CIMjournal
Banner CIM Endo 5

อาจารย์ พญ. รัตนา ลีลาวัฒนา สาขาต่อมไร้ท่อ

“เรื่องนี้ลดอีโก้ตนเองลงไปอย่างมาก.. เราสามารถโน้มจิตใจลงมาเหมือนรวงข้าวได้จริง ๆ สามารถสอนเด็กให้เป็นหมอที่ไม่ถือตัว ไม่โอ้อวดและไม่เสแสร้ง”

รศ. พญ. รัตนา ลีลาวัฒนา
หน่วยต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม สาขาวิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อุปนายกคนที่ 2 สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย


แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาต่อมไร้ท่อ

ดิฉันเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ด้วยความที่เราเป็นลูกคนจีนเป็นลูกผู้หญิง ไม่ได้สืบทอดกิจการของพ่อแม่ ก็ต้องเลือกเรียนและหาวิชาชีพที่มีความมั่นคง ด้วยความที่ไม่ได้เก่งฟิสิกส์ ถ้าจะเป็นวิศวกรดูท่าทางจะไม่รุ่ง ก็เลยตัดสินใจเลือกเรียนแพทย์ที่ศิริราช ความรู้สึกระหว่างเรียนคือ ศิริราชเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 โดยตัวเองเป็น extern รุ่นแรกของประเทศ จำได้ว่าการเรียนจะอัดแน่นมาก ๆ แทบจะไม่มีปิดเทอมหอพักแทบจะเป็นบ้านเลย ครูบาอาจารย์ก็จะเจอกันตลอด ลักษณะเหมือนเรามีญาติผู้ใหญ่อยู่ที่บ้าน อาจารย์ก็จะสอนเรา ดูแลเหมือนเราเป็นลูกหลานจริง ๆ มีชวนกันไปเล่นน้ำคลองบางกอกน้อยด้วย ขณะรุ่นพี่ที่เรียนเป็น resident ก็จะทำงานหนักและสอนพวกเราด้วย รวมถึงพี่ที่เป็นพยาบาลด้วย ทุกคนเป็นครูของเราหมด ก็หล่อหลอมพวกเราทุกด้าน ทั้งเรื่องวิชาการและการใช้ชีวิต พอจบก็ไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลบันนังสตา จังหวัดยะลา สมัยนั้นเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง ก็ได้เรียนรู้วิถีชีวิต ภาษายาวี วัฒนธรรม อาหารการกินมุสลิม เป็นการใช้ชีวิตที่สนุกมาก และทำให้เห็นว่าที่เราเรียนอยู่ในโรงเรียนแพทย์ที่ศิริราช มันเป็นเพียงการเตรียมการทำงานวิชาชีพ เพราะจบมาลงมือทำจริง ๆ เราต้องศึกษาพัฒนาตัวเองอีกมาก ที่สำคัญอีกอย่างคือ เรื่องของ soft skill วิธีการสื่อสารแม้ว่าเราจะมีความหวังดีเต็มที่กับคนไข้ แต่พอสื่อสารออกไปแล้ว มันอาจมีมุมมองกันคนละแบบ ทำให้ได้ผลไม่เหมือนกับที่เราคิด เราก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาไปเรื่อย ๆ อยู่ที่บันนังสตา 1 ปี ก็ย้ายไปโรงพยาบาลเบตง หลังจากนั้นก็ลาออกเพื่อมาเรียนเฉพาะทาง

CIM Endo 2567

ถามว่าทำไมเลือกเรียนอายุรศาสตร์ คำตอบคือ เรารู้สึกว่าไม่อดทนพอที่จะดูแลคนไข้เด็ก เวลาเขาร้องไห้เราไม่มีเทคนิค ไม่มีความสามารถในการจัดการให้เด็กเงียบ และอย่างตอนทำคลอดก็จะไม่รู้สึกสนุก แต่รู้สึกเครียด กลัวว่าลูกเขาจะเป็นอะไรไป หรืออย่างผ่าตัดเคยเจอเคสที่คนไข้โดนแทงมาแล้ว แล้วเรารักษาภายหลังเขาเสียชีวิต ทำให้เราเศร้ามาก ๆ ไม่เอาดีกว่า ก็เลยตัดสินใจกลับบ้านเราที่ศิริราช เลือกเรียนอายุรศาสตร์

ส่วนการเลือกเรียนเฉพาะทางต่อมไร้ท่อนั้น คือตอนแรกคิดว่าชอบ Hemato เพราะมีอาจารย์อนงค์ เพียรกิจกรรม เป็นไอดอล แต่พอจริง ๆ แล้วปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะระบบ training ของไทยที่ดีมากคือเปิดโอกาสให้เราได้ผ่านหลายหน่วยวิชาไม่ต้องรีบเลือก พอเรียนไปเรื่อย ๆ มันจะบอกเองว่าเราชอบอะไร แล้วก็มารู้ว่าชอบ Endocrine เพราะว่า Endocrine  มันเป็นอะไรที่ท้าทาย เพราะต้องเรียนและเข้าใจสรีระวิทยาอย่างถ่องแท้ ต้องใช้ระบบการคิดอย่างมากว่า คนไข้น่าจะเป็นโรคอะไร แล้วก็ไปสู่การสืบค้น ว่าความผิดปกติมันอยู่ที่ใด ใช่ที่เราคิดไว้ไหม แล้วจะรักษาอย่างไร  เหมือนกับเราต้องเป็นนักสืบอยู่ตลอดเวลา

 

“การเจ็บป่วยมันไม่ได้ดั่งใจ
จะบังคับให้หายเร็ว
บางครั้งมันทำไม่ได้

สิ่งที่คิดว่าดีกับลูก
อาจจะไม่ดีกับคนอื่นก็ได้” 


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เรื่องแรกคือ การช่วยคนไข้ให้พลิกกลับมาใช้ชีวิตได้ต่อ ตัวอย่างรายที่ 1 คนไข้เป็นเนื้องอกที่ทำให้เขาสูญเสียเกลือแร่ทางปัสสาวะอย่างรุนแรง เป็นกระดูกอ่อนและพิการ ตอนนั้นกลับมาจากเมืองนอกและรู้จักโรคนี้ และบังเอิญก็มาเจอคนไข้โรคนี้ที่บ้านเรา ก็พยายามหาว่าเนื้องอกของคนไข้คนนี้อยู่ที่ใด ตอนนั้นเทคโนโลยียังไม่มีอะไร เราก็ใช้มันสมองกับสองมือ ทำเอกซเรย์หัวจรดเท้าและก็หาจนเจอว่าเนื้องอกอยู่ที่ใดและก็เอาเนื้องอกนั้นออก ปรากฏว่าคนไข้ผู้หญิงจากที่เคยสูง 160 ซ.ม. ลดลงมาเหลือ 140 ซ.ม. ต้องนั่งวีลแชร์ ทำอะไรไม่ได้เลย สามีหย่าร้าง พออาการหนักมากสามีถึงรู้ว่าป่วยจริง หลังจากเอาเนื้องอกออกไปปรากฏว่าเธอกลับมาแข็งแรง กลับมาเป็นช่างเสริมสวยทำงานเลี้ยงตัวเองได้ เธอได้ชีวิตกลับมาคืนมา โรคนี้พบเจอได้บ้าง หมอ Endocrine ทุกคนรู้จักโรคนี้ Tumor-induced osteomalacia (TIO) และรายที่ 2 คนไข้เป็นเนื้องอกที่สร้างอินซูลินมากมาย malignant insulinoma เนื้องอกชนิดนี้ตัดไม่ได้และก็ไม่ได้ตายทันที มันจะดำเนินไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่าคนไข้มีภาวะวิตามินบี 3 ขาด จากเนื้องอก กินเท่าไหร่ก็ไม่พอ จากคนที่ฉลาดกลายเป็นคนไม่ฉลาดอย่างรวดเร็ว เราไม่ได้เจาะเลือดเพราะไม่มีห้องแล็บ ต้องใช้ความพยายามสืบหาอย่างมาก พอคนไข้ได้วิตามินบี 3 ชดเชย คนไข้ฉลาดขึ้นแบบวันต่อวัน โรคนี้บอกเราว่าถ้าเรามีความแม่นยำเรื่องสรีรวิทยาและใช้ความเพียรพยายาม การรักษาอาจจะไม่ใช่เรื่องแพงอะไร ความพยายามที่เราทุ่มเทให้คนไข้คือ คุณค่าของความเป็นหมอ

เรื่องที่สอง การผ่านอุปสรรคในเรื่องชีวิตครอบครัว เรื่องนี้ทำให้เรามีความเข้าใจโลกมากขึ้นและเข้าใจคนอื่นดีขึ้น คือ ลูกป่วย เขาเป็นอารมณ์ 2 ขั้ว กว่าจะวินิจฉัยโรคได้ก็ผ่านไป 2 – 3 ปี มันเจ็บปวดมาก ทำให้เราเข้าใจคนป่วยอย่างลึกซึ้งมากขึ้นกว่าเดิม เป็นสภาพที่ทำให้เข้าใจเลยว่า ถ้าเราเป็นญาติกับคนไข้และเป็นคนที่เรารักมาก มันจะเจ็บปวดแค่ไหน คำว่า “อัตตานัง อุปมัง กะเร” หรือ “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” ก่อนหน้าอาจเป็นแค่คำพูดเฉย ๆ แต่พอได้เจอกับตัวเองจริง ๆ คำนี้เป็นเรื่องจริงอย่างมาก คำนี้สอนตนเองมาก พอผ่านปัญหานี้มา ก็เอาเรื่องนี้มาสอนนักเรียนแพทย์ เป็นการสอนที่มาจากใจจริง ๆ บางทีการเจ็บป่วยมันไม่ได้ดั่งใจ จะบังคับให้มันหายเร็ว บางครั้งมันทำไม่ได้ สิ่งที่คุณคิดว่าดีกับลูก อาจจะไม่ดีกับคนอื่นก็ได้ แต่ละคนมีความเป็นปัจเจก ลูกก็ทานยาและมีผลข้างเคียงเยอะมาก เรื่องนี้ลดอีโก้ตนเองลงไปอย่างมาก ความภูมิใจมาก ๆ ของตนเองคือ เราสามารถโน้มจิตใจตนเองลงมาเหมือนรวงข้าวได้จริง ๆ เราสามารถก้าวข้ามอีโก้ส่วนตัว และสามารถสอนเด็กให้เป็นหมอที่ down-to-earth คือ ไม่ถือตัว ไม่โอ้อวดและไม่เสแสร้ง

CIM Endo 2567

เรื่องที่สาม การให้คำปรึกษากับลูกศิษย์  เวลาลูกศิษย์นักเรียนแพทย์มีปัญหาทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว แล้วโทร.มาปรึกษาเรา เราก็จะรู้สึกดี อีกส่วนหนึ่งที่ภูมิใจคือ การได้รับเลือกให้เป็นอาจารย์แพทย์ผู้เป็นแบบอย่างด้านคุณธรรม จริยธรรมของแพทยสภา เมื่อ 3 – 4 ปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากที่ตนเองสามารถ down-to-earth ได้ เวลาออก OPD ตรวจคนไข้ ก็จะมีคนไข้มาร้องไห้กับเรา มากอดเรา คนไข้บอกว่าออกจากห้องตรวจของเราแล้วออกไปเขาจะสบายใจขึ้น คนไข้จะทุกข์น้อยลง แต่ไม่ได้หายป่วยนะ คนไข้บางส่วนจะรู้สึกได้ว่า เราแคร์เขา


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

จริง ๆ แล้ว สิ่งที่ทำมาและประสบความสำเร็จก็อาจจะเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยเกื้อหนุนเป็นเรื่อง ๆ ไป แต่ที่พอจะเรียบเรียงเพื่อให้เป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านได้บ้าง ก็จะมี

ปัจจัยแรกคือ การมีครูดี เริ่มจากครอบครัวเป็นตัวอย่างครูที่ดี เช่น แม่จะสอนเรื่องคุณค่าของคน ความทุกข์ยากของคน แม่สอนให้มีความเพียร ใช้ชีวิตโดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร ต่อมาคือ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ เป็นโรงเรียนที่คลานเข่าแต่เป็นโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กถกเถียงวิชาการเต็มที่ สอบเสร็จจะมีการเฉลย แล้วก็มาดูกันว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ โรงเรียนทำให้แตกฉานโดยที่ยังคลานเข่าได้ ซึ่งชอบมาก จากนั้นไปต่อที่เตรียมอุดม ซึ่งไม่ต้องบอกทุกคนก็ทราบนะคะว่าเป็นอย่างไร พอไปที่ศิริราชก็มีครูที่ดูแลเราตลอดอย่างที่เกริ่นไว้ในข้อแรก โชคดีมาก ๆ ที่ตนเองมีวาสนาได้มีครูบาอาจารย์ที่ดี

CIM Endo 2567

ปัจจัยที่สองคือ การทำงานทุกอย่างเพื่อให้เกิดผลงานนั้นจริง ๆ ทำงานเพื่อให้ได้งาน ไม่ใช่ทำงานเพื่อตัวเองจะได้อะไร ทำงานให้องค์กร องค์กรได้ประโยชน์และมีการพัฒนาอย่างแท้จริง เช่น ตอนนี้ตนเองเข้าไปช่วยงานของสมาคมโรคเบาหวานฯ ในการดูแลคนไข้เบาหวาน type 1 ซึ่งเป็นเบาหวานที่เปราะบางมาก จำเป็นที่จะต้องมีการติดตามน้ำตาลโดยการเจาะเลือดอย่างใกล้ชิด มีการดูแลให้ความรู้และใช้ยาอย่างเหมาะสม โครงการนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนไข้เบาหวานทั้งหมดได้รับการดูแลที่ดี สุดท้าย สปสช.ให้สิทธิประโยชน์คนไข้ 30 บาทที่เป็น type 1 สามารถได้แถบตรวจการเจาะเลือด ขณะที่สิทธิ์อื่นยังไม่ได้ นี้คือ การทำงานเพื่อให้ได้งาน ทุกคนที่อยู่ข้างหลังไม่ได้เงิน ไม่ได้อะไร แต่ว่าทำเพื่อจะให้คนไข้ได้รับการตรวจที่ดี หรืออย่างทีมเบาหวานของโรงพยาบาล มอ. กลุ่มพยาบาลได้ตั้งกลุ่มไลน์มีคนไข้ type 1 อยู่ในไลน์กลุ่ม พยาบาลทุกคนทุ่มเทเวลาเพื่อดูแลคนไข้กลุ่มนี้ โดยที่ไม่ได้เงินเพิ่ม ไม่ได้ขั้นเพิ่ม แต่มุ่งหวังให้คนไข้กลุ่มนี้จะได้รับการดูแลที่ดีขึ้น มีชีวิตที่ปลอดภัยขึ้น

ปัจจัยที่สาม คือการมีกัลยาณมิตรที่ดี ตั้งแต่เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง รุ่นน้อง เป็นกัลยาณมิตรที่ดีทั้งสิ้น จะช่วยเราประคับประคองตอนที่เราแย่ เศร้าหมอง หมดกำลังใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก หรือแม้กระทั่งพระอาจารย์ที่วัดหรือว่าโต๊ะอิหม่าม การมีกัลยาณมิตรที่ดีทำให้ทั้งชีวิตและงานลุล่วงไปด้วยดี

 

“อุปสรรคแรกคือ
การเป็นคนที่ขาด
คุณลักษณะที่กัดไม่ปล่อย

ตรงนี้เป็น defect
ของตนเอง”


กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร

อุปสรรคแรกคือ การเป็นคนที่ขาดคุณลักษณะที่กัดไม่ปล่อย ตรงนี้เป็น defect ของตนเอง เพราะงานบางชนิดจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความอดทน คอยติดตามงาน อย่างเช่น งานเขียนหนังสือ ถ้าจะให้เขียนหนังสือหลาย ๆ ตอนอาจจะไม่อดทนพอ เพราะรู้สึกว่าตนเองไม่มีความพยายามที่จะเขียนพอ แต่ถ้าให้เขียนแค่หนึ่งตอนจะชอบมาก ก็ต้องบอกเลยว่ามีปัญหากับเรื่องนี้ แต่ทุกปัญหามีทางแก้ ส่วนตัวถ้าอะไรไม่ถนัดไม่ชอบแล้วต้องทำ ก็จะหาทางแก้  อย่างเรื่องเขียน เราก็ต้องหาคนคอยตามจิกคอยตามงาน ให้เราทำออกมาได้ตามกำหนด อาจดูขัดกับลักษณะของการเป็นอาจารย์แพทย์บ้าง แต่สิ่งที่ต้องการสื่อสารคือ งานทุกอย่างอาจมีปัญหา และทุกปัญหามีทางออก ขึ้นอยู่กับว่าคุณให้ความสำคัญและจะแก้ปัญหานั้นหรือเปล่า

อุปสรรคที่สองคือ การมีมุมมองเดิม ๆ เป็นหลัก มันเป็นปัญหาเพราะการมีมุมมองเดิม ๆ บางครั้งอาจจะทำให้เราจะทำงานไม่ได้ มองไม่เห็นทางไป เราต้องยอมถอยออกมา 3 – 4 ก้าว แล้วมองด้วยมุมมองอื่น ๆ การหามุมมองจากคนอื่นตรงนี้สำคัญ บางทีเรามองมุมเดียวเราจะไม่มีทาง เพราะฉะนั้นกัลยาณมิตร ครู สำคัญมากจะช่วยแนะนำเราเลยว่า สิ่งนั้นเขาเคยทำมาแล้ว เขาก็จะเจออุปสรรคแบบนี้แหละ ทางแก้เป็นแบบนี้ หรือถ้ารู้ก่อนก็จะไม่ทำพลาดแบบเขาอีก ตัวอย่างเช่น ตอนสมัยเป็นแพทย์ใช้ทุนปีแรก ตอนนั้นต้องทำทุกสิ่งแม้กระทั่งการออกใบชันสูตรให้ความเห็นทางการแพทย์ เราก็ให้ความเห็นไป ปรากฏว่ามีทนายยื่น notice ให้มาจะฟ้อง ตอนนั้นเครียดมาก เพราะทำงานปีแรกไม่รู้จะทำยังไงดี ถามเพื่อนเพื่อนก็บอกว่าก็ให้เงินเขาไป ปรากฏว่าก็มาปรึกษาอาจารย์ที่ศิริราช อาจารย์ก็ให้คำแนะนำมาอย่างดี เราก็ทำตามที่อาจารย์แนะนำและก็ผ่านไปได้ด้วยดี เหตุการณ์นี้อาจารย์ต้องสอนเขียนใบชันสูตรเพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก การเขียนบางอย่างอาจจะมีปัญหา

 

“อาจารย์บอกว่า
จะต้องตรวจสอบการทำงาน
ของผม จะบอกว่า
trust me I am good ไม่ได้
ทุกคนจะต้องโปร่งใส
ตรวจสอบได้”


ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

คนแรกคือ ศ.นพ. ธาดา ยิบอินซอย ท่านเป็นต้นแบบในเรื่องการช่วยเหลือสังคม ท่านเป็นคนไปช่วยดูแลคนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจารย์ขับรถไปเอง ไปคุยกับคนในพื่นที่ ไปช่วยเหลือเขา อาจารย์ไม่ได้เอาเงินไปให้ อาจารย์จะทำทุกอย่างเพื่อให้เขากลับมามีชีวิตที่ดีได้ ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มของอาจารย์ ตนเองนับถือใจของอาจารย์มาก ตอนนั้นอาจารย์อายุ 70 ปีแล้ว แต่ก็ยอมทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือ อาจารย์เป็นอาจารย์พิเศษที่ มอ. และเป็นคนที่สาธิตให้เห็นหลักการดำรงชีวิตและวิธีการทำงานอย่างชัดเจน อาจารย์ early retire และก็มาขอทำงานแบบเป็นระยะ อาจารย์บอกว่าจะต้องตรวจสอบการทำงานของผม จะบอกว่า trust me, I am good ไม่ได้ ทุกคนจะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ speak out loud และ declare ให้ชัด โดยส่วนตัวรู้สึกประทับใจอย่างยิ่ง

คนที่สองคือ ศ.พญ. อนงค์ เพียรกิจกรรม ท่านเป็นต้นแบบของ learning by doing อาจารย์มีประสบการณ์ในการดูคนไข้โลหิตวิทยาสูงมาก อาจารย์รักคนไข้มาก ๆ ถ้าคนไข้มีอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับโลหิต อาจารย์จะขอไปร่วมในการดูแล ให้ความคิดในเชิงบวกเพื่อช่วยคนไข้ อาจารย์ดูชิ้นเนื้อน่าจะเป็นแสน ๆ ชิ้นแล้ว นำประสบการณ์ที่สั่งสมมา เพื่อมาช่วยคนไข้ อาจารย์เป็นคนที่ยอมรับในความผิดพลาดคือ ผิดแล้วประกาศว่าฉันผิด มีครั้งหนึ่งตัวเองเป็น chief เวรต้องหาสาเหตุไข้และก็คิดว่าเป็นไข้มาลาเรียแล้วอาจารย์ก็ไปพิสูจน์ว่าไม่ใช่ อาจารย์ก็สอนให้ประกาศว่าไม่ใช่มาลาเรียที่ห้องประชุม morning report มีอีกงานที่ตัวเองได้รับฟังจากพี่ senior ว่าอาจารย์เคยประกาศในห้องประชุมว่าตัวอาจารย์ทำผิด ซึ่งตนเองช็อคมากอาจารย์ยอมรับความผิดพลาดอย่างดัง ๆ อาจารย์สอนให้เห็นว่าการยอมรับความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่า เด็กที่ถูกฟูมฟักว่าเป็นเด็กเก่งต้องเรียนเรื่องนี้ว่าฉันผิด ฉันยอมรับความผิดพลาดซึ่งตรงนี้จะเป็นวัฒนธรรมที่ดีให้แพทย์รุ่นใหม่

คนที่สามคือ ศ.เกียรติคุณ พญ. วรรณี นิธิยานันท์ ท่านเป็นต้นแบบของการทำงานเพื่อคนไข้ อาจารย์มองในเชิงระบบ individual ก็ดีแต่ระบบสำคัญกว่า ถ้าเราทำดีคนเดียวเราจบ แต่ถ้าเราสร้างระบบที่ยั่งยืน มันจะช่วยให้ประสบความสำเร็จและมีทายาทที่จะคอยสร้างให้ระบบนั้นอยู่และดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ตนเองรู้สึกภูมิใจมากที่ได้เป็นฟันเฟืองให้กับอาจารย์ในการทำงาน

CIM Endo 2567


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ต้องบอกแบบนี้ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขมีอยู่ 2 อย่าง อย่างที่ 1 คือ อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปยึดติดกับอะไร พอเราอยู่กับปัจจุบัน เราจะโฟกัสแล้วเราก็จะทำงานได้ดีขึ้น ไม่คิดไปข้างหน้าไม่วอกแวก และอย่าไปคิดถึงอดีตที่เคยผิดพลาดไป อย่างที่ 2 คือ พยายามละตัวกูของกู และจะมีความสุข คือหลังจากทุกข์มาก ๆ เราจะได้เห็นธรรมะ        


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

จากสถานการณ์ปัจจุบันต้องบอกว่า ทั้งตัวโรคต่าง ๆ และเทคโนโลยีหรือวิธีที่ใช้ในการรักษาได้มีการพัฒนาไปเป็นอย่างมาก ถ้าเน้นที่การพัฒนาวิธีในการตรวจ วินิจฉัย และรักษา จะเห็นว่ามีแนวโน้มที่ค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยหรือรัฐบาลต้องจ่ายจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และแพทย์รุ่นใหม่ ๆ ก็จะถูกบังคับให้เรียนรู้โรคต่าง ๆ รวมถึงไกด์ไลน์ในการรักษา ซึ่งมักจะมาจากชาติตะวันตก แพทย์ไทยก็จะเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตาม จริง ๆ ต้องบอกเลยว่าอยากจะให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้เป็นของประเทศเรา และแข็งแรงพอที่จะสร้างไกด์ไลน์ที่เกิดในประเทศของเรา เพราะมีความเป็นห่วงมากว่า การทำได้เพียงปฏิบัติตาม ค่าใช้จ่ายจะแพงมาก

ขณะที่เทคโนโลยีในการรักษามีการพัฒนา เทคโนโลยีการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น อนาคตแพทย์รุ่นใหม่จะต้องเผชิญกับข้อมูลที่เข้ามามากมาย ซึ่งมีข้อมูลทั้งจริง ทั้งเท็จ เฟคนิวส์ แพทย์รุ่นใหม่จะต้องคิดและใช้วิจารณญาณอย่างมาก เพราะว่าคำตอบชัด ๆ มันยังไม่มี ก็ยังหวังไว้ว่าระบบการแพทย์ใหญ่ ๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็น สปสช. กระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ จะมีการรวบรวมและ เรียบเรียงเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ให้แพทย์และสังคมได้แบ่งปันกันอย่างชัดเจน

CIM Endo 2567


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

สำหรับแพทย์รุ่นใหม่ ๆ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคต อย่างแรก การศึกษาหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคและการรักษาใหม่ ๆ มีความจำเป็นอย่างมาก อย่างที่สอง การพิจารณาข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องแม่นยำมีความจำเป็น แพทย์รุ่นใหม่จะต้องมีวิธีการประเมินข้อมูลอย่างดี ตัวอย่างเช่น อาจารย์มาเลคเชอร์แล้วก็เอาสไลด์มาดู อันนี้อยากให้แพทย์กลับไปอ่าน journal หรือวารสารตัวนั้นจริง ๆ ถอยไปถึงรูทเลยแล้วก็ดูซิว่าจริงไหม ตรงนี้แพทย์รุ่นใหม่ต้องพยายาม ยอมรับว่ามันจะมีข้อมูลมาเยอะ จะต้องเหนื่อยกับการอัพเดทข้อมูล แต่ว่าก็ต้องทำ ถ้าเราเข้ามาในสายนี้แล้ว แค่เรื่องวัคซีนตัวนี้จะฉีดดีหรือไม่ดี แพทย์ก็ต้องตามข้อมูลอยู่ตลอด จะได้มีการพิจารณาและให้คำแนะนำหรือตัดสินใจที่เหมาะสม สุดท้ายคือเรื่องของ soft skill วิธีการสื่อสารไม่ว่ากับคนไข้กับเพื่อนรอบตัวของเรา กับเจ้านายของเรา เพื่อนร่วมงานของเรา วิธีการสื่อสารที่ดีจะช่วยให้เรามีความสุขอย่างมาก พูดไปยิ้มไป มีน้ำเสียงที่ดี พูดจาให้ชัดคำ สื่อสารได้ชัดตรงประเด็น ชีวิตในการทำงานก็จะดีมาก อันนี้สำคัญมาก ๆ

 

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก