CIMjournal

อาจารย์ พญ. อรอุมา ชุติเนตร สาขาประสาทวิทยา


เวลามีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างอย่าใส่ใจมาก อย่าเอามาบั่นทอนกำลังใจเรา แต่บางอย่างก็ต้องดู เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น” 

ผศ. พญ. อรอุมา ชุติเนตร
หัวหน้าสาขาประสาทวิทยา ภาคอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประธานฝ่ายวิชาการ สมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย
กรรมการกลาง สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 109 ปี 2562

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาประสาทวิทยา และการใช้ชีวิตช่วงเรียนแพทย์

เริ่มเข้าอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์และมาเรียนชั้น ป. 1 ถึง ม.3 ที่โรงเรียนสาธิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หลังจากนั้นก็สอบติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณพ่อคุณแม่เป็นอาจารย์ แต่มีคุณลุงคุณป้าเป็นแพทย์ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อยากเป็นแพทย์ และโดยส่วนตัวชอบวิชาคณิตศาสตร์และวิชาเคมี

ช่วงชีวิตในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยมีความประทับใจหลายอย่าง เช่น ประทับใจคนไข้และต้องขอบคุณคนไข้ทุกคนที่ทำให้เราได้เรียนรู้และจบมาเป็นแพทย์ ประทับใจเพื่อน ๆ ทุกคนที่ช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี ทั้งด้านการเรียนและการทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเรียน เช่น ด้านกีฬาจะชอบเล่นกีฬาตั้งแต่เด็กและเป็นนักกีฬาของคณะแพทย์ด้วย ตอนเข้ามาเรียนปี 1 ได้ร่วมลงแข่งกีฬากับเพื่อน ๆ จนคณะแพทย์ได้รางวัลรองชนะเลิศ คะแนนรวมกีฬาน้องใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รางวัลชนะเลิศในกีฬาหลาย ๆ ประเภทจากการแข่งกีฬา 8 เข็ม ซึ่งเป็นกีฬาระหว่างคณะแพทยศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นมีอยู่เพียง 8 มหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์ ด้านดนตรีเป็นสมาชิกและกรรมการชมรมนักร้องประสานเสียง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่า CU Chorus ด้วย ซึ่งทำให้ได้ร่วมร้องเพลงในพิธีสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีโอกาสแสดงต่อหน้าพระที่นั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย เป็นนักดนตรีไทยและเป็นประธานฝ่ายศิลปวัฒนธรรมของสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้ร่วมเป็นกรรมการสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นตัวแทนของคณะแพทยศาสตร์ ตอนอยู่ชั้นปีที่ 2

พอเรียนจบได้ไปทำงานใช้ทุนเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะ 1 ปี ที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ หลังจากนั้นไปเป็นรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุยบุรี แห่งที่ 2 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2 ปี (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลกุยบุรี) ตอนนั้น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เจอกับช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีพอดีโรงพยาบาลกุยบุรีแห่งที่ 2 กลายเป็นเกาะอยู่กลางนน้ำ ต้องพบกับหลายปัญหา ทั้งน้ำท่วม น้ำไม่ไหล ไฟดับ บ้านเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งก็ถูกน้ำท่วม ต้องออกหน่วยไปดูแลประชาชนที่ถูกน้ำท่วม เป็นทั้งผู้บริหารและเป็นแพทย์ที่ทำการรักษาด้วย เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลใหม่ บุคลากร พยาบาล เจ้าหน้าที่มีทั้งพี่ ๆ ที่มีประสบการณ์แล้วย้ายมาจากที่อื่น และน้อง ๆ พยาบาลจบใหม่ ต้องเตรียมความพร้อมทำอะไรหลาย ๆ อย่างใหม่หมด จึงทำให้ได้เรียนรู้และเก็บประสบการณ์มากมายจากที่นี่

หลังจากนั้นได้ต้นสังกัดจากโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ไปเรียนต่อเฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ จริง ๆ ชอบและถนัดการทำหัตถการมากกว่าการท่องจำอย่างเดียว อยากเรียนทางด้านศัลยกรรมมากกว่า แต่ก็คิดแล้วว่าในระยะยาวคงไม่เหมาะกับตัวเรา จึงเลือกเรียนอายุรศาสตร์แทน ช่วงเรียนอายุรศาสตร์ ปีที่ 2 ที่จุฬาฯ ได้ผ่านสาขาต่าง ๆ มากมายรวมทั้งสาขาประสาทวิทยา รู้สึกสนใจว่าเป็นสาขาที่น่าเรียนรู้ ดูจับต้องได้ ได้คิดว่าน่าจะเกิดจากรอยโรคที่ตำแหน่งไหน และส่วนใหญ่ก็จะมีวิธีพิสูจน์ยืนยันได้ว่ามีพยาธิสภาพที่ไหนจริง ๆ เช่น จากการตรวจเอกซเรย์หรือส่งตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ รวมทั้งช่วงเป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ก็ได้เลือกทำวิจัยด้านโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้รู้สึกอยากเรียนรู้ด้านประสาทวิทยามากขึ้น และตั้งใจจะเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดประสาทวิทยา

หลังจากจบอายุรศาสตร์ก็ได้กลับมาเป็นอายุรแพทย์ที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ 2 ปี ได้ใช้ความรู้ทางอายุรศาสตร์ทั่วไปรักษาคนไข้ และคนไข้ ส่วนหนึ่งก็จะเป็นโรคทางระบบประสาท ทำให้ตอนกลับมาเรียนเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดประสาทวิทยามีจุดหมายมากขึ้น ว่าเราขาดอะไร อยากเรียนรู้อะไร สิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ จะกลับมาพัฒนาการดูแลรักษาคนไข้ได้อย่างไร

หลังจากเรียนประสาทวิทยาจบ ได้กลับมาทำงานที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ แต่ต่อมาต้องลาออกจากราชการแล้วกลับมาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อมาดูแลคุณแม่ จึงได้เรียนต่ออนุสาขาโรคหลอดเลือดสมองและการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง 2 ปี ที่จุฬาฯ หลังจากเรียนจบได้ไปเป็น Stroke research fellow ที่ J Philip Kistler MGH Stroke Research Center, Massachusetts General Hospital (MGH), Boston, USA นาน 2 ปี แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่สาขาประสาทวิทยา ฝ่ายอายุรศาสตร์ และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จนถึงปัจจุบัน


เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต

เป้าหมายด้านการทำงาน อยากให้มีระบบเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างเป็นรูปธรรม โรงพยาบาลขนาดใหญ่สามารถให้คำปรึกษาหรือรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลขนาดเล็กกว่าให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที มีการปรึกษาผ่าน telestroke หรือ telemedicine ด้วยระบบวิดีโอคอล ที่สามารถตรวจและคุยกับแพทย์หรือคนไข้ที่อยู่ห่างไกลออกไปทำให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ทำให้ช่วยคนไข้ได้มากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาการเดินทาง สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน

เป้าหมายด้านการบริการ คือ ทำให้คนป่วยน้อยที่สุด อยากให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรงเป็นโรคน้อยที่สุด หรือไม่เป็นโรคได้ดีที่สุด โดยทำในสิ่งที่เราทำได้ เช่น การให้ความรู้เรื่องโรค ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ การป้องกันไม่ให้เป็นโรค แต่ก็ต้องยอมรับว่า บางอย่างป้องกันได้ หลีกเลี่ยงได้ บางอย่างก็ป้องกันไม่ได้หลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้าเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ก็อยากให้มาโรงพยาบาลเร็วที่สุด เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะได้กลับมาเป็นปกติมากที่สุด

นอกจากการเป็นแพทย์ ปัจจุบันได้เป็นกรรมการสมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย เป้าหมายคือ ทำอย่างไรจึงจะลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลงให้น้อยที่สุด ซึ่งแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ก็พยายามทำอยู่แล้ว ทำให้ประชาชนรู้จักโรคนี้หาทางป้องกันตัวเองได้ ให้รู้จักอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ถ้ามีอาการต้องรีบมาโรงพยาบาลเพื่อจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อจะได้มีโอกาสหายเป็นปกติมากที่สุด และนอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งบริหารที่จุฬาฯ เป็นหัวหน้าสาขาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ


ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร

ปัจจัยภายใน คือ ความตั้งใจและความพยายามที่จะช่วยผู้ป่วย เช่น การทำระบบรับปรึกษา telestroke เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยในประเทศไทยเราก็ทำได้ และยังสามารถใช้ telestroke ดูแลผู้ป่วยระหว่างประเทศได้ด้วย เริ่มจากการได้รู้จักกับคุณหมอโรงพยาบาลมิตรภาพ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างมาดูงานที่หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke unit) รพ.จุฬาลงกรณ์ และทำให้ทราบว่าทางประเทศลาวยังขาดประสบการณ์ในการให้ยาละลายลิ่มเลือดและที่สำคัญคือไม่มียาละลายลิ่มเลือดใช้ในการรักษาโรคสมองขาดเลือดระยะเฉียบพลันที่ประเทศลาว โครงการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยยาละลายลิ่มเลือด ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศทางไกลระหว่างประเทศ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา จึงได้เกิดขึ้น และโชคดีที่โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการทำโครงการร่วมกับประเทศอาเซียน จึงได้ติดต่อประสานงานร่วมมือกับคณะแพทย์ที่โรงพยาบาลมิตรภาพ เวียงจันทน์ สปป.ลาว และทำโครงการร่วมกัน ทางทีมจุฬาฯ ได้เดินทางไปสอนบุคลากรที่โรงพยาบาลมิตรภาพ ให้มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยสมองขาดเลือดระยะเฉียบพลัน และได้นำยาละลายลิ่มเลือดไปให้ พอมีผู้ป่วยสมองขาดเลือดระยะเฉียบพลันมาที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลมิตรภาพ ก็ได้ติดต่อกันทาง telestroke ทำให้สามารถพูดคุยกับคุณหมอและคนไข้ที่โรงพยาบาลมิตรภาพ สามารถตรวจร่างกายคนไข้ ดูภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และตัดสินใจให้การรักษาได้ ซึ่งได้ให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำกับผู้ป่วยสมองขาดเลือดระยะเฉียบพลันที่โรงพยาบาลมิตรภาพไป 10 เคส โดยเป็น 10 เคส แรกของประเทศลาวที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ซึ่งนำมาจากประเทศไทย จากนั้นเริ่มให้ความรู้ประชาชนเรื่อง โรคหลอดเลือดสมอง เชิญประชาชนมาฟัง ให้ความรู้ และเชิญคนไข้ที่ได้รับยา 10 ราย มาพูดคุยร่วมด้วย ทางประเทศลาวและเราเองก็ดีใจ อยากให้เขาพัฒนาให้ดีต่อไป และอีกปัจจัยที่สำคัญคือ เกิดจากความรักในสิ่งที่ทำ เพราะงานที่ทำ เช่น การทำระบบรับปรึกษาทาง telestroke ไม่มีค่าตอบแทนเพิ่ม ต้องรับโทรศัพท์ตลอด 24 ชม. นอกเหนือจากงานประจำที่ทำในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และน้อง ๆ stroke fellow ที่มาเรียนต่อก็โอเคกับเรา เต็มใจที่จะช่วยเหลือคนไข้ และช่วยพัฒนาให้โรงพยาบาลอื่น ๆ มีความมั่นใจสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือตัดสินใจให้การรักษาต่อต่าง ๆ ได้ ถึงแม้จะอยู่เบื้องหลัง น้อง ๆ ทุกคนก็เต็มใจทำ คือมีใจรักเหมือนกัน

