“แน่นอนคนเราต้องผิดพลาดกันบ้าง แต่หลังจากที่ล้มแล้ว สิ่งสำคัญคือทำอย่างไร ให้ลุกกลับขึ้นมาใหม่ได้เร็ว เหมือนตุ๊กตาล้มลุก”
รศ. นพ. ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ
สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาและวิจัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ประธานวิชาการ ชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย
ประธานวิชาการ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 115 ปี 2563
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคหัวใจ
เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหตุผลที่เลือกเรียนแพทย์ เนื่องจากชอบวิชาชีววิทยา และรู้สึกว่าเป็นวิชาที่ได้ช่วยคน อีกส่วนหนึ่งครอบครัวก็อยากให้เรียนแพทย์ด้วยตอนเอนทรานซ์ ติดที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เหตุที่อยากเรียนอายุรศาสตร์ เพราะอายุรศาสตร์เป็นรากฐานของวิชาแพทย์แขนงต่าง ๆ มากมาย หากเรียนรู้ให้ดีจะสามารถช่วยเหลือผู้คนได้มาก โดยในขณะนั้นมี รศ. นพ. วันล่า กุลวิชิต อาจารย์ประจำหน่วยอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ เป็นแรงบันดาลใจ จึงตามรอยอาจารย์ จบจาก จุฬาฯ และไปใช้ทุนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เป็นแพทย์ใช้ทุนอายุรศาสตร์ที่ มอ. 4 ปี
จุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้ง คือ ตอนไปเจอ ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย อาจารย์เป็นปูชนียบุคคลอันเป็นที่เคารพรักยิ่งของ มอ. อาจารย์มีความรู้กว้างขวางและลึกซึ้ง เข้าใจอะไรอย่างถ่องแท้ เนื่องจาก อ. วันล่า เคยบอกไว้ว่า หากได้มา มอ. ให้ไปเรียนกับอาจารย์ให้ได้มาก ๆ อาจารย์จะเริ่ม round คนไข้ตอนสองทุ่มวันอังคาร ผมก็จะพยายามไปเรียนกับอาจารย์ให้บ่อยครั้งที่สุดในทุก ๆ ครั้งที่ไม่ได้อยู่เวร ซึ่งได้เรียนรู้จากอาจารย์มากมาย อาจารย์สอนให้ตั้งคำถาม และฝึกกระบวนการคิดหาคำตอบ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง หลังจากที่จบอายุรศาสตร์จาก มอ. อยากจะเรียนต่อแผนกหัวใจ ที่รพ.รามาฯ ได้รับความกรุณาจาก อ.ธาดา เขียนจดหมายแนะนำตัวให้ การที่อาจารย์ให้เกียรติเขียน letter of recommendation ให้นั้นนับเป็นเกียรติสูงสุดของชีวิต เมื่อได้เข้ามาเรียนที่แผนกโรคหัวใจที่ รพ.รามาฯ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากด้วยเนื้อหาวิชาที่ชอบตั้งแต่แรกและบรรยากาศการเรียนที่เป็นกันเอง อาจารย์สอนสนุก และเพื่อนร่วมงานดี เป็นสองปีที่ได้เจอผู้คนในสถานที่ใหม่ ๆ และได้โอกาสพัฒนาตัวเองในหลาย ๆ ด้านมาก
หลังจากนั้น เรียนเฉพาะทางด้านหัวใจที่ รพ.รามาฯ 2 ปี สนใจในกลุ่มงานที่เกี่ยวกับ cardiac imaging ซึ่งได้รับความกรุณาจาก อ. พญ. อรพร สีห์ ช่วย ติดต่อ รศ. นพ. อดิศัย บัวคำศรี ที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่ง อ. อดิศัย เป็นรุ่นพี่ที่จบจากรามาฯ ช่วยส่งจดหมายติดต่อไปที่ Cleveland clinic, Ohio, U.S.A. รอไปเรียนที่นี่ 1 ปี และหลังจากนั้นไปเรียนในปีถัดไป
ปีแรก ไปเป็น Research fellow มีหน้าที่เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล พยายามนำเสนอผลงานวิจัยตีพิมพ์ ผมบอกเขาว่าผมอยากทำ Clinical fellow อยากดูคนไข้ อยากนำวิชาความรู้ที่ทันสมัยกลับมาช่วยเหลือคนไข้ในประเทศไทย เขาให้เงื่อนไขว่า เราต้องทำผลงานวิจัยได้ 3 ชิ้น เสร็จภายใน 1 ปี และได้ตีพิมพ์ สุดท้าย ก็ทำได้ ซึ่งเจ้านายผมในขณะนั้นคือ Professor Thomas Marwick จึงไปคุยกับ program director ให้พิจารณาให้ได้เรียน MRI พร้อมกับ Echo ในปีเดียว ผมจึงได้เป็น Clinical fellow ในปีที่ 2 ส่วนในปีที่ 3 ผมเห็นว่ามีเรื่องวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนหัวใจ การรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว ซึ่งตอนนั้น รพ.รามาฯ ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ จึงปรึกษากับอาจารย์หลายคน รวมถึง ศ. นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา ซึ่งอาจารย์ก็เห็นด้วย สุดท้ายจึงได้เข้าไปเรียน เป็นปีที่สนุก ได้เรียนรู้ศาสตร์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเรียนมาก่อนในประเทศไทย ได้เจอคนไข้หลากหลาย และทำหัตถการมากมาย ทำให้มี connection จนถึงทุกวันนี้ หลังจากเรียนจบก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี จนถึงปัจจุบัน
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
เริ่มที่การเป็นแพทย์ก่อน คือ เป้าหมายของการรักษา ผมตั้งใจเอาความรู้ที่เรียนมาจากต่างประเทศมาพัฒนา ศาสตร์ที่เรียนมาก็เกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจ
ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มโปรแกรมการเปลี่ยนหัวใจครั้งแรกในรามาธิบดีได้สำเร็จ ถือว่าเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์ที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น การใส่อุปกรณ์หัวใจเทียม ที่เรียกว่า LVAD การดูแลคนไข้ที่ต้องใช้ ECMO รวมถึงการก่อตั้งคลินิกเพื่อผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวทั้งหมดเกิดขึ้นตอนช่วงที่ผมกลับมา และพยายามสร้างของพวกนี้ขึ้นมาทีละชิ้น หลังจากนั้นก็เริ่มหารุ่นน้องที่มีความสนใจทางด้านนี้มาทำต่อให้ผ่อนลงมาบ้าง จะได้ทำการศึกษามากขึ้น
เป้าหมายการเรียนการสอน ตอนนี้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาและวิจัย ผมต้องมีการบริหารเกี่ยวข้องกับการวางแผนหลักสูตรใหม่ เกี่ยวกับการทำ Simulation Center ซึ่งเราอาศัยหุ่นจำลอง หรือแบบจำลองเพื่อใช้ในการสอนนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน นี่เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมถึงการเรียนการสอนด้วย ผมเป็นคนที่ชอบสอนและมีความสุขที่ได้สอน
เป้าหมายด้านการวิจัย ต้องยอมรับว่าทำน้อยลง ถ้าเทียบกับตอนที่อยู่ต่างประเทศ เพราะว่าเวลาของเราจะถูกแบ่งไปกับการดูแลผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย อาศัยการลงแรง อาศัยเวลาที่ต้องทุ่มเท ประคับประคองช่วงหลังผ่าตัดจนผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้
งานวิจัยเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลว ที่กำลังพัฒนากับทางภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คือ การพัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนด้วยวัสดุฉลาด ก็ได้รางวัลเหรียญทองระดับนานาชาติที่ประเทศเยอรมัน ก็หวังว่าจะเป็นนวัตกรรมที่ไว้ใช้ในการรักษาผู้ป่วย Heart failure with preserved LV ejection fraction (HFpEF) ที่มีหัวใจล้มเหลวน้ำท่วมปอด บ่อยครั้งต้องเข้าโรงพยาบาลหลายรอบจนกระทั่งไม่มีการรักษา ไม่สามารถทำการผ่าตัดทั่วไปได้ เป็นสิ่งที่อยากจะทำเพิ่มต่อไป
สำหรับเป้าหมายด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการเป็นแพทย์ ดำรงตำแหน่งประธานวิชาการของชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย ประธานวิชาการ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ สิ่งที่เรามองในแง่ของบทบาทของสมาคมหรือชมรม คือ ในฐานะองค์กรวิชาชีพผู้ซึ่งให้ความรู้กับสังคม ก็ได้จัดทำแนวทางการปฏิบัติ หรือ guideline ของภาวะหัวใจล้มเหลวให้ออกมา รู้สึกดีใจที่ผลักดันได้สำเร็จและอาศัยความร่วมมือจากอาจารย์หลายสถาบันที่ช่วยกัน ในส่วนสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ ก็คงออกมาในรูปของการจัดประชุมวิชาการ กิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งจะให้ความรู้ออกไปสู่โรงพยาบาลที่ห่างไกล เช่น วิชาการสัญจร ที่เราออกไปต่างจังหวัด
ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร
เป้าหมายที่จะสำเร็จได้จะประกอบด้วยหลายปัจจัย ทั้งภายใน และภายนอก ปัจจัยภายในเริ่มจาก ปัจจัยแรก passion ความอยากที่จะทำ ถ้ามีเป้าประสงค์มีความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ผมเชื่อว่าปัญหาอะไรก็แก้ไขได้ เช่น เรากำลังจะตั้งศูนย์ที่มีการปลูกถ่ายหัวใจขึ้นมา เราต้องเริ่มต้นหาความรู้ว่า เรามีทรัพยากรบุคคลมีสถานที่แค่ไหน ถ้าจะทำจริง ต้องมีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง กว่าจะได้บุคลากรที่จะมาร่วมงานทีละคนก็ไม่ง่าย กว่าที่เราจะ convince ให้เขารู้สึกว่าทำร่วมกัน หลังจากนั้นก็ต้องขอ Top-down support ต้องยอมรับว่า ผมได้รับความเมตตาเอ็นดูจากอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านที่สนับสนุนโครงการให้เกิดขึ้นได้ จากนั้นก็ไปรวบรวมประชาสัมพันธ์ ว่าต้องการเลือกคนไข้ที่เหมาะสม ต้องอาศัยเครือข่ายที่มีรุ่นพี่รุ่นน้องที่จบไป ช่วยกันส่งเคสกลับมาให้เราได้ทำ ก็ต้องเรียนรู้ลองผิดลองถูกหลายครั้ง สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก คือความเพียรพยายาม แน่นอนเราต้องผิดพลาดบ้าง แต่หลังจากที่ล้ม เราทำอย่างไรให้ลุกกลับขึ้นมาใหม่ได้เร็ว เหมือนตุ๊กตาล้มลุก
