณน้อย โดยสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรต: โปรตีน: ไขมัน เท่ากับ 48: 15: 37
  2. อาหารแบบอเมริกัน แต่เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ (fruits and vegetables diet) เพื่อเพิ่มปริมาณใยอาหาร โพแทสเซียม และแมกนีเซียม โดยสัดส่วนสารอาหารหลักยังคงเดิม
  3. อาหารแบบ DASH โดยสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรต: โปรตีน: ไขมัน เท่ากับ 55: 18: 27 และมีใยอาหาร โพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียมในปริมาณมาก

โดยอาหารทั้ง 3 แบบกำหนดพลังงานเท่ากันที่ 2,100 กิโลแคลอรีต่อวัน และปริมาณโซเดียมเท่ากันที่ 3,000 มก./วัน พบว่า เมื่อเทียบกับแบบอาหารอเมริกัน พบว่า fruit and vegetable diet และ DASH diet สามารถลดระดับความดันโลหิตได้อย่างมีนัยสำคัญ (รูปที่ 1) กล่าวคือ

รูปที่ 2 ผลของ DASH diet และปริมาณโซเดียมในอาหารต่อระดับความดันโลหิต

 

  • Fruits and vegetables diet สามารถลดระดับความดันซิสโตลิกได้ 2.8 มม.ปรอท และความดันไดแอสโตลิกได้ 1.1 มม.ปรอท
  • DASH diet สามารถลดระดับความดันซิสโตลิกได้ 5.5 มม. ปรอท และความดันไดแอสโตลิกได้ 3.0 มม.ปรอท

ต่อมาการศึกษา DASH-Sodium ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2001 ได้ศึกษาผลของอาหารอเมริกัน และ DASH diet โดยกำหนดการบริโภคโซเดียมที่แตกต่างกัน 3 ระดับ ได้แก่ วันละ 3,000 มก. (high), 2,300 มก. (intermediate) และ 1,150 มก. (low) ต่อระดับความดันโลหิต พบว่า รูปแบบอาหารทั้งสองแบบ เมื่อลดการบริโภคโซเดียมให้น้อยลง ยิ่งสามารถลดระดับความดันโลหิตได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะบริโภครูปแบบอาหารอเมริกัน หรือแบบ DASH (รูปที่ 2) ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนถึงผลของปริมาณโซเดียมในอาหารกับระดับความดันโลหิต


สรุป

รูปแบบการบริโภคอาหารส่งผลต่อระดับความดันโลหิต นอกจากสารอาหารหลักแล้ว การจำกัดปริมาณโซเดียมยังส่งผลให้การลดความดันโลหิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาหารแบบ DASH ถือเป็นรูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพอย่างหนึ่ง ที่สามารถลดระดับความดันโลหิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วยการกินอาหารครบ 5 หมู่ กล่าวคือ เน้นการบริโภคธัญพืช ผัก ผลไม้ นมไขมันต่ำ และผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ ลดการบริโภคเนื้อแดง เพื่อลดปริมาณไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ไม่ได้เน้นที่สารอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งพบว่ารูปแบบการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอื่น ๆ เช่น รูปแบบอาหารเมดิเตอร์เรเนียน ก็ให้ผลไปในทางเดียวกัน

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Gabb GM, Mangoni AA, Anderson CS, et al. Guideline for the diagnosis and management of hypertension in adults – 2016. The Medical journal of Australia. 2016;205(2):85 – 9.
  2. James PA, Oparil S, Carter BL, et al. 2014 evidence-based guideline for the management of high blood pressure in adults: report from the panel members appointed to the Eighth Joint National Committee (JNC 8). JAMA. 2014;311(5):507 – 20.
  3. National Clinical Guideline. National Institute for Health and Clinical Excellence: Guidance. Hypertension: The Clinical Man agement of Primary Hypertension in Adults: Update of Clinical Guidelines 18 and 34. London: Royal College of Physicians (UK) National Clinical Guideline Centre.; 2011.
  4. Whelton PK, Carey RM, Aronow WS, et al. 2017 ACC/AHA/AAPA/ABC/ACPM/AGS/APhA/ASH/ ASPC/NMA/PCNA Guideline for the Prevention, Detection, Evaluation, and Management of High Blood Pressure in Adults: Executive Summary: A Report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines. Circulation. 2018;138(17):e426 – e83.
  5. Williams B, Mancia G, Spiering W, et al. 2018 ESC/ESH Guidelines for the management of arterial hypertension: The Task Force for the management of arterial hypertension of the European Society of Cardiology and the European Society of Hypertension: The Task Force for the management of arterial hypertension of the European Society of Cardiology and the European Society of Hypertension. Journal of hypertension. 2018;36(10):1953 – 2041.

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก