“การเป็นแพทย์คือการแก้ปัญหา ถ้าเราแก้ปัญหาให้ผู้อื่นได้ ความสำเร็จในวิชาชีพของเราจะตามมาเอง”
นพ. วิศิษฎ์ ประสิทธิศิริกุล
นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ระดับ 10 กรมควบคุมโรค
รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และแผนงาน สถาบันบำราศนราดูร
กรรมการสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 92 ปี 2564
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคไตที่ได้ทำงานทางด้านโรคติดเชื้อ
เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหตุที่เรียนแพทย์ เพราะตอนเด็กได้เห็นวารสารทางการแพทย์ก็รู้สึกสนใจ มีเรื่องเกี่ยวกับเชื้อโรค และมีโรคต่าง ๆ ที่ไม่เคยเห็น เป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างแรงบันดาลใจและชอบชีววิทยาสนใจในเรื่องเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตภายในร่างกาย และทางครอบครัวก็สนับสนุนเอนทรานซ์ติดที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เหตุการณ์ที่ประทับใจระหว่างเรียนปีที่ 4 ขึ้นหอผู้ป่วยอายุรกรรมเป็นวอร์ดแรก ได้ทำงานกับคนไข้ กับเพื่อนร่วมงาน ทำให้รู้สึกชอบ เราดูคนไข้และเอาปัญหาของเขาเป็นตัวตั้ง เพื่อจะไปค้นคว้าแก้ปัญหา และได้พบ ศ. นพ. ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล ซึ่งเป็น attending staff อาจารย์ไม่เพียงให้ความรู้ เฉพาะเรื่องวิชาการเชิงลึกในด้านโรคติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังให้ความรู้เรื่องระบาดวิทยา ที่มาของโรคติดเชื้อต่าง ๆ ในมุมมองเชิงกว้าง เมื่อพบกันอาจารย์จะทักทายว่า “วันนี้ล้างมือหรือยัง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญเรื่อง Infection control เป็นการกระตุ้นเตือนก่อนจับคนไข้และหลังจับคนไข้ก็จะทำให้ลดการแพร่เชื้อในสมัยก่อน โรคยอดฮิตในสมัยนั้น คือ MRSA ต่อมามีโอกาสเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งมาด้วยแขนขาอ่อนแรงจากภาวะ hypokalemia with hyperchloremic metabolic acidosis ร่วมกับภาวะ ovalocytosis หน้าที่ตอนนั้นคือ ต้องทำ acid loading test โดยการเจาะเลือดและเก็บปัสสาวะผู้ป่วยเพื่อแปลผล เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค distal renal tubular acidosis ทำให้ต้องค้นคว้าและเรียนรู้เรื่อง renal cell physiology แต่ก็ยังไม่เข้าใจมากนัก จนกระทั่งมีโอกาสไปฟังการบรรยายของ ศ. นพ. วิศิษฏ์ สิตปรีชา เรื่อง Renal tubular acidosis, Vanadium and Buffaloes จึงเข้าใจเคสนี้ทั้งหมด และรู้สึกประหลาดใจมากเรื่องผลสืบเนื่องของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและภาวะสุขภาพของคน ต่อมาเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ โรงพยาบาลบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี ในช่วงปีที่เกิดการระบาดของอหิวาตกโรค และมีการเพิ่มจำนวนผู้ป่วย HIV/AIDS มากขึ้น ในขณะนั้นทางโรงพยาบาลบำราศนราดูรเป็นแห่งเดียวที่ต้องรับส่งต่อผู้ป่วยเหล่านี้มาทำการรักษา ซึ่งทางโรงพยาบาลมีศักยภาพในระดับโรงพยาบาลชุมชน ไม่มีศักยภาพเรื่องเครื่องมือแพทย์มากนัก และไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วย HIV/AIDS ไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าได้ จึงคิดว่าตนเองน่าจะเรียนต่อเฉพาะทางในสาขาที่ทางโรงพยาบาลไม่เคยมีมาก่อน และสามารถช่วยรักษาผู้ป่วย HIV/AIDS โดยไม่ต้องส่งต่อ จึงเลือกเรียนเฉพาะทางด้านอายุรกรรม โดยเป็นแพทย์ประจำบ้านที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 ปี และเป็นแพทย์ประจำบ้าน ต่อยอดสาขาวิชาโรคไตที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีก 2 ปี เพราะยังฝังใจตั้งแต่คนไข้ที่เป็นโรค RTA จึงให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ จากนั้นกลับมาอยู่ที่ สถาบันบำราศนราดูร ทางด้านโรคติดเชื้อ แต่เวลาโรคติดเชื้อมีประเด็นเรื่องไตขึ้นมา ก็จะปรึกษาเรา จนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด
สิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดคือ การเป็นผู้ก่อตั้งหน่วยไตเทียมของสถาบันบำราศนราดูรช่วงที่ผมเรียนจบ เป็นเรื่องที่มีอุปสรรคพอสมควร เพราะมีความลำบากเรื่องวิธีการและข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมืออุปกรณ์ ตลอดจนการส่งพยาบาลไปเรียนต่อเป็นพยาบาลไตเทียม เรียกว่าเริ่มจากศูนย์ หลังจากจัดตั้งขึ้นมาได้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมาใช้บริการจำนวนมาก ทั้งจากนนทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ที่สำคัญคือ ได้มีโอกาสใช้หน่วยไตเทียมนี้ในการเริ่มฟอกเลือดช่วยชีวิตผู้ป่วย HIV/AIDS ให้รอดพ้นจากภาวะไตวายเฉียบพลัน ปัจจุบันผู้ป่วยหลายรายที่รอดชีวิตจากไตวายเฉียบพลันในช่วงนั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งคิดว่าเป็นอะไรที่คุ้มค่าจากการฟอกเลือดไม่กี่ครั้งเมื่อไตฟื้นการทำงานแล้วทำให้คนคนหนึ่งอยู่ต่อได้เป็น 20 กว่าปี
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ผมกับเพื่อนร่วมงาน พญ. วรรณรัตน์ พงศ์พิรุฬห์ และทีมพยาบาลไตเทียมเป็นผู้ทำการบำบัดทดแทนไตผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถรักษาชีวิตของผู้ป่วยรายนี้ไว้ได้ องค์ความรู้ดังกล่าวทำให้สามารถจัดตั้งทีมทำงานเพื่อฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งถูกส่งต่อมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยดำเนินการที่สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และโรงพยาบาลวิภารามปากเกร็ด
เรื่องที่สอง ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านปีที่ 3 และได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาวิชาโรคไตที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประสบการณ์ที่ได้รับนั้นทำให้เมื่อจบการศึกษาผมสามารถใช้วิชาความรู้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี
เรื่องที่สาม ได้รับทุนการศึกษาจาก AUSAIDS ไปศึกษาดูงานเรื่อง HIV/AIDS ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งขณะนั้นมีการใช้ยาต้านไวรัส HIV จนแทบไม่มีคนไข้นอนในโรงพยาบาล เหลือแต่การรักษาแบบผู้ป่วยนอกเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ช่วงนั้นคนไข้ HIV/AIDS ในประเทศไทย มีแต่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อฉวยโอกาสที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ปัจจัยแรก การมีสังคหวัตถุ 4 คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตา แน่นอนว่าวิชาชีพแพทย์นั้น ต้องทำงานร่วมมือกันกับทั้งเพื่อนร่วมวิชาชีพแพทย์ด้วยกันเองและวิชาชีพอื่น ๆ เช่น พยาบาล เภสัชกร และนักเทคนิคการแพทย์ ถ้าเรามีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมวิชาชีพไม่ดี งานก็ไม่มีทางสำเร็จ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือ บทเรียนสำคัญที่บำราศนราดูร กรณีการฟอกเลือดผู้ป่วย HIV/AIDS ที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่ต้องอาศัยความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีกับพยาบาลไตเทียม ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้การฟอกเลือดจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ปัจจัยที่สอง “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่งลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเองถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” คำสอนของสมเด็จพระราชบิดาเรื่องที่ทำได้ง่ายของคำสอนนี้สำหรับผม คือ ในความวุ่นวายสับสนเหน็ดเหนื่อยของการประกอบวิชาชีพแพทย์ การที่เราเสียสละเวลาของเราดูแลพูดคุยให้คำแนะนำกับผู้ป่วยและญาติชั่วครู่ โดยเข้าใจปัญหาของคนอื่น การเป็นแพทย์ คือการแก้ปัญหา ถ้าเราแก้ปัญหาให้ผู้อื่นได้ ประโยชน์ของเราก็จะตามมา เช่น ความสัมพันธ์ ความภาคภูมิใจ ความชำนาญในวิชาชีพ ถือว่าได้ปฏิบัติส่วนหนึ่งของคำสอน และผมยังคิดว่าคำสอนนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยได้ดีอย่างยิ่ง
ปัจจัยที่สาม การหยุดคิดประเมินทิศทางการดำเนินชีวิตเป็นระยะ เพื่อหาสมดุลการใช้ชีวิตในแต่ละช่วงวัย บางทีเราวุ่นวายกับการทำงานและทำมาหาเลี้ยงชีพมาก จนเผลอลืมเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การตั้งจุดมุ่งหมายย่อย ๆ ไว้ในแต่ละช่วงวัยของเรา จะช่วยให้เรามีความสุขกับครอบครัวและญาติมิตรตามอัตภาพได้
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร
สำหรับสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรคในการทำงานวิชาชีพแพทย์นั้น สำหรับผมถือว่าโชคดีมากที่ไม่ค่อยพบอุปสรรคที่เป็นปัญหาใหญ่ และเนื่องจากผมได้มีโอกาสพูดคุยสอบถามสิ่งที่สงสัยกับ ศ. นพ. วิศิษฏ์ สิตปรีชา ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ด้านการแพทย์และการใช้ชีวิตเป็นอย่างดี ทำให้เราแก้ปัญหาไปได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ส่วนอุปสรรคบางเรื่องที่ผมคิดว่าใช้เวลานานกว่าวงการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยจะสามารถยอมรับและปฏิบัติได้ คือ เรื่องการบำบัดทดแทนไตในผู้ติดเชื้อ HIV ผมทำการฟอกเลือดและล้างไตผ่านทางผนังช่องท้องผู้ติดเชื้อ HIV มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 พบว่าพัฒนาการและการยอมรับในการให้บริการบำบัดทดแทนไตในผู้ป่วยกลุ่มนี้ดำเนินไปช้ามาก อย่างไรก็ตาม ถือว่าผู้ติดเชื้อ HIV ในปัจจุบันมีโอกาสเข้าถึงการบำบัดทดแทนไตเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม แม้ว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มีความชัดเจน แต่สภาวะเรื่อง stigma และ discrimination ก็ยังมีกำแพงกั้นอยู่
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
แน่นอนว่าอยากจะกลับไปแก้ไขหลายเรื่อง แต่ในชีวิตจริงคงทำได้ยากในเรื่องส่วนตัว โดยเฉพาะเรื่องการให้เวลากับครอบครัว ในช่วงวัยที่เรายังทำงานวิชาชีพแพทย์เพื่อสร้างครอบครัว ในเมื่อแก้ไขอดีตไม่ได้ ผมจึงมีแนวคิดว่า เราควรชดเชย หรือทดเวลาที่เคยเสียไปให้กับครอบครัวแทน ส่วนในเรื่องการประกอบวิชาชีพแพทย์ ผมคิดว่าเราคงเคยมีข้อขัดแย้งในการทำงานกับเพื่อนร่วมงานอยู่บ้าง เหมือนลิ้นกับฟัน ถ้าจะให้แก้ไข ผมอยากจะเก็บคำพูดที่ไม่ใช่ปิยวาจาเหล่านั้นคืน
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ท่านแรกในส่วนของครอบครัวคงเป็นคุณพ่อและคุณแม่ ที่มีความขยันหมั่นเพียร ความสม่ำเสมอ มีจิตใจช่วยเหลือคน ทำบุญทำทานช่วยเหลือสังคมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวนำความสุขความเจริญมาสู่ชีวิตและครอบครัว
ท่านที่สอง ศ. นพ. ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล อาจารย์เป็นกันเองกับนักศึกษา และเป็นต้นแบบในเรื่องการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้เราไปค้นหาคำตอบ ชีวิตในการเป็นแพทย์เราไม่สามารถรู้ทุกอย่างได้ แต่สำคัญที่การตั้งคำถามที่ถูกต้อง และการหาคำตอบที่จะสามารถแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยได้
ท่านที่สาม ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย เป็นตัวอย่างในเรื่องของความใส่ใจต่อการเรียนรู้ของนักเรียนแพทย์ ทั้งในแง่ของวิชาการและแนวคิดการทำงาน น่าเสียดายที่ตอนนั้นผมอายุยังน้อย ในหลายเรื่องไม่สามารถจับประเด็นของอาจารย์ได้แต่เมื่อมาคิดย้อนไป ถ้าสามารถทำได้ คงเป็นแพทย์ที่มีความสามารถมากกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ในระยะที่มีโอกาสได้เข้าสู่การเป็นแพทย์ประจำบ้านมีโอกาสได้เรียนกับ ศ. นพ. วิศิษฏ์ สิตปรีชา ศ. นพ. เกรียง ตั้งสง่า และ ศ. นพ. สมชาย เอี่ยมอ่อง ซึ่งถือว่าอาจารย์ทั้งสามท่านได้ให้มุมมองทั้งเรื่องความรู้และแง่คิดการทำงานที่ผมสามารถปรับใช้แก้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ตลอดรอดฝั่งจนถึงบัดนี้
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
การดำเนินชีวิตยึดในทางสายกลาง ซึ่งต้องให้มีสมดุลระหว่างการงานและการใช้ชีวิต สำหรับหน้าที่แพทย์นั้นยึดถือหลักการเรื่องการพัฒนาตนเอง และยอมรับในข้อบกพร่องของตนเอง และแก้ไขข้อบกพร่องนั้น ผมถือว่าการค้นพบข้อบกพร่องของตนเองนั้นเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่จะช่วยให้ตัวเราพัฒนาขึ้น
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
ในยุคปัจจุบันที่โลกทั้งใบแทบจะเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว รูปแบบการดำเนินชีวิต การกินอยู่ การเดินทางของทั้งโลกจะมีความคล้ายคลึงกันมากปัญหาโรคภัยที่เกิดขึ้นในที่หนึ่ง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระจายต่อเนื่องกันไป ถ้าดูจากเรื่องความรู้ความสามารถด้านการแพทย์นั้น ประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วแต่อย่างใด สิ่งที่น่าห่วงกลับเป็นโครงสร้างสนับสนุนเรื่องเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยา วัคซีน และเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนเงินลงทุนพัฒนาวิจัยเวชภัณฑ์เหล่านั้นยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ควรเป็นทิศทางหลักที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาให้พึ่งตนเองได้
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
การเรียนแพทย์ในสมัยผม อาจารย์มักเตือนเสมอว่าให้เรียนรู้จากปัญหาของผู้ป่วยและอาศัยตำรามาช่วยแก้ปัญหา โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผมนึกถึงในยุคนี้ ที่เทคโนโลยีการสืบค้น เทคโนโลยีการใช้เครื่องมือแพทย์ หรือห้องปฏิบัติการช่วยวินิจฉัยเอื้ออำนวยให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันชุดข้อมูลเหล่านี้มีมากมายมหาศาล จนความถูกต้องน่าเชื่อถือเป็นที่น่ากังขา ดังนั้น ถ้าไม่ดูปัญหาของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง หรือไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนส่งตรวจ อาจทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายหรือทำให้มีความสับสนในการรักษาผู้ป่วย ผมคิดว่าการดูแลแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยและการมี doctor-patients relationship นั้นยังเป็นหัวใจสำคัญ อีกประเด็นหนึ่งคือ การมุ่งขีดวงจำกัดการศึกษาและรักษาแต่โรคที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพเฉพาะทางโดยละเลยประเด็นอื่น ในเรื่องนี้ได้ยินได้ฟังมาบ่อยมาก หรือแม้กระทั่ง ผมเองยังเคยตกหลุมพรางเรื่องนี้มาก่อนเช่นกัน เนื่องจากการจบอายุรศาสตร์เฉพาะทางนั้นต้องผ่านอายุรศาสตร์ทั่วไปเสียก่อน ถือว่าเรามีองค์ความรู้มาก การขีดวงจำกัดตนเองจะทำให้เสียโอกาสในการทำงาน เปิดมุมมองในด้านอื่น การทำงานช่วยเหลือคนอื่นได้มากในเชิงกว้างและเป็นจำนวนมาก เป็นการเพิ่มคุณค่าของแพทย์เฉพาะทางให้มีคุณค่ามากขึ้นกว่าที่จะช่วยคนอื่นได้น้อยในเชิงลึก
สำหรับแพทย์ทางด้านสาขาวิชาโรคติดเชื้อผมคิดว่าการจัดตั้งสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานข้ามสาขาเฉพาะทางที่สมาชิกมาจากหลายสาขาซึ่งมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV และการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ให้มีมาตรฐานที่เหมาะสมการบูรณาการแบบนี้ไม่ค่อยพบเห็นในสมาคมทางการแพทย์อื่น ๆ มากนัก นับว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจมากว่า ต่อไปจะสามารถพัฒนาไปยังสมาคมอื่นที่ต้องการผลักดันการแก้ปัญหาสาธารณสุขด้านอื่น ๆ ที่มีความสำคัญได้