CIMjournal
banner เด็กอ้วน เด็กเบาหวาน 3

Holistic Approach in Childhood Diabetes


พญ. ธนินี สหกิจรุ่งเรืองศ. พญ. ธนินี สหกิจรุ่งเรือง
ในสาขาวิชาต่อมไร้ท่อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการอบรมหลักสูตร HOLISTIC DIABETES MANAGEMENT AND DSMES สมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน พ.ศ. 2541 ในวันที่ 14 มิถุนายน 2565 

 

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes) จัดเป็นกลุ่มโรคที่มีภูมิคุ้มกันต่อตนเอง (autoimmune) ชนิดหนึ่ง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดโดยมีปัจจัยหลายอย่างส่งเสริมให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อตนเอง (autoantibody) ขึ้นมาทำลายเบต้าเซลล์ในตับอ่อนที่สำคัญ ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ที่อาจส่งเสริมให้เกิดโรค เช่น เสียสมดุลทางภูมิคุ้มกัน (hygiene hypothesis), การติดเชื้อไวรัสบางชนิด, การสูญเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ (intestinal microbiome) ฯลฯ สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย เป็นเบาหวานชนิดที่พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น ก่อนหน้าการค้นพบฮอร์โมนอินซูลินในปี ค.ศ. 1921 เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษา หมอมักสั่งการรักษาโดยใช้การอดอาหาร Starvation diet ซึ่งทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน และจะต้องเสียชีวิตลงทุกรายภายในเวลาไม่กี่ปี หลังจากการค้นพบอินซูลิน เบาหวานชนิดที่ 1 ก็เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ ในช่วงกว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา มีความพยายามอย่างต่อเนื่องของนักวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมการดูแลเบาหวาน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แต่ที่อินซูลินเท่านั้น ยังรวมถึงการศึกษาวิจัยที่ทำให้เข้าใจสาเหตุและกลไกของโรค การพัฒนายาลดระดับน้ำตาลกลุ่มใหม่ ๆ อุปกรณ์การวัดระดับน้ำตาล เข็มและอุปกรณ์การให้ยาอินซูลิน ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดหรือลดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ แต่ยังมุ่งหวังให้ผู้เป็นเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เช่นเดียวกันคนปกติทั่วไปให้มากที่สุด 

ในปี ค.ศ. 1993 ผลการศึกษาของ The Diabetes Control and Complications Trial (DCCT) แสดงให้เห็นว่าการควบคุมระดับ HbA1c ให้ใกล้เคียงคนปกติ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ของโรคเบาหวานอย่างชัดเจน เป้าหมายในการรักษาเบาหวานในปัจจุบันได้แก่

  • พยายามรักษาระดับน้ำตาลและ HbA1c ให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
  • ป้องกันการเกิด DKA และน้ำตาลต่ำในเลือดรุนแรง
  • ให้ผู้เป็นโรคเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการเจริญเติบโตที่ปกติทั้งร่างกายและจิตใจ
  • มีการวางเป้าหมายการรักษาโดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ และพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้เป็นเบาหวานแต่ละราย เน้นการให้ความรู้ ทักษะและปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เป็นเบาหวานได้บรรลุเป้าหมายและสามารถดูแลตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้


การดูแลเบาหวานในยุคใหม่มีความก้าวหน้าในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

ยาฉีดอินซูลินอนาล็อก (Insulin analog)
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาคุณสมบัติของยาฉีดอินซูลินเพื่อให้ใกล้เคียงการออกฤทธิ์ของอินซูลินในร่างกาย การหลั่งของอินซูลินในคนปกตินั้นจะประกอบด้วยอินซูลิน 2 ส่วนหลักได้แก่ อินซูลินพื้นฐาน (basal insulin) ซึ่งเป็นอินซูลินที่ตับอ่อนหลั่งออกมาในระดับต่ำ ๆ ระดับค่อนข้างคงที่เพื่อยับยั้งการสลายไขมัน และรักษาสมดุลระหว่างการสร้างน้ำตาลจากตับและการนำน้ำตาลไปใช้โดยเซลล์ต่าง ๆ และองค์ประกอบที่ 2 ได้แก่อินซูลินที่หลั่งในช่วงมื้ออาหาร (Prandial insulin) เพื่อนำพาน้ำตาลในเลือดเข้าเซลล์ต่างๆ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ  ตัวอย่างของยาฉีดอินซูลินอนาล็อก เช่นการพัฒนายาฉีดอินซูลินออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-Acting Insulin) เช่น Lispro (Humalog®), Aspart (Novorapid®), Glulisine (Aprida®) ซึ่งออกฤทธิ์ภายใน 5 – 15 นาทีหลังฉีด และระยะเวลาในการออกฤทธิ์ 3 – 5 ชม. ซึ่งทำให้บริหารยาสะดวกกว่า Regular Insulin (RI) ซึ่งต้องฉีดก่อนรับประทานอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง และพบว่า rapid-acting insulin ลดความถี่การเกิดน้ำตาลต่ำในเลือดโดยเฉพาะหลังอาหาร สำหรับอินซูลินพื้นฐาน แต่เดิมใช้อินซูลินน้ำขุ่นซึ่งออกฤทธิ์ยาวปานกลาง ได้แก่ NPH insulin ซึ่งมีข้อจำกัดตรงการดูดซึมและการออกฤทธิ์ของยาไม่แน่นอน มีโอกาสเกิดน้ำตาลต่ำในเลือดหากรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ปัจจุบันมีการพัฒนา long-acting insulin analogue เช่น glargine (Lantus®/ Toujeo®), detemir (Levemir®), degludec (Tresiba®) ซึ่งออกฤทธิ์ยาวและไม่มี peak ของยาซึ่งใช้เป็นอินซูลินพื้นฐานได้ดี หลายการศึกษาพบว่าการใช้ long-acting analog เมื่อเทียบกับ NPH พบว่าลดความถี่ของการเกิดน้ำตาลต่ำในเลือดและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ยังมีการพัฒนาอินซูลินชนิดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็วขึ้นอีก ภายใน 2 – 5 นาที เช่น ultra-fast aspart หรือ Ultra-rapid Lispro รวมถึงอินซูลินพื้นฐานที่ออกฤทธิ์ยาวมาก ได้แก่ อินซูลิน Icodec ที่สามารถฉีดยาเหลือเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งได้ ซึ่งยังอยู่ในการพัฒนาและศึกษาวิจัย

วิธีการให้อินซูลิน (Insulin regimen)
โดยทั่วไปการฉีดอินซูลินเพียง 1 – 2 ครั้งต่อวันในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 (conventional therapy) มักไม่เพียงพอในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติในผู้ที่ขาดอินซูลินรุนแรง การรักษาในยุคปัจจุบันจึงแนะนำการฉีดอินซูลินแบบ basal-bolus โดยการให้อินซูลินออกฤทธิ์สั้น (short หรือ rapid-acting insulin) ก่อนอาหารหลัก 3 มื้อ โดยปรับขนาดยาตามสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตที่รับประทานและระดับน้ำตาลตั้งต้นและให้อินซูลินออกฤทธิ์ยาวก่อนนอน โดยการฉีด (multiple daily injection) หรืออาจใช้ วิธีให้อินซูลินเข้าใต้ผิวหนังอย่างต่อเนื่องโดยใช้ insulin pump โดยการให้ rapid-acting insulin ขนาดต่ำ ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นอินซูลินพื้นฐาน และให้ bolus dose ก่อนรับประทานอาหารเช่นเดียวกับ multiple daily injection ข้อดีในการให้อินซูลินแบบ basal-bolus คือความยืดหยุ่นในการบริหารยา ลดโอกาสเกิดน้ำตาลต่ำในเลือด, การออกฤทธิ์ของอินซูลินคล้ายคลึงกับธรรมชาติมากกว่า ข้อเสียคือเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องฉีดยาหลายครั้งรวมถึงการฉีดยาที่โรงเรียน ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการนับคาร์โบไฮเดรตและการปรับยา ต้องร่วมมือในการตรวจน้ำตาลในเลือดอย่างเหมาะสม ข้อจำกัดต่าง ๆ ดังกล่าวอาจมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและค่า HbA1c

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง (Self-monitoring of blood glucose)
ความก้าวหน้าของการดูแลเบาหวานในยุคใหม่ส่วนหนึ่งที่สำคัญเกิดจากการพัฒนาของเครื่องมือการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง เครื่องมือปัจจุบันมีขนาดเล็ก ใช้ปริมาณเลือดน้อยและให้ค่าที่แม่นยำสูง โดยทั่วไปแนะนำให้ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เจาะระดับน้ำตาลปลายนิ้วอย่างน้อย 4 ครั้งต่อวัน เป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งในการดูแลโรคเบาหวาน การศึกษาพบว่าความถี่ของการตรวจระดับน้ำตาลด้วยตนเองเป็นปัจจัยสำคัญต่อการลดลงของค่า HbA1c ปัจจุบันยังมีการพัฒนาเครื่องตรวจน้ำตาลแบบ continuous glucose monitoring (CGM) ซึ่งใช้อุปกรณ์จับสัญญาณ (sensor) วัดระดับน้ำตาลในชั้นใต้ผิวหนัง (interstitial glucose) ซึ่งข้อดีคือให้ข้อมูลระดับน้ำตาลในเลือดที่สมบูรณ์กว่า บอกแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลได้ดี มีระบบเตือนเมื่อน้ำตาลผิดปกติ มีประโยชน์ในการวางแผนการรักษา ใช้เป็นเครื่องมือสื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจกระบวนการควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังเป็นเครื่องมือที่ราคาแพงและยังไม่สามารถใช้ทดแทนการเจาะตรวจน้ำตาลปลายนิ้วได้อย่างสมบูรณ์ 

ตับอ่อนเทียม (artificial pancreas)
คือความพยายามที่จะพัฒนาการให้อินซูลินในโรคเบาหวานชนิดที่ 1 โดยเลียนแบบการทำงานของตับอ่อนให้มากที่สุด ตับอ่อนเทียมจะอาศัยองค์ประกอบ 3 อย่างได้แก่ เครื่องให้อินซูลินแบบต่อเนื่อง (insulin infusion pump), เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลต่อเนื่อง (continuous glucose sensor) และระบบประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลและคำนวณการให้อินซูลิน (Artificial intelligence) เป้าหมายเพื่อพยายามรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่มากที่สุด ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวนำมาใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ยังไม่ได้นำมาใช้ในผู้เป็นเบาหวานโดยทั่วไป เนื่องจากยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาแพง และยังเข้าถึงได้จำกัด

กำลังใจ: สิ่งสำคัญในการรักษา
กำลังใจนับเป็นสิ่งสำคัญในการรักษา ทั้งจากครอบครัว เพื่อน คุณครูและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตอย่างคนปรกติ ผู้ป่วยเบาหวานตั้งแต่เด็กจำนวนมาก หากสามารถดูแลควบคุมเบาหวานได้ดีจะสามารถใช้ชีวิตจนประสบความสำเร็จ เช่น เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร หรือศึกษาสำเร็จระดับปริญญาเอก แต่ปัจจุบันเด็กผู้เป็นเบาหวานหลายครอบครัวยังขาดปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถึงยาอินซูลินชนิดใหม่ ๆ การขาดแคลนอุปกรณ์การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม หัวใจของการดูแลเบาหวาน ไม่ใช่เพียงแค่ยาอินซูลินและเทคโนโลยีราคาแพงเท่านั้น แต่ต้องประกอบด้วยการรับประทานอาหารสุขภาพที่มีสารอาหารครบทุกหมู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ออกกำลังกายให้เหมาะสมตามวัย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และการดูแลอารมณ์และจิตใจควบคู่ไปด้วย หากได้รับการสนับสนุนประคับประคองที่เหมาะสม เด็ก ๆ กลุ่มนี้ก็จะเติบโตเป็นอนาคตที่สำคัญของประเทศชาติต่อไป

 

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก