ศ. นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า
สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประธาน service plan โรคหลอดเลือดสมองเขตสุขภาพที่ 7
บทนำ
การรักษาผู้ป่วย acute stroke ให้ได้ผลดีในปัจจุบัน คือ การรักษาด้วยระบบบริการ stroke fast track ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเข้าถึงระบบบริการดังกล่าวอย่างรวดเร็วที่สุด และเมื่อเข้าถึงโรงพยาบาล ระบบบริการในโรงพยาบาลจะต้องให้การรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็วที่สุดเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทุกทีม ทุกระบบต้องมีความพร้อมในการให้บริการเป็นอย่างดี ความจริงที่พบ คือ ระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดในกรณีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ door to needle (DTN) นานมากกว่า 60 นาที
ทำไมเราจึงต้องรีบให้การรักษาผู้ป่วยเร็วที่สุด เนื่องจากว่าทุก ๆ นาทีที่ผ่านไปนั้นเซลส์สมองจะมีการขาดเลือดเพิ่มมากขึ้น เซลส์สมองจะตายเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ นาที่ที่ผ่านไป มีการเปรียบเทียบไว้ให้เห็นถึงผลเสียของเวลาที่ผ่านไปทุกนาทีว่า 1 นาทีที่ผ่านไปนั้นส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยสูญเสียไป 2 วัน ดังนั้นเราจึงต้องให้การบริการด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างดี ยิ่งในกรณีที่ผู้ป่วยมีระยะเวลา onset to hospital ใกล้เวลา 270 นาที ยิ่งต้องรีบให้การบริการให้เร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทัน golden period ดังกล่าว อย่างไรก็ตามการที่จะพัฒนาให้ระบบบริการในโรงพยาบาล โดยมีเป้าหมายลดระยะเวลา DTN นั้นให้ลดลงมากที่สุด ต้องมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงคนเดียว หรือทีมเดียว ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกทีมที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขดังกล่าว
เหตุความล่าช้าของ DTN
ความล่าช้าของ DTN ประกอบด้วย
- ระบบที่มีหลายขั้นตอน
- ผู้เกี่ยวข้องยังเข้าใจเป้าหมายไม่ตรงกัน
- การทำงานเริ่มเมื่อผู้ป่วยมาถึงห้องฉุกเฉิน
- การประสานงานกับญาติผู้ป่วย
- การควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วย
- การลดระยะเวลาในระหว่างแต่ละกิจกรรมที่ต่อเนื่องกัน
- การประสานงานระหว่างทีม
- การเตรียมทีมสำรองเมื่อมีเหตุการณ์ซ้อนกัน
- กรณีเครื่องตรวจ CT scan เสีย
- การตัดสินใจให้การรักษาด้วยการไม่รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การพูดคุยกับทีมที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถให้การบริการได้เร็วที่สุด
ระบบมีหลายขั้นตอน
การลดระยะเวลา DTN ให้สั้นที่สุดนั้นต้องมาทบทวนขั้นตอนการบริการว่ามีทั้งหมดกี่ขั้นตอน แต่ละขั้นตอนนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ สามารถตัดขั้นตอนดังกล่าวออกได้หรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องมีจะทำอย่างไรให้เร็วขึ้น และพยายามลดรอยต่อระหว่างขั้นตอนต่างๆ ที่มี และถ้ามีขั้นตอนไหนที่เริ่มทำได้ตั้งแต่รับทราบข้อมูลให้รีบทำทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลแล้วค่อยทำ ถ้าทุกขั้นตอนลดลงเพียงขั้นตอนละ 1 นาที รับรองว่าระยะเวลา DTN ลดลงอย่างมากแน่นอน
ผู้เกี่ยวข้องยังเข้าใจเป้าหมายไม่ตรงกัน
เนื่องจากการให้บริการ stroke fast track มี golden period ที่ระยะเวลา 270 นาที ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันว่าทำไมต้องทำให้เร็วที่สุด เมื่อรู้ว่ายังมีเวลาเหลืออีกนานกว่าจะถึงระยะเวลา 270 นาที จึงไม่รีบ เพราะคิดว่าอย่างไรก็สามารถทำทันเวลา เป้าหมายของการบริการ stroke fast track คือ การทำงานทุกขั้นตอนให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ และมีความแม่นยำด้วย เพราะทุกนาทีที่ผ่านไป คือ โอกาสของผู้ป่วยที่จะหายเป็นปกติก็ลดลงไปเรื่อยๆ และโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาก็มากขึ้นเรื่อย เพราะเนื้อสมองส่วน penumbra ลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องทำให้เร็วและแม่นยำที่สุด
การทำงานเริ่มเมื่อผู้ป่วยมาถึงห้องฉุกเฉิน
การให้บริการ stroke fast track นั้นจะมีงานบางอย่างที่ทำเตรียมรอผู้ป่วยก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาล เช่น การทำประวัติคนไข้ การแจ้งแพทย์และทีมรักษาว่าจะมีผู้ป่วย acute stroke มาที่ห้องฉุกเฉิน การเตรียมห้อง CT scan ให้พร้อม ตลอดจนการพูดคุยกับผู้ป่วย และ/หรือญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับวิธีการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งเป็นการแจ้งแนวทางการรักษาก่อนที่จะทราบว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดมาเลี้ยงหรือไม่ รวมทั้งการ inform และ/หรือ consent form ก่อนที่จะทราบผลการวินิจฉัย โดยเป็นการแจ้งล่วงหน้าว่าถ้าผลการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองแล้วพบว่าเป็นภาวะสมองขาดเลือด จะต้องให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดผู้ป่วย และ/หรือญาติเห็นด้วยหรือไม่ จะรับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดหรือไม่ ดังนั้นทีมต้องมีการกำหนดแนวทางการทำงานอย่างเป็นขั้นตอนที่ละเอียดว่าต้องทำกิจกรรมใดในช่วงเวลาใด ทำอะไรก่อน หลัง เป็นต้น
การประสานงานกับญาติผู้ป่วย
การอธิบายโรคที่ผู้ป่วยเป็นให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะต้องมีการตัดสินใจของผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วยสายตรงกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว พูดไม่ได้ ดังนั้นการอธิบายให้ญาติผู้ป่วยทราบโดยละเอียด และสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว โดยการคิดอย่างรอบครอบแล้ว ดังนั้น การติดต่อกับญาติผู้ป่วยนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าสามารถติดต่อได้เร็ว และมีการอธิบายล่วงหน้าได้ก็จะทำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีและรวดเร็ว ไม่เสียเวลา
การควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วย
ผู้ป่วยบางรายมีความดันโลหิตสูงกว่า 185/110 มม.ปรอท เมื่อจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด แต่ไม่สามารถให้ได้เลยทันที ต้องเริ่มให้ยาลดความดันโลหิตทางหลอดเลือดดำก่อน ทำให้เพิ่มระยะเวลา DTN มากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงอาจต้องพิจารณาแนวทางการให้ยาลดความดันโลหิตแบบใหม่ คือ การให้ยาลดความดันโลหิตตั้งแต่สงสัยว่าผู้ป่วยเกิด acute stroke และอยู่ในกลุ่มที่สามารถเข้า stroke fast track ได้
ผู้ป่วย acute stroke 100 คน จะเป็นผู้ป่วย acute cerebral infarction ประมาณ 70 – 80 คน และเป็น intracerebral hemorrhage เพียง 20 – 30 คน ผู้ป่วยในส่วน intracerebral hemorrhage นั้นได้ประโยชน์แน่นอนจากการให้ยาลดความดันโลหิต เพราะแนวทางเวชปฏิบัติของศัลยแพทย์ระบบประสาทจะควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงมากกว่า 140-160/90 มม.ปรอท ส่วนในผู้ป่วย acute cerebral infarction 70 – 80 คนนั้นน่าจะมีข้อบ่งชี้ในการให้ยาละลายลิ่มเลือดประมาณ 25-30 คน ดังนั้น ผู้ป่วย 55-60 คนมีความจำเป็นต้องได้รับยาลดความดันโลหิตกรณีที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 185/110 มม.ปรอท ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีข้อบ่งชี้ คือเป็นผู้ป่วย acute cerebral infarction ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ หรือมีข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด ก็ไม่มีภาวะแทรกซ้อนในการให้ยาลดความดันโลหิต ดังนั้น ตามความเห็นส่วนตัว แพทย์สามารถให้ยาลดความดันโลหิตผู้ป่วย acute stroke ที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 185/110 มม.ปรอท โดยอธิบายให้ผู้ป่วยและหรือญาติผู้ป่วยเข้าใจในเหตุผล และยอมรับในการให้ยาลดความดันโลหิตก่อนที่จะทราบผลว่าเป็น acute stroke ชนิดไหน ดังนั้นทุกโรงพยาบาลชุมชนควรมียาลดความดันโลหิตชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เช่น nicardipine เป็นต้น
การลดระยะเวลาในระหว่างแต่ละกิจกรรมที่ต่อเนื่องกัน
การรักษาผู้ป่วย acute stroke โดยเฉพาะผู้ป่วย stroke fast track นั้นจะมีการส่งต่อผู้ป่วยจากผู้ให้บริการทีมหนึ่งไปยังอีกทีมหนึ่ง ซึ่งรอยต่อระหว่างการส่งต่อแต่ละกิจกรรมนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น รอยต่อระหว่างพยาบาลเจาะเลือดใส่ tube และเจ้าหน้าที่นำส่ง หรือเจ้าหน้าที่นำส่งห้อง lab เมื่อมีการลงทะเบียนแล้วทำ lab ทันทีเลยหรือไม่ หรือเมื่อแพทย์มีการสั่งให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้ว พยาบาลสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ภายในเวลากี่นาทีหลังจากแพทย์มีการเขียนคำสั่งการให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือแม้กระทั่งพนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากห้องตรวจไปห้องเอกซเรย์ หรือจากห้องเอกซเรย์ไปยังหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง รอยต่อต่าง ๆ เหล่านี้ใช้เวลาไปไม่น้อย ดังนั้นถ้ากระบวนการต่าง ๆ สามารถลดการสูญเสียเวลาในรอยต่อต่าง ๆ นี้ได้ จะช่วยทำให้ระยะเวลา DTN ลดลงไปได้หลายนาที
การประสานงานระหว่างทีม
การประสานระหว่างทีมส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต้นทางมายังโรงพยาบาลที่ให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด การประสานระหว่างทีมรับผู้ป่วยกับทีมเวชระเบียน กับทีม CT scan ทีมแพทย์ผู้ให้การรักษา แพทย์ผู้อ่านผลการตรวจ CT scan สมอง เป็นต้น ดังนั้นระบบการประสานงานนั้นต้องมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แม่นยำและมีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ดังนั้นทุกทีมต้องกำหนดแนวทางการประสานงานอย่างดี และมีการซักซ้อม ปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะ ๆ เมื่อพบข้อบกพร่อง
การเตรียมทีมสำรองเมื่อมีเหตุการณ์ซ้อนกัน
บางกรณีมีผู้ป่วยฉุกเฉินในห้องฉุกเฉิน ทำให้ทีมผู้ให้การรักษาไม่สามารถมาให้การรักษาผู้ป่วย acute stroke ได้ตามแนวทางที่กำหนดไว้ หรือกรณีมีผู้ป่วย acute stroke มารักษาพร้อมกันมากกว่า 1 ราย กรณีแบบนี้ก็ต้องมีระบบในการบริหารจัดการที่ชัดเจนว่าจะเป็นทีมใดบ้างที่จะสามารถให้การรักษาผู้ป่วย 2 รายได้พร้อมกัน
กรณีเครื่องตรวจ CT scan เสีย
โรงพยาบาลต้องออกแบบระบบสำรองเมื่อเครื่องตรวจ CT scan เสีย หรืออยู่ในช่วงการหยุดพักเครื่อง เป็นต้น ดังนั้นอาจต้องมีโรงพยาบาลที่สองในการส่งตรวจ CT scan สมอง ซึ่งแนวทางการส่งตรวจต้องมีการกำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจน ซึ่งโรงพยาบาลที่มีเครื่อง CT scan มากกว่า 1 เครื่องก็ไม่ใช่เรื่องยากในการมีเครื่องสำรอง แต่โรงพยาบาลที่มีเพียง 1 เครื่องจะต้องออกแบบระบบการสำรองเครื่องตรวจกับโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนแนวทางการส่งต่อที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนกรณีเครื่องตรวจ CT scan เสีย
การตัดสินใจให้การรักษาด้วยการไม่รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การตัดสินใจว่าผู้ป่วย acute stroke นั้นจะมีข้อบ่งชี้ในการให้ยาละลายลิ่มเลือดและไม่มีข้อห้ามนั้น จะทราบเมื่อได้เห็นภาพการตรวจ CT scan สมอง และการสอบถามประวัติถึงข้อห้ามต่างๆ ที่อาจมีในผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนการตรวจเลือดที่ตรวจ blood sugar, complete blood count, PT: INR นั้น โดยเกือบทั้งหมดของผู้ป่วยที่ได้ยาละลายลิ่มเลือด หรือไม่ได้ใช้ยาละลายลิ่มเลือด และไม่ได้เป็นผู้ป่วย SLE with lupus anticoagulant ก็จะมีผลการตรวจเลือดปกติเกือบทั้งหมด ดังนั้นแพทย์กลุ่มหนึ่งที่มีประสบการณ์มากพอ ก็จะตัดสินใจให้การรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดโดยไม่รอผลการตรวจเลือด ซึ่งการตัดสินใจนี้ต้องอธิบายให้ผู้ป่วย และ/หรือญาติผู้ป่วยทราบก่อนว่าแพทย์มีการตัดสินใจแบบนี้ ยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่
การพูดคุยกับทีมที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถให้การบริการได้เร็วที่สุด
ประเด็นนี้เป็นประเด็นสุดท้าย แต่มีความสำคัญ คือ การพูดคุยกับทุกทีมว่าเป้าหมายของทีมใหญ่ คืออะไร ทุกทีมต้องร่วมมือกันในการทำให้ภาระกิจในแต่ละทีมนั้นสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แม่นยำ เพื่อให้ภาพรวมนั้นมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน ร่วมมือกันช่วยแก้ไขให้แต่ละทีมนั้นทำได้ดีที่สุดตามที่ต้องการ ช่วยกันแก้ไขปัญหาที่อาจพบร่วมกัน พูดคุยกันบ่อยๆ และมีการบันทึกเวลาในแต่ละกิจกรรมอย่างเป็นระบบที่ถูกต้อง และทำงานกันด้วยหลักการของความสามัคคี ร่วมมือกันพัฒนา ไม่มีการต่อว่า ให้ร่วมมือกันในการแก้ปัญหา
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการออกแบบระบบบริการ stroke fast track ให้มีระยะเวลา DTN ที่สั้นลงนั้นต้องมองภาพใหญ่ให้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร แต่ละขั้นตอนมีทีมไหนที่เกี่ยวข้อง มีการเชื่อมโยงหรือส่งต่อข้อมูลกันอย่างไร มีขั้นตอนไหนที่สามารถตัดทิ้งได้ หรือทำคู่ขนานกันไปได้ ซึ่งก็เป็นหลักการ lean อย่างที่เราทำในการดูแลคนไข้โรคอื่นๆ
การทำให้ผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีอาการของโรคหลอดเลือดสมองรีบมารักษาเข้าสู่ระบบทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง stroke fast track ให้เร็วนั้นก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งการลดระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทแล้วเข้าสู่ระบบการรักษา หรือ onset to hospital นั้นต้องทำให้ประชาชนมี stroke awareness, stroke alert และ activate stroke fast track ให้เร็ว ซึ่งการสร้าง stroke awareness, stroke alert นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถ activate stroke fast track ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การสร้าง stroke awareness และการ stroke alert นั้นมีหลากหลายกิจกรรมที่ทำได้ เช่น
- การให้ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ เช่น แผ่นพับ โปสเตอร์ infographic บทความ ภาพการ์ตูน ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการสื่อสารผ่าน social media ทั้ง Facebook, line application, twitter, tiktok และอื่นๆ
- การจัดกิจกรรมให้ความรู้ เช่น การประชุมวิชาการสำหรับประชาชน และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
- การคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มผู้ป่วย non-communicable disease (NCD) ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคอ้วน ผู้ที่มีประวัติครอบครัวโรคหลอดเลือดสมอง ผู้สูบบุหรี่ ผู้ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ทราบถึงโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการผิดปกติ (stroke alert และการ activate stroke fast track)
- การกำหนดแนวทางการเข้าถึงโรงพยาบาลเมื่อเกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่สงสัยว่าตนเองจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (acute stroke) ซึ่งการ activate stroke fast track นั้นเน้นการใช้ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยการโทรศัพท์ 1669 หรือการใช้ application : EMS หรือ FAST TRACK หรือการโทรศัพท์ถึงหมายเลขของห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล การเดินทางมาโรงพยาบาลเองก็ทำได้ แต่จะแนะนำเป็นวิธีหลังสุด เนื่องจากการเข้าถึงระบบบริการ stroke fast track นั้นจะสามารถให้การรักษาได้ตั้งแต่เริ่ม activate ระบบ stroke fast track จะลดระยะเวลาการบริการในโรงพยาบาลลงได้
- การจัดระบบการส่งต่อที่ชัดเจน และมีแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยโดยละเอียดว่ามีขั้นตอนอย่างไร เพื่อให้การส่งต่อดำเนินไปด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง
- การเพิ่มโรงพยาบาลที่สามารถให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดได้ โดยทุกๆ 60-80 กิโลเมตร ควรมีโรงพยาบาลดังกล่าว เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางให้สั้นที่สุด เพื่อให้สามารถเข้าถึงระบบการรักษาที่เร็วขึ้น
- การพัฒนาศักยภาพทีมผู้ให้การรักษาทั้งแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ทุกทีมที่เกี่ยวข้องกับการรักษา เช่น การอบรมพยาบาลโรคหลอดเลือดสมอง 5 วัน การอบรมเภสัชกรโรคหลอดเลือดสมอง
- การให้ผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ตรงในการเข้ารับการรักษาด้วยระบบทางด่วนโรคหลอดเลือดสมองเป็นผู้ให้ความรู้ โดยการเล่าประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับตนเองให้คนในชุมชนทราบ หรือจัดทำเป็นคลิปเล่าเรื่องสั้นๆ โดยผู้ป่วย เพื่อให้ประชาชน ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้รับรู้ประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วย ซึ่งจะเกิดความเข้าใจและเกิดความเชื่อมั่นมากกว่าทีมสุขภาพเป็นผู้ให้ข้อมูล
- การร่วมมือกับ service plan NCD และ STEMI ในการสร้าง awareness และการคัดกรองโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจตีบ นอกจากการคัดกรองต้องให้ความรู้เมื่อเกิดอาการผิดปกติต้องทำอย่างไร (stroke alert และการ activate stroke fast track)
- การให้ความรู้ผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่แผนกอายุรกรรมผู้ป่วยนอกทุกคน เนื่องจากทุกคนน่าจะมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ
- การมีระบบการให้คำปรึกษาเมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามทีมสุขภาพได้ทั้งทาง line application, direct message ของ Facebook, หรือการโทรศัพท์สอบถามอาการผิดปกติ
การสร้าง stroke awareness, alert และการ activate stroke fast track นั้นเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ผู้ป่วย acute stroke สามารถเข้าถึงระบบการรักษาทางด่วนโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างรวดเร็ว และการทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ต้องมีการทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพราะผู้ป่วยและประชาชนกลุ่มเสี่ยงอาจไม่สามารถเข้าใจและนำมาปฏิบัติได้ถูกต้องในการให้ความรู้เพียงครั้งเดียว จึงต้องทำหลายครั้งและต่อเนื่อง
สรุป
การสร้าง stroke awareness, alert และการ activate stroke fast track นั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมอง เพราะการยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้จักโรคนี้ และสามารถเข้าถึงระบบบริการได้อย่างรวดเร็วนั้น ตลอดจนการ lean ระบบบริการในโรงพยาบาล เพื่อให้มีระยะเวลา door to needle time สั้นลง จะเป็นการเพิ่มโอกาสผู้ป่วยที่จะหายเป็นปกติ ลดความพิการลงได้ และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้