CIMjournal

อาจารย์ นพ. สิรรุจน์ สกุลณะมรรคา สาขาศัลยกรรม


“ความสุขในชีวิตหาได้ไม่ยาก เมื่อได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และได้ทำเพื่อผู้อื่น” 

พล.ต. นพ. สิรรุจน์ สกุลณะมรรคา
หัวหน้าศูนย์หลอดเลือดสมอง รพ.พระมงกุฎเกล้า
ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการ รพ.พระมงกุฎเกล้า
ประธานราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2560 – 2562
นายกสมาคมศัลยแพทย์หลอดเลือดสมองและไขสันหลังแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2562 – 2564

บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 117 ปี 2564


แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาศัลยกรรม

ชีวิตในวัยเด็กของผมเริ่มต้นที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล สมัยนั้นนอกจากจะชอบแต่งชุดทหารและเล่นปืนพลาสติกแล้ว ยังรักในการอ่านหนังสือการ์ตูนที่เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ พอก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียนเตรียมอุดมฯ เป้าหมายในชีวิตก็ชัดเจนขึ้น เราเริ่มค้นพบตัวเองว่า ถ้าสนใจในการทำงานของร่างกายมนุษย์ก็คงมีอาชีพให้เลือกไม่มาก เมื่อคิดย้อนไปความสนใจในด้านนี้ก็คงเริ่มจากที่บ้าน เพราะคุณพ่อเปิดคลินิก จึงได้เห็นการทำงานของคุณพ่ออยู่เสมอ นี่อาจจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของคุณพ่อที่อยากให้เราเป็นหมอก็ได้ (กลั้นหัวเราะไว้ไม่อยู่) ทำให้เราชินและซึมซับความเป็นหมอโดยไม่รู้ตัว ยิ่งสมัยนั้นโอกาสที่จะรู้จักเข้าถึงอาชีพต่าง ๆ ยังไม่มากเหมือนสมัยนี้ พอถึงช่วงสอบเอนทรานซ์ เพื่อนในห้องก็เลือกตาม ๆ กัน ไม่เลือกหมอ ก็เลือกวิศวะ ในที่สุดก็สอบติดที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์
พระมงกุฎเกล้า ตอนที่สอบติดคนที่ดีใจที่สุดก็คงเป็นคุณตา เพราะคุณตาอยากให้เข้าที่นี่มาก ได้เป็นทั้งทหารและหมอเป็นสองอาชีพที่คุณตาใฝ่ฝัน

พอได้เข้าไปเรียนที่พระมงกุฎฯ ก็ต้องฝึกทหารช่วงปิดเทอมก่อนขึ้นปี 2 และ ปี 3 ตอนนั้นไม่รู้สึกลำบากเลย กลับรู้สึกสนุกที่ได้ออกกำลังกายไปนอนเต็นท์กลางป่าที่จังหวัดกาญจนบุรี และที่สำคัญคือได้ใช้เวลากับเพื่อน ๆ ถึงตอนนี้รู้สึกขอบคุณวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พระมงกุฎเกล้าที่ให้วิชาการทางการแพทย์ และช่วยหล่อหลอมให้บัณฑิตมีระเบียบวินัยในตัวเอง ปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ ให้ความสำคัญกับเพื่อนกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และนอบน้อมต่อผู้อาวุโส

หลังจากเรียนจบก็ได้บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้หมวดเสนารักษ์ที่กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ จังหวัดปราจีนบุรี มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ช่วงนั้นถือเป็นโชคดีของผมที่รัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ถึงจะเป็นหน่วยราบยานเกราะเคลื่อนที่เร็ว แต่เมื่อไม่มีการปะทะตามแนวชายแดนหน้าที่หลักก็เหลือเพียงการฝึกทหาร ทำงานห่างจากโรงพยาบาลได้ไม่นาน ผู้บังคับบัญชากลัวว่า ผมจะลืมวิชาแพทย์ จึงส่งผมไปช่วยงานที่โรงพยาบาลที่รั้วติดกับกองพันฯ นั้นคือ โรงพยาบาลค่ายจักรพงษ์ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงเรียกว่าไปปฏิบัติงานในฐานะแพทย์เพิ่มพูนทักษะ