ปัจจัยภายนอก เกิดจากทีมงาน ซึ่งมีความสำคัญมาก Stroke ต้องทำงานกันเป็นทีม ไม่สามารถทำเองคนเดียวได้ ประกอบไปด้วยบุคลากรหลายฝ่ายมีเป้าหมายเหมือนกันคือให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและรวดเร็วที่สุด จะได้กลับไปเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและประเทศชาติได้ การช่วยเหลือกัน การให้กำลังใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้บางคนเป็นแพทย์ บางคนไม่ใช่แพทย์ ก็ช่วยเสริมด้านอื่น เช่น ความสำคัญของการให้ยาละลายลิ่มเลือดอย่างรวดเร็วภายใน 4.5 ชม. ทุกคนต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง มีการจัดสัมมนาทีม stroke บุคลากรในทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้งพี่ ๆ เวรเปล ห้องฉุกเฉิน ทีมงานเอกซเรย์ แผนกรังสี OPD หอผู้ป่วยที่เกี่ยวข้อง สังคมสงเคราะห์ โภชนาการ จิตเวช เยี่ยมบ้าน ทั้งหมดมาสัมมนาด้วยกัน ทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และปรึกษาหารือกัน 


มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร

เป้าหมายที่ไม่สำเร็จเกิดจากหลาย ๆ อย่างต้องดูว่าผิดพลาดตรงไหน จะพัฒนาตรงไหนได้บ้าง พยายามแก้ที่ตัวระบบมากกว่าตัวคน เช่น เคสนี้ได้ยาละลายลิ่มเลือดช้า เราต้องมาดูว่าช้าขั้นตอนไหน เช่น ผิดพลาดจากทีมงาน ตอนแรกที่คนไข้มาห้องฉุกเฉินแต่ไม่มีใครทราบเลยว่าคนไข้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง คนไข้มาเร็วแต่กว่าจะมาปรึกษา เราก็เลยเวลาไป หรือคนไข้มาถึงโรงพยาบาลเร็ว ปรึกษาเราเร็ว แต่มาช้าตอน ญาติปรึกษากันนานกว่าจะยินยอมให้ยา ซึ่งญาติหรือคนไข้เองอาจจะไม่เข้าใจการรักษา เราหาวิธีแก้ไขโดยทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จะต้องมีเทคนิคการคุย หรือทำวิดีโอสั้น ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย เพราะโรคนี้เวลาแต่ละนาทีมีความสำคัญ สรุปง่าย ๆ ว่าจะต้องคุยกันอย่างสร้างสรรค์ ช่วยกันคิดว่าสาเหตุอยู่ตรงไหน จะแก้ไขตรงไหน จะเข้าไปเสริมจุดไหน เช่น ต้องเข้าไปให้ความรู้ว่าอาการโรคหลอดเลือดสมองนี้เป็นอย่างไร ถ้าสงสัยว่าใช่ก็ให้ปรึกษาได้เลย ที่สำคัญ คือ อย่าไปท้อเวลาเจอปัญหา ควรมาพูดคุยทำความเข้าใจกัน ลำดับความสำคัญของปัญหา เวลามีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างอย่าใส่ใจมาก อย่าเอามาบั่นทอนกำลังใจเรา แต่บางอย่างก็ต้องดู ต้องรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น หรือหากเป็นเรื่องในทีมงาน ต้องช่วยกันให้กำลังใจกัน เพราะการทำงานเป็นทีมสำคัญ


ในอดีตที่ผ่านมาเวลาประสบปัญหา เหนื่อยหรือท้อปรึกษากับใคร

เรื่องงานจะปรึกษากับผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นอาจารย์ของเรา คือ ศ. พญ. นิจศรี ชาญณรงค์ (สุวรรณเวลา) ท่านจะชี้แนะแนวทางและให้กำลังใจหรือบางครั้งก็ปรึกษาทีมงานด้วยกัน ช่วยกันแก้ไข ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว จะปรึกษากับคนในครอบครัว ข้อดี คือ มีข้อเสนอแนะ แนวทางแก้ปัญหา ทำให้ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะมีคนช่วยรับฟัง ไม่ต้องเอามาเก็บไว้คนเดียว


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

คุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้บริหาร คุณแม่เป็นอาจารย์ ท่านเป็นคนใจเย็น รับฟังและให้เกียรติผู้ร่วมงาน และเปิดกว้างทางความคิด เราได้ความใจเย็นมาจากท่าน อย่างตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ท่านก็ไม่ได้บังคับว่าเราจะต้องเรียนอะไร ถ้าเราชอบอะไรท่านก็สนับสนุน รับฟังแต่ก็จะคอยชี้แนะแนวทางที่เหมาะสม

บุคคลต้นแบบในวิชาชีพ ท่านแรก ศ. พญ. นิจศรี ชาญณรงค์ (สุวรรณเวลา) เป็นต้นแบบในเรื่องการทำงาน การดูแลใส่ใจคนไข้และผู้ร่วมงาน อาจารย์ดูแลคนไข้และผู้ร่วมงานเป็นอย่างดี นุ่มนวล ทำให้คนไข้และผู้ร่วมงานกล้าที่จะปรึกษา สามารถเข้าหาได้ง่าย การพูดจาเข้าใจง่าย และเป็นต้นแบบในความเป็นครู การสอนนิสิตแพทย์ แพทย์รุ่นน้อง มีเทคนิคการพูด การสอนที่เข้าใจได้ง่ายไม่น่าเบื่อ และอาจารย์ยังพัฒนา การสอน การอธิบายอยู่ตลอด มีการสร้างแรงจูงใจและให้กำลังใจที่ดี คิดในแง่บวกเสมอ และทำให้ตัวเองเลือกที่จะเรียนต่อด้านประสาทวิทยาและ Stroke และดีใจที่ได้มีโอกาสร่วมงานร่วมดูแลคนไข้กับอาจารย์

ท่านที่สอง คือ ศ. นพ. กัมมันต์ พันธุมจินดา อาจารย์เป็นผู้ที่ทำให้ชอบวิชาประสาทวิทยา เป็นต้นแบบในเรื่องวิธีการคิด การ approach คนไข้ การดูแลคนไข้ การตรงต่อเวลา

ท่านที่สาม คือ ผศ. พญ. มัทนา หาญวนิชย์ เป็นต้นแบบของการเป็นแพทย์และครูแพทย์ อาจารย์จะดูแลคนไข้รอบด้าน เป็นองค์รวม holistic ดูแลห่วงใยไปถึงญาติ ครอบครัว ผู้ดูแล คนไข้และญาติจะอุ่นใจที่อาจารย์เป็นเจ้าของไข้สามารถโทรปรึกษาอาจารย์ได้ตลอด อาจารย์ใส่ใจมาก มีจิตวิญญาณของแพทย์จริง ๆ


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ทำดีที่สุดกับ ความรู้คู่คุณธรรม ทำดีที่สุด ตามความสามารถ ตามกำลังของเรา เพราะถ้าเราตั้งใจทำงานให้เต็มที่ เราจะไม่เสียใจทีหลัง และไม่เสียโอกาสที่ควรจะทำได้ตามกำลังของเรา อีกคติหนึ่ง คือ ความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งเป็นคติของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ คนเราควรต้องมีทั้งสองอย่าง คือเป็นทั้งคนเก่งด้วย และเป็นคนดีด้วย ต้องมีคู่กัน


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

การแพทย์ของเมืองไทยมีการพัฒนาไปมาก โดยเฉพาะทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ในด้านของ basic science และการวิจัยก็พัฒนามากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลาย ๆ ด้าน ทิศทางในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น ซึ่งแพทย์ต้องเรียนรู้ ปรับตัวและทำให้เกิดประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีให้มากที่สุด ที่น่าเป็นห่วง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับแพทย์ที่ไม่ค่อยเหมือนเดิม ดูห่างเหินกันมากขึ้น กลายเป็นผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ คงต้องเน้นเรื่องการสื่อสารมากขึ้น


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

สำหรับแพทย์รุ่นใหม่ต้องมีใจรักในงานที่ทำรักในความเป็นแพทย์ รักคนไข้ เอาใจเขามาใส่ใจเราพูดคุยอธิบายสื่อสารกับคนไข้และญาติให้มากขึ้นพร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ รู้จักใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด แต่จะต้องไม่ลืมว่าการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้การซักประวัติ ตรวจร่างกายยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญ และควรต้องให้เวลากับครอบครัวและตัวเองด้วย รวมทั้งออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ

 

PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก