“คำสอนพระราชบิดา… ให้นึกถึงประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ความเจริญก็จะตกอยู่กับตัวเราเอง”
ผศ. พญ. อรุณ วงษ์จิราษฎร์
กรรมการสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 101 ปี 2561
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขากุมารแพทย์โรคไต
จบมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อยากเป็นครูตั้งแต่วัยเด็ก เพราะชอบสอนและชอบช่วยเหลือเพื่อน จeได้ว่าเป็นวิชาเลข เพราะตัวเองเก่งเลข ภูมิใจว่าสอนแล้วเพื่อนเข้าใจดี ช่วงมัธยมมีเพื่อนสนิทที่คุณพ่อเขาเป็นอาจารย์แพทย์ที่ศิริราช ทeให้ซึมซับความคิดที่อยากเรียนแพทย์แบบท่านบ้าง เวลาสอบจึงเลือกสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ และมาได้ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เวลาเรียนมีหลายเรื่องที่ประทับใจเริ่มตั้งแต่ตอนรับน้องข้ามฟากเลย ขณะนั้นยังไม่มีสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เราต้องนั่งเรือจากท่าพระจันทร์มาขึ้นท่าศิริราช มีคณบดี คณาจารย์ และพี่ ๆ คอยรับน้องขึ้นจากเรือมาถวายบังคมพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เรียกสั้น ๆ ว่า พระราชบิดา เป็นความรู้สึกที่ดีครูบาอาจารย์ก็เป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น เป็นที่รู้จักของทั้งในประเทศและนอกประเทศ เรื่องนี้เป็นกำลังใจสำหรับการเรียนเป็นอย่างดี ขณะที่เรียนเราก็ทุ่มเทอย่างเต็มที่ตามกำลังของเรา โดยได้รับการสนับสนุนจากรุ่นพี่และอาจารย์ทุกท่าน
เมื่อเรียนจบแพทยศาสตร์ ได้ทำงานที่ โรงพยาบาลศิริราชมาตลอด ตั้งแต่เริ่มเป็นแพทย์ฝึกหัด แพทย์ประจำบ้าน ต่อมาก็มาอยู่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เพราะชอบเล่นกับเด็ก รักเด็ก พออยู่แล้วก็มีหลายสาขาที่จะต้องเลือก แต่สมัยก่อนเลือกแทบไม่ได้ สาขาไหนที่ขาดแคลนแพทย์ก็ต้องทำงานสาขานั้น พอดี ศ. พญ. ม.ร.ว.จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์ ต้องไปเตรียมหลักสูตรกุมารเวชศาสตร์ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ ท่านจึงแนะนำให้มาอยู่สาขาวิชาโรคไต ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2510 จากนั้นไปศึกษาต่อที่ University of Hamburg, Germany ทำวิจัยทางด้านไตเด็ก ศึกษาทางด้าน Antigen-antibody หลังจากนั้นก็กลับมาที่ศิริราชจนเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ.2545 ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด
สิ่งที่ภูมิใจเรื่องแรก คือ ได้เป็นแพทย์ที่ศิริราช เป็นที่ทราบกันดีว่าศิริราชเป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดตั้งแต่ พ.ศ. 2431 รุ่นพี่ทุกคนพูดถึงพระราชบิดา เป็นเจ้านายก็ยังมาดูผู้ป่วย พระองค์ท่านส่งนักเรียนแพทย์ไปศึกษาต่อต่างประเทศ คือ อาจารย์สวัสดิ์ แดงสว่าง โดยมีพระลิขิตเตือนสติและทรง
สั่งสอนให้ตั้งใจศึกษา เน้นให้นึกถึงเพื่อนมนุษย์คนอื่นก่อน ให้นึกถึงประโยชน์ของเราเป็นที่สอง ถ้าเป็นแบบนี้คุณงามความดี ความเจริญก็จะตกอยู่แก่เรา ประทับใจกับพระราชวงศ์ทุกพระองค์ ยิ่งพระจริยวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ยิ่งทำให้รู้สึกซาบซึ้ง อย่างสมเด็จพระบรมราชชนก และบูรพคณาจารย์ศิริราชที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและนานาชาติหลายท่านเป็นต้นแบบที่ดีให้ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เหมือนญาติ ไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะรวยหรือจน เราได้เห็นวัฒนธรรมของศิริราช อย่างคนที่เป็นต้นแบบของการเคารพครูบาอาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ คือ ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร ท่านเป็นคนที่อ่อนน้อมมาก เห็นกันไกล ๆ ท่านมักโค้งให้เราก่อน ดังนั้นเราต้องรีบโค้งแสดงความเคารพท่านอาจารย์ก่อน
เรื่องที่สอง คือ การได้ดูแลผู้ป่วย ซึ่งถ้าผู้ป่วยนั้นอาการหนัก แล้วผู้ป่วยฟื้นขึ้นมาเป็นความภูมิใจอย่างมาก เพราะฉะนั้นการกระทำนี้ ทำให้ผู้ป่วยและญาติ เกิดความผูกพัน บางคนคิดว่าเราเป็นเหมือนญาติ เหมือนเป็นแฟมิลี่ดอกเตอร์ของเขา เวลาญาติป่วยเป็นโน่นเป็นนี่ ก็ถามว่าจะปรึกษาแพทย์คนไหนดี
เรื่องที่สาม คือ การได้ร่วมจัดงาน 100 ปี ศิริราช ได้เป็นเหรัญญิกของการจัดการประชุมวิชาการ การเป็นประธานคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท เราเพื่อเชิดชู ศ. นพ. อุดม โปษะกฤษณะ ซึ่งอาจารย์เป็นศัลยแพทย์ทางด้านระบบประสาทและสมองของศิริราช และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กว่าจะเลือกแพทย์ได้คนหนึ่งก็ลำบาก ต้องลงไปดูว่ามีผลงานอย่างไร ในแต่ละคนที่เขาเสนอชื่อมา ไปดูการทำงานของน้อง ๆ ตามต่างจังหวัดหรือโรงพยาบาลชุมชน อย่างน้องที่เป็นวิสัญญีแพทย์ที่ยะลา เมื่อ 30 ปี ก่อน บ้านอยู่สมุทรสงครามไม่ได้กลับบ้านเลย ต้องอยู่โรงพยาบาลตลอด น้อง ๆ ทำงานกันทุ่มเทกันมาก ผู้ที่ได้รับรางวัลไม่จำเป็นต้องจบจากศิริราช เราเห็นผลงานของเขาแล้ว ชื่นชมว่าทางอีสานมีปัญหาการเจ็บป่วยมาก จึงมีผลงานดูแลรักษามาก แพทย์ดีเด่นทางชนบทจึงมักเป็นน้อง ๆ ที่อยู่ทางภาคอีกสาน
เรื่องที่สี่ รับตำแหน่งเป็นเหรัญญิกของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยช่วยดูแลรักษาการเงินให้สมาคมฯ และก็ภูมิใจว่า สมาคมฯมีรายได้เพิ่มขึ้นจัดหาทุนวิจัยสามารถส่งแพทย์ไปเรียนต่างประเทศได้มากขึ้น และสามารถจัดการประชุมนานาชาติได้บ่อยขึ้น
เรื่องอื่น ๆ ได้แก่ การสอนโยคะขั้นพื้นฐาน ด้านสุขภาพเน้นเรื่องการบริหารร่างกายให้บุคลากรในศิริราช มีสุขภาพดี ภูมิใจว่ามีลูกศิษย์พอควรสังเกตจากการรดน้ำขอพรวันสงกรานต์ น้อง ๆ จะบอกว่าเป็นลูกศิษย์โยคะของอาจารย์ ก็ดีใจที่น้อง ๆ นำความรู้จากเราไปใช้
เรื่องที่น่าภูมิใจอีกด้านคือ การจัดสนทนาธรรมให้ อ.พญ. อมรา มลิลา เป็นวิทยากร 3 วัน ปีละ 2 ครั้ง มาสิบกว่าปี ท่านเป็นอดีตอาจารย์กุมารแพทย์ ท่านสอนให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจธรรมะอย่างง่าย ๆ นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
การที่จะประสบความสำเร็จเกิดจาก การใช้หลักพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา ถ้านึกถึงผู้ป่วยเหมือนญาติเรา ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยความใกล้ชิด ให้ความเป็นกันเองกับผู้ป่วย การรักษาก็จะง่าย ประสพความสำเร็จได้ดี
ปัจจัยต่อมา การเป็นคนใฝ่รู้ ชอบขวนขวายหาความรู้ ขยันทำงานวิจัย ถ้าเรามีงานวิจัยเยอะ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยได้ การทำสถิติการทำวิจัย รู้ผลงานต่าง ๆ
ปัจจัยสุดท้าย คือ ผู้ร่วมงาน ถ้าผู้ร่วมงานทำงานประสานกันเป็นหมู่คณะ จะประสบความสำเร็จได้ดี ทำให้งานเป็นไปด้วยดี ผู้ร่วมงานนี้ขอขยายความหมายไปจนถึงผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยด้วย โดยถ้าผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเข้าใจเรา ให้ความร่วมมือการรักษาก็จะดีขึ้นมาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ 30 ปีก่อน จะมีการให้เยี่ยมผู้ป่วยเป็นเวลาเท่านั้น มีเด็ก SLE มีอาการหนักมาก ต้องให้ยาหลายชนิด ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์กดภูมิต้านทาน ทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นฝีในสมอง เราเห็นแล้วน่าสงสาร จึงพูดกับหัวหน้าพยาบาลผู้ใหญ่ ว่าขอให้มารดามาช่วยเฝ้า เพราะเด็กไม่รู้สึกตัว การมีมารดามาช่วยดูแล ทำให้การรักษาพยาบาลได้ผลดีขึ้น ท้ายที่สุดเด็กก็รู้ตัว สามารถจำเสียงอาจารย์ที่ดูแลรักษาได้ทั้ง ๆ ที่ยังมองไม่เห็น ต้องใช้ระยะเวลาเป็นเดือนจึงหายเป็นปกติ แต่เราก็ชื่นใจ จากที่เขาไม่รู้สึกตัวเลย ดังนั้นตัวเองจะเน้นกับลูกศิษย์เลยว่า การดูแลผู้ป่วยหนัก ควรให้ญาติที่ใกล้ชิดช่วยดูแลด้วยจะทำให้ได้ผลในการรักษาดีขึ้น
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร
อุปสรรคในเรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วยนี้เป็นเรื่องสำคัญ การไม่เข้าใจกันระหว่างแพทย์ พยาบาล กับผู้ป่วยและญาติจะทำให้การรักษาไม่ดีเท่าที่ควร บางครั้งเมื่อผู้ป่วยและญาติมีอารมณ์โกรธ ผู้ดูแลต้องควบคุมอารมณ์ให้ใจเย็น ค่อย ๆ อธิบาย ต้องชมพยาบาลที่มีความอดทนรับอารมณ์ของญาติและผู้ป่วยได้ดี
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
ไม่มีเรื่องที่จะย้อนกลับไปแก้ไข เพราะเรื่องในอดีตก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของอดีต ตอนนี้เรา
พอใจในสิ่งที่เราเป็นอยู่
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ท่านแรก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือพระราชบิดา พระองค์ท่านเป็นเจ้านายก็ยังมาดูผู้ป่วย สมถะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับแพทย์ได้ยึดถือ และปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน ที่ให้นึกถึงเพื่อนมนุษย์คนอื่นก่อน ให้นึกถึงประโยชน์ของเราเป็นที่สอง แล้วคุณงามความดี ความเจริญก็จะตกอยู่แก่เรา
ท่านที่สอง คุณพ่อกับคุณแม่ เป็นต้นแบบในเรื่องความกตัญญู เป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่บ้านสมัยก่อนเวลามีงานบุญ เสร็จงานจะแบ่งอาหารให้เพื่อนบ้านตลอด
ท่านที่สาม ครูบาอาจารย์ทั้งหลายในศิริราช เป็นต้นแบบของการเป็นครูที่ดี การซักประวัติ ตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการตามความจำเป็น และรวมถึงเรื่องการดูแลผู้ป่วย
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ยึดพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนก ว่า “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตามมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” ใจเขาใจเรา นึกถึงเขาให้มากที่สุด
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
วิวัฒนาการทางการแพทย์ดีขึ้น วงการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก ประเทศไทยติดอันดับต้น ๆ ของเอเชีย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะการวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ของเรารวดเร็ว ทันนานาชาติ ทำให้การวินิจฉัยดีขึ้นการรักษาประสบความสำเร็จได้รวดเร็ว
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไปและกุมารแพทย์ สาขาโรคไต ต้องมีคุณธรรม และจริยธรรม มีความอดทน ใจเย็นกับผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญอยากให้ซักถามประวัติอย่างละเอียด ตรวจร่างกายเป็นพื้นฐาน ส่วนใหญ่ก็สามารถวินิจฉัย โรคได้โดยไม่ต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างมากมาย