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนด้านศัลยแพทย์ของผมเพิ่มขี้นเรื่อย ๆ เหมือนฟ้าลิขิตเลยครับ ในเวลานั้นที่โรงพยาบาลก็บรรจุศัลยแพทย์รุ่นพี่ไฟแรง เพิ่งจบใหม่ในสาขาศัลยกรรมทั่วไป ผมสนุกกับการได้เป็นศัลยแพทย์ผู้ช่วย และยังได้เรียนรู้เทคนิคการผ่าตัดเบื้องต้นจากพี่ท่านนี้ ผมใช้เวลาดูแลผู้ป่วยทางศัลยกรรมในห้องฉุกเฉินเหมือนเป็นบ้านหลังที่สองของผม บางครั้งพี่ก็คุมให้ผมทำผ่าตัดเองบ้าง ผมจะรู้สึกหายเหนื่อยเมื่อคนไข้หายเป็นปกติ

พอช่วงวันหยุดได้กลับกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้พักนะครับ คุณพ่อก็คงดำเนินแผนการของคุณพ่อต่อ เป็นหมอแล้วก็อยากให้เป็นประสาทศัลยแพทย์เหมือนคุณพ่อ คุณพ่อจะพาไปตรวจเยี่ยมคนไข้ที่คุณพ่อผ่าตัดไว้ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ท่านเล่าความเป็นมาของคนไข้แต่ละรายได้ละเอียดมาก ส่วนใหญ่อาการหนักมาทั้งนั้น คุณพ่อทำให้ผมคิดว่าการผ่าตัดทางศัลยกรรมประสาทเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เพราะตอนที่มาตรวจเยี่ยมคนไข้กับคุณพ่ออีกที จากที่คนไข้ไม่รู้ตัวก็ตื่นขึ้น หรือจากที่คนไข้เป็นอัมพาตก็กลับมาเดินได้ พอถึงเวลาที่ต้องเลือกผมจึงไม่ลังเลที่ใช้เวลา 3 ปี เพื่อฝึกอบรมต่อในสาขาประสาทศัลยศาสตร์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

หลังจากจบ training กรมแพทย์ทหารบกส่งให้ไปช่วยที่โรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่ดีมากเข้ามานั่นก็คือผมได้รับทุนลี กวน ยู ในตำแหน่ง Clinical Fellow in Neurosurgery ที่ Singapore General Hospital กับ Dr. Prem K. Pillay เป็นเวลา 1 ปี ผมได้รับความกรุณาจากท่านเจ้ากรมแพทย์และผู้อำนวยการ โรงพยาบาลอานันทมหิดล อนุญาตให้ไปทำ Fellow ให้เสร็จก่อน แล้วค่อยกลับมาช่วยที่โรงพยาบาล

ประสบการณ์ที่สิงคโปร์ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้การทำงานในระดับสากลของผม ผมซึมซับความจริงจังและมุ่งมั่นในการทำงาน เรียนรู้วิธีการจัดประชุมวิชาการในระดับนานาชาติและวิธีการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Neurosurgery ถือเป็นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่สำหรับประเทศเราในขณะนั้น เป็นหนึ่งปีที่มีความสำคัญต่ออนาคตการทำงานผมมากครับ

เมื่อกลับมาช่วยที่โรงพยาบาลอานันทมหิดลได้ 1 ปี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ก็เรียกกลับมาเป็น young staff พอทำงานได้ 2 ปี ก็มีโอกาสในการไปต่างประเทศอีก คราวนี้สอบชิงทุน Australian Defence Cooperation Scholarship รับทุนในตำแหน่ง Neurosurgical Fellow ที่ Austin and Repatriation Medical Centre & Royal Children’s Hospital, University of Melbourne นับว่าโชคดีมากที่ได้ไปเรียนกับประสาทศัลยแพทย์ระดับโลก อย่าง Professor Gavin Fabinyi และ Professor Jeffrey Rosenfeld ซึ่งก็เป็นหมอทหารเหมือนกัน ต้องขอบคุณประเทศออสเตรเลียที่ให้ทุนในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเพราะรัฐบาลไทยจำเป็นต้องระงับทุนโดยไม่อนุมัติทุนศึกษาดูงานต่างประเทศทุกชนิด

ผมได้ประสบการณ์การผ่าตัดรักษาโรคลมชัก ผ่าตัดหลอดเลือดสมอง และการผ่าตัดระบบประสาทในเด็กเล็ก เมื่อมองย้อนกลับไปก็คิดไม่ถึงเลยว่าประสบการณ์การฝึกงาน 2 ปีครึ่งที่ประเทศออสเตรเลีย จะทำให้ผมสามารถนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาโรงพยาบาลที่มีพระคุณต่อผมได้ ผมได้ร่วมกับทีมอาจารย์ประสาทอายุรแพทย์และกุมารแพทย์ระบบประสาทที่จบมาจากต่างประเทศในเวลาไล่เลี่ยกัน ก่อตั้ง ศูนย์โรคลมชักครบวงจร และศูนย์หลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด

ความภูมิใจแรกของผมคือ มีโอกาสถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ในฐานะแพทย์ตามขบวนเสด็จของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และมีโอกาสได้ถวายงานในโอกาสต่าง ๆ ตามงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น ดูแลคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ที่พระราชทานมาให้ดูแลผ่าตัด ปัจจุบันได้ถวายงานในฐานะแพทย์ตามขบวนฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเสด็จทรงงานต่างจังหวัดและต่างประเทศ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ความภูมิใจที่สองของผมคือ การได้ช่วยงานที่ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยในการเผยแพร่งานวิชาการ ในรูปแบบของการจัดประชุม การจัดวางรากฐานระบบการเรียนการสอน และการประเมินผลของแพทย์ประจำบ้าน ให้เป็นมาตรฐานในระดับสากล นับเป็นเวลา 28 ปี ที่ได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงของราชวิทยาลัยฯ จากสมาคมประสาทศัลยศาสตร์แห่งประเทศไทย จนมาเป็น วิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย และในที่สุดได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็นราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

ความภูมิใจที่สามของผมคือ ถ้าคนไข้ของผมได้อ่านบทความ ผมอยากจะบอกคนไข้ทุกคนว่า ผมรู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติมากที่ได้ดูแลและผ่าตัดคนไข้ทุกคน การได้รับความไว้วางใจจากคนไข้เป็นความภูมิใจและความสุขของผม


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

สำหรับผมสิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบไปด้วยสองปัจจัยที่ขาดไม่ได้ ปัจจัยแรกคือ ผมทำในสิ่งที่ผมรักครับ ผมโชคดีที่ค้นพบตัวเองเร็ว พอได้ทำในสิ่งที่รักก็จะไม่รู้สึกเหนื่อย แล้วบังเอิญว่าถนัดก็เลยทำได้ดี เมื่อทำในสิ่งที่ตัวเองรักแล้ว ก็นำไปสู่ปัจจัยที่สองคือ ต้องเป็นงานที่สังคมต้องการจึงจะสร้างคุณค่าให้กับคนอื่นได้


กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร?

ถึงวันนี้ผมยังไม่อยากพูดว่าประสบความสำเร็จ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่อยากทำ แต่ถ้าจะให้พูดถึงอุปสรรค จะว่าไปแล้วผมค่อนข้างโชคดีที่ไม่ได้เจออุปสรรคที่ทำให้ท้อจนไม่สามารถจัดการได้ สำหรับผมอุปสรรคส่วนใหญ่มาจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน เช่น สมัยก่อตั้งวิทยาลัยฯ หรือการทำหลักสูตรใหม่ ๆ ก็มีอุปสรรคพอสมควร แต่เมื่อเราทำด้วยความตั้งใจ และปรารถนาดีต่อส่วนรวม ทุกฝ่ายก็เข้าใจและให้ความช่วยเหลือ


ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด?

ผมมีความสุขในการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ที่ได้ทำเต็มที่กับทุก ๆ สถานการณ์แล้ว ถึงจะมีสมหวังหรือผิดหวังบ้าง แต่สิ่งเหล่านั้นได้หล่อหลอมให้เราเป็นตัวเราในวันนี้


ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

ในชีวิตนี้ผมมีสองพระองค์กับหนึ่งท่านเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและการทำงาน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นต้นแบบในเรื่องของการทำงาน จากหลักการทรงงาน 23 ประการ หลักนี้หากเรารับมาด้วยเกล้าฯ และนำมาปรับใช้ จะเป็นผลประโยชน์ต่อตัวเราและผู้อื่นมาก เช่น ทำงานอย่างมีความสุข และต้องยึดประโยชน์ส่วนรวม

สมเด็จพระมหิดลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้แก่แพทย์มากมาย หนึ่งในนั้นคือ “อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่รวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวย ก็ควรไปเป็นอย่างอื่นไม่ใช่แพทย์ อาชีพแพทย์นั้น จำเป็นต้องยึดมั่นในอุดมคติ เมตตากรุณาคุณ” พระราชดำรัสของท่าน ทำให้เรามีสติในการดำเนินชีวิต และเป็นแรงบันดาลใจให้มีความสุขในการทำงานเพื่อคนอื่น

และท่านสุดท้ายคือ คุณพ่อ (พล.ต.นพ. บัวจันทร์ สกุลณะมรรคา) ท่านเป็นต้นแบบในการทำงานอย่างจริงจัง ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา คุณพ่อสอนเสมอว่า “ทำอะไรต้องรู้ให้จริง” และแสดงให้เห็นว่า แพทย์เมื่อทำเป็นอาชีพแล้ว ไม่สามารถเลิกได้ ปัจจุบันท่านอายุใกล้ 90 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีความสุขที่ได้ดูคนไข้ เห็นคุณพ่อขยันทำงานแบบนี้ ผมก็ซึมซับวิธีการทำงานของท่านโดยไม่รู้ตัว


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ผมยึดหลักความกตัญญูกตเวที สำหรับผมกตัญญู คือ การรู้คุณและการระลึกถึงผู้มีพระคุณ เช่น บ้านเมืองของเรามีความเจริญก้าวหน้าในปัจจุบันได้ก็เพราะว่าบรรพบุรุษสร้างขึ้นมา กตเวทีคือ การปฏิบัติตนตอบแทนผู้มีพระคุณ เช่น ไม่ทำลายในสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างและทำงานทดแทนคุณแผ่นดิน ผมเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และนำความเจริญมาสู่ผู้ปฏิบัติ


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

การแพทย์ไทยในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด บุคลากรทางการแพทย์มีความเชี่ยวชาญการให้บริการมีมาตรฐานระดับสากล และมีระบบการประเมินที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เห็นได้จากการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ในอนาคต มาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยจะมีความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย และกระจายความรู้จากส่วนกลางสู่ชุมชน เช่น การใช้ Telemedicine และ Robotic Surgery ผ่านเทคโนโลยี 5G


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

สำหรับแพทย์รุ่นใหม่ การที่จะได้รับความไว้วางใจจากผู้ป่วยและญาติ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ รักษาเก่ง และมีความสัมพันธ์ที่ดี จะรักษาเก่งได้ต้องรู้จริงในสิ่งที่ตัวเองทำ ส่วนความสัมพันธ์ที่ดีต้องให้เวลา ให้เกียรติ และเอาใจคนไข้มาใส่ใจเรา สองส่วนนี้เป็นเสมือนเกราะป้องกันการฟ้องร้องที่อาจจะเกิดขึ้น

สำหรับประสาทศัลยแพทย์รุ่นใหม่ ต้องนึกเสมอว่างานด้านนี้เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนและความมุ่งมั่นมาก ต้องเสียสละความเป็นส่วนตัวหลายครั้งต้องอยู่ในห้องผ่าตัดเป็นเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมง แต่ทั้งหมดนี้จะคุ้มค่า เมื่อได้ใช้ความรู้ความสามารถในการรักษาผู้ป่วยให้รอดพ้นจากความพิการหรือการเสียชีวิต สุดท้ายนี้ ขอให้แพทย์รุ่นใหม่ได้เลือกทางในสิ่งที่ตัวเองรัก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก