รศ. พญ. นิธิมา รัตนสิทธิ์
สาขาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สรุปเนื้อหาจากงานประชุมการอบรมระยะสั้นโรคหัวใจและหลอดเลือดครั้งที่ 41 จัดโดย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย วันที่ 21 ตุลาคม 2562
บทนำ
โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติก (aortic valve disease) แบ่งได้เป็น 2 โรค คือ
- โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (aortic stenosis, AS)
- โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (aortic regurgitation, AR)
ในปัจจุบันการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจมีการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับการรักษาจำเพาะในรายที่ต้องเปลี่ยน หรือซ่อมลิ้นหัวใจผ่านทางสายสวนหัวใจ และอ้างอิงตามแนวทางการรักษามาตรฐาน (standard guideline) ในบทความต่อไปนี้จะกล่าวถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติก (valve disease) โดยอ้างอิงตามแนวทางการรักษามาตรฐาน 2017 ESC/EACTS guidelines for the management of valvular heart disease: The task force for the management of valvular heart disease of the European Society of Cardiology (ESC) and the European Association for Cardio-Thoracic Surgery (EACTS)(1)
โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Stenosis)
เกิดจากพยาธิสภาพที่ลิ้นหัวใจเอออร์ติก ทำให้มีการอุดกั้นเลือดไม่ให้ผ่านช่องทางไหลของเลือดออกจากเวนตริเคิลซ้าย และเกิดความแตกต่างของความดันระหว่างเวนตริเคิลซ้ายและเอเตรียมซ้าย ส่งผลให้มีการปรับตัวของเวนตริเคิลซ้าย โดยมีการหนาตัวขึ้น เพื่อให้สามารถบีบตัวส่งเลือดผ่านลิ้นหัวใจเอออร์ติกที่ตีบได้ ให้พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย ดังนั้น ในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกขั้นรุนแรง จะพบการทำงานของเวนตริเคิลซ้ายปกติ หรือมากกว่าปกติ แต่ในกรณีที่ลิ้นหัวใจไม่ได้รับการแก้ไข ในที่สุดกล้ามเนื้อหัวใจจะปรับตัวเพิ่มความหนาจนถึงจุดวิกฤติ นำไปสู่การที่เวนตริเคิลซ้ายขยายตัว และบีบตัวลดลง
สาเหตุของ AS ขึ้นกับอายุของผู้ป่วย กล่าวคือ
- ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 70 ปี มักเกิดจากภาวะความพิการแต่กำเนิด เช่น congenital bicuspid AS
- ในผู้ป่วยอายุมากมักเกิดจากความเสื่อมจากการมีแคลเซียมเกาะที่ลิ้นหัวใจ (degenerative, calcific AS)
- นอกจากนี้ โรคลิ้นหัวใจรูห์มาติก (rheumatic heart disease) ยังเป็นสาเหตุของ AS ที่พบบ่อยได้ในประเทศไทย
ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกในระยะแรกอาจไม่มีอาการ เมื่อโรคดำเนินรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ โดยมักมีอาการสำคัญ ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอก (angina) เป็นลม (syncope) และเหนื่อยง่าย (dyspnea) ซึ่งมีความสำคัญในการพยากรณ์โรค และการตัดสินการรักษา กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วย มีอาการดังกล่าวข้างต้น จะมีโอกาสเสียชีวิตในระยะเวลาประมาณ 5, 3 และ 2 ปีตามลำดับ
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ
ให้พิจารณาจากความรุนแรงของโรคและอาการของผู้ป่วย (รูปที่ 1) กล่าวคือ
รูปที่ 1 แนวทางการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ตามแนวทางการรักษามาตรฐาน อ้างอิงตาม 2017 ESC/EACTS guidelines for the management of valvular heart disease
.
- ในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบมีความรุนแรงมาก และมีอาการเจ็บหน้าอก เป็นลม หรือเหนื่อยง่าย ถือเป็นข้อบ่งชี้ในการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก (aortic valve replacement, AVR) ซึ่งในปัจจุบันการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก สามารถทำได้โดยการผ่าตัด (surgical AVR, SAVR) และผ่านทางสายสวนหัวใจ (transcatheter AVR, TAVR) ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น และเพิ่มอัตราการรอดชีวิต
- ในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบมีความรุนแรงมาก และผู้ป่วยไม่มีอาการ ให้พิจารณาค่าการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้าย หรือ left ventricular ejection fraction (LVEF) ในกรณีที่ LVEF < 50% แนะนำให้ส่งผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก
- ในผู้ป่วยที่ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบที่มีความรุนแรงไม่มาก แนะนำให้ติดตามอาการ และส่งตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography) ซ้ำเป็นระยะ ๆ ได้แก่
- ถ้าความรุนแรงของโรคน้อย แนะนำให้ส่งตรวจ Echocardiography ทุก 3 – 5 ปี
- ถ้าความรุนแรงของโรคปานกลาง แนะนำให้ส่งตรวจ Echocardiography ทุก 1 – 2 ปี
- ในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบมีความรุนแรงมาก ที่ไม่มีอาการ และยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (รูปที่ 1) ให้ติดตามอาการเป็นระยะ ๆ และแนะนำให้ส่งตรวจ Echocardiography ทุก 6 – 12 เดือน
- ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบมีความรุนแรงมาก ควรได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหักโหม และการออกแรงเบ่ง
- ข้อบ่งชี้อื่นในการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก ดังแสดงในรูปที่ 1 รวมทั้งในกรณีต่อไปนี้
- ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบที่มีความรุนแรงมาก และจะเข้ารับการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery bypass graft surgery)
- ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบที่มีความรุนแรงมาก และจะเข้ารับการผ่าตัดหลอดเลือดเอออร์ตา (aorta) หรือผ่าตัดลิ้นหัวใจที่ตำแหน่งอื่น ส่วนการใช้ยาในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ มีหลักการ ดังนี้
- ในผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ให้รักษาตามแนวทางการรักษามาตรฐานของการรักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยให้เริ่มยาจากขนาดต่ำก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาขึ้น จนได้ระดับความดันโลหิตที่เหมาะสม โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการ
- การใช้ยาขับปัสสาวะ ให้ใช้ในรายที่มีอาการจากภาวะน้ำท่วมปอด (pulmonary venous congestion / pulmonary edema) เท่านั้น และปรับขนาดยาตามอาการ
- การใช้ยากลุ่ม ß – blocker มีประโยชน์ในการช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้ชีพจรช้าลง ลดการใช้พลังงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ลดการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทั้งนี้ จะต้องระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีค่าการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายลดลง
- โดยทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มขยายหลอดเลือด (vasodilator) ยกเว้น ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ในผู้ป่วยที่ค่าการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายลดลง หรือใช้ร่วมกับการตรวจติดตามทางระบบไหลเวียนโลหิต ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีความรุนแรงมาก
โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว
แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว ก่อนให้การดูแลรักษาผู้ป่วยแพทย์ควรให้การวินิจฉัย 2 ข้อ ได้แก่
- โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว เป็นแบบเฉียบพลัน (acute AR) หรือแบบเรื้อรัง (chronic AR)
- ตัวอย่างโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วแบบเฉียบพลัน เช่น ภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ (infective endocarditis)
- ตัวอย่างโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วแบบเรื้อรัง เช่น โรคลิ้นหัวใจรูห์มาติก หรือ bicuspid aortic valve เป็นต้น
- โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว เกิดจากพยาธิสภาพได้ที่ 2 ตำแหน่ง ได้แก่
- ความผิดปกติที่ลิ้นหัวใจ (valvular AR)
- ความผิดปกติที่ส่วนต้นของหลอดเลือดแดงเอออร์ตา (root AR)
ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว อาจมีหรือไม่มีอาการทางคลินิก ในรายที่มีอาการผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอก
ในบทความนี้จะกล่าวถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วแบบเรื้อรัง
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วแบบเรื้อรัง
การดูแลรักษาให้พิจารณาจากความรุนแรงของโรค และอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การดำเนินของโรค ขนาด และการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย (รูปที่ 2) ดังนี้
รูปที่ 2 แนวทางการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว ตามแนวทางการรักษามาตรฐานอ้างอิงตาม 2017 ESC/EACTS guidelines for the management of valvular heart disease
.
- ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วขั้นรุนแรงปานกลาง แนะนำให้ติดตามอาการ และตรวจ Echocardiogram ซ้ำทุก 1 – 2 ปี ในกรณีที่โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วที่มีความรุนแรงน้อย แนะนำให้ตรวจ Echocardiogram ทุก 3 – 5 ปี ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักไม่มีอาการ และยังไม่จำเป็นต้องให้การรักษาจำเพาะอย่างใด
- ในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วทุกราย ให้พิจารณาตรวจและวัดขนาดของหลอดเลือดแดงเอออร์ตาอย่างละเอียด เพื่อการตัดสินการรักษา กล่าวคือ ถ้าหลอดเลือดแดงเอออร์ตามีขนาดโตมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแต่ละโรค จัดเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
- ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วที่มีความรุนแรงมาก และมีอาการ ให้แนะนำผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก
- ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วที่มีความรุนแรงมาก และไม่มีอาการ ให้พิจารณาค่า LVEF และขนาดของหัวใจห้องล่างซ้าย ว่าถึงเกณฑ์ที่จะเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกหรือไม่ (รูปที่ 2)
- ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วที่มีความรุนแรงมาก และยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด แนะนำให้ติดตามอาการเป็นระยะ ๆ และนัดตรวจ Echocardiogram ซ้ำทุก 6 – 12 เดือน
นอกจากนี้ ควรแนะนำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก ในกรณีอื่น ๆ ได้แก่ (รูปที่ 2)
- ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วขั้นรุนแรงปานกลาง หรือมาก ที่เข้ารับการผ่าตัดเกี่ยวกับหัวใจด้วยข้อบ่งชี้อื่น ๆ อยู่แล้ว เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดหลอดเลือดเอออร์ตา การผ่าตัดลิ้นหัวใจไมตรัล เป็นต้น
การรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วแบบเรื้อรังด้วยยา
- ในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วแบบเรื้อรัง ร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง โดยที่ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท ให้พิจารณารักษาตามแนวทางการรักษามาตรฐาน ของการรักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยแนะนำให้เลือกใช้ยากลุ่ม dihydropyridine calcium channel blocker หรือ angiotensin-converting enzyme inhibitor/angiotensin-receptor blocker
- ยาขับปัสสาวะ (diuretics) ให้ใช้ได้ในรายที่มีอาการจาก pulmonary congestion
- ระมัดระวังในการใช้ยากลุ่ม ß-blocker เนื่องจากยามีผลให้หัวใจเต้นช้าลง ส่งผลให้ระยะเวลาการคลายตัวของหัวใจนานขึ้น ทำให้การรั่วของลิ้นเอออร์ติกมากขึ้น
- ในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วแบบเรื้อรังขั้นรุนแรงมาก และมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก เช่น มีอาการ และหรือตรวจพบการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายลดลง เป็นต้น แต่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้เนื่องจากปัญหาด้านโรคประจำตัวอื่น ๆ ให้พิจารณายากลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitor /angiotensin-receptor blocker ร่วมกับกลุ่ม ß-blocker
เอกสารอ้างอิง
- 2017 ESC/EACTS guidelines for the management of valvular heart disease: The task force for the management of valvular heart disease of the European Society of Cardiology (ESC) and the European Association for Cardio-Thoracic Surgery (EACTS)