ปัจจัยต่อมา กัดไม่ปล่อย เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่า ต้องทำให้สำเร็จ ก็ต้องทำให้สำเร็จ ผิดพลาดก็เรียนรู้ไป อย่าทำให้เกิดซ้ำอีก เรียนรู้จากความผิดพลาดเดิม ผมมั่นใจว่าถึงจุดหนึ่งก็ต้องเก่งขึ้น ทำได้ดีขึ้น
มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
ส่วนใหญ่จะมองเป็นส่วนที่แก้ไขได้กับส่วนที่แก้ไขไม่ได้ ถ้าเป็นส่วนที่แก้ไขไม่ได้จริง ๆ เราคงต้องยอมรับมันว่า เราทำเต็มที่แล้ว ทำได้แค่นี้ เช่น อยากจะจัดงานอะไรบางอย่าง แต่โควิดเข้ามา ซึ่งคงทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ยอมรับไป นี่คือสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่อะไรที่เกิดจากตัวเราเอง และเราทำไม่เต็มที่หรือว่าเราทำไม่ดีพอ และแก้ไขได้ก็เรียนรู้ไปว่า น่าจะทำได้ดีกว่านี้ในครั้งต่อไป
ในอดีตที่ผ่านมาเวลาประสบปัญหาแก้อย่างไร หรือปรึกษาใคร
ก็คงเหมือนกับทุกคนที่การดำเนินชีวิตต้องเจอกับปัญหาคนที่ผมปรึกษาบ่อยที่สุดก็คงเป็นครอบครัวคือคุณแม่ และ ศ. นพ. สุรเดช หงส์อิง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาที่สามารถคุยได้ทุกเรื่อง หากถ้าเป็นเรื่องงานหลายครั้งที่มีปัญหาก็จะขอคำปรึกษาจากอาจารย์ผู้ใหญ่ เช่น ศ. นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา เป็นคนหนึ่งที่ผมโทรหาทุกครั้ง ผศ. นพ. ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ เป็นอีกหนึ่งคนผมปรึกษาบ่อยครั้ง ผศ. นพ. ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา เป็นอีกคนหนึ่งที่ผมปรึกษาบ่อยครั้งเช่นกัน ข้อดี คือ ทำให้เราเห็นตัวเอง ถ้าคนที่เขาดีกับเราจริง ๆ เขาจะกล้าวิพากษ์ วิจารณ์เราตรง ๆ โดยที่เขารู้ดีว่า คำติติงของเขานั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เรารู้สึกแย่หรือว่าเสียใจ แต่ตั้งใจทำให้เราดีขึ้น
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิต หรือการทำงาน
คนแรก คือ รศ. นพ. วันล่า กุลวิชิต อาจารย์เป็นต้นแบบ ของความเป็น Evidence based person สามารถติดตามข่าวสาร รู้เท่าทันเปเปอร์ อาจารย์จะไม่พูดอะไรที่อาจารย์ไม่คิดว่าอาจารย์ชัวร์ ถึงแม้อาจารย์คิดว่าชัวร์แล้ว ก็ต้องชัวร์มากจริง ๆ นั่นเป็นต้นแบบที่ดีว่า สิ่งที่จะพูด ต้องมั่นใจจริง ๆ ว่ามันถูก และจะไม่ไปทำร้ายใคร และมีประโยชน์ ผมต้องใช้เวลาหลายปี ค่อย ๆ เติบโตขึ้น และเรียนรู้สิ่งนี้
คนที่สอง ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย อาจารย์เป็นต้นแบบของความคิด อาจารย์เป็นคนที่มีความช่างสงสัยตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตค้นหาคำตอบ การได้ไปเห็นบรมครูระดับปรมาจารย์ตรวจร่างกายคนไข้ ค่อย ๆ สอน เปิดเอกซเรย์ เปิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจทีละใบ และถามคำถาม ซึ่งหลายคำถาม อาจารย์ก็บอกตรง ๆ ว่าไม่รู้คำตอบ อาจจะไม่มีใครรู้เลยก็ได้ แต่เป็นการจุดประกายความคิดของเด็กคนหนึ่งอย่างมาก ณ จุดนั้น เวลาที่เราตอบคำถามอะไร จะต้องมีความคิดที่เป็นตรรกะ ต้องรู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลกัน ซึ่งยังนำมาใช้จนถึงทุกวันนี้อาจารย์ทำให้ผมเป็นผมในวันนี้ ถ้าไม่มีสิ่งที่ได้เรียนรู้กับอาจารย์ตลอดช่วงที่อยู่ที่นั่น ก็อาจจะไม่ได้มายืนถึงจุดนี้
คนที่สาม ศ. นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา อาจารย์มีคุณสมบัติเหมือนชื่อของอาจารย์มาก คือเป็นมิตรอันเป็นที่รักของทุกคน ไม่เห็นมีใครที่เป็นศัตรูกับอาจารย์ อาจารย์เป็นคนที่มีความเป็นผู้นำมีความสามารถในการประนีประนอมกับคนมาก ผมได้เรียนรู้ว่า การเป็นคนที่มีคนรักเยอะ ๆ มันดีจริง ๆ ใครจะขอความช่วยเหลืออะไร ก็สะดวกสบายไปหมด การปกครองคนโดยใช้พระคุณ ไม่ใช้พระเดช เป็นอย่างไร นี่เป็นแบบอย่างของการเป็นผู้นำ และอาจารย์สามารถนำองค์กร พัฒนาองค์กรได้อย่างดี โดยที่ได้รับความร่วมมือจากลูกน้องทุกระดับเป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่น่านับถือมาก
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงในแง่เทคโนโลยีอยู่เหมือนกัน อาจจะมี AI เข้ามามากขึ้น และในอนาคตจะมีการผลิตแพทย์มามาก การวินิจฉัย เทคโนโลยี หรือการตรวจ จะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ เช่น เราสามารถกรอกข้อมูลบางอย่าง และอาศัยคอมพิวเตอร์ให้คำตอบว่า น่าจะเป็นอะไร เพราะฉะนั้นในสิ่งที่คนไข้หรือปุถุชนทั่วไปจะโหยหาในอนาคต คือ การเอาใส่ใจของแพทย์ และการให้รายละเอียด เขาอยากได้ Human touch มากขึ้น ผมว่าแพทย์ที่จะมีคุณค่าในอนาคต จะเป็นแพทย์ที่ให้ความใส่ใจกับคนไข้และครอบครัว คนไข้รู้สึกว่าอยากจะมาหา อยู่ด้วยแล้วมีความสุข แม้จะคุยด้วยเวลาสั้น ๆ ก็ยินยอมที่จะมา เขาไม่ได้รู้สึกว่า มาเพื่อจะให้ได้คำตอบของโรคที่จะเป็น แต่อาจจะมาเพราะแค่อยากมา และเขาก็ได้เจอ มันมีอะไรมากกว่าการที่มาสั่งยาและได้มาตรวจ นี่เป็นจุดที่อาจจะต้องมองให้มากขึ้น
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไปและแพทย์ในสาขาโรคหัวใจ ต้องถามตัวเองก่อนว่า passion คืออะไร อยากจะทำอะไร ชอบทำอะไร แค่ชอบอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำและมีความสุข อาจต้องนั่งเงียบ ๆ ถามตัวเองว่า ในอดีตที่ผ่านมา เวลาที่เราทำอย่างนี้ ทำไมเราถึงมีความสุขจังเลย หรือเรารู้สึกว่ามันมีความสนุกแล้วอยากทำมันอยู่เรื่อย ๆ จะรู้สึกไม่ทุกข์กับการทำงานมากนัก เพราะว่าการทำงานเต็มไปด้วยความสนุกที่อยากจะทำ ถ้าหาตรงนี้เจอถือว่าโชคดีมาก ต้องรู้ว่าตัวเองมี talent หรือพรสวรรค์อะไรบ้าง อาจจะยากกว่าหน่อยตรงที่ว่า อาจต้องให้ใครสักคนมาบอก โดยเฉพาะคนที่เข้ามาจะอยู่ใน field นั้นเป็นเวลานาน และเฝ้าติดตามคนพวกนี้อยู่และเขาค้นพบว่า เด็กพวกนี้มีพรสวรรค์เหลือเกินที่จะทำสิ่งนี้ได้แตกต่างจากคนอื่นทำ และถ้าเรา allign passion กับ talent ให้ไปด้วยกันได้ จะดีมาก ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขต่อไป