พ.ท.หญิง พญ. สิรกานต์ เตชะวณิช
หน่วยโภชนศาสตร์คลินิก กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
.
สรุปเนื้อหางานประชุมวิชาการกลางปี พ.ศ. 2561 ครั้งที่ 16 จัดโดย สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย วันที่ 13 กรกฎาคม 2561
บทนำ
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของคนไทย และประชากรทั่วโลก ในประเทศไทยนั้น โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตาย อันดับ 1 ของคนไทยเมื่อปี พ.ศ. 2553 และ 2557 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต สามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งระดับปฐมภูมิ และทุติยภูมิ สารอาหารหลัก (macronutrient) ที่มีข้อมูลขัดแย้งกันมากที่สุดในแง่ความสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ สารอาหารกลุ่มไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้ป่วย ประชาชนทั่วไป รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์เอง บทความนี้ได้รวบรวมสรุปคำแนะนำล่าสุดจากหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการบริโภคไขมันจากอาหารที่สัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด
ชนิดของไขมันในอาหารและผลต่อระดับไขมันในเลือด
พยาธิกำเนิดของโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ การเกิดภาวะเสื่อมแข็งของหลอดเลือดแดง (atherosclerosis) อันเนื่องมาจากการเกาะของคราบไขมัน (plaque) ภายในผนังหลอดเลือด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเสื่อมแข็งและการตีบของหลอดเลือดแดงที่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือดต่ำ การสูบบุหรี่ ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน การไม่ออกกำลังกาย โรคเบาหวาน เป็นต้น
สำหรับชนิดไขมันในอาหารจากแหล่งต่าง ๆ มีผลต่อระดับไขมันในเลือดที่แตกต่างกันดังแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 แสดงชนิดของไขมันต่าง ๆ ที่พบในอาหารและผลต่อระดับไขมันในเลือด
LDL-C, low-density lipoprotein cholesterol; HDL-C, high-density lipoprotein cholesterol
ข้อสรุปคำแนะนำในการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อผลดีต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
แม้ว่าผลของไขมันในอาหารแต่ละชนิดจะส่งผลต่อระดับไขมันในเลือดที่แตกต่างกัน แต่ในการปรับพฤติกรรมการกินเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น ไม่ควรเน้นที่สารอาหารเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่ให้เน้นที่รูปแบบการกินอาหารโดยรวม (dietary pattern) โดยให้กินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และครบทั้ง 5 หมู่ ในต่างประเทศนั้น พบว่า รูปแบบการกินหลายแบบที่มีข้อมูลว่าช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น รูปแบบอาหารแบบ DASH (Dietary Approaches to Stop Hypertension), รูปแบบอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน รูปแบบอาหารตามคำแนะนำของสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) และรูปแบบอาหารตามคำแนะนำของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture, USDA) เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าชนิดของไขมันมีความสำคัญมากกว่าปริมาณหรือสัดส่วนไขมันในอาหาร เนื่องจากในรูปแบบอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่พบหลักฐานมากมายว่ามีผลดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นรูปแบบอาหารเพื่อลดน้ำหนักได้ ทั้ง ๆ ที่สัดส่วนไขมันในอาหารแบบแบบเมดิเตอร์เรเนียนมักมากกว่าร้อยละ 35 ของพลังงานรวม สำหรับในประเทศไทยแนะนำให้กินอาหารแต่ละมื้อในรูปแบบ 2:1:1 ตามคำแนะนำของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข กล่าวคือ แบ่งจาน แบนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 นิ้วออกเป็น 4 ส่วน เท่า ๆ กัน โดย 2 ส่วน เป็นผักหลากสี อย่างน้อย 2 ชนิด อีก 1 ส่วนเป็นข้าว แป้ง โดยเน้นกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี เป็นต้น และอีก 1 ส่วนเป็นโปรตีนโดยเน้นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และเนื้อปลา และทุกมื้อควรรับประทานผลไม้สดที่มีรสหวานน้อยร่วมด้วยในปริมาณขนาดเท่าจานรองกาแฟ หรือประมาณผลไม้หั่นชิ้น 6-8 ชิ้นคำ หรือผลไม้ผลขนาดกลาง 1 ผล หรือผลไม้ผลขนาดเล็ก 4-6 ผล (รูปที่ 1) รูปแบบของอาหารดังกล่าวทำให้ได้อาหารพลังงานต่ำ ครบทั้ง 5 หมู่ ได้ใยอาหารปริมาณมาก รวมทั้งได้วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ครบถ้วน
รูปที่ 1 แนวทางการกินอาหารที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ (เมนู 2:1:1) ตามแนวทางของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
จากการรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ สรุปคำแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคอาหาร และไขมันจากอาหารเพื่อส่งผลดีต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยสังเขป ดังนี้
- พฤติกรรมการบริโภคอาหาร
คำแนะนำ: ให้เน้นรูปแบบการกินอาหารที่มีพลังงานรวมเหมาะสม และครบทั้ง 5 หมู่ (healthy balanced diet) มากกว่าการให้ความสนใจที่สารอาหารเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง
- ปริมาณไขมัน
คำแนะนำ: ชนิดของไขมันที่ดีในอาหารมีความสำคัญมากกว่าปริมาณไขมันในอาหาร แนะนำให้เลือกบริโภคไขมันไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fat, PUFA) และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fat, MUFA) แทนการบริโภคไขมันอิ่มตัว (saturated fat, SFA) อย่างไรก็ดีควรระวังเรื่องพลังงานรวมในอาหารด้วย เนื่องจากสารอาหารไขมันให้พลังงานสูงกว่าสารอาหารประเภทอื่น สำหรับประเทศไทยแนะนำให้บริโภคน้ำมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา
- ชนิดของไขมัน
คำแนะนำ:
- ให้ลดปริมาณไขมันอิ่มตัวทั้งไขมันจากสัตว์ และกลุ่มน้ำมันทรอปิคอล (ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และน้ำมันจากเมล็ดปาล์ม) โดยให้ทดแทนด้วยไขมันไม่อิ่มตัว สำหรับประชากรทั่วไปที่มีสุขภาพดี แนะนำให้บริโภคไขมันอิ่มตัวให้น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพลังงานที่บริโภค ส่วนในผู้ที่มีปัญหาระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือดสูง แนะนำให้บริโภคไขมันอิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 5-6 ของพลังงานที่บริโภค
- ประชากรทั่วไป และผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด แนะนำรับประทานปลา และหรืออาหารทะเลปริมาณ 2 ส่วน (6 ออนซ์ หรือ 168 กรัม)/สัปดาห์ เพื่อให้ได้ปริมาณ eicosapentaenoic acid (EPA) และ docosa hexaenoic acid (DHA) รวมกันประมาณ 250 มก./วัน ส่วนน้ำมันปลาสกัดเข้มข้นในรูปแบบยามีข้อบ่งชี้เฉพาะในกรณีที่มีผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมาก
- ไขมันทรานส์
คำแนะนำ: แนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันทรานส์ โดยบริโภคให้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของพลังงานรวมที่บริโภค หรือบริโภคให้น้อยที่สุด
- ให้ลดปริมาณไขมันอิ่มตัวทั้งไขมันจากสัตว์ และกลุ่มน้ำมันทรอปิคอล (ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และน้ำมันจากเมล็ดปาล์ม) โดยให้ทดแทนด้วยไขมันไม่อิ่มตัว สำหรับประชากรทั่วไปที่มีสุขภาพดี แนะนำให้บริโภคไขมันอิ่มตัวให้น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพลังงานที่บริโภค ส่วนในผู้ที่มีปัญหาระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือดสูง แนะนำให้บริโภคไขมันอิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 5-6 ของพลังงานที่บริโภค
เอกสารอ้างอิง
- Sacks FM, Lichtenstein AH, Wu JHY, Appel LJ, Creager MA, Kris-Etherton PM, et al. Dietary Fats and Cardiovascular Disease: A Presidential Advisory From the American Heart Association. Circulation. 2017;136(3):e1-e23.
- Siscovick DS, Barringer TA, Fretts AM, Wu JH, Lichtenstein AH, Costello RB, et al. Omega-3 Polyunsaturated Fatty Acid (Fish Oil) Supplementation and the Prevention of Clinical Cardiovascular Disease: A Science Advisory From the American Heart Association. Circulation. 2017;136(3):e1-e23.
- Eckel RH, Jakicic JM, Ard JD, de Jesus JM, Houston Miller N, Hubbard VS, et al. 2013 AHA/ACC guideline on lifestyle management to reduce cardiovascular risk: a report of the American College of Cardiology/ American Heart Association Task Force on Practice Guidelines. Circulation. 2014;129(suppl 2):S76–S99.
- Scientific Report of the 2015 Dietary Guidelines Advisory Committee. Washington, DC: US Department of Agriculture; 2015. https://health.gov/dietaryguidelines/2015-scientific-report/.