“เราต้องเป็นเพชรให้ได้ ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหนเราก็จะไม่เป็นไร”
รศ. นพ. สมบัติ มุ่งทวีพงษา
กรรมการสมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย
กรรมการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 102 ปี 2561
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคหลอดเลือดสมอง
เรียนมัธยมที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เหตุที่เลือกเรียนแพทย์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสายการแพทย์เป็นวิชาที่ท้าทาย ต้องวินิจฉัยและเรียนรู้ วิชาแพทย์มีทั้งวิทยาศาสตร์และการใช้ความสามารถของเราในการคิด ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เราคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล และเห็นว่าเป็นวิชาที่น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้มาก ส่วนทางครอบครัวก็สนับสนุนด้วย ในที่สุดก็สอบเอนทรานซ์ได้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
พอจบก็ไปใช้ทุนปีแรกอยู่โรงพยาบาลแม่จริม จ.น่าน ครบ 1 ปี แล้วมาอยู่ที่โรงพยาบาลน่าน ซึ่งเป็นระบบโรงพยาบาลจังหวัดเป็นผู้ดูแล ได้เรียนรู้ระบบว่าเป็นอย่างไร การส่งต่อต้องทำอย่างไร เคสผ่าตัดบางอย่างก็ทำเองได้ บางอย่างเป็นการรักษาที่เราอยากติดตามก็มาติดตาม เหมือนระบบที่เป็นต้นแบบ รพ. เป็นที่มาของแนวคิดที่ผมทำระบบ Stroke network พอมาอยู่ รพ.น่าน ต้องตัดสินใจว่าจะเรียนอะไร ก็ไปอยู่แผนกอายุรกรรม เนื่องจากอยากเรียนอายุรกรรมระบบประสาท เพราะเป็นอะไรที่ท้าทาย ค่อนข้างที่จะใช้ทักษะในการตรวจวินิจฉัยโรค และตอนเรียนมีอาจารย์ที่เป็นต้นแบบคือ ศ.เกียรติคุณ นพ. อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ พออยู่ที่ รพ.น่าน ได้ 2 ปี ก็มาสมัครอายุรศาสตร์ประสาทวิทยา ที่ รพ.รามาฯ หลังจากนั้น อาจารย์ต้นแบบเรา อีกท่าน ศ. นพ.ปรีดา พัวประดิษฐ์ ชวนไปอยู่ที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร เราคิดว่าอยากเดินตามรอยอาจารย์ เพราะอาจารย์ทำงานหนัก เก่ง มีความสามารถ พออยู่ รพ.พร้อมมิตร ได้ 1 ปี อาจารย์ปรีดาก็เสียแบบกะทันหัน แต่เคสที่อาจารย์ดูอยู่เยอะมาก ผมจึงได้ดูแลคนไข้ต่อจากอาจารย์เกือบทั้งหมด ตอนนั้นบอร์ดระบบประสาทที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ว่าง ก็คิดว่าจะไปเทรนที่อเมริกาแบบเต็มที่ไม่ได้ ด้วยตำแหน่งกับเวลาไม่ได้ เขาก็เลยจ้างเป็นอาจารย์พิเศษ 1 ปี ตำแหน่งยังไม่ชัดเจนว่าคืออะไร จึงได้ไปเทรนต่อที่ Washington University in St. Louis, Missouri State ประเทศสหรัฐอเมริกา อีก 2 ปี เทรนเรื่อง Stroke และคลินิคอลแคร์ แล้วกลับมาอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด
สิ่งที่ภูมิใจเรื่องแรก รู้สึกตัดสินใจไม่ผิดที่มาเป็นแพทย์ และได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบ ที่เลือก Neuro ก็เลือกไม่ผิด และมาทำ Stroke ก็เลือกไม่ผิดเหมือนกัน Stroke ทำให้ได้แสดงออกถึงลักษณะของผมได้อย่างชัดเจน อย่างเรื่องระบบ Stroke fast track ตอนแรกที่กลับมาจากอเมริกา ก็มีปัญหากันในระบบการทำงานเกี่ยวกับ Stroke ที่ สปสช. เขาอยากจะ Implement stroke ระบบ Fast track แต่มีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องความไม่เข้ากันระหว่าง สปสช. กระทรวง และโรงเรียนแพทย์ ทำให้เริ่มระบบจริง ๆ ไม่ได้ กลับมาผมพยายามติดต่อกับ สปสช. ว่าอยากทำเรื่องนี้ โชคดีที่ตอนนั้น นพ. ชูชัย ศรชำนิ ซึ่งไปรู้จักกับอาจารย์ที่เคยเป็น ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์อยู่แล้ว เลยคุยกันได้ ให้เขามาดูว่าระบบของผมจะทำอย่างไร เลยเป็นที่มาของระบบ Stroke fast track ที่เป็น Stroke network เป็นหนึ่งในความภูมิใจ ที่เป็นคนเริ่มไอเดีย เรื่องระบบ Stroke networkที่ทำทั่วประเทศอยู่ในปัจจุบันน
เรื่องที่สอง ครอบครัว เริ่มตั้งแต่ภรรยาผมเอง เขาต้องเสียสละมากในแง่ที่ว่าผมต้องทำงานเยอะ มีเวลาให้เขาน้อย แต่เขาก็ดูแลลูก ๆ ได้เป็นอย่างดี และไม่เคยมีปัญหาเรื่องที่เราไม่มีเวลา ส่วนใหญ่เขาเป็นคนสนับสนุนเราเสมอ และลูกทั้งสองคน คนแรก เจนณรงค์ มุ่งทวีพงษา เริ่มออกแบบรถแล้วมีคนรู้จักตั้งแต่อายุ 15 ถึงแม้ผมไม่มีเวลาให้เขาเยอะ แต่ผมให้อิสระกับเขา ให้ได้ทำในสิ่งที่ชอบ อยากให้เขาแสดงศักยภาพออกมาเต็มที่ แล้วพอเขาไปได้ดีเราก็ภูมิใจ เราให้เขามาช่วยงานบางอย่างได้ อย่างโลโก้ Stroke Center เขาก็ออกแบบ หนังสือผมที่รูปสวย ๆ ก็ฝีมือเขา ส่วนคนเล็ก เป็นผู้หญิง เป็นคนที่มาเติมเต็มในชีวิตผม ทำให้ชีวิตมีความสดใสมากขึ้น
เขาคล้ายพี่เขามาก เมื่อก่อนพี่เขาทำอย่างไร ตอนนี้เขาก็ทำเหมือนกัน ถือว่าพวกเขาเป็นความสำเร็จของครอบครัว
เรื่องที่สาม ได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบของสปสช. ทางด้านโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ได้รับพร้อมกันคือ ศ. พญ. อนงค์ เพียรกิจกรรม ต้นแบบทางด้านโรคเลือดและมะเร็ง และ รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กุมารแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ รู้สึกว่าผมอายุน้อยสุดในกลุ่มได้ไปยืนรับพร้อมกัน ก็รู้สึกภูมิใจที่เขายอมรับผลงานเรา ผมได้เป็นแพทย์ธรรมศาสตร์ดีเด่นคนแรก ถือว่าเป็นเกียรติ เพราะได้จากการโหวต และเป็นรางวัลที่บ่งชี้ถึงผลลัพธ์จากการทำงาน
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ปัจจัยแรก มาจากความมุ่งมั่น ผมเคยรู้สึกเฟลหลายครั้ง อย่างตอนที่อาจารย์ปรีดาเสีย ผมค่อนข้างเฟล เสียใจมาก คิดว่าจะไม่เรียนต่อ เพราะการไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษมันสมัครยากมาก ไม่มีคอนเน็กชั่นของอาจารย์ อาจารย์อรรถสิทธิ์ ก็ติดภารกิจ เนื่องจากว่าระบบที่ประเทศอังกฤษก็กำลังเปลี่ยน ซึ่งอาจต้องรอตำแหน่งที่รามาฯ ก็กำลังออกนอกระบบ ทำให้จะขอตำแหน่งบางอย่างก็ยาก ความอดทน ความมุ่งมั่น จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้
ปัจจัยต่อมา การเอาใจใส่ในการดูแลคนไข้การเป็นแพทย์ งานด้านวิชาการเราก็ไม่ได้ทิ้ง แต่สิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นแพทย์ คือ เราต้องดิวกับคนไข้คลินิคอล ซึ่งผมเลือกทางด้านคลินิคอลเฟลโล่ ผมได้ทั้งคลินิคอลและรีเสิร์ช ตอนนี้เปเปอร์ผมมีมาก แต่ไม่ใช่ว่าทำรีเสิร์ชมาเยอะถึงมีเปเปอร์ แต่ผมเป็นคลินิคอลเฟลโล่ เรารู้สึกว่าการดูแลคนไข้ คลินิคอลทำให้ผมโดดเด่นกว่า เช่น ไปอเมริกาทำให้ผมโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ ที่เจาะหลังไม่ได้ สิ่งนี้จะอยู่กับเรา เหมือนอาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า คนที่มีความรู้แบบนี้ติดตัว ถือว่ามีวิชาการที่ดี เป็นเหมือนเพชร เพชรไม่ได้อยู่ที่โต๊ะที่วาง แต่ไปอยู่ตรงไหนก็เป็นเพชร สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่น้อง ๆ ควรตระหนักยึดเรื่องนี้ไป ตัวเองต้องเป็นเพชรให้ได้ คุณไปอยู่ที่ไหนคุณก็จะไม่เป็นไร
ปัจจัยสุดท้าย ผมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านที่ประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบของทางการแพทย์และทาง Neuro อย่าง ศ.เกียรติคุณ นพ. อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เราก็ได้รู้ถึงเทคนิคการทำงานและตัวตนจากท่าน นพ. บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ซึ่งปัจจุบันนี้มีหลาย ๆ คนอยากทำงานอย่างอาจารย์ ศ.นพ.ปรีดา พัวประดิษฐ์ ขอบคุณอาจารย์ที่ให้ความไว้วางใจผมให้เป็นคนที่รับงานต่อจากอาจารย์ พอไปอยู่ที่อเมริกา จังหวะพอดีที่เจ้านายอีกคน Prof. Salvador Cruz-Flores เขาเป็นคนที่เปิดกว้างให้โอกาสผมทำงานพอไปถึงผมได้เรียนรู้งานแทบจะทุกอย่าง Fast track ที่ run ได้ เพราะได้เรียนรู้จากเขา ช่วงนั้นแทบไม่มีเวลาทำอย่างอื่น นอกจากอยู่โรงพยาบาล เขาคงเห็นจากการทำงาน และประสบการณ์ที่ได้รับจากอาจารย์ทั้งหลาย ทำให้ความรู้ของผมไม่แพ้ใคร
เช่น ผมไปมหาวิทยาลัยวันแรก เรสซิเด้นท์ก็ยังสงสัยอยู่กับการวินิจฉัยโรค ผมไปตอนแรกเขาคงยังไม่มั่นใจในตัวเรา เคสนี้ผมว่ามันเป็น TTP เคส มันวินิจฉัยโรคไม่ได้ ผมเดินไปก็บอกว่า เอาสไลด์ CBC มาแล้วผมไปส่องดูก็รู้ว่าเป็น TTP เขาก็สงสัยว่ารู้ได้อย่างไร และก็เป็น TTP จริง ๆ ตั้งแต่นั้นเขาก็เริ่มยอมรับผมว่าเรามีความรู้จริง ๆ ทั้งภาควิชาก็มั่นใจ ใครเจาะหลังไม่ได้ก็มาเรียกให้ผมไปเจาะให้
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร
แต่ละช่วงก็มีอุปสรรคทั้งส่วนตัว ทั้งจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่เป็นตัวขวางกั้น ทำให้เรามีท้อถอยบ้าง หรือว่าจะเปลี่ยนหลายที แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่เราคิดว่า อุปสรรคเป็นสิ่งที่ทำให้เราแข็งแรงขึ้น และสามารถก้าวข้ามผ่านมันไปได้ เช่น เรื่อง Stroke ที่เราทำงาน แน่นอนจะต้องมีสิ่งที่มาขัดขวาง ครั้งแรกที่ผม Implement ระบบ stroke ยังเป็นอะไรที่ใหม่แล้วมีคนตั้งคำถามว่าให้ยา rtPA ไม่กลัวเลือดออกเหรอ จึงต้องตอบว่า ผมกลัวเลือดออก จึงต้องทำระบบให้ดี แต่ที่ทำควบคู่กันไปคือ ทำรีพอร์ต เก็บข้อมูล แล้วผมรีพอร์ตว่า ผมทำดีแล้ว ทำเสียเท่าไร มีตัวเลขโชว์ ที่ทำมันมีข้อมูลรองรับว่ามันดี ไม่อย่างนั้นจะไม่กล้าไปบอกคนอื่นว่ามันดีที่สำคัญคือ ผมมีประสบการณ์ตอนที่ไปเทรนมา เนื่องจากมีโอกาสไปดูแลแทนเจ้านายลงไปสัมผัสเอง ทำเอง รู้เลยว่าจุดอ่อน จุดแข็ง จุดดี ไม่ดี การทรีทเม้นท์ คืออะไร พอกลับมาก็ประยุกต์ใช้ได้เลย
อุปสรรคทุกอย่างเวลาทำก็ต้องมี ถ้าไม่มีก็เหมือนกับคนไม่ได้ทำอะไร ต้องคิดเสียว่าอุปสรรคพวกนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงาน จะมากหรือจะน้อยมันต้องผ่านไปให้ได้ ให้นึกถึงตรงจุดหมายอย่าไปนึกถึงอุปสรรค จุดหมายคือสิ่งที่เราต้องไปถึงอุปสรรคทำอย่างไรก็ได้ ไม่เลี่ยงมันไป ข้ามมันไปลอดผ่านมัน อย่างไรก็ต้องไปให้ได้ เพราะเป้าหมายอยู่ตรงนั้น
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
อย่างเรื่องอาจารย์ปรีดา ผมยังเสียดายโอกาสที่จะใกล้ชิดกับอาจารย์ให้มากกว่านี้ แต่ด้วยเรื่องงานตอนนั้นคิดว่าไม่เป็นไร เพราะอาจารย์อยู่ที่นี่อยู่แล้ว อาจารย์ก็งานยุ่งเหมือนกัน รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสคุย ไม่ได้มีโอกาสรับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในตัวอาจารย์
อาจารย์อรรถสิทธิ์ ก็มีโอกาสที่ใกล้ชิด แต่พอถึงจุดหนึ่งเราได้ผ่านตรงช่วงนั้นไปแล้ว พอถึงตอนนี้ก็ไม่สามารถถ่ายทอดบางเรื่องที่เราสนใจได้ ก็ยังเสียดายอยู่ แต่ก็ไม่มีทางเพอร์เฟคไปหมดนี่เป็นหนึ่งในช่วงชีวิตการดำเนินงาน ตัวดักเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมจะไม่ปล่อยให้เป็นรอยด่างจนแก้ไขอะไรไม่ได้ คิดว่าต้องหาทางแก้ไขให้สำเร็จ
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
คนแรก คือ ศ.เกียรติคุณ นพ. อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่านเป็นต้นแบบทั้งหมดเลย ท่านเป็นอธิการบดี ซึ่งมีเวลาน้อยลง ทำให้เราสัมผัสกับท่านน้อยลง แต่ท่านมาราวนด์วอร์ดได้ มาสอนวันเสาร์ได้ เราก็ได้รู้สึกถึงเทคนิคการทำงานและตัวตนจากท่าน
คนที่สอง นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร เป็นต้นแบบของแพทย์ชนบทหลาย ๆ รุ่น ท่านเป็นคนที่สมถะ ไม่พูดถึงเรื่องยศ ตำแหน่ง ตำแหน่งท่านเป็นได้มากกว่า ผอ.รพ.น่าน แต่ท่านไม่เคยคิดจะเป็นใหญ่ในกระทรวงนอกจากตำแหน่งอื่นเกษียณด้วยตำแหน่ง ผอ.รพ.น่าน เป็นต้นแบบในด้านการดำเนินชีวิต ปรัชญาที่ให้ ชีวิตของแพทย์นั้นคืออะไร เป็นประโยชน์กับผมมาก
คนที่สาม ศ.นพ.ปรีดา พัวประดิษฐ์ อาจารย์เป็นหัวหน้าหน่วย เป็นต้นแบบที่ทำให้ผมไปอยู่ รพ.เอกชนก็ต้องตามอาจารย์ไป ถึงแม้จะเสียอายุราชการก็ต้องยอม ผมได้อยู่ใกล้ชิดกับท่านเป็นเวลาที่ไม่นาน แต่ก็ได้อะไรมาพอสมควรสิ่งที่ได้แน่ ๆ คือแรงบันดาลใจและวิธีการทำงานที่เราดูเป็นตัวอย่างได้ ไม่ต้องไปถาม อาจารย์ทำงานหนัก เก่ง มีความสามารถ
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ผมยึดเรื่องการทำงานเป็นหลัก ความมุ่งมั่นกับงาน การโฟกัสกับงานเป็นสิ่งที่ยึดถือมาตลอด การทำสมาธิ เวลาทำงานผมมีสมาธิ ไม่ต้องคิดเรื่องอื่นให้ฟุ้งซ่าน ไม่ต้องไปโฟกัสเรื่องความสำเร็จของงานอย่างเดียว เราต้องโฟกัสวิธีการทำงาน จะทำให้เราได้อะไรหลาย ๆ อย่าง
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
ถ้าเทียบกับประเทศในระดับเดียวกัน ผมมองว่า ทางการแพทย์ สาธารณสุขในเมืองไทย ล้ำกว่าในระบบอื่น ๆ ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง ไม่แปลกอะไรที่คนเก่ง ๆ ของเราอยู่ในส่วนนี้ค่อนข้างเยอะ ถือว่าทางการแพทย์ของเราเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาในระบบ เวลาเราไปข้างนอกก็ได้รับการยกย่อง เรายังพัฒนาไปได้อีกไกล ถ้ายังสามัคคีกัน แล้วนึกถึงประโยชน์โดยไม่ขัดแข้งขัดขากัน การที่มีคนเก่งอยู่ในส่วนนี้เป็นจำนวนมาก เป็นข้อดีในเรื่องความรู้ความสามารถที่ไม่มีใครโต้แย้ง แต่ว่าแพทย์จะต้องลดความเป็นอัตตา ตัวตนของเราลงมา แล้วจะไปได้เยอะกว่านี้ เพราะว่าหลาย ๆ ครั้งผมมองเห็นว่าที่ท่านพุทธทาสพูดไว้ ถ้าตัดศักดิ์ศรีออกไป เรื่องมันจะง่าย ถ้ามีศักดิ์ศรีอยู่ ไม่ต้องทำ
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไป อยากให้คิดว่า คนไข้ของคุณเป็นครูที่ดี เราเรียนเป็นแบบตั้งปัญหาเป็นหลักระยะหลังก็เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในหลาย ๆ วิชา ไม่ใช่เฉพาะแพทย์ ซึ่งก็เป็นเพียงข้อพิสูจน์ เป็นวิธีการที่ถูกต้อง และก็เรียนจากคนไข้ แล้วนำปัญหาของคนไข้มาปรับแก้ ซึ่งนี่เป็นหลักการในการเรียนอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทิ้ง ถ้าคุณเป็นแพทย์ยึดคนไข้เป็นหลัก ยังไงก็ประสบความสำเร็จ
สำหรับแพทย์ในสาขา Neuro หลักการคล้าย ๆ กัน แต่ Neuro เน้นเรื่องการตรวจร่างกาย แม้มีเทคนิคใหม่ ๆ มา แต่เบสิกก็ต้องรู้ เพื่อเป็นพื้นฐานพัฒนาให้คุณไปสู่ความรู้ด้านอื่น ๆ เพราะฉะนั้นด้านนี้ต้องเน้นเรื่องคนไข้เป็นหลัก ถ้าไม่เริ่มเรียนกับคนไข้ พวกทฤษฎีมันยิ่งซับซ้อนใหญ่ จะทำให้คุณไม่รู้และไม่เข้าใจ