“เรียนรู้วิธีคิดของคนอื่น จากการกระทำ หรือแสดงออกของคน ๆ นั้น
ศ. ดร. นพ. อดิศว์ ทัศณรงค์
รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม
วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประธานฝ่ายวิจัย สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย
บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 103 ปี 2561
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคไต
เริ่มต้นจากที่ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เรียนมัธยมที่โรงเรียนปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ตอนนั้นอยากเรียนต่อด้านวิศวกรรม แต่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เป็นแพทย์ ในช่วงนั้นคุณพ่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและต้องรักษาตัวแบบไป – กลับ กับโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร เลยตัดสินใจสอบโควต้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเวลาต่อมา ตอนผมเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 คุณพ่อได้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งนั่นเอง ทำให้รู้สึกว่าไม่รู้จะเรียนต่อแพทย์เพื่ออะไร เพราะผมตั้งใจเรียนเพื่อที่จะเป็นแพทย์ไปรักษาคุณพ่อ ตอนนั้นรู้สึกสับสนว่าจะเรียนต่อหรือลาออกมาทำธุรกิจที่บ้าน เพราะผมเป็นลูกคนโต แต่คุณแม่บอกไม่เป็นไร แม่ดูแลกิจการต่อได้และให้กำลังใจผมให้เรียนแพทย์ต่อเพื่อจบออกมาช่วยเหลือผู้อื่น ตามที่ท่านทั้ง 2 คนหวังเอาไว้ ก็เลยตัดสินใจเรียนต่อจนจบการศึกษาเป็นแพทย์อย่างสมบูรณ์
หลังจากนั้น พอเรียนจบแพทย์ 6 ปี ได้เริ่มทำงานใช้ทุนครั้งแรกที่โรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงพยาบาล 30 เตียง ตอนนั้นได้รับรู้ถึงหน้าที่ของแพทย์ในชนบทมากขึ้น และรู้ตัวเองว่าต้องศึกษาหาความรู้และพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น เพื่อการรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้องและทันเวลา เมื่อใช้ทุนครบ 1 ปี ได้ย้ายเข้ามาทำงานที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นอีก 3 ปี โดยเป็นแพทย์ฝึกหัดกองอายุรกรรม ขณะอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ผมรู้จักชีวิตทั้งของตัวเองและผู้ป่วยมากขึ้น เพราะงานหนักมาก เตียงเต็มไม่มีว่าง รับรักษาผู้ป่วยทุกรายไม่ว่าจะส่งจากที่ใดก็ตาม ในช่วงแรกผมอยากเป็นศัลยแพทย์ แต่มีอาจารย์ 2 ท่านในกองอายุรกรรมที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น อาจารย์ดูแลคนไข้อย่างดี เสียสละ อุทิศตนให้กับผู้ป่วย เวลามีปัญหาก็โทรปรึกษาได้ ซึ่งอาจารย์ก็เข้ามาดูผู้ป่วยให้ตลอด ทำให้รู้สึกว่ามันต้องใช่แบบนี้ นี่คือการดูแลผู้ป่วยที่ดีจริง ๆ จึงเริ่มเปลี่ยนความคิดว่าอยากเรียนอายุรศาสตร์ ก็เลยตัดสินใจอยู่ศึกษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นและตัดสินใจอ่านหนังสือ ดูแลผู้ป่วย และทำงานวิจัยต่อจนครบ 4 ปี แล้วสอบเป็นอายุรแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น
ต่อมาได้มาสมัครเรียนต่อเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดที่หน่วยโรคไต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลา 2 ปี เหตุที่ตัดสินใจเรียนเกี่ยวกับโรคไต เพราะโรคไตเป็นโรคที่ค่อนข้างซับซ้อน มีความเกี่ยวข้องกับทุก ๆ ระบบในร่างกาย และสามารถประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยได้หลากหลาย เพื่อการรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้น หรือประคับประคองชีวิตโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการล้างไตทางช่องท้อง อีกทั้งขณะนั้นเริ่มมีการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไต ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหม่ มหัศจรรย์ และพลิกชีวิตผู้ป่วย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้
ณ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ผมได้ให้บริการโดยการรักษาผู้ป่วยเป็นหลักจนจบเป็นอายุรแพทย์ และเมื่อผมมาเรียนต่อที่หน่วยโรคไต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็เป็นอีกรูปแบบที่เราดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น คุณภาพการรักษาที่ดีขึ้น แต่ปริมาณอาจจะไม่มากเท่ากับที่โรงพยาบาลศูนย์ต่างจังหวัด เนื่องจากโรงพยาบาลศูนย์ต่างจังหวัด มีจำนวนแพทย์ที่น้อยกว่าในเมืองหลวง เพราะต้องมีการส่งตัวผู้ป่วยมาจากโรงพยาบาลทั้งจังหวัด มีแต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคยาก ๆ และซับซ้อน ตอนนั้นผมคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะถ่ายทอดความรู้ให้หมอรุ่นใหม่ ๆ ให้เก่งและในปริมาณที่มากขึ้น มีทางเดียวคือเราจะต้องเป็นอาจารย์แพทย์ เพื่อสอนนักศึกษาแพทย์และทำงานวิจัยไปด้วย ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้ ผมได้ถูกปลูกฝังมาจากการที่ได้เข้ามาเรียนที่หน่วยโรคไต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า และ ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ได้เริ่มให้ผมหัดเขียนบทความทางวิชาการต่าง ๆ และฝึกวิธีคิด คิดแบบไหนเพื่อผู้ป่วย เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งฝึกการทำงานวิจัยอีกด้วย จากนั้นได้รับการชักชวนจาก รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา และ รศ.นพ.ศุภชัย ฐิติอาชากุล ให้มา
เป็นอาจารย์ที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมื่อทำงานได้ 2 ปีจึงได้ขอทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศทางด้านการปลูกถ่ายไตที่ University of Alberta ประเทศแคนาดาเป็นเวลา 2 ปี หลังจากกลับมาได้ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการจัดตั้งระบบการปลูกถ่ายไต และเริ่มการปลูกถ่ายไตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จนถึงปัจจุบัน โดยการที่ได้ไปทำการศึกษาที่ต่างประเทศ ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำกลับมาพัฒนาการปลูกถ่ายไต ทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับโอกาสดีเข้าร่วมทำงานในสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
เป้าหมายทางด้านการเป็นแพทย์ มีทั้งหมด 3 ด้าน คือ ด้านการเรียนการสอน ด้านการบริการและด้านวิชาการ ผมคิดว่าด้านการเรียนการสอนเป็นไปตามเป้าหมาย ตั้งแต่การสอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ แพทย์ประจำบ้านต่อยอดอายุรศาสตร์โรคไต รวมทั้งด้านการบริการต้องทำให้ครบสมบูรณ์ ทั้งในเรื่องโรคไตทั่วไป โรคไตที่ซับซ้อน รวมถึงการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต
ส่วนด้านวิชาการ เมื่อเราให้บริการผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น จะมีการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ให้เป็นระบบ รวมทั้งการเรียนการสอนที่จะต้องพัฒนาต่อไป จึงเป็นที่มาของการทำงานวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ เพื่อค้นหาและพิสูจน์การรักษาแบบใหม่ ๆ ว่าดีสำหรับผู้ป่วยจริงหรือไม่ ทำให้มีการรายงานผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์และเป็นที่ยอมรับ จนได้ตำแหน่งศาสตราจารย์
โดยผลงานทางวิชาการที่ภูมิใจ คือ ตำราภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลัน ซึ่งเป็นตำราที่ได้รวบรวมความรู้ทั้งเก่าและใหม่ รวมทั้งงานวิจัยจำนวนมากมาสังเคราะห์และวิเคราะห์กลั่นกรองให้ออกมาเป็นความรู้ในตำราเล่มนี้ ส่วนงานวิจัยที่ภาคภูมิใจ คือ การศึกษาเกี่ยวกับการให้ยาใหม่ในการป้องกันการเกิดภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันในผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดสารทึบรังสี และผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจ
ในช่วงเวลาต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในด้านการทำงาน เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์ โดย รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชักชวนไปทำงานเป็นผู้บริหาร ซึ่งเราไม่เคยทำพออาจารย์เข้ามาชวน ก็เริ่มเข้าอบรมหลักสูตรบริหาร การบริหารโรงพยาบาล ผมคิดว่าเป็นการเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ ๆ จากศาสตร์ ทางด้านวิชาการมาสู่ศาสตร์ทางด้านการบริหาร ซึ่งความยากง่ายไม่ได้ต่างกันอยู่ที่เราจะสามารถพลิกแพลงได้หรือไม่ เมื่อได้ไปเรียนและทำงานด้านบริหารแล้วเหมือนได้เปิดโลกใบใหม่ และเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่ผมคิดว่า เมื่อมีโอกาสก็ต้องทำให้เต็มที่
ผมจะสอนนักศึกษาแพทย์ทุกคน เวลาเราเรียนแพทย์ เราไม่จำเป็นจะต้องเก่งเฉพาะแพทย์ แต่เราต้องศึกษาเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น เศรษฐศาสตร์ เราต้องเรียนรู้การหาเงินและการใช้เงิน อิสรภาพทางการเงินคืออะไร กฎหมายทั่วไปและทางการแพทย์ เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้ป่วยและแพทย์ รวมทั้งตัวเราและครอบครัวในฐานะประชาชนทั่วไป รวมทั้งการศึกษาเรื่องธรรมะ การใช้ชีวิต การมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในทุก ๆ วัน
ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร
เป้าหมายที่สำเร็จเกิดจากตัวเรา ต้องกำหนดความฝัน กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนอีกด้วย หลังจากนั้นค่อยเดินตามเป้าหมาย และทำตามกำหนดเวลาดังกล่าว เมื่อกำหนดเป้าหมายและกำหนดเวลาชัดเจนจะเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์หรือวิธีการว่าเราจะไปตามความฝันได้อย่างไร ชีวิตคนเราไม่ยาว จะตายไปเมื่อไรไม่รู้ ต้องทำทุกวันให้มีความสุข ทำไปตามความฝันต่อให้มีอุปสรรคอย่างไร เราก็ยังไม่หมดแรง เราก็จะสามารถไปต่อได้อย่างมีความสุข
เป้าหมายที่สำเร็จเกิดจากครอบครัวที่ดี ผมได้ความอดทนจากคุณแม่ผมไปเรียนแพทย์ที่ขอนแก่น ต้องกลับไปดูแลคุณแม่ ทุก 2 สัปดาห์ เพราะท่านทำงานอยู่ที่อำเภอปากช่อง ช่วงตอนขึ้นชั้นคลินิก มีปัญหา เพราะจำเป็นต้องขึ้นเวร ผมได้รับความร่วมมือจากเพื่อน ๆ และคำแนะนำจากอาจารย์ ในการปรับตารางการขึ้นเวร เพราะต้องกลับบ้านไปดูแลคุณแม่ ผมบอกอาจารย์ตามตรงว่าเรื่องเป็นแบบนี้ ผมถือความกตัญญูเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต อาจารย์ก็อนุโลม
ในบางเรื่อง คือ เราคุยตรง ๆ ผมทำเป็นแบบอย่างให้น้อง ๆ ได้เห็นถึงสิ่งที่เป็นความกตัญญูต่อผู้มีบุญคุณต่อเรา และเป้าหมายที่สำเร็จเกิดจากภรรยาที่ช่วยดูแล คอยเป็นกำลังใจ เราทำงานหาเงิน ส่วนเขาก็ทำงานเหมือนกัน แต่ในบ้านเขาต้องคอยดูแลลูก จัดการเรื่องอาหารการกินดูแลบ้าน ช่วยดูแลทุก ๆ อย่างในบ้านอย่างเต็มที่
ข้อสำคัญอีกข้อ คือ การฝึกวิธีคิด ฝึกคิดนอกกรอบ คิดให้แตกต่าง และเกิดขึ้นได้จริง ฝึกคิดแล้วเขียนเป็นโครงร่างที่ชัดเจน แล้วลองทำดู ฝึกคิดว่าถ้าเราจะทำงานใหญ่ ต้องคิดใหญ่ และเมื่อกล้าคิดก็ต้องกล้าทำ และที่สำคัญคือการฝึกทางด้านจิตใจ โดยใช้ธรรมะมาครองใจ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน
มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
เป้าหมายถ้าไม่สำเร็จ สิ่งแรกคืออย่าคิดโทษคนอื่น ต้องมองที่ตัวเราก่อน ว่าเราทำอะไร ตรงไหนที่ทำไม่ได้ตามที่เราวางแผนไว้ หรือถ้ามองดูแล้วเราทำทุกอย่างดีที่สุดแล้ว ก็ไม่ต้องโทษตัวเอง ไม่ต้องโทษคนอื่น และให้ลองมองว่าอะไรคือ ปัญหา แล้วให้ตั้งคำถามว่าอะไรที่ทำให้เราทำงานนั้นไม่สำเร็จ แล้วกลับไปจัดการกับตรงนั้น แต่เราจะไม่โทษใคร เช่น นโยบายภาครัฐไม่ชัดเจน ผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ฯลฯ บางครั้งเราขอทุนโครงการวิจัยโครงการไม่อนุมัติทุน ไม่ได้แสดงว่า เราไม่ประสบความสำเร็จ เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้คิดเหมือนเรา วิธีคิดของคนเราต่างกัน ไม่ต้องไปโกรธเขา วิธีแก้ไข คือ การหาคนที่คิดเหมือนเรา หาคนที่คิดว่า เราไปคุยกับเขาแล้วคิดว่าเราคิดถูก อาจารย์ผู้ใหญ่จะแนะนำวิธีแก้ไขให้เราว่า เราควรจะทำอย่างไร ไปหางบประมาณจากไหน ที่สำคัญต้องคิดนอกกรอบ เช่น เมื่อโครงการไม่ได้รับอนุมัติทุนจากแหล่งทุนนี้ก็ไปหาจากแหล่งทุนอื่น แต่ทุกอย่างที่คิดนอกกรอบจะต้องอยู่ภายใต้คำว่า “จริยธรรม”
ในอดีตที่ผ่านมาเวลาประสบปัญหาเหนื่อยหรือท้อปรึกษากับใคร
ช่วงจิตตก สิ่งแรกคือ ต้องพยายามทำสมาธิ ตั้งสติตัวเองก่อน ถ้าจิตตกมาก ๆ จะกลับบ้านไปหาคุณแม่ ไปรับพลังจากคุณแม่ แต่เราไม่ได้ไปปรึกษาจะไม่เล่าให้ท่านฟัง เพราะเราไม่อยากให้ท่านเป็นกังวลและเป็นห่วงเรา แต่ผมจะไปเพียงกินข้าวไปนอนหนุนตัก ซึ่งคุณแม่จะไม่ถาม เพราะรู้ว่าที่เรามาเพียงต้องการกำลังใจเท่านั้นเอง
บางเรื่องก็ปรึกษาภรรยา พูดคุยปัญหาให้ฟัง ถามความคิดเห็น และนึกถึงลูกไว้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยตัวของเรา เราต้องควบคุมพลังของเราให้ได้ให้จิตกลับขึ้นมาที่เดิมให้เร็วที่สุด
ถ้าเรื่องไหนที่คิดแก้ไขแล้วหาทางออกไม่พบก็จะปรึกษาอาจารย์ผู้ใหญ่ หรือท่านคณบดี เราก็จะได้คำตอบที่ดี ๆ กลับมาช่วยวิธีคิดของเราต่อไป เพราะฉะนั้น อย่าเก็บปัญหาไว้กับตัวคนเดียว ให้ปรึกษาผู้อื่น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เราจะหาทางออกได้ในที่สุด
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
สำหรับผมต้นแบบที่ชัดเจนไม่มี แต่จะมีหลายท่านรวมกัน อีกอย่างหนึ่งที่คิดว่าเป็นต้นแบบ คือการอ่านหนังสือ เวลาเราอ่านประวัติใครหลาย ๆ คน เราเรียนรู้ชีวิตเขาจากหนังสือ เช่น สตีฟ จ็อบส์ สีจิ้งผิง มหาตมะ คานธี เราจะทราบถึงหลักการ วิธีคิด กลยุทธ์ในการแก้ปัญหา เราก็มาดูว่าอันไหนเหมาะกับเรา บางครั้งวิธีการตอบโต้บางอย่างเราไม่เห็นด้วย แต่บางครั้งบางจังหวะ วิธีนี้กลับใช้ได้ผล ทำให้เกิดการหล่อหลอมเอาแต่ละวิธีการมาประยุกต์ใช้ในแต่ละปัญหา วิธีแก้ไขไม่เหมือนกัน
สำหรับบุคคลต้นแบบท่านแรก ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ท่านเป็นต้นแบบทางด้านวิชาการ สอนอย่างไร วิจัยอย่างไร เขียนตำราอย่างไร ดูแลผู้ป่วยอย่างไร พร้อมทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ท่านที่สอง รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา ท่านเป็นต้นแบบทางด้านการเป็นผู้นำทางด้านการบริหาร ใจเย็น คิดให้รอบคอบ อย่าคิดเอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก คิดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ทำแล้วเขาได้อะไร เราได้อะไร ถ้าเราจะเสียผลประโยชน์เล็กน้อย แต่ส่วนรวมได้ประโยชน์ เราต้องยอมเสีย
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
- ยึดหลักในแต่ละวัน ทำให้ดีที่สุดในทุกด้าน ทั้งเรื่องการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะอยู่หรือไม่ ทำให้มีความสุขในแต่ละวันให้มากที่สุด “ฝันให้ไกลไปให้ถึง”
- การวางแผนต้องกำหนดเป้าหมายชัดเจน เวลาต้องชัดเจนด้วย บางคนกำหนดเป้าหมาย แต่ไม่ได้กำหนดเวลา ถ้าเป็นนักธุรกิจบางคนกำหนดว่าจะมีร้อยล้านเมื่ออายุเท่าไร พันล้านเมื่ออายุเท่าไร ดังนั้น จึงต้องกำหนดเป้าหมายและเวลาที่ชัดเจน ถึงจะกำหนดกลยุทธ์ได้ว่าเราจะทำอย่างไร และลงมือทำ “โอกาสมีมาทุกวัน อยู่ที่ว่าเราจะรับโอกาสนั้นหรือไม่”
- ต้องเรียนรู้ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เช่น อาจจะเรียนรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีทางด้านการเงิน เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวการทำธุรกิจต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงทางด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ เป็นต้น “เรียนรู้วิธีคิดของคนอื่น จากการกระทำหรือแสดงออกของคน ๆ นั้น”
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
การแพทย์ของประเทศไทย บัณฑิตแพทย์พันธุ์ใหม่ควรจะเกิดขึ้น นโยบายใหม่ต้องเกิดขึ้น ต้องปรับวิธีคิดของคนที่จะเป็นแพทย์ ไม่ใช่จบแล้วให้เขาไปทำงานชดใช้ทุนในชนบท เมื่อเขาลาออกจะปรับเขาหลายล้านบาท ถ้าคิดเช่นนี้เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ควรจะหาวิธีทำอย่างไรให้เขารักที่จะทำงานอยู่ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด จะได้ไม่ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางเข้ามารักษาในโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลเอกชน นั่นคือการแก้ปัญหา ยิ่งยากจนยิ่งทำให้เข้าถึงการรักษาได้ยาก รวมทั้งแพทย์พันธุ์ใหม่ต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาตัวเองและทำงานวิจัย เพื่อให้เกิดความเจริญในวงการแพทย์ของไทย
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไป ให้ตั้งมั่นอยู่บนการรักษาที่ถูกต้อง มีจริยธรรม อย่าหยุดการเรียนรู้ สำหรับแพทย์รุ่นใหม่ ๆ ควรเข้ามาฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทาง ต้องเพิ่มมูลค่าตัวเองและทำให้ตัวเองเก่งขึ้น รักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น การรักษาที่ถูกต้อง คือได้มาตรฐานและไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เพราะอนาคตจะมีการฟ้องร้องกันมากขึ้น ฝึกวิธีคิดอย่างมีเหตุผล และศรัทธาในวิชาชีพแพทย์ของตัวเอง
สำหรับแพทย์โรคไต เรื่องการฝึกวิธีคิดต้องคิดว่า จะทำอะไรให้การรักษาผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขดีขึ้น และจัดการรักษาให้ได้ตามมาตรฐาน เช่น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตเรื้อรัง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ต้องทำมาตรฐานให้ดี ต้องคิดหาเทคโนโลยีมาช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้