“ผมอยากให้ในแต่ละระบบได้รับการรักษาที่เท่าเทียมกัน ผมเข้าใจดีว่าถ้าจะทำให้ได้ ต้องมีการปรับระบบครั้งใหญ่”
อาจารย์ นพ. อธิพัฒน์ อธิพงษ์อาภรณ์
ฝ่ายเครือข่ายสัญจรและสมาชิกสัมพันธ์
สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคภูมิแพ้
ตอนผมเด็ก ๆ ผมอยู่กับญาติที่เป็นผู้สูงอายุ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ ผมคิดตอนนั้นว่า ถ้าเรามีความรู้และสามารถดูแลผู้ป่วยหรือญาติพี่น้องได้ ก็เป็นสิ่งที่ดี พอเรียนมัธยมที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ตอนเรียนก็สนใจในสายสุขภาพและได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานอาชีพ ก็ยิ่งรู้สึกว่า เป็นงานที่เราชอบ และเราน่าจะทำได้ดี มีตัวเลือกหลายอย่าง ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ก็เลยหาข้อมูลและไปเข้าค่าย ผมคิดว่าแพทย์ตรงกับผมมากที่สุด พอเรียนจบก็สอบโควต้าได้ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ก็ได้รับประสบการณ์มากมายในระหว่างเรียน จากเด็กมัธยมสู่รั้วมหาวิทยาลัยมันเหมือนการเปิดโลกของผมให้มันกว้างขึ้น จำได้ว่าได้ทำทั้งกิจกรรมคณะ กิจกรรมมหาวิทยาลัย ได้ใช้ชีวิตแบบลองผิดลองถูก เป็นประสบการณ์ที่มีค่า
หลังจากนั้นผมไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลจังหวัดอยุธยา ได้รักษาผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้สูงอายุ แต่ผู้สูงอายุจะมากกว่า และส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการดูแลสุขภาพที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งการกินอาหาร การใช้ชีวิต การดูแลสุขภาพทุก ๆ ด้าน ถ้าปรับได้ตั้งแต่วัยเด็ก โอกาสเป็นโรคเหล่านี้ก็จะน้อยลง ผมคิดว่าถ้าผมเป็นหมอที่สามารถแก้ไขต้นตอของปัญหา และก่อให้เกิดผลดีต่อระบบสุขภาพ น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เลยสนใจที่จะเรียนกุมารแพทย์ เป็นการดูแลรักษาแบบองค์รวมและเริ่มดูแลตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต เพื่อมีโอกาสได้ให้ความรุ้และป้องกันโรคตั้งแต่วัยเด็ก และนอกจากจะดูแลเด็กแล้ว ก็ต้องดูแลผู้ปกครองเด็กด้วย ทั้งวิธีการเลี้ยงดู รวมถึงสภาพจิตใจของคนเลี้ยงควบคู่ไปด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบ
ผมจึงตัดสินใจเลือกเรียนกุมารแพทย์ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยจะดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี บางโรงพยาบาลดูแลไปถึง 20 ปีก็มี กลุ่มคนไข้จะค่อนข้างหลากหลาย มีหลายคนสงสัยว่า กุมารแพทย์คล้ายกับอายุรกรรมหรือเปล่า จริง ๆ ก็คือไม่ใช่ โรคแต่ละโรคไม่ได้เหมือนกัน รายละเอียดของโรคไม่เหมือนกัน แต่ละช่วงอายุของเด็กก็จะมีโรคของเขา ก็เป็นความยากและความท้าทายในการดูแลคนไข้เด็ก โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ทารกแรกเกิดจะเป็นกลุ่มคนไข้ที่เปราะบาง ต้องใช้ความละเอียด ต้องใส่ใจมาก ๆ ส่วนคนไข้ที่โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น ก็จะใช้เทคนิคการสื่อสารอีกแบบหนึ่ง แต่ละช่วงอายุนั้นมีความยาก ก็เป็นความท้าทายที่แตกต่างกัน
“ตอนนี้ ผมก็ดูแลคนไข้โรคภูมิแพ้
ซึ่งเจอบ่อยขึ้นเรื่อย ๆขณะเดียวกันผมก็ได้
ดูแลคนไข้และเป็นที่ปรึกษาคลินิก
ทางโภชนาการไปด้วยเรียกว่าได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก
และช่วยโรงพยาบาล
ได้อย่างเต็มที่”
หลังจากนั้นจึงตัดสินใจเลือกเรียนเฉพาะทางด้านภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน จริง ๆ ความสนใจตอนนั้นมีด้านโภชนาการเด็กด้วย ผมคิดว่าทั้งภูมิแพ้และโภชนาการมีความคล้ายคลึงกันในลักษณะที่ว่า ถ้าคนไข้มีการ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมบางอย่างแล้ว สุขภาพของเขาจะดีขึ้นหรือหายป่วยได้ อย่างคนไข้ภูมิแพ้ ถ้าเปลี่ยนไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ปรับเรื่องการใช้ชีวิตจากเดิมที่นอนอยู่แต่ในห้อง แล้วหันมาออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้น สุขภาพก็จะดีขึ้น ส่วนคนไข้โภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วนหรือขาดสารอาหาร ถ้าเขาปรับพฤติกรรมการกิน เป็นกินอาหารคุณภาพที่มากขึ้นหรือน้อยลง ชีวิตเขาก็จะเปลี่ยนไปตลอด แต่สุดท้ายผมตัดสินใจเลือกเรียนด้านภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน เนื่องจาก 2-3 เหตุผล แต่เหตุผลหลัก ๆ จะมาจากการได้ปรึกษากับผู้บริหารโรงพยาบาลพบว่า คนไข้ภูมิแพ้มีมากกว่า เพราะโรคภูมิแพ้เกิดขึ้นได้กับทุกระบบ ตา จมูก ผิวหนัง ปอด ลำไส้ เป็นภูมิแพ้ได้หมด ถ้าเราสามารถดูแลได้ ก็จะช่วยโรงพยาบาลได้อย่างเต็มที่
สำหรับตอนนี้ ผมก็ดูแลคนไข้โรคภูมิแพ้ ซึ่งเจอบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นโรคที่ใกล้ตัวเข้ามามากขึ้นทุกวัน ขณะเดียวกันผมก็ได้ดูแลคนไข้และเป็นที่ปรึกษาคลินิกทางโภชนาการไปด้วย เรียกว่าได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและช่วยโรงพยาบาลได้อย่างเต็มที่
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
เป้าหมายแรก ผมอยากดูแลคนไข้ในกลุ่มภูมิแพ้ให้ดีที่สุด ผมอยู่ รพ.พระนครศรีอยุธยา เห็นว่าคนไข้ภูมิแพ้ที่โรงพยาบาลมีความลำบาก ถ้าต้องเข้าไปรักษาตัวในกรุงเทพฯ ผมจึงอยากทำศูนย์ภูมิแพ้และทางเดินหายใจที่นี่ เพื่อลดการเดินทาง ลดการรอคอย จะมีหมอหลาย ๆ สาขามาดูแลร่วมกัน เช่น หมอปอด หู คอ จมูก และอายุรกรรม เป็นสิ่งที่อยากทำที่สุด ตอนนี้ขณะสัมภาษณ์อยู่ในช่วงปรับปรุง OPD ซึ่งถ้าเสร็จ สถานที่เรามี บุคลากรเราพร้อม ขั้นตอนต่อไปคือ ขอซื้ออุปกรณ์การรักษาพยาบาล คิดว่าศูนย์น่าจะเปิดให้บริการกับประชาชนได้ ภายใน 1-2 ปีนี้
เป้าหมายที่สอง ผมอยากดูแลคนไข้ด้วยความเท่าเทียม ผมคิดว่าระบบสุขภาพตอนนี้มีหลายระบบให้คนไข้ได้เลือก ทั้งของรพ.รัฐฯ รพ.เอกชน หรือคลินิก แต่ละระบบอาจได้รับการบริการที่แตกต่างกัน ผมอยากให้ในแต่ละระบบได้รับการรักษาที่เท่าเทียมกัน ผมเข้าใจดีว่าถ้าจะทำให้ได้ ต้องมีการปรับระบบครั้งใหญ่ เพราะมีข้อจำกัดอยู่มาก สิ่งที่ผมจะทำได้ก็คือ ศูนย์ภูมิแพ้ที่กำลังทำ ถ้าเสร็จและเปิดให้บริการ ผมอยากจะทำให้คนไข้ได้รับการบริการที่ดีและได้ยาที่ดีใกล้เคียงกันกับโรงพยาบาลเอกชนและโรงเรียนแพทย์
เป้าหมายที่สาม ผมสนใจงานบริหารของโรงพยาบาล ฯ ซึ่งตอนนี้ผมอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาคุณภาพ จะดูแลและพัฒนาคุณภาพทุกภาคส่วนของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ผมอยากทำให้โรงพยาบาล ฯ มีมาตรฐานเท่าเทียมกับโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ
เป้าหมายที่สี่ ข้อนี้ส่วนตัวสักนิด ผมอยากเป็นหมอที่สามารถรักษาสมดุลชีวิตทั้งงานและเรื่องส่วนตัว หรือ Work life balance ให้ได้ดี ตอนนี้ผมงานเยอะมาก ๆ กำลังอยู่ในช่วงการปรับปรุง คิดว่าถ้าทุกอย่างลงตัว จะมีเวลาทำเรื่องส่วนตัว เช่น กิจกรรมกับที่บ้าน กิจกรรมที่คิดว่าจะทำแล้วยังไม่ได้ทำ หรือมีเวลาพักผ่อนเพิ่มมากขึ้น
ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร
ต้องขอออกตัวก่อนว่า ถ้ายึดตามเป้าหมาย 4 ข้อก่อนหน้า หลายข้อยังอยู่ระหว่างการทำ จำเป็นต้องทำงานหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอยู่ แต่ถ้าให้ผมวิเคราะห์ตัวเองว่าที่ผ่านมา เรื่องที่ทำได้สำเร็จนั้นมาจากอะไร ผมขอตอบแบบนี้
ข้อแรก การมี passion มีความหลงใหลที่จะทำเรื่องบางเรื่อง ซึ่งผมจะเน้นเรื่องที่ได้พัฒนาตนเองเป็นหลัก ไม่ไปวัดกับคนอื่นวัดกับเฉพาะตนเอง สร้างไฟในการทำงานให้กับตนเอง ผมจะมีเป้าหมายว่าอยากจะทำอะไรให้สำเร็จในแต่ละปี อย่างตอนนี้ passion ของผมจะเป็นการทำงานวิจัย ผมตั้งเป้าไว้ว่าในหนึ่งปีจะทำงานวิจัยกี่เรื่อง ต้องเป็นประโยชน์ต่อคนไข้เราถึงทำ หรือการทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยหรือบริหารก็จะมี Timeline และ checklist ในแต่ละเดือน ผมตั้งเป้าทุก ๆ ปีว่าจะทำอะไรให้สำเร็จ ต้องทบทวนตัวเองในทุก 3 เดือนว่าทำอะไรไปถึงไหนแล้ว มีอะไรที่ต้องปรับให้เข้ากับบริบทในตอนนั้น
ผมมองว่าหมอทุกคนมี passion แต่ขึ้นกับว่าอยู่ที่เรื่องอะไร บางคนอยากดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด บางคนอยากจารึกชื่อไว้บนแผ่นดินในด้านวิชาการ บางคนอยากรักษาสมดุลของชีวิต ระหว่างงานกับเรื่องส่วนตัว น้อยมากที่หมอจะไม่มี passion แต่ที่สำคัญไม่น้อยกว่าอีกคือ ความสม่ำเสมอ
ข้อที่สองคือ การมีความสม่ำเสมอในเรื่องที่ทำ หรือ มี maintenance ในมุมมองผม การมี passion ทำให้เรามีไฟ มีแรงที่จะทำอยู่ แต่อาจเป็นแบบสั้น ๆ แต่ในความเป็นจริงเรื่องที่จะสำเร็จได้นั้น เราต้องมีความสม่ำเสมอ ทะนุบำรุง ทำซ้ำ ปรับแก้แบบต่อเนื่องได้เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี ผมคิดว่า passion นั้นสำคัญแต่ต้องมี maintenance ที่เพียงพอด้วย เพื่อที่จะทำให้เราทำงานสำเร็จ ได้ความสุขและได้ประสบการณ์ โดยที่ไม่หมดไฟไปเสียก่อน
ข้อที่สาม คือ การมีความสัมพันธ์ หรือ relationship ที่ดี เพราะการไปให้ถึงจุดหมายได้นั้น เราต้องได้รับความช่วยเหลือ ความทุ่มเทแรงกายแรงใจจากทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้งานสำเร็จ ผมมีไอเดียในการทำงานว่า หลังจากทุก ๆ งานที่จบ เราจะต้องได้งานและจะต้องได้ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานด้วย
งานส่วนใหญ่ของผมตอนนี้ มีการทำงานเป็นทีม ผมเข้าใจว่า ไม่มีใครรวมตัวผมเองที่จะสมบูรณ์แบบ ดังนั้นการทำงานจะต้องมีการให้อภัย ยอมรับในความไม่สมบูรณ์ของกันและกัน และมุ่งหน้าพยายามทำงานให้สำเร็จ และแน่นอนควรได้ความสัมพันธ์ที่ดีในทีมด้วย แต่ถ้าเกิดปัญหาหรือความรู้สึกด้านลบขึ้นมา ก็พยายามเคลียร์กัน สื่อสารปรับความเข้าใจกันให้เร็วที่สุด เพราะถ้าแก้ช้าไป มันอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ถ้าสุดท้ายเราแก้ปัญหาไม่ได้จริง ๆ เราก็ต้องทำใจ
“ผมคิดว่า passion นั้นสำคัญ
แต่ต้องมี maintenance ที่เพียงพอเพื่อที่จะทำให้งานสำเร็จ
ได้ความสุขและได้ประสบการณ์โดยที่ไม่หมดไฟไปเสียก่อน”
มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร และควรปรับปรุงเรื่องอะไร
ผมขอแชร์ความคิดเบื้องต้นก่อนว่า อุปสรรคทำให้เราเก่งขึ้น ทุกครั้งที่เจออุปสรรค ผมจะกลับมาคิดทบทวน หาวิธีแก้เพื่อให้อุปสรรคนั้นผ่านพ้นไปได้ วิธีนี้จะทำให้ผมได้อะไรหลาย ๆ อย่างจากอุปสรรคนั้น ทั้งเรื่องที่สำเร็จและไม่สำเร็จ เมื่อแก้ไขได้เราจะมีประสบการณ์มากขึ้นและเก่งขึ้น
เรื่องแรก อย่างที่บอกก่อนหน้าว่า เรามี passion มีสิ่งที่อยากจะทำค่อนข้างมาก เช่น ก่อตั้งศูนย์ภูมิแพ้ ทำงานวิจัย พัฒนางานในแผนกเด็กและอื่น ๆ แต่ด้วยเวลาที่มีจำกัด ทำให้บางงานเราไม่สามารถทำได้สำเร็จตามเป้า หรือถ้าทันเวลาก็จะไม่ดีอย่างที่เราคิด ผมคิดว่าจะจัดการกับปัญหานี้ ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่าง ๆ และจัดเวลาในการทำงานให้ลงตัวมากขึ้น เช่น ผมจะเรียงความสำคัญว่าในช่วง 6 เดือนแรกผมจะทำเรื่องไหนก่อน เวลาใด และในช่วง 6 เดือนหลัง ผมจะทำเรื่องไหนต่อ และทุก ๆ 3 เดือนก็มีการปรับทบทวนให้เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันก็กำลังทำอยู่
เรื่องที่สอง ต่อเนื่องกับข้อแรก เมื่อโครงการต่าง ๆ ที่เราอยากทำยังไม่สำเร็จตามเป้า เราก็ต้องใช้เวลาทำงานมากขึ้น เวลาที่ให้กับครอบครัวก็น้อยลง ที่ผ่านมาการจัดสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว หรือ Work life balance ผมยังทำได้ไม่ดี ยังดีที่ผมทำงานใกล้บ้านก็ยังสามารถไปหาครอบครัวได้สะดวก และถ้ามีอะไรฉุกเฉินก็ไปหาได้ตลอด เพียงแต่ผมอาจจะไม่ได้กลับบ้านบ่อย ซึ่งตรงนี้คุยกับที่บ้านแล้ว ผมมองว่า ถ้าระบบการทำงานที่เราเซตไว้ สามารถจัดสรรให้ลงตัวได้ เรื่องนี้จะดีขึ้น
จากอุปสรรคก่อนหน้า เวลาที่มีปัญหาปรึกษาใคร
ผมออกตัวก่อนเลย อาชีพหมอควรมีที่ปรึกษาเพราะการทำงานค่อนข้างเครียด ถ้าไม่ปรึกษาเรื่องงานก็ปรึกษาเรื่องชีวิตซึ่งสำคัญมาก ควรจะมีคนที่ให้มุมมองที่แตกต่าง ให้เราได้ลองคิดทบทวนหรือแค่รับฟังให้กำลังใจก็ดีขึ้นแล้ว
สำหรับผมเวลาเจออุปสรรคในการทำงาน ผมจะปรึกษารุ่นพี่เป็นหลัก เป็นรุ่นพี่ที่ทำงานคล้าย ๆ กัน ประมาณว่า ถ้ามีปัญหาประมาณนี้พี่แก้ไขยังไง บางทีก็อาจจะปรึกษาน้องบ้าง ก็จะได้ mindset ที่ไม่ได้เป็นหมอแต่เขามองปัญหานี้ยังไง เราก็ได้เรียนรู้ในหลากหลายมุม แต่บางเรื่องก็มีปรึกษาครอบครัวขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรื่องอะไรมากกว่า
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตและการทำงาน
ท่านแรกคือ อาจารย์ พญ.บังอร อุบล เป็นอาจารย์ที่โรงพยาบาลสระบุรี ได้ร่วมงานกับท่าน อาจารย์เป็นหมอเด็กที่มีความเมตตา เอาใจใส่ทั้งคนไข้และนักเรียนแพทย์ ผมคิดไว้เสมอว่า ถ้าผมจะเป็นหมอเด็กผมต้องทำให้ได้เหมือนอาจารย์ อาจารย์เป็นต้นแบบในการดูแลคนไข้ นักเรียนแพทย์ และการใช้ชีวิตโดยมี work life balance ที่ดี ท่านเป็นต้นแบบที่อยู่ในใจผมมาตลอด
ท่านที่สองคือ ผศ. นพ. บุญชู ศิริจงกลทอง อาจารย์เป็นหมอโรคหัวใจเด็ก รพ.ธรรมศาสตร์ ถ้าเป็นหมอเด็กในภาคกลางตอนล่างจะรู้จักอาจารย์ทุกคน อาจารย์ดูแลเด็กที่เป็นโรคหัวใจในโซนนี้เกือบทุกโรงพยาบาล หมอเด็กทุกคนสามารถปรึกษาท่านได้ ท่านมีความเมตตาต่อโรงพยาบาลรอบนอก ท่านจะให้คำปรึกษาตั้งแต่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ จนถึงตอนนี้ท่านก็ยังให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผมอยู่
ท่านที่สามคือ ศ. พญ. จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันเด็ก ผมมีโอกาสได้เรียนกับท่านที่จุฬาฯ ท่านเป็นต้นแบบของ work life balance ได้ดีมาก ๆ งานก็ทุ่มเทสุด ๆ อาจารย์เคยเป็นหัวหน้าภาคฯ อาจารย์เป็นศาสตราจารย์ เทคนิคการสอนของอาจารย์จะเน้นการนำไปใช้ในชีวิตจริง อาจารย์มีเทคนิคการสอนค่อนข้างเยอะ ประสบการณ์ล้นเหลือ เวลาสอนหนังสือท่านเมตตากับนักเรียนแพทย์ คอยให้คำปรึกษา ส่วนเรื่องครอบครัวท่านแบ่งเวลาดูแลลูกดูแลหลานได้ดีมาก ๆ เป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตของผมเลย
คติหรือหลักการในการดำเนินชีวิต
เรื่องแรก เป็นสิ่งที่ผมคิดเองเป็นไอเดียในการดำเนินชีวิตคือ “การทำความดีทุกวัน” หลายคนบอกว่าเป็นหมอก็ทำความดีอยู่แล้ว โดยการช่วยเหลือคนไข้ แต่ว่าในการใช้ชีวิตด้านอื่นเราก็ต้องทำในสิ่งที่ดีด้วย สิ่งใดไม่ดีจะไม่เข้าไปยุ่ง ในแต่ละวันผมจะทำความดีอย่างน้อย 1 อย่าง ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็น passion ในการใช้ชีวิต ใน 1 วันเราจะเจอทั้งเรื่องดีและไม่ดี แต่อย่างน้อยเราต้องมีเรื่องที่ดี 1 อย่างในวันนั้น
เรื่องที่สอง ใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียม ผมจะเริ่มที่ตัวผมโดยใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมในทุก ๆ เรื่อง อย่างถ้าเป็นการทำงาน เราจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ ถ้าคนไข้ที่แตกต่างกันตามสิทธิการรักษาแตกต่างกันหรือว่าอาชีพที่แตกต่างกัน แต่เราต้องพยายามดูแลให้เท่าเทียมกัน หากมีส่วนไหนที่ทำแล้วคนไข้ดีขึ้น ได้โอกาสมากขึ้นเราต้องทำ และพยายามมอบความคิดแบบนี้ให้เพื่อนร่วมงานหรือแพทย์รุ่นน้อง ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันก็คือระบบ ระบบอาจจะเอื้อต่อการที่จะทำให้การดูแลคนไข้แต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งระบบของเราแตกต่างกับต่างประเทศในหลาย ๆ เรื่อง ถ้าจะต้องแก้ไขอาจจะใช้เวลานานต้องแก้ที่รากฐานของระบบ ทั้งสวัสดิการและสิทธิการรักษา ประเด็นเรื่องระบบอาจทำให้แพทย์โรงพยาบาลรัฐหลายท่านที่เคยมีไฟในการทำงานย่อท้อ ส่วนนี้ผมของเป็นกำลังใจให้ และเป็นกำลังใจให้ตัวเองด้วยครับ อยากให้ทำเต็มที่ maintenance ไฟเราไว้ หลาย ๆ อย่างต้องใช้เวลาและมีวันเวลาที่เหมาะสมของมัน เราอย่าเพิ่งถอดใจกันไปก่อนเห็นความสำเร็จที่ปลายทางนะครับ
มองการแพทย์ไทยในปัจจุบัน และอนาคตเป็นอย่างไร
เรื่องแรกระบบสุขภาพยังมีข้อจำกัดและต้องการการพัฒนา ปัจจุบันแพทย์ไทยเก่งมาก ๆ แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่คือ ตัวระบบสุขภาพ อย่างโรงพยาบาลรัฐฯจะมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนแพทย์และบุคลากรการแพทย์น้อย คนไข้ที่ต้องตรวจมีมาก ทำให้เวลาในการตรวจน้อย เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องสิทธิการรักษาหลาย ๆ อย่างโดยเฉพาะยา ยาแต่ละสิทธิได้ไม่เท่ากัน ทำให้แพทย์รู้สึกบั่นทอน จริงอยู่แพทย์ที่จบมามีจำนวนมากขึ้น แต่ก็มีแพทย์ที่ลาออกไปมากเหมือนกัน อาจจะเป็นที่ค่าตอบแทนของอาชีพแพทย์หรือสวัสดิการการทำงาน ไม่ได้เอื้อให้แพทย์เท่าไร ทำให้มีความสุขในการทำงานน้อยลง ถ้าแก้ให้เรื่องเหล่านี้ดีขึ้นได้ จะทำให้แพทย์มีประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยและมีความสุขในการทำงานได้เต็มที่
ถ้าเรานำโมเดลของต่างประเทศมาใช้ อย่างคนต่างประเทศเมื่อป่วย เขาจะไปหาแพทย์ปฐมภูมิหรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวก่อน ทำให้อัตราการเข้าโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มีน้อย ต้องจำเป็นจริง ๆ ถึงจะมา และคนไข้หรือคนทั่วไปต้องเรียนรู้ Self-care ถ้าคนไข้ปวดหัวเป็นไข้ ต้องมีความรู้ว่าอาการแบบไหนควรจะมาโรงพยาบาล รู้วิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น ย้อนกลับมาที่บ้านเรา ถ้าการแพทย์แบบเวชศาสตร์ครอบครัวดูแลคนไข้แบบปฐมภูมิ ของเราทำได้แข็งแรงก็สามารถดูแลคนไข้ได้ใกล้ชิดขึ้น ดูแลและรู้จักทั้งครอบครัว การมาโรงพยาบาลใหญ่ ๆ บางครั้งก็จะไม่จำเป็น ผมมองว่าระบบปฐมภูมิของไทยต้องเข็มแข็งขึ้น ปัจจุบันก็มีการสร้างระบบปฐมภูมิแล้ว แต่ก็ยังช้าอยู่ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่างประเด็นนี้สำคัญ ถ้ามีการปรับได้จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยและระบบสุขภาพ แต่ก็ต้องใช้เวลา
เรื่องที่สอง ผมคิดว่าจะมีคนรุ่นใหม่สนใจเรียนแพทย์กันเยอะขึ้น ถ้าเราปรับการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเรียน และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สามารถเลือกเรียนแพทย์ได้ในหลากหลายหลักสูตรมากขึ้น ตามความสนใจ เช่น มีหลักสูตรการเรียนแพทย์ที่หลากหลายขึ้น มีบางหลักสูตรมีเรียนเป็นภาษาอังกฤษ บางหลักสูตรเรียนที่ต่างจังหวัด เป็นต้น แต่สุดท้ายก็มีการวัดผลที่ได้มาตรฐาน เพื่อแพทย์ที่จบมาดูแลผู้ป่วยก็ต้องผ่านเกณฑ์เหล่านี้แม้ว่าจะจบจากสถาบันใด น่าจะทำให้การเรียนแพทย์ตรงกับความต้องการของคนเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นเป็นรูปร่างในบางสถาบันแล้ว
เรื่องที่สาม การเข้ามาของเทคโนโลยี จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างในช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมาต้องบอกว่า เทคโนโลยีช่วยงานของแพทย์ได้เยอะมาก ๆ ทั้งการแพทย์ทางไกล หรือเรื่องใกล้ตัวอย่างการอ่านเอกซเรย์ปอด ตอนนั้นมียอดเอกซเรย์ปอดวันละ 500 คน แพทย์ดูไม่ไหวแน่นอนเราจึงใช้ระบบ AI มาช่วยอ่านฟิล์มเอกซเรย์ ถามว่าช่วยได้ไหมคือช่วยได้ แต่ AI ไม่ได้อ่านได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่า แพทย์ทุกสาขายังมีบทบาทอยู่ แต่ต้องปรับให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ละสาขา เพราะหลาย ๆ เรื่อง AI ก็ยังไม่สามารถทำได้
ข้อแนะนำสำหรับแพทย์รุ่นใหม่ที่อยากจะประสบความสำเร็จ
อย่างแรกคือ แพทย์รุ่นใหม่ต้องรู้ก่อนว่าตนเองชอบอะไร มีความสุขกับการทำอะไร ถ้ายังไม่รู้ก็ต้องพยายามหาวิธีทำให้รู้ เพราะจะได้เลือกทางเดินอาชีพให้สอดคล้องกับความสุขของเรา เช่น จะเป็นแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทาง ต้องการเวลาส่วนตัวมากน้อยขนาดไหน ต้องการรายได้มากน้อยอย่างไร รองรับแรงกดดันได้มากน้อยแค่ไหน ชอบการสอนและการทำวิจัยไหม เป็นต้น คำตอบของคำถามเหล่านี้จะทำให้รู้ในเบื้องต้นได้ว่าจะเป็นแพทย์สาขาไหน ทำงานที่โรงพยาบาลแบบใด
สำหรับการเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการแพทย์บ้านเราที่เน้นให้เรียนแพทย์เฉพาะทางด้วย ส่วนเรียนสาขาไหนนั้น แพทย์สมัยก่อนจะเลือกเรียนสาขาที่มีความมั่นคงสูง ส่วนแพทย์รุ่นใหม่จะเลือกตามความชอบจริง ตามความถนัดจริง และความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิต เรื่องนี้แนะนำว่านอกจากความชอบส่วนตัวแล้ว ต้องหาข้อมูลจากแพทย์ Resident หรือ Fellow ประกอบด้วย เพื่อเป็นแนวทางในการเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางด้วยและลองมองไปอย่างน้อยสัก 10 ปีหลังเราเรียนจบ เราอยากมีชีวิตแบบไหน จะทำให้เราตัดสินใจง่ายขึ้น บางครั้งการไม่ได้เป็นแพทย์เฉพาะทางก็ไม่ได้แปลว่าชีวิตเราจะไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างที่สองคือ ภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญ แพทย์อาจจะไม่ค่อยได้เรียนภาษา เพราะว่าหลักสูตรแพทย์ไม่ค่อยเสริมเรื่องภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่จะเรียนภาษาตอนปี 1 สุดท้ายเราเรียนจบแพทย์ แล้วภาษาเราพออ่านได้ แต่การพูดการฟัง อาจจะยังไม่ได้ ถ้าแพทย์ที่จบมาสามารถพูด ฟัง ภาษาได้ สามารถต่อยอดทางด้านอื่นได้เยอะมาก อยากให้แพทย์รุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับภาษา ทั้งการพูดและการสื่อสาร เพราะหลักสูตรแพทย์ของไทยไม่ได้เน้นในเรื่องนี้เท่าใดนัก
อย่างที่สามคือ เรื่องการใช้ชีวิต เป็นสิ่งที่สำคัญมาก อย่าทำงานจนไม่ได้ใช้ชีวิต ต้องจัดสรรเวลาไปทำในสิ่งที่ชอบอย่างอื่น สุดท้ายเราไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตได้นานแค่ไหน อย่าลืมความสุขในการทำงานด้วย ผมคิดว่าแพทย์รุ่นใหม่มองภาพตรงนี้ชัดขึ้น และแพทย์รุ่นพี่ ๆ ควรให้ความสำคัญกับแพทย์รุ่นใหม่ในความคิดที่แตกต่างด้วย เพราะแพทย์รุ่นใหม่ต่อไปจะเป็นพลังขับเคลื่อนวงการแพทย์ไทยในอนาคต ต่อไปผมก็ต้องเป็นแพทย์อาวุโส ต้องปรับ mindset ตามแพทย์รุ่นใหม่เหมือนกัน โดยส่วนตัว การใช้ชีวิตของผมคือการท่องเที่ยว ผมจะได้มุมมองในการใช้ชีวิต ได้มุมมองใหม่ ๆ พยายามใช้ชีวิตให้ balance ทุกครั้งที่ออกเดินทาง เป็นการสร้างประสบการณ์ ซึ่งเป็นงานอดิเรกของผมไปด้วย หรืออย่างการลงทุนต่าง ๆ ผมก็ศึกษาหรือความรู้ที่ไม่ใช่ด้านการแพทย์ก็ลองศึกษาไปด้วยครับ ซึ่งผมมองว่าเป็นการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าแบบหนึ่งครับ