แนวโน้มการรักษาทางการแพทย์มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนางานบริการดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อช่วยให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำยิ่งขึ้น มีแผนการรักษาที่มีความเหมาะสมต่อผู้ป่วยเฉพาะรายมากขึ้น มีการติดตามผู้ป่วยที่ดีขึ้น ประยุกต์ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลโดยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligent, AI) เพื่อพัฒนาการรักษาอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการรักษาทางการแพทย์ มีดังนี้
- การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (ICT) เพื่อให้แพทย์เข้าถึงผู้ป่วยเพื่อการวินิจฉัย รักษา รวมถึงให้คำปรึกษาตอบข้อสงสัยต่าง ๆได้จากระยะไกล เช่น การทำแพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกลสำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและภาวะสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง หรือแพลตฟอร์มเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ด้านสุขภาพ ช่วยให้แพทย์สามารถให้บริการแก่ผู้ป่วยได้จากระยะไกล
- ยีนบำบัด (Gene therapy) เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคโดยการปรับปรุงสารพันธุกรรมที่ผิดปกติ โดยมีตัวอย่างโรคที่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องบางชนิด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเอดส์ และโรคทางพันธุกรรมที่เป็นแต่กำเนิด เป็นต้น
- เครื่องมือแพทย์ (Therapeutic devices) มีความจำเพาะกับผู้ป่วยมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้หาสาเหตุของโรคได้ลงถึงระดับเซลล์ ทำให้มีการคิดค้นวิธีดูแลรักษาที่มีความจำเพาะกับผู้ป่วยแต่ละราย และสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาในผู้ป่วยบางรายได้ดีขึ้น เช่น อุปกรณ์ช่วยบำบัดผู้ป่วยที่มีอาการมือสั่นจากโรคพาร์กินสัน ระบบอัลตราซาวด์สำหรับโรคทางระบบประสาทและจิตเวช เป็นต้น
- การบำบัดด้วยดิจิทัล (Digital therapeutics, DTx) เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเสริมหรือแทนที่การบำบัดแบบเดิม ช่วยลดต้นทุนการรักษา ลดผลข้างเคียงให้น้อยกว่าการรักษาแบบเดิม เช่น แพลตฟอร์มเล่นเกมเพื่อการบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อเสื่อม หรือแอปพลิเคชันช่วยคลายกังวลสำหรับผู้ที่มีความเครียด เป็นต้น
- ยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (Personalized Medicine) เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนายาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนทั้งด้านพันธุกรรม ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ หรือการตอบสนองต่อยา โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Bid data) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษา เช่น การพัฒนายาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย ในโรคแพ้ภูมิตนเอง โรคปลอกประสาทเสื่อม โรคทางระบบประสาท เป็นต้น
- การทำ Biohacking เป็นเทคโนโลยีที่เข้าไปปรับการทำงานทางชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพร่างกายและจิตใจในด้านต่าง ๆ รวมถึงการป้องกันโรค เช่น แพลตฟอร์มเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพส่วนบุคคล การพัฒนาผลิตภัณฑ์บำบัดเพื่อสุขภาพผิว ผม และการปรับปรุงสุขภาพโดยรวม
- การบำบัดด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง (Immersive treatments) ช่วยให้ผู้ป่วยได้สัมผัสประสบการณ์สมจริงเพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาสุขภาพกายและจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เช่น แพลตฟอร์มแก้ปัญหาสุขภาพจิต หรือการบำบัดด้วยเกมที่มีการใช้เทคโนโลยี VR เป็นต้น
- การผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally invasive surgery) เป็นเทคโนโลยีลดความเจ็บปวด ลดระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นให้น้อยลง เช่น หุ่นยนต์ผ่าตัดหลอดเลือดและการผ่าตัดทางระบบประสาท ผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นต้น
- นาโนบำบัด (Nano therapeutics) นวัตกรรมการนำส่งตัวยาออกฤทธิ์ให้ถึงเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการใช้อนุภาคระดับนาโนต่าง ๆ อาทิ ไลโบโซม อนุภาคนาโนทองคำ ช่วยปรับปรุงความสามารถในการละลาย การปลดปล่อยยา และมีความจำเพาะต่อเป้าหมายที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์ เป็นต้น
- การรักษาแบบผสมผสาน (Combination therapy) ช่วยเพิ่มผลลัพธ์ในการรักษา อาทิ การใช้ยาสองรายการควบคู่กัน การใช้ยาควบคู่กับการรักษาวิธีอื่น เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด เป็นต้น
แนะนำอ่านเพิ่มเติม
แนวโน้มการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีเสมือน
แนวโน้มการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลในปี 2024
- https://www.startus-insights.com/innovators-guide/medical-treatments-trends/
- https://www.startus-insights.com/innovators-guide/personal-care-industry-trends/
- https://cimjournal.com/doctor-life/10-health-trends-do-not-know/