การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ก่อให้เกิดคลื่นการเปลี่ยนแปลงมหาศาลที่ส่งผลกระทบทั่วโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง สุขภาพ รวมถึงการศึกษา คลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National credit bank system, NCBS) เป็นอีกการปรับตัวทางด้านการศึกษา ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะพฤติกรรมและความต้องการของผู้เรียนในปัจจุบันและอนาคต
ทิศทางการศึกษาในศตวรรษที่ 21
- องค์ประกอบการเรียนรู้ เพื่อรองรับสังคมในยุคดิจิทัลมี 4 องค์ประกอบหลัก คือ 1) การเรียนรู้เกี่ยวกับดิจิทัล 2) การคิดสร้างสรรค์ 3) การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และ 4) ผลิตภาพที่มีคุณภาพสูง
- การเปลี่ยนผ่านการเรียนรู้จากยุคเดิมสู่ยุคดิจิทัล ต้องจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเรียน การทำงาน และการดำรงชีวิต เน้นการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการค้นคว้าด้วยตนเองโดยนำ เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้มากที่สุด ครูเป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทางในการเรียนรู้ตามหลักสูตร และมุ่งการวัดผลและประเมินผลเพื่อดูการพัฒนาการมากกว่าการวัดผลสัมฤทธิ์
- การจัดการศึกษาในยุคดิจิทัล ต้องคำนึงถึงการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เน้นการสร้างสรรค์ปรับแต่งการเรียนรู้การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เน้นการใช้เครือข่ายออนไลน์ในการจัดการเรียนรู้สร้างสถานการณ์ จำลองให้ผู้เรียนพบประสบการณ์จริง เนื้อหาการเรียนรู้ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนเครือข่ายออนไลน์ สามารถสร้างองค์ความรู้แบ่งปันความรู้และเนื้อหาผ่านเครือข่ายออนไลน์และส่งเสริมความรู้ในโลกแห่งการทำ งานมากขึ้น
คลังหน่วยกิตแห่งชาติและการศึกษาในอนาคต
ปัจจุบันพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของผู้คน เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและกระแสธารของโลกสมัยใหม่ ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่เริ่มส่อเค้าถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคตคือ ‘การศึกษา’ โดยในปัจจุบันจะเริ่มเห็นว่าการศึกษาไม่ได้จำกัดไว้แค่ในห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษา และในอนาคตภาพรวมของการศึกษาจะเปิดกว้างและยืดหยุ่นต่อผู้เรียนมากขึ้น
ระบบการศึกษาไทยก็เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยในอนาคตจะมีการยกเลิกระบบกำหนดระยะเวลาสำเร็จการศึกษาแบบดั้งเดิม ได้แก่ การศึกษาระดับปริญญาตรี 4 ปี ไม่เกิน 8 ปี ปริญญาโท 2 ปี ไม่เกิน 5 ปี และปริญญาเอก 3 ปี ไม่เกิน 6 ปี เนื่องจากคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) เล็งเห็นปัญหาที่มีนักศึกษาบางส่วนถูกรีไทร์ เรียนไม่จบภายในระยะเวลาตามกำหนด ด้วยสาเหตุแตกต่างกันไป อาทิ ภาระด้านค่าใช้จ่าย ภาระความรับผิดชอบทางบ้าน และตระหนักว่าทุกคนสามารถศึกษาเล่าเรียนได้ตลอดชีวิต จึงไม่มีความจำเป็นในการกำหนดระยะเวลาสำเร็จการศึกษาอีกต่อไป ส่วนหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนควบคู่กับการทำงาน หรือหาประสบการณ์ด้านอื่น ๆ ก่อนกลับมาศึกษาต่อ และสนับสนุนให้สามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นเทียบโอนหน่วยกิตสะสมในระบบธนาคารหน่วยกิต หรือเครดิตแบงก์ โดยสอดคล้องกับเกณฑ์ของสถาบันการศึกษาของผู้เรียนด้วย
อีกหนึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาไทย คือ คลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National credit bank system, NCBS) โดยมีความมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้มีความสามารถเต็มที่และเหมาะสม สามารถปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง และควบคุมการเรียนรู้ของตัวเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
- เก็บข้อมูลหน่วยกิตสะสมของผู้เรียน โดยปราศจากเงื่อนไขของระยะเวลาในการสะสมหน่วยกิต
- เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสถาบันการศึกษาและธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ เนื่องจากผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียนในสถาบันมากกว่าหนึ่งแห่งได้
- แสดงผลข้อมูลหน่วยกิตสะสมของผู้เรียนให้สามารถเรียกดูได้ และสามารถนำผลการเรียน สมรรถนะ หรือประสบการณ์การฝึกอบรม ฝึกอาชีพ การสัมมนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ มาเทียบโอนหน่วยกิตและสะสมในคลังหน่วยกิตได้ตามเกณฑ์การเทียบโอน
- ส่งเสริมให้ประชาชนมีการเรียนรู้มากขึ้น ทั้งยังสามารถเลือกเรียนตามความต้องการของตัวเอง และสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ คุณวุฒิ และระยะเวลาในการเรียน
คลังหน่วยกิตแห่งชาติ เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษาชื่อ ‘Skill Lane’ โดยรวบรวมวิชานอกห้องเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และมหาวิทยาลัยชั้นนำ 4 แห่ง ประกอบด้วย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นผู้นำร่องทดลองระบบและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ปรับปรุงข้อจำกัด เพิ่มช่องทางเข้าถึงและการเชื่องโยงแหล่งข้อมูลความรู้หลากหลายแห่งไว้ด้วยกัน โดยมีกำหนดเริ่มใช้งานจริงกลางปี พ.ศ. 2566
- สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยอาศัยเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าสามารถเข้าถึงประชาชนได้
- มีความยั่งยืนผ่านการวางแผนที่ดีและสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- มีการจัดการความรู้และนวัตกรรมที่ตอบสนองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเหมาะสม
- สร้างบุคลากรที่พร้อมรองรับโลกดิจิทัลและทันต่อสถานการณ์
- มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ควรเป็นพันธมิตรทำงานร่วมกันในการถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
- ปรับตัวตามเศรษฐกิจดิจิทัลโดยสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการที่มีความรวดเร็วและมีการเชื่อมโยงในหลายระดับ
จะเห็นว่าระบบการศึกษาประเทศไทยในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางที่เปิดกว้าง และยืดหยุ่นมากขึ้น เปิดโอกาสให้ประชาชน ทั้งในมุมของการเลือกเรียนรู้และไม่สนใจอายุของผู้เรียน ทั้งยังมีแนวคิดก้าวหน้าในการกำหนดเกณฑ์เทียบโอนหน่วยกิตโดยสามารถนำประสบการณ์ หรือการฝึกอบรมเชิงวิชาการ และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตสะสมได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในประเทศได้รอบด้านและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น สำหรับบุคลากรการแพทย์ซึ่งเป็นบุคลากรส่วนหนึ่งของประเทศที่จำเป็นต้องมีการศึกษาต่อเนื่องอยู่แล้วจะได้รับประโยชน์จากการเปิดกว้างนี้ในมุมที่สามารถศึกษาความรู้หรือทักษะด้านอื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสการทำงานที่มากขึ้น หรือนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในงานปัจจุบันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้
แนะนำอ่านเพิ่มเติม
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่เกิน 10 ปี
แนวโน้มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ บุคลากรการแพทย์ไม่รู้ไม่ได้
- https://www.salika.co/2022/10/25/national-credit-treasury-thailand/
- https://ngthai.com/education/44967/thai-national-credit-bank-system/
- https://www.bangkokbiznews.com/health/education/1033044