เป็นที่ทราบกันดีว่าการบริหารองค์กรต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน การบริหารสถานบริการสุขภาพก็เช่นเดียวกัน สถานบริการมีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวก ทั้งแก่บุคลากรผู้ให้บริการและผู้ป่วยที่รับบริการ โดยให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้งาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่อง และได้รับความคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวอย่างรัดกุม
สำหรับนวัตกรรมที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการนำมาใช้ในการบริหารสถานบริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ต่อทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการทางด้านสุขภาพ อาจแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้
ด้านการปฏิสัมพันธ์กับผู้รับบริการ
- การติดตามผลทางไกล (Remote patient monitoring) จะทำให้สามารถติดตามผู้ป่วยได้ตลอดเวลาโดยอาศัยวิธีการติดต่อสื่อสารด้วยวิดีโอ หรือระบบการแจ้งเตือนจากการติดตามข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์ตรวจวัดและติดตามที่ผู้ป่วยสวมใส่อยู่ อาทิ ระดับน้ำตาลในเลือด ชีพจร ความดันโลหิต ซึ่งจะทำให้การพิจารณาและตัดสินใจให้การรักษาเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีความถูกต้อง โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายและไม่จำเป็นต้องเสียแรงงานบุคลากรผู้ให้บริการเฝ้าติดตามผู้ป่วยตลอดเวลาอีกด้วย
- การแพทย์ทางไกล (Telehealth) จะช่วยให้ผู้รับบริการสามารถเข้าพบแพทย์หรือบุคลากรการแพทย์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมาที่สถานบริการทางสุขภาพด้วยตนเอง โดยอาจมีการใช้วิธีการนี้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ อาทิ เทคโนโลยีเสมือนจริง (virtual reality) เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับประสบการณ์ที่ดีและมีความพึงพอใจในการให้บริการ เสมือนว่าได้มาพบบุคลากรการแพทย์ด้วยตนเอง ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาที่สถานบริการ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางเพื่อมารับบริการ
ด้านอุปกรณ์และเครื่องมือ
- หุ่นยนต์ในสถานพยาบาล (Hospital robots) จะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการทำงานหลายด้านภายในสถานบริการ ตั้งแต่เรื่องทั่วไป เช่น การขนย้ายอุปกรณ์ การทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นที่ภายในสถานบริการ ไปจนถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางสุขภาพ อาทิ การผ่าตัด การจัดส่งยาหรือมื้ออาหารสำหรับผู้ป่วย โดยการใช้หุ่นยนต์เป็นการช่วยลดภาระงานของบุคลากรการแพทย์หรือผู้ให้บริการทำให้สามารถเน้นการรักษาผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาแบบเร่งด่วนได้
- ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence, AI) ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและตรวจจับความผิดปกติของผู้ป่วยทำให้บุคลากรการแพทย์สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาได้อย่างรวดเร็วและมีความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น โดยอาศัยผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) และแสดงผลในรูปแบบข้อมูลสรุป นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ช่วยให้การบันทึกข้อมูลแบบดั้งเดิมเปลี่ยนเป็นข้อมูลในระบบดิจิตอลโดยประหยัดเวลาและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้หลากหลายขึ้น
- การติดตามอุปกรณ์ในโรงพยาบาล (Hospital asset tracking) จะช่วยลดปัญหาการสูญเสียทรัพยากรอุปกรณ์ของสถานพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์ และสามารถติดตามได้ว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกกระจายไปยังพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์นั้นจริง ๆ เพื่อให้บุคลากรมีอุปกรณ์ให้บริการได้พอเพียงและเหมาะสมกับความต้องการของผู้รับบริการแต่ละราย โดยอาจอาศัยเทคโนโลยีบลูทูธแท็ก (Bluetooth tag) และวิธีการเชื่อมต่ออุปกรณ์เพื่อระบุตำแหน่งอื่น ๆ
.
ด้านขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงาน
- การจัดการทางห้องปฏิบัติการขั้นสูง (Advanced operation management) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจำเป็นต้องประสานงานกับหน่วยงานทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก ระบบที่ช่วยจัดการการประสานงานได้สะดวกขึ้นจะช่วยประหยัดเวลาแก่ผู้ให้บริการ และทำให้เกิดการบริการที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า อาทิ ระบบข้อมูลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ข้อมูลสรุปผลการจำหน่ายผู้ป่วยออก (discharge) จากสถานพยาบาล การจัดการใบเสร็จ การจัดการผู้มารับบริการ การสรรหาบุคลากรผู้ให้บริการ และการจัดการขั้นตอนการทำงาน (workflow) ภายในสถานพยาบาล
- ข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic health records) จะทำให้การบันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยหรือผู้รับบริการจำนวนมากมีความถูกต้องและประหยัดเวลามากขึ้น ลดความผิดพลาดที่เกิดจากคน อาทิ การแปลความหมายหรือตีความผิด การมีระบบฐานข้อมูลที่ช่วยให้บันทึกข้อมูลผู้ป่วยได้ตลอดเวลาจะทำให้บุคลากรผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยที่จำเป็นได้ในทันที ตลอดจนเข้าถึงประวัติสุขภาพของผู้ป่วยช่วยให้การวินิจฉัยของแพทย์แม่นยำขึ้น ทำให้การพิจารณาเลือกการรักษามีความเหมาะสมกับผู้ป่วยมากขึ้น
- ระบบเครือข่ายและความปลอดภัย (Network and security) การบริหารจัดการสถานบริการสุขภาพที่จำเป็นต้องมีการส่งต่อข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วยจำนวนมากจำเป็นต้องมีระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่รองรับปริมาณข้อมูลจำนวนมากได้และมีความเร็วเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่มีการติดตามและส่งต่อข้อมูลตลอดเวลาด้วยระบบ internet of things (IoT) นอกจากนี้สถานพยาบาลต้องรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้รับบริการโดยไม่เปิดเผยข้อมูลสุขภาพ และมีระบบป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหล การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จึงเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว การบริหารจัดการสถานพยาบาลในอนาคตมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่มีการปรับเปลี่ยนการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคลากรการแพทย์กับผู้ป่วยโดยอาศัยระบบทางไกลมากขึ้น และพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องมือภายในสถานบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและการให้บริการมากขึ้น ลดภาระงานของบุคลากรผู้ให้บริการ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการ และเพื่อให้มีความคุ้มค่าต่อสถานพยาบาลมากขึ้นนั่นเอง
แนะนำอ่านเพิ่มเติม 10 แนวโน้มพัฒนาการของโรงพยาบาล แพทย์ทุกสาขาต้องปรับตัว
- https://www.startus-insights.com/innovators-guide/healthcare-admin-trends/
- https://medcitynews.com/2022/11/trends-will-shape-healthcare-in-2023-hospital-closures-scaling-retail-clinics-more/