CIMjournal

WLB: ผมไม่อยากให้ใช้คำว่าเป็นแพทย์ต้องเสียสละ เพราะเขาก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีภาระต้องรับผิดชอบ ต่อชีวิตตนเองและคนในครอบครัว


อาจารย์ นพ. อัครวิทย์ พูลสมบัติ
ภาควิชาอายุรศาสตร์
สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี


ย้อนกลับไปเล็กน้อย ทำไมถึงอยากเรียนเป็นหมอค่ะ

นพ. อัครวิทย์ พูลสมบัติตรง ๆ เลย ผมคิดว่า อาชีพหมอเป็นอาชีพที่มั่นคง กลาง ๆ คงไม่ได้รวยมากแล้วก็ไม่น่าจะตกงานง่าย และที่ผมเลือกเรียนหมอเฉพาะทางระบบทางเดินอาหาร เพราะทางเดินอาหารมันมีอวัยวะมากมาย ทำให้มีความหลากหลายในการรักษา เช่น ส่องกล้องทางเดินอาหาร ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน ใช้กล้องแคปซูลลำไส้ ตัดชิ้นเนื้อในทางเดินอาหาร หัตถการต่าง ๆ ถ้าเทียบกับบางสาขาผมคิดว่ามีความหลากหลายน้อยกว่าทางเดินอาหาร ทำให้ต้องอยู่กับเรื่องเดิม ๆ นาน ต้องให้ยาตลอดชีวิต อาจไม่หายขาดหรือสาขาที่เป็นการผ่าตัดก็จะเป็นอวัยวะซ้ำ ๆ แต่ก็ขึ้นกับแพทย์แต่ละคนว่าจะชอบแบบไหน สำหรับผมชอบจากสาเหตุที่กล่าวมา

 


คิดว่ามุมมองต่ออาชีพแพทย์ ของแพทย์รุ่นใหม่และรุ่นก่อนหน้าหรืออาวุโสมีความต่างกันไหม

ผมคิดว่าภาพกว้าง ๆ ของการทำงานคงไม่ต่างกัน ต่อให้รุ่นไหน ๆ ก็ตาม เริ่มต้นต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพแพทย์ก่อน อย่างเช่น ต้องเอาประโยชน์ผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง ต้องไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอันตรายเพิ่มขึ้น ไม่ปกปิดข้อมูลผู้ป่วย เป็นต้น จากนั้นก็ต้องรักษาผู้ป่วยด้วยความรู้ทางการแพทย์ที่เรียนกันมา ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยในแบบองค์รวม แน่นอนว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ในแง่ของเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อม ระยะเวลา 30 – 40 ปี มันแตกต่างกันมาก ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีวินิจฉัยโรคมากขึ้นในทุก ๆ สาขา เป็นการตรวจพิเศษ เช่น มีเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ มีตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ มีเทคนิคผ่าตัดแผลเล็ก การส่องกล้องทางเดินอาหาร มีกล้องแคปซูล อนาคตเราก็จะเห็นเทคโนโลยีการตรวจ การรักษาใหม่ ๆ มากขึ้น นั่นหมายถึง การวินิจฉัยและการรักษาโรคก็จะเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี รวมถึงการหาสาเหตุของโรคก็จะมีเพิ่มขึ้น

 

“แน่นอนว่าด้วย
จรรยาบรรณวิชาชีพฯ
ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
แต่ในแง่ของเทคโนโลยี และ
สภาพแวดล้อมระยะเวลา
30 – 40 ปี มันแตกต่างกันมาก”


บทบาทที่เราจะ balance ว่ามากเกินไปหรือพอดี อาจมีความแตกต่างกันระหว่างแพทย์รุ่นใหม่กับแพทย์รุ่นก่อน ก็ขึ้นอยู่กับมุมมอง ถ้าเป็นแพทย์รุ่นก่อนอาจจะมองว่าการตรวจพิเศษบางกรณีเป็นสิ่งสิ้นเปลืองไม่เหมาะสม ต้องใช้ทักษะการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ให้มากกว่านี้ ทำไมตัดสินใจส่งตรวจเร็ว แต่แพทย์รุ่นใหม่อาจมองว่าแบบนี้ก็เป็นมาตรฐาน ได้ผลการวินิจฉัยโรคเหมือนกันหรืออาจมากกว่า และลดความเสี่ยงในการวินิจฉัยผิด เป็นต้น หรืออย่างเรื่องการใช้ชีวิต แพทย์รุ่นก่อน ๆ จำนวนหนึ่งอาจจะมองอาชีพแพทย์จะต้องดำรงตนให้น่านับถือในสังคม เช่น การแต่งตัว ทรงผมเรียบร้อย ทุ่มเทชีวิตเพื่อการช่วยเหลือคนไข้ ช่วยเหลือสังคม ทำงานจิตอาสาเพื่อปวงประชา เป็นต้น ส่วนแพทย์รุ่นใหม่อาจมองว่าแพทย์เป็นอาชีพหนึ่ง นอกเวลางานเขาควรมีสิทธิ์ในการทำสิ่งที่เขาอยากทำ หรือเลือกใช้วิชาชีพแพทย์ในหลาย ๆ แนวทาง เป็นต้น

 


กระแสแพทย์รู้สึกกดดัน จากการทำงานหนัก จนลาออกจากระบบมากขึ้น มองเรื่องนี้ยังไง

จริง ๆ เรื่องการทำงานหนัก ผมคิดว่ามันขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน งานเดียวกันบางคนบอกหนัก บางคนบอกว่าไม่หนัก คือมันจะ individual มาก ๆ แพทย์รุ่นก่อน ๆ ก็จะบอกว่า ก็เป็นแบบนี้มานานแล้ว แต่แพทย์รุ่นใหม่มีสิทธิ์จะบอกว่า แบบนี้คืองานหนักนะ เขาโดนเอาเปรียบ และอยากเปลี่ยนแปลงระบบให้ดีขึ้นหรือไม่ก็ออกจากระบบ

เราต้องยอมรับว่า กระแสสังคมของโลกมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ใช่ไหมครับ คนเจนเนอร์เรชั่น X, Y, Z อาจมีความคิดความอ่านที่แตกต่างกันไป ไม่ได้แปลว่า วัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมที่คนรุ่นเก่าบอกว่าดีแล้ว คนรุ่นใหม่จะต้องเห็นดีด้วยทั้งหมด โลกเปลี่ยนแปลงตลอด คนต่างวัยก็ต้องปรับตัว โดยอาจมีมุมมองต่างกันไป อย่างบอกว่าแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละ แพทย์รุ่นเก่าอาจมองว่า แพทย์ต้องดูแลคนไข้ตลอด 24 ชม. ตามตอนไหนก็ได้ ขาดเครื่องไม้เครื่องมือก็ต้องไปหามาประยุกต์ใช้ดูแลคนไข้ให้ได้ แต่แพทย์รุ่นใหม่อาจมองว่า แพทย์เป็นอาชีพ ทำงานก็ต้องได้เงินค่าตอบแทน ไม่สามารถดูแลคนไข้ตลอด 24 ชม. เพราะมีเรื่องอื่น ๆ ต้องทำ เช่น มีครอบครัวต้องดูแล สุขภาพต้องดูแล มีกิจกรรมทางสังคม อื่น ๆ ถ้านอกเวลาบางกรณีก็ควรมีค่าทำงานล่วงเวลาเหมือนอาชีพอื่น ๆ เป็นต้น เขาอาจแยะแยะว่าทำงานในอาชีพก็ควรได้ค่าตอบแทน เมื่อเทียบกับการไปออกหน่วยต่างจังหวัด ให้บริการฟรีกับประชาชน แบบนี้เสียสละ เขาไปด้วยใจอยากช่วยเหลือคน

ผมมองเรื่องนี้ว่า เป็นสิทธิ์ที่แพทย์จะคิดและทำ ผมไม่อยากให้ใช้คำว่าเป็นแพทย์ต้องเสียสละ เพราะเขาก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีภาระต้องรับผิดชอบ ต่อชีวิตตนเองและคนในครอบครัว แต่ไม่ว่าจะอยู่ตรงจุดไหน แพทย์ทุกคนต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างน้อย


แพทย์รุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับมิติอื่น ๆ ของชีวิต โดยเฉพาะ Work life balance อย่างไร

ต้องบอกว่า ผมอยู่ตรงกลางระหว่างแพทย์รุ่นก่อนกับรุ่นใหม่ อย่างที่กล่าวแต่ต้นเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมในปัจจุบันมันทำให้สังคมเปลี่ยนไป ลองนึกว่าคนสมัยก่อนใช้ชีวิตกันอย่างไร ทำงานเสร็จก็กลับบ้าน ที่เที่ยว ที่กิน โรงหนัง มีไม่กี่ที่ กิจกรรมอื่น ๆ ก็คงมีไม่มาก ขณะที่คนสมัยปัจจุบัน นอกเหนือเวลาทำงานปกติ ยังมี social life เข้าโทรศัพท์มือถือ เข้าไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของคนอื่น ดูว่าคนนี้ทำอะไร คนนั้นทำอะไร ได้พบเห็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ผมว่าเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้คนในปัจจุบันอยากไปทำกิจกรรมอะไรที่นอกเหนือจากที่เขาทำเป็นปกติ บางคนอยากไปฟิตเนส ดำน้ำ ตกปลา ถ่ายรูป บางคนอยากไปเที่ยวที่ผาดโผน บางคนอยากไปปีนเขา เรียกว่าเห็นคนอื่นไปก็อยากไป ไลฟ์สไตล์คนเรามันก็เปลี่ยนแปลงไป บางเรื่องทำตาม ๆ กัน ก็กลายเป็นกระแส

ผมคิดว่าแพทย์ก็เช่นเดียวกัน แพทย์รุ่นใหม่ที่เติบโตมากับสังคมในปัจจุบัน ก็อยากมีเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง ด้วยภาระงานที่เครียด กดดัน มีความรับผิดชอบสูง ประกอบกับไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ไม่สามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ อย่างที่อยากทำได้ ก็ทำให้รู้สึกชีวิตไม่สมดุล ไม่มี Work life balance ที่เพียงพอ ผมไม่ได้หมายถึงแพทย์รุ่นใหม่ทุกคนจะคิดแบบนี้ บางคนเขาก็มีความสุขกับไลฟ์สไตล์แบบเดิม ๆ เช่น ทำงาน 80 ใช้ชีวิตด้านอื่น 20 เปอร์เซ็นต์ แต่บางคนเขาอยากมีความสุขที่ทำงาน 60 ใช้ชีวิตด้านอื่น 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่มีผิดไม่มีถูก อยู่ที่ความสุขในการใช้ชีวิตของแต่ละคน


ส่วนตัวอาจารย์มีวิธีจัดการกับความเครียดอย่างไร

ผมว่าชีวิตผมเรื่องหลัก ๆ ที่ทำให้เครียด ก็คงจะเป็นเรื่องงาน ผมขอแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เพื่อนร่วมงานกับคนไข้ ถ้าเพื่อนร่วมงานดีก็ไม่ค่อยมีปัญหา หากมีอะไรที่เห็นไม่ตรงกันก็พูดคุย ปรับความเข้าใจ สิ่งไหนยอมได้ก็ยอม ส่วนคนไข้จริง ๆ คนไข้น่ารักหมด ถ้ามีความเครียดก็คงจะเป็นอาการของคนไข้ ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน ผมก็ไม่สบายใจก็จะมีความเครียด ก็ต้องแก้ปัญหา และต้องติดตามอาการของคนไข้ไปอย่างต่อเนื่อง

 

“ชีวิตไม่มีอย่างอื่นเลย
เรียกว่าไม่สมดุลก็ได้
ตอนนั้นอ้วนมาก
พออ้วนก็เป็นไขมันพอกตับ”


ส่วนตัว Work life balance อาจารย์ ทำอะไรบ้างค่ะ

คนเราจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ต้องมี ข้อหนึ่งความสมดุลระหว่างการทำงานที่เป็นที่มาของรายได้กับการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่อยากทำ ที่เราเรียกว่า work life balance กับ ข้อสองอีกเรื่องที่สำคัญคือรายได้ ถ้าผมมีรายได้ไม่เพียงพอ เลี้ยงชีวิตไม่ได้ ดูแลครอบครัวไม่ได้ เรื่องอื่น ๆ ต่อให้ดีอย่างไร ชีวิตก็จะไม่มีความสุข ผมพูดแบบตรงไปตรงมา แพทย์ส่วนใหญ่ทำงานในระบบราชการเงินเดือนน้อย จึงมีการทำงานพิเศษเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าอยู่กรุงเทพฯก็ไปทำงานเสริมโรงพยาบาลเอกชน อยู่ต่างจังหวัดก็ไปเปิดคลินิก ผมเองทำงาน 100% ในเวลาราชการ ก็มีตรวจคลินิกพิเศษเพิ่มเติมบางวันเหมือนกัน

เวลางานปกติ ไม่นัดเคสคนไข้ต่อเนื่อง หลัง 6 โมงเย็น ผมจะชอบออกกำลังกาย ใน 1 สัปดาห์ผมออกกำลังกายประมาณ 5 วัน วันละ 1 – 2 ชั่วโมง ก็มีหลาย ๆ กิจกรรมผสมกัน อย่างผมจะเล่นเวทสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ตีแบดสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง

 

“ผมจะชอบออกกำลังกาย
ใน 1 สัปดาห์
ผมออกกำลังกาย
ประมาณ 5 วัน
วันละ 1 – 2 ชั่วโมง

 

ตอนนี้ถ้ามีเวลาก็อยากจะลองชกมวยกับเล่นเวคบอร์ด เพราะไปลองดูแล้ว รู้สึกสนุก ถามว่าทำไมชอบออกกำลังกาย จริง ๆ เลยตอนเรียนผมก็เรียนอย่างเดียวกับกิน ชีวิตไม่มีอย่างอื่นเลย เรียกว่าไม่สมดุลก็ได้ ตอนนั้นผมอ้วนมาก พออ้วนก็เป็นไขมันพอกตับ ก็ต้องลดน้ำหนัก เข้ายิม เล่นเวท ยกน้ำหนัก ปั่นจักรยาน วิ่งในสวน แล้วแต่ว่าผมอยากจะเล่นกีฬาอะไร น้ำหนักก็ลดลงมา ทุกวันนี้กลายเป็นคนติดออกกำลังกายไปเลย

จะว่าไปแล้วนอกจากเรื่องกีฬา ผมก็ไม่มีไลฟ์สไตล์ด้านหนึ่งด้านใดชัดเจน ถ้าพอมีเวลาบางวันผมก็ไปสังสรรค์กับเพื่อนบ้าง อีกนิดก็คือเรื่องท่องเที่ยว พอมีวันหยุดผมก็พยายามจัดทริปท่องเที่ยวสัก 2 – 3 เดือนครั้ง ทั้งในและต่างประเทศแล้วแต่โอกาส โดยจะไปดูวัฒนธรรม ดูวิถีการเดินเนินชีวิตแบบ city life ไปเปิดโลก จะไม่ค่อยเที่ยวแบบ adventure มีไปลอนดอน ไปเกาหลี ไปญี่ปุ่น ผมไปญี่ปุ่นบ่อยสุดเพราะว่าไปง่าย เดินทางไม่นาน มีที่ให้เที่ยวเยอะ ธรรมชาติมากมาย ที่สำคัญผมชอบอาหารญี่ปุ่น แล้วก็ปลอดภัยด้วย 

“จัดทริปท่องเที่ยวสัก
2 – 3 เดือนครั้ง
ทั้งในและต่างประเทศ
โดยจะไปดูวัฒนธรรม
ดูวิถีการเดินเนินชีวิต
แบบ
city life

สำหรับวันอาทิตย์เป็นวันครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ของผมท่านเสียชีวิตไปแล้ว สมัยก่อนผมจะกลับไปทำกิจกรรมกับท่านที่บ้าน ก็จะคุยกันว่าแต่ละสัปดาห์จะไปไหน แต่ตอนนี้ผมจะไปหาหลานแทน


ฝากความคิดเห็นถึงเพื่อน ๆ แพทย์ในเรื่องการใช้ชีวิต

ผมคิดว่า Work life balance เป็นเรื่องไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับแพทย์แต่ละคนมีความสุขกับชีวิตโดยมีสมดุลระหว่างงานที่ทำกับกิจกรรมอื่น ๆ อย่างไร อย่างผมในปัจจุบันจะรู้ว่า ผมมีภาระหรือต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ตอนนี้เป็นโสด มีเวลาให้กับตัวเอง จัดสมดุลชีวิตอย่างไรถึงจะเหมาะ ส่วนในอนาคตภาระความรับผิดชอบเปลี่ยน ก็ต้องปรับกันใหม่ ในขณะที่เพื่อน ๆ แพทย์อาจมีภาระที่แตกต่างกัน บางคนมีครอบครัว มีลูก บางคนเตรียมเรียนต่างประเทศ บางคนอยากมีผลงานวิชาการ แต่ละคนก็อาจจัดสมดุลของชีวิตแตกต่างกัน ซึ่งไม่แปลกที่แพทย์รุ่นใหม่ต้องการเวลามากขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมอื่น ๆ ที่สนใจจะทำ รวมถึงงานเสริมด้วย

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก