การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีระบบแบบแผนชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ ส่งผลให้เกิดสตาร์ทอัพที่ลงทุนและพัฒนานวัตกรรมสนับสนุนด้านนี้มากยิ่งขึ้น ข้อมูลผลสำรวจแนวโน้มการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีเสมือน (Virtual care) ซึ่งถูกปรับใช้ในการแพทย์ทางไกลจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มองเห็นภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการให้บริการทางสุขภาพ และสามารถนำไปปรับใช้ในสถานพยาบาลได้ โดยแนวโน้ม 10 อันดับในปี 2024 มีดังนี้
- Virtual care ยกระดับด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI-enhanced virtual care) ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรค และคาดการณ์แนวโน้มการดูแลรักษาได้แม่นยำและมอบความเป็นส่วนตัวให้ผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น Alpaca Health ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม AI สำหรับ virtual care ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย ตั้งแต่ให้คำปรึกษาตลอดจนการติดตามอาการ สนับสนุนการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง AI Rehab สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีตัวตรวจจับการเคลื่อนไหวผนวกกับ AI ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบำบัดทางกายภาพระยะไกล
.
- การติดตามผู้ป่วยทางไกล (Remote patient monitoring) ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น Momentum Health พัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนสำหรับการดูแลรักษากระดูกสันหลังคดจากระยะไกล โดยอาศัยการสร้างโมเดล 3 มิติจำลองร่างกายผู้ป่วยอย่างแม่นยำ ช่วยให้บุคลากรสามารถติดตามอาการได้สะดวกขึ้น Connected Care พัฒนาแพลตฟอร์มการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานระยะไกลโดยติดตามระดับน้ำตาลในเลือดและมีระบบแจ้งเตือนร่วมกับการให้คำแนะนำรายวันเกี่ยวกับอาการ การออกกำลังกาย
. - การดูแลผู้ป่วยเฉพาะราย (Personalized care) อาศัยข้อมูลประวัติการรักษา และความชอบของผู้ป่วย เหมาะสมประเมินสุขภาพและปรับเปลี่ยนแผนการรักษาตามความเหมาะสม ตัวอย่างเช่น Careloop Health พัฒนาแพลตฟอร์มดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่อาศัย AI ในการตรวจจับความผันผวนสุขภาพจิต และทำนายเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการกำเริบของโรค OwnaHealth พัฒนาโปรแกรมคำแนะนำที่มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะรายซึ่งประกอบด้วยคำแนะนำด้านอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
.
- การบำบัดแบบดิจิทัลสำหรับการดูแลเสมือน (Digital Therapeutics (DTx) for virtual care) ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพจากระยะไกล ตัวอย่างเช่น Clarity พัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกลที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในรูปแบบเสมือนจริงได้โดยอาศัยแสงและเสียง ทั้งยังมีระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (electronic medical records, EMR) อีกด้วย Newel Health พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยช่วยให้ผู้ป่วยสามารถวางแผนการดูแล และคอยแนะนำผู้ป่วยและญาติในการดูแลคนไข้
.
- การวิเคราะห์การดูแลสุขภาพ (Healthcare analytics) อาศัยเทคนิคเชิงสถิติและข้อมูลเชิงลึกของผู้ป่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่น Ignis Health พัฒนาโปรแกรมดูแลรักษาสุขภาพทางไกลที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลนำเสนอโปรแกรมการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ใช้งานเฉพาะราย Mesh Bio พัฒนาแพลตฟอร์มการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์เพื่อปรับเปลี่ยนการให้คำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพแก่ผู้ป่วยทางไกลซึ่งอาศัยข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์
.
- การแพทย์ทางไกลด้วยความจริงเสมือน (VR for remote care delivery) เพิ่มทางเลือกในการดูแลและรักษาผู้ป่วยจากระยะไกล โดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ โดย VR สามารถช่วยได้ในหลายรูปแบบ อาทิ การให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริงเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจในระหว่างการทำหัตถการทางการแพทย์หรือการพักฟื้นหลังการผ่าตัด ซึ่งช่วยลดการพึ่งพายาแก้ปวด การรักษาทำได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ผลลัพธ์ของผู้ป่วยดีขึ้น นอกจากนี้ VR ยังช่วยให้แนวคิดทางการแพทย์ที่ซับซ้อนดูง่ายขึ้น ผ่านการแสดงภาพแบบอินเตอร์แอคทีฟ ช่วยให้ผู้ป่วยมีข้อมูลในการตัดสินใจร่วมกับแพทย์เกี่ยวกับทางเลือกในการรักษา เป็นต้น
.
ตัวอย่าง NeuroSync พัฒนาแพลตฟอร์มที่อาศัยเทคโนโลยีความจริงเสมือนสำหรับการติดตามอาการผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทที่ช่วยให้การวินิจฉัย และการดูแลรักษาทางไกลมีความรวดเร็วและถูกต้อง Heka VR พัฒนาระบบสำหรับการรักษาที่อาศัย augmented reality (AR) บำบัดผู้ป่วยจิตเวช โดยสามารถสร้างใบหน้าแสดงภาพและเสียงที่แสดงอารมณ์มุ่งร้ายของผู้ป่วย ช่วยให้การบำบัดทำได้ง่ายขึ้น
. - เทคโนโลยีสวมใส่ได้ (Wearables) อุปกรณ์สวมใส่ช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามสุขภาพได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้สวมใส่ประเมินอาการเบื้องต้นได้เอง หรือให้แพทย์ประเมินโดยมีข้อมูลที่ครบถ้วนสำหรับการตัดสินใจ ทั้งนี้อุปกรณ์สวมใส่ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดการโรคเรื้อรังในระยะไกล เช่น ในผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ทำให้การจัดการระยะไกลง่ายขึ้นและลดความจำเป็นในการไปโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่น GTcardio พัฒนาอุปกรณ์สำหรับตรวจติดตามการเต้นของหัวใจ ระบบทางเดินหายใจและการนอนหลับจากระยะไกล
. - หุ่นยนต์ควบคุมทางไกล (Terobotics) ระบบ Telerobotics ช่วยให้สามารถควบคุมอุปกรณ์หุ่นยนต์จากระยะไกลได้ ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสามารถดำเนินการขั้นตอนทางการแพทย์ที่ซับซ้อนและให้การดูแลผู้ป่วยจากระยะไกลโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดโดยใช้แขนหุ่นยนต์ เพื่อให้มั่นใจในความแม่นยำและลดความจำเป็นในการปรากฏตัวทางกายภาพ บริษัทที่มีเทคโนโลยีได้ใช้วิทยาการหุ่นยนต์ขั้นสูงและระบบตอบรับแบบสัมผัสเพื่อสร้างความรู้สึกสัมผัสขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำสูง สามารถให้บริการทางการแพทย์เกินข้อจำกัดในอดีต ตัวอย่างเช่น Plebe Innovations พัฒนาระบบควบคุมหุ่นยนต์ทางไกลสำหรับการทำอัลตราซาวด์ WhyDots พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่สามารถรับรู้และเข้าใจอารมณ์ รองรับการตอบโต้ต่าง ๆ สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น
. - การคัดแยกผู้ป่วย (E- Triage) ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการประเมินเบื้องต้นและได้รับคำแนะนำในการดูแลอย่างเร่งด่วนโดยไม่ต้องเดินทางไกล เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการประเมินผู้ป่วยจากระยะไกล ทำให้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการดูแลอย่างทันท่วงที แพลตฟอร์ม E-Triage ให้การแทรกแซงที่รวดเร็วและเด็ดขาดจากระยะไกลแก่ผู้ป่วยที่เผชิญกับสถานการณ์ที่คุกคามถึงชีวิต
.
ตัวอย่าง Intercept Telehealth สร้างระบบ Tele-ICU โดยทำงานร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลที่มีอยู่ และให้การสนับสนุนผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ในทุกสาขาเฉพาะทาง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ขจัดปัญหาคอขวด และอำนวยความสะดวกในการคัดแยกและการไหลเวียนของผู้ป่วยได้เร็วขึ้น
. - อุปกรณ์เครือข่ายอินเตอร์เน็ต (IoT Devices) เป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์สวมใส่ อุปกรณ์สมาร์ทโฮม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเซ็นเซอร์เข้ากับเครือข่ายเพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ และยังเปิดใช้งานการตรวจสอบสุขภาพระยะไกลอีกด้วย ทำให้มีการติดตามอย่างต่อเนื่องและการตรวจจับปัญหาสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ การวิเคราะห์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะประมวลผลข้อมูลนี้เพิ่มเติมเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกด้านสุขภาพส่วนบุคคลและคำแนะนำในการรักษา นอกจากนี้ IoT ยังช่วยเพิ่มความสม่ำเสมอในการรับประทานยาโดยการส่งการแจ้งเตือนและการติดตามขนาดยา อุปกรณ์สวมใส่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ติดตามสัญญาณชีพและวิเคราะห์รูปแบบเพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
.
ตัวอย่างเช่น Medisante Group พัฒนาผลิตภัณฑ์ M+ Hub ที่ทำงานประสานกับแพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกลโดยไม่จำเป็นต้องใช้สมาร์ตโฟนและระบบคลาวด์ Invamar สร้างอุปกรณ์สวมใส่ที่ใช้ระบบ IoT ช่วยปรับปรุงสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร โดยสามารถตรวจติดตามสัญญาณชีพเรียลไทม์ได้
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าการพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีเสมือน (Virtual care) สำหรับการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) มีแนวโน้มในการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น ผนวกกับการติดตามแบบเรียลไทม์ เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วยและช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยทั้งกรณีเหตุการณ์เฉียบพลันหรือชุดข้อมูลระยะยาวได้
แนะนำอ่านเพิ่มเติม
10 แนวโน้มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ บุคลากรทางแพทย์ไม่รู้ไม่ได้
10 แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ บุคลากรทางแพทย์ควรรู้
เรียบเรียงโดย ภก. ภูรี บุญช่วย และกองบรรณาธิการ
ข้อมูลจาก https://www.startus-insights.com/innovators-guide/virtual-care-trends/