CIMjournal

อาจารย์ พญ. ธนัญญา บุณยศิรินันท์ สาขาโรคหัวใจ


เมื่อมีปัญหา จะมองว่าปัญหามีไว้ให้แก้ เป็นโอกาสที่มาท้าทายเราเป็นแรงผลักดันให้เราได้พัฒนาตัวเอง” 

ศ. พญ. ธนัญญา บุณยศิรินันท์
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
หัวหน้าศูนย์ภาพวินิจฉัยโรคหัวใจ และหลอดเลือด ศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
เหรัญญิก สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 107 ปี 2562

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคหัวใจ

เรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเรียนชั้นมัธยม ศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีความสนใจเป็นแพทย์มาตั้งแต่เด็ก เหตุผลหลักคือ รู้สึกว่าอาชีพแพทย์ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย ถ้ารักษาหายหรือดีขึ้น ก็ทeให้ทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติมีความสุข จึงเลือกศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลซึ่งเป็นสถาบันที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง

การเรียนที่ศิริราช มีความประทับใจในอาจารย์ผู้สอน โดยนอกจากจะได้ความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังมีการแทรกประสบการณ์ในด้านการดูแลผู้ป่วย การคุยกับญาติ ทำงานร่วมกับบุคลากรหลากหลายหน้าที่ รวมถึงการใช้ชีวิตด้วย ซึ่งหลายอย่างไม่สามารถอ่านจากตำราได้เลย ประกอบกับที่ศิริราชมีผู้ป่วยเยอะมาก ทำให้ได้เรียนรู้จริงกับผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา บางทีจะมีคนบ่นว่าที่ศิริราชงานหนัก แต่ตัวเองคิดว่างานหนักแสดงว่าเรามีโอกาสได้เรียนรู้มากขึ้น ซึ่งมีประโยชน์ในการสอบและการดูแลผู้ป่วยจนถึงปัจจุบัน

หลังจากจบไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลดอนตูม โรงพยาบาลกำแพงแสน และโรงพยาบาลศูนย์นครปฐม โดยที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐมได้ทำงานอยู่ แผนกอายุรกรรม ได้ดูแลผู้ป่วยผู้ใหญ่จนถึงผู้สูงอายุครอบคลุมหลาย ๆ โรค ที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม เป็นที่ที่ตอกย้ำให้เรารู้ว่าเราชอบเป็นแพทย์โรคหัวใจจริง ๆ รุ่นพี่ที่โน่นดีมาก แม้พี่จะงานหนักแต่ก็สอนน้อง ๆ อย่างดีมากจบจากใช้ทุนก็มาเรียนต่อทางด้านอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอีก 3 ปี แล้วต่อเฉพาะทางด้านโรคหัวใจ อีก 2 ปี สำหรับสาเหตุที่ชอบทางด้านโรคหัวใจ เพราะเป็นโรคที่ยากท้าทาย มีอะไรเร่งด่วนในการรักษา ต้องตัดสินใจและให้การรักษาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทำให้เราสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยจากโรคที่อันตรายเหล่านี้ได้ ตอนอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม ได้มีโอกาสตรวจร่างกาย ได้ฟังเสียงหัวใจผิดปกติ และอ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รู้สึกว่าเป็นโรคที่ท้าทาย การรักษาอย่างรวดเร็วจะมีผลดีกับผู้ป่วยอย่างมาก แล้วมีหัตถการให้ทำด้วย หลังจากนั้นก็ได้เป็นอาจารย์แพทย์ที่ศิริราช รับทุนไปเรียนต่อทางด้าน MRI กับ CT ที่ Cleveland Clinic รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา อยู่กับ Professor Scott D Flamm 2 ปี ซึ่งเป็นสถานที่ติดอันดับ 1 ทางโรคหัวใจ ของสหรัฐอเมริกา ต่อเนื่องกันเป็นสิบ ๆ ปี แล้วไปต่อทางด้าน MRI ในผู้ป่วยเด็กที่ Boston Children’s Hospital ของ Harvard University อีก 3 เดือน หลังจากนั้นก็กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่ศิริราชจนถึงปัจจุบัน


เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต

เป้าหมายของอาจารย์แพทย์จะมีทั้ง 3 พันธกิจควบคู่กัน ได้แก่ ด้านการเรียนการสอน งานบริการ และการวิจัย

เป้าหมายด้านการเรียนการสอน อยากจะเป็นอาจารย์แพทย์ที่ดี สามารถถ่ายทอดความรู้ในทุก ๆ ด้านให้ลูกศิษย์ เพื่อจบไปเป็นแพทย์ที่ดีต่อไป รวมถึงเป็นตัวอย่าง (role model) ให้กับลูกศิษย์ เหมือนกับที่อาจารย์เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเรา เราจะคิดเสมอว่า การสอนคนอื่นเป็นการเพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเองได้ดีที่สุด คนที่ได้อะไรมากที่สุดจากการสอนก็คือ คนสอนเอง เรื่องหนึ่งที่ภาคภูมิใจ คือ มีลูกศิษย์เดินมาบอกเราว่า สาเหตุที่เขากลับมาเรียนต่อทางโรคหัวใจเป็นเพราะ เขาประทับใจตอนช่วงเวลาที่ได้เรียนกับอาจารย์ ทำให้รู้สึกมีกำลังใจในการพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น

เป้าหมายทางด้านงานบริการ ข้อนี้คงเป็นการนำคำสอนของพระราชบิดามาปฏิบัติ นั่นคือ ความสำเร็จที่แท้จริง มิใช่อยู่ที่การเรียนรู้เท่านั้น แต่อยู่ที่การประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ “True success is not in the learning but in its application to the benefit of mankind” นอกจากจะเป็นแพทย์ที่เก่งแล้ว ยังต้องเป็นแพทย์ที่ดีด้วย ตรงนี้เราก็จะพยายามนำความรู้ที่มี มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยให้ได้จริง ๆ ซึ่งเราก็จะพยายามไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้มากที่สุด แม้ว่าปัจจุบันทางการแพทย์จะมีวิวัฒนาการมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังอยากที่จะค้นพบอะไรใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์และสร้างชื่อเสียงให้กับศิริราชและประเทศไทย

เป้าหมายด้านการวิจัย ตัวเองมองว่า งานวิจัยไม่ใช่งาน extra แต่เป็นงานที่เราสามารถทำควบคู่ไปกับงานบริการ มีบ้างเหมือนกัน ที่เราทำงานบริการแล้วรู้สึกเหนื่อย ทำไมถึงมีงานมากมาย แต่พอเราเอาสิ่งที่ทำอยู่ทุกวัน มาจับประเด็นขึ้นมาทำเป็นงานวิจัย เราจะรู้สึกเหนื่อยน้อยลง ยิ่งงานบริการยิ่งมาก เรายิ่งสามารถนำข้อมูลมาทำงานวิจัยได้มากขึ้น ผลที่ออกมาก็จะช่วยต่อยอดเรื่องของงานบริการโดยนำมาวางแผนการรักษาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น เป้าหมายด้านการวิจัยก็ยังอยากที่จะผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ออกมาอย่างต่อเนื่อง อยากผลิตงานวิจัยที่มีผลชี้นำสังคม

นอกจากงานใน 3 พันธกิจหลักแล้ว ปัจจุบันยังได้รับโอกาสให้เป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ ช่วยทางด้านวิชาการ ที่ดูแลด้านการพัฒนาอาจารย์ ทั้งในเรื่องการขอตำแหน่งทางวิชาการ และการขอทุนไปศึกษาฝึกอบรมต่อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนศักยภาพของอาจารย์เหมือนที่ตัวเองเคยได้รับโอกาสนี้มาก่อน


ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จเกิดจากอะไร

เป้าหมายที่จะสำเร็จต้องประกอบด้วยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก การเป็นคนที่ตั้งใจและพยายามมาก จะถือคติที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ทำให้หลาย ๆ เรื่องที่ตอนแรกเราอาจจะทำไม่สำเร็จ แต่หลังจากใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ก็สามารถสำเร็จได้ ความพยายามต้องควบคู่ไปกับความขยันและความอดทนต่อสิ่งที่เราทำ เวลาเจออุปสรรคก็จะไม่ท้อ

ต่อมา เป็นเรื่องของการยอมรับฟังความเห็นของคนอื่นไม่ว่าเป็นคนที่อาวุโสกว่าหรือน้อยกว่าเรา เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้รับความคิดดี ๆ ใหม่ ๆ เข้ามา ทตัวเหมือนน้ำที่ไม่เต็มแก้ว เช่น ตอนที่ไปเรียน กับ Professor Flamm ขนาดเขาเป็น World Authority และเป็นเพรสซิเด้นท์ของสมาคมระดับโลก แต่เขาพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของเรา ช่วงที่เราไปปรึกษาเรื่องงานวิจัย เราพูดถึงสิ่งตรวจพบ อันหนึ่งจากการตรวจ MRI ซึ่งเดิมเขาไม่เคยสนใจตรงนี้มาก่อน เขาชมว่า ดีนะ เก่งมากเลย เขาทำงานมา 20 ปี ไม่เคยเห็นประเด็นนี้เลย และสนับสนุนให้เราทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ สุดท้ายก็ได้รับรางวัลวิจัยระดับโลก จากการศึกษานี้ด้วย การพูดของเขาเป็นการให้กำลังใจ ทำให้รู้สึกว่าการยอมรับฟังผู้อื่น ทำให้คนรุ่นใหม่ ๆ มีกำลังใจที่จะทำอะไรใหม่ ๆ และกล้าเสนอความเห็น เพราะไม่อย่างนั้น ถ้าเสนอไปแล้วผู้ใหญ่ไม่รับฟัง หรืออาจจะตำหนิกลับมา เขาก็จะไม่กล้าแสดงความเห็นอีก

ปัจจัยภายนอก ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ตัวเองโชคดีมากที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการเรียนและการทำงานจากคุณพ่อคุณแม่ นอกจากนั้นยังโชคดีที่ได้พบอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านที่เปิดโอกาสและสนับสนุนให้เราเจริญเติบโตต่อไป อย่างท่านคณบดี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา และ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ศ.พญ.มณี รัตนไชยานนท์ เป็นคนที่ให้โอกาสดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ เป็นการนำไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่เรายังไม่เคยทำมาก่อน ตอนแรกยังกังวลว่าจะสามารถทำได้ดีไหม เพราะเป็นงานที่เราไม่เคยและไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่ท่านรองคณบดี รวมถึงเจ้าหน้าที่งานวิชาการทุกท่านช่วยให้คำแนะนำและช่วยเหลือให้งานผ่านไปด้วยดี

อีกท่านหนึ่งที่ให้โอกาสเป็นอย่างมาก คือ ท่านนายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ ผศ.นพ.ครรชิติ ขิตธนสมบัติ ได้ให้โอกาสเข้ามาทำงานในสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ การที่เข้าไปร่วมตรงนี้ทำให้มีส่วนร่วมในการจัดประชุมวิชาการของสมาคม สำหรับทั้งแพทย์โรคหัวใจ แพทย์ทั่วไป รวมถึงประชาชน ซึ่งแต่ก่อนเราเป็นแค่วิทยากรที่ไปบรรยายเท่านั้น แต่ตอนนี้เรามีส่วนร่วมในการช่วยดูตรงนี้ และมีส่วนในการเลือกหัวข้อที่คิดว่าจำเป็น ทันสมัย และมีประโยชน์ในการนำไปใช้งานได้จริง

นอกจากนี้ตัวเองยังโชคดีที่ได้ทำงานกับทีมงานที่ดี ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นทีมงานของสาขาวิชาและศูนย์โรคหัวใจ ของหน่วยตรวจ MRI และ CT และของงานวิชาการ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำงานเป็น team work ให้ประสบความสำเร็จ


มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร

การบรรลุสู่เป้าหมายไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราคนเดียว ถ้าสาเหตุเกิดจากเรา เราคงต้องมามองว่าเป็นเพราะอะไรแล้วปรับแนวทางการทำงานของเราให้เหมาะกับงาน เช่น เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ขยันมากขึ้น อดทน ฟังคำแนะนำจากคนอื่น ๆ ด้วย แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นก็จะใช้หลักการ “พึงเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือ อตฺตานํ อุปฺมํ กเร” ซึ่งเป็นคติพจน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล เราต้องยอมรับว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน กลับมาวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้การทำงานสะดุดหรือไม่ต่อเนื่องว่าเกิดจากอะไร ต้องมาดูว่าเขาคิดอย่างไร และเราจะปรับอะไรที่มาช่วยกันเพื่อให้งานสำเร็จ เช่น ก่อนหน้านี้หลายคนจะรู้สึกว่าการขอตำแหน่งวิชาการเป็นอะไรที่วุ่นวาย ยุ่งยาก ทางทีมก็มีแผนที่จะมาพัฒนาว่าทำอย่างไรที่จะให้อาจารย์เข้าใจ และเตรียมการไว้แต่เนิ่น ๆ และมีอะไรที่เราไปช่วยได้บ้าง ได้มีการคุยกลุ่มย่อยในทีมเจ้าหน้าที่วิชาการที่ดูเกี่ยวกับเรื่องของตำแหน่งวิชาการ เวลาคุยกันจะเห็นว่ามีไอเดียดี ๆ หลายอย่างที่เขามีอยู่ เราอาจจะต้องช่วยสนับสนุน เพราะต้องยอมรับว่า เจ้าหน้าที่เป็นผู้ลงมือปฏิบัติโดยตรง ย่อมมีโอกาสเห็นปัญหา พอได้มีโอกาส พูดคุยและรับฟังก็จะยิ่งพัฒนางานให้ดีขึ้น


ในอดีตที่ผ่านมาเวลาประสบปัญหา เหนื่อยหรือท้อ ปรึกษากับใคร

ต้องยอมรับว่าการทำงานก็ต้องมีโอกาสเจอปัญหา อาจจะมีเหนื่อยบ้าง แต่ไม่เคยท้อ ตัวเองจะมองว่าปัญหามีไว้ให้แก้ เป็นโอกาสที่มาท้าทายเรา เป็นแรงผลักดันให้เราได้พัฒนาตัวเอง

ถ้าเป็นเรื่องงาน จะลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน โดยการกลับมานั่งคิด วิเคราะห์ว่าปัญหาตรงนี้เกิดจากอะไร พอได้อยู่นิ่ง ๆ มีเวลาคิดใคร่ครวญก็จะทำให้เรามองเห็นปัญหาได้ดีขึ้น ว่าเกิดจากประเด็นไหนบ้าง แล้วแต่ละประเด็นมีองค์ประกอบย่อยอะไรบ้างให้ครบ และอันไหนที่เป็นปัญหาที่เราแก้ไปแล้ว หรือมีอะไรที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งจะค่อย ๆ มาตามเก็บในแต่ละอันไป คล้ายกับการมาเขียน mind map หรือ chart ก้างปลา ทำให้มองได้ครบถ้วน บางปัญหาเราอาจจะเคยมองข้ามไป

แนวความคิดหนึ่ง คือ ถ้าบอกว่างานนั้นโอกาสสำเร็จยาก ก็แปลว่า มันยังมีโอกาสทำสำเร็จ แต่อาจจะต้องออกแรงมากหน่อย

ถ้าจะต้องปรึกษากับใครก็ขึ้นอยู่กับว่าปัญหานั้น เป็นปัญหาเรื่องอะไร ใครน่าจะเป็นคนที่ให้คำแนะนำเรื่องนี้ได้ดีที่สุด บางทีก็อาจจะต้องปรึกษาหลาย ๆ คน ต้องยอมรับว่าแต่ละคนมีความถนัดหรือมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งมีข้อดี คือ ทำให้เราได้ไอเดียเพื่อนำมาปรับใช้ ณ สถานการณ์นั้น ๆ และนำมารวมกันเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด

ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว จะปรึกษาคุณพ่อคุณแม่เพราะท่านดูแลเรามาตั้งแต่เด็ก ก็จะเข้าใจนิสัยของเราดีที่สุด ท่านจะมีวิธีการที่คุยแล้วทำให้เราสบายใจและแนะนำการแก้ปัญหาที่เหมาะกับเรา พ่อแม่พร้อมที่จะเป็นกำลังใจและเป็นที่ปรึกษาของเรา ที่สำคัญคือ พ่อแม่ เป็นบุคคลที่มีความหวังดีต่อเราเสมอ


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิต หรือการทำงาน

แน่นอนที่สุด บุคคลคนแรกเลย คือ คุณพ่อและคุณแม่ คุณพ่อเป็นต้นแบบในเรื่องความพยายามอย่างมาก ตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาไปไหนด้วยกันแล้วทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือเรื่องใหญ่ พ่อก็จะบอกต้องพยายามไปเรื่อย ๆ แล้วจะสำเร็จเอง เราก็จะติดนิสัยนี้มา มีความพยายามในรายละเอียดทุกขั้นตอน ทำให้โอกาสทำสิ่งต่าง ๆ สำเร็จมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายหรือเรื่องยาก คุณแม่เป็นต้นแบบในเรื่องความขยันและอดทน ท่านทั้งทำงาน ทำงานบ้าน และดูแลเราด้วย ท่านทำได้ดีในทุก ๆ ด้าน

ท่านทั้งสองเป็นแบบอย่างที่สำคัญในการดำเนินชีวิต ท่านเป็นนักธุรกิจ แต่มีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนเราให้เป็นแพทย์ ท่านรักและดูแลเราเป็นอย่างดี เอาใจใส่มาก ตั้งแต่ตอนเรียนสมัยประถม มัธยม จนกระทั่งเรียนมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งทำงานแล้ว จะเข้าใจ ให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่

คนที่สอง ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ท่านเป็นต้นแบบของการเป็นผู้บริหาร คนที่เป็นคณบดีศิริราชได้ต้องเป็นคนที่เสียสละเป็นอย่างมาก เพราะงานที่ทำเป็นงานที่หนัก และเป็นงานบริหารที่เกี่ยวข้องกับบุคคลต้องใช้วาทศิลป์ ใช้ศิลปะในการบริหารจัดการตรงนี้ ซึ่งท่านก็สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ดี ทุ่มเททำงานให้ศิริราช

คนที่สาม ศ.คลินิก นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน เป็นต้นแบบในเรื่องของความเป็นแพทย์ที่เก่งในหลายด้าน ทั้งงานบริการ งานการเรียนการสอน และงานบริหาร อาจารย์เป็นผู้บริหารที่ดี มีเทคนิคและวาทศิลป์ในการบริหารจัดการต่าง ๆ ให้ทุกคนร่วมมือสามัคคีกันในหน่วย ทำให้พันธกิจต่าง ๆ บรรลุตามเป้าหมาย อาจารย์มีความละเอียดรอบคอบมาก ได้ข้อคิดในการทำงานหลายอย่างจากการที่ได้ทำงานกับอาจารย์


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ยึดหลัก “พึงเอาใจเขามาใส่ใจเรา” หลักนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งการทำงานและครอบครัว การที่จะทำให้มีความสุขได้ ทุกคนคงต้องคิดถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วยว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นแตกต่างกัน มีความรู้สึก ความไวแตกต่างกัน ถ้าคิดถึงความรู้สึกของเขา ปรับตัวเข้าหากันแล้ว ความแตกต่างนี้จะลดลง การทำงานและชีวิตก็จะมีความสุข

อีกคติที่ใช้ปฏิบัติ คือ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” เป็นคำพูดที่ คุณพ่อสอนมาตลอด เราต้องพยายามจนถึงที่สุด อย่าท้อ การที่เราพยายามมากกว่า ย่อมทำให้โอกาสสำเร็จเพิ่มขึ้น พยายามก้าวไปข้างหน้า อย่าหยุดกับที่ เพราะถ้าหยุดก็เท่ากับเราถอยหลัง เมื่อไรก็ตามที่เราบอกว่างานนั้นโอกาสสำเร็จยาก ก็แปลว่ามันยังมีโอกาสทำสำเร็จ แต่อาจจะต้องออกแรงมากหน่อย แต่เมื่อสำเร็จแล้ว เราก็จะภูมิใจกับมันมาก


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

การแพทย์เมืองไทยมีวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เราต้องติดตาม update อย่างต่อเนื่อง คิดว่าในอนาคต Precision medicine น่าจะมีบทบาทมากขึ้น มีข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าการตอบสนองต่อการรักษาของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน สามารถบอกได้ว่าคนกลุ่มไหนจะตอบสนองต่อยาตัวไหนได้ดี ทำให้เราสามารถเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยเรา ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ลดการเกิดผลแทรกซ้อนต่อการรักษาและลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาที่ไม่จำเป็น

การมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้นแม่นยำขึ้น เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย แต่เราต้องไม่ลืมศิลปะขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ติดตัวกับเราอยู่ตลอดเวลา เช่น การซักประวัติผู้ป่วย การตรวจร่างกาย แพทย์หลายคนก็จะเริ่มห่างไปจากพื้นฐานนี้ แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในทุกที่ให้เราใช้ได้ การใช้มากเกินไปอย่างไม่ถูกต้องอาจเกิดผลเสียได้ การฝึกศิลปะอันนี้ จะทำให้เราดูแลคนไข้ได้เป็นองค์รวมมากขึ้น


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

อยากให้เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะถ้าเมื่อไรก็ตามที่ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ทุกอย่างก็ตามมาไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจ ความพยายาม ความสุขในการทำ ถึงแม้จะเจออุปสรรค ก็จะไม่ท้อแท้เพราะมันเป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เรื่องถัดไป ต้องเรียนรู้จากคนอื่นทั้งด้านบวกและด้านลบ เพื่อนำมาปรับใช้กับเรา ก็จะเป็นทางลัดที่ทำให้เราประสบความสำเร็จเร็วขึ้น เหนื่อยน้อยลง ผิดพลาดน้อยลง เพราะไม่ต้องเริ่มจากศูนย์

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก