CIMjournal

อาจารย์ พญ. ศุภวรรณ บูรณพิร สาขาต่อมไร้ท่อ


“rational drug use กับ rational lab use ถ้าปรับปรุงได้อยากปรับปรุงตรงนี้ เพราะแพทย์รุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะ over investigation เยอะขึ้น”

รศ. พญ. ศุภวรรณ บูรณพิร
หน่วยวิชาระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม
ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมโรคต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาต่อมไร้ท่อ

เรียนจบมัธยมที่ รร.มงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ตอนสมัยเรียนก็ชอบเรียนทุกวิชา ได้คะแนนคณิตศาสตร์ระดับดีมากมาตลอด จนครูบอกว่าอย่างเธอต้องไปเรียนวิศวะ ตอนนั้นยังไม่เก่งภาษาอังกฤษ ก็พัฒนาขึ้นมา ระหว่างไปโรงเรียนก็จะนั่งท่องศัพท์ภาษาอังกฤษทุกวัน จากภาษาอังกฤษที่เราไม่เก่งตั้งแต่มัธยมต้นจนสามารถเก่งภาษาอังกฤษทำคะแนนระดับดีมากพอ ๆ กับวิชาอื่นได้ จนเป็นแรงบันดาลใจให้กับรุ่นน้องว่าไม่มีใครเรียนไม่เก่งหรอกถ้าตั้งใจ ตอนจบได้อันดับ 2 ของรุ่น สำหรับแรงบันดาลใจที่อยากเป็นหมอเกิดจากค่านิยมในยุคสมัยนั้นที่ว่าคนเก่งต้องเรียนหมอ อีกส่วนหนึ่งเพราะว่ามีพี่สาวเป็นหมอ เป็นตัวอย่างให้เราในหลาย ๆ เรื่อง ถือเป็นความภูมิใจของครอบครัวที่มีลูกเรียนหมอ จึงตัดสินใจสอบเข้าแพทย์ มช.
 

“สมัยนั้นในกลุ่มเพื่อนมี 3 คน
จะเป็นกลุ่มที่ขยันมาก
นั่งเฝ้าคนไข้ตลอดเวลา

  ไปกินข้าวจะไม่ไปพร้อมกัน
เราจะสลับกันไปกินข้าว”


ส่วนความสนใจอายุรศาสตร์เกิดขึ้นตอนเรียน ปี 4 เพราะเห็นว่าเป็นศาสตร์แห่งการคิด วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ซึ่งตนเองชอบแบบนี้ ทำให้ช่วงปิดเทอมไปลง elective อายุรศาสตร์ตลอด จนจบ ปี 6 สมัยนั้นในกลุ่มมี 3 คน จะเป็นกลุ่มที่ขยันมาก นั่งเฝ้าคนไข้ตลอดเวลาไปกินข้าวจะไม่ไปพร้อมกัน เราจะสลับกันไปกินข้าว ถ้าอยู่ห้องไอซียูก็จะอยู่ตลอด จนรุ่นพี่ออกปากชมว่ากลุ่มนี้ขยันจริง ๆ คือ เรารู้สึกว่าคนไข้ต้องได้รับการดูแล พวกเรารู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องดูแลคนไข้

หลังจากเรียนจบ ปี 6 แล้ว ตนเองได้เรียนต่อเป็นแพทย์ใช้ทุน ตอนสอบสัมภาษณ์แพทย์ใช้ทุน ก็บอกอาจารย์ว่า สนใจเรียนต่อทางด้านอายุรแพทย์แล้วจะทำงานกับรพ.รัฐบาล โดยไม่ได้มองภาพตัวเองทำงาน รพ.เอกชน เลย  ส่วนสาขาที่สนใจก็ชอบทางเดินอาหาร เพราะคนเราต้องกินได้ นอนหลับถึงจะอยู่ได้ แต่พอมาเรียนจริง ๆ ตนเองเป็นคนที่ไม่ชอบอะไรที่ฉุกเฉินมาก ๆ ชอบอะไรที่คิดวิเคราะห์ มีระบบการคิดเป็นขั้นเป็นตอนก็เป็นสาขาต่อมไร้ท่อที่เป็นแบบนี้

ระหว่างเรียนและใช้ทุน ในขณะนั้นภาควิชาอายุรศาสตร์ มช. ไม่มีอาจารย์ nutrition เลย ตนเองก็มองว่าถ้ามีโอกาสก็จะเป็นอาจารย์ทางด้านนี้ โดยได้ปรึกษาท่านอาจารย์ พญ. อัมพิกา มังคละพฤกษ์ ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นหัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อ ว่าตัวเองอยากเรียน nutrition แต่ยังไปไม่ได้เนื่องจากติดสอบ CSA จึงเรียนสาขาต่อมไร้ท่อไปก่อน ซึ่งอาจารย์ก็ให้โอกาสระหว่างที่เป็น fellow ให้ไป elective nutrition ที่ รพ.รามาฯ 1 เดือน หลังจากสอบผ่าน CSA เป็นช่วงที่ปรับข้าราชการของโรงเรียนแพทย์ให้ออกมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ก็เลยตัดสินใจไปเรียน nutrition เองที่อเมริกาโดยที่ยังไม่ได้บรรจุ เรียนอยู่ 4 ปี อาจารย์ พญ. อัมพิกาก็ติดต่อมาว่าทางมหาวิทยาลัยโหวตให้กลับมาบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยก็เลยตัดสินใจกลับเมืองไทย 

ส่วนสาเหตุที่ชอบ nutrition นั้น เพราะว่าได้คิดเลข ได้คำนวณ เพราะพื้นฐานตนเองมาจากคณิตศาสตร์ พอมาเรียนหมอมันไม่ได้ใช้คณิตศาสตร์เลย แต่พอได้เรียน nutrition ก็มีคณิตศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง nutrition จะ involve กับทุก specialty ไม่ว่าโรคไหนก็จะมี nutrition เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นหน่วยเล็ก ๆ ที่ไปช่วยในทุกระบบ

 

“อยากให้มีหน่วย nutrition
แยกออกมาเพื่อให้สามารถ
เติบโตต่อไปได้ ตอนนี้ในภาควิชา
ยังมีตนเองคนเดียว
ยังหาคนทำด้านนี้อยู่
เป็นเป้าหมายที่อยากทำ
ให้ได้ก่อนเกษียณ”


เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต 

เริ่มที่ชีวิตแพทย์ เป้าหมายในปัจจุบันคือ 1) การเป็นแพทย์รักษาคนไข้และก็เป็นอาจารย์แพทย์สอนนักศึกษาแพทย์ให้ดี โดยกลับมาจากอเมริกาก็มารับผิดชอบทางด้าน nutrition และ endocrine  2) การช่วยพัฒนาหน่วย endocrine ให้เติบโตขึ้น โดยตอนที่เข้ามายังเป็นหน่วยเล็ก ๆ มีอาจารย์แพทย์อยู่ 3 คน ปัจจุบันมีอาจารย์แพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 5 คน ซึ่งก็ยังเล็กอยู่ จริง ๆ เรามีลูกศิษย์เก่ง ๆ เยอะ แต่พอเราชวนเขาให้เป็นอาจารย์ต่อ ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากเป็น เพราะการเป็นอาจารย์มันเหนื่อย ถ้าเขาไปอยู่เอกชนเขาทำอย่างเดียวคืองานบริการ แต่ถ้าเขามาเป็นอาจารย์เขาต้องทำทั้งงานบริการ งานสอนหนังสือ และงานวิจัย ไม่นับงานอื่น ๆ เยอะแยะไปหมด โดยเราวางแผนอนาคตเอาไว้ว่า เราจะต้องผลิตบุคลากรเพื่อที่จะมาทดแทน ตนเองซึ่งอีก 6 ปีจะเกษียณก็ต้องมองว่าใครจะมาแทนเราและก็ต้องขยายศักยภาพของหน่วยให้โตขึ้น อีกเรื่องที่อยากทำคือ อยากให้มีหน่วย nutrition แยกออกมา ซึ่งตอนนี้ในภาควิชายังมีตนเองคนเดียวที่ทำ ตอนนี้ยังหาคนอยู่ อยากให้ภาควิชามีทีม nutrition ที่สามารถเติบโตต่อไปได้ เป็นเป้าหมายที่อยากทำให้ได้ก่อนเกษียณ  3) การทำวิจัย ถ้าถามว่าชอบทำวิจัยไหม ก็ต้องตอบว่าตนเองชอบทำวิจัย เพราะรู้สึกสนุก เพียงแต่ว่าไม่ใช่คนเขียนเก่ง ทำให้ผลงานเขียนยังออกมาไม่มาก ทำให้ยังไม่สามารถเป็น ศ. ได้  4) งานบริหาร ตอนนี้ได้ช่วยหัวหน้าภาคในเรื่องของการบริหารภาค โดยเริ่มจากการเป็นหัวหน้าหน่วย ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยมา 6 – 7 ปีแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสช่วยหัวหน้าภาคโดยเป็นหนึ่งในทีม undergrad ดูแลนักศึกษาแพทย์ และก็ได้มีโอกาสขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งอาจารย์หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ในปัจจุบัน ได้วางกรอบชัดเจนว่า เราต้องมีทีม undergrad, postgrad มีทีมวิจัย มีทีมบริหาร ซึ่งทุกทีมต้องมีการประชุมทุกเดือนและก็วางกรอบว่า เราจะทำอะไรในแต่ละเดือน ประชุมแต่ละครั้ง เราทำไปถึงเป้าหมายหรือยัง และเราจะพัฒนาไปตรงไหนได้อีกบ้าง

อย่างงาน undergrad ตนเองก็ทำงานตรงนี้มา 20 ปีแล้ว มีการวางเป้าหมายไว้ว่า อยากให้หลักสูตรของเราได้มาตรฐาน เราก็ต้องเอาหลักสูตรของแพทยสภามาดูว่า อันไหนจำเป็นต้องรู้ อันไหนน่ารู้ เราต้องให้อาจารย์ของเราสอนเนื้อหาที่จำเป็นต้องรู้เป็นหลัก น่ารู้เป็นตัวเสริม ข้อสอบก็ควรจะต้องให้สอดคล้องกัน ข้อสอบก็ต้องเน้นว่า ปี 4 เนื้อหาควรจะอยู่ lecture  พอ ปี 5 ค่อยออกไปข้างนอก และข้อสอบต้องมีมาตรฐาน เราก็ช่วยกันทำก็คือ ต้องมีการชำระข้อสอบ เดือนหนึ่งเรามีการชำระข้อสอบ 10 ครั้ง ก็จะมีอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าทีมและตนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยต้องมีอาจารย์ 3 – 4 คนต่อครั้งที่อยู่คนละ specialty กัน แล้วก็มาช่วยกันดูว่าข้อสอบข้อนี้เหมาะสมไหม ยากง่ายเกินไปหรือเปล่า เหมาะกับระดับนักศึกษาแพทย์ไหม มันเป็นข้อสอบที่ต้องรู้หรือเปล่า แล้วก็ให้คะแนนออกมาว่าข้อสอบนี้มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร เราก็จะต้องแก้ไขตามระดับของนักศึกษาแพทย์แต่ละชั้นปี เราทำแบบนี้มา 4 – 5 ปีแล้ว ก็เป็นภาควิชาที่เป็นตัวเริ่มต้นของคณะแพทย์ มช. เลย ในการทำชำระข้อสอบให้มีความเป็นมาตรฐาน แล้วเราก็ถามนักศึกษาแพทย์ด้วยว่าต้องการอะไรไหม เราจะทำยังไงให้มันเหมาะสมขึ้น เช่น เรามีการพบปะนักศึกษาแพทย์ในแต่ละชั้นปี เรากำหนดให้มี advisor  ของภาคเราเอง เมื่อก่อน นศพ. จะมีอาจารย์ advisor  1 คน  ซึ่งอยู่ภาคไหนก็ไม่รู้ ปีหนึ่งจะเจอกันหนึ่งครั้งหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่เรากำหนดว่าภาควิชาอายุรศาสตร์ ทุกครั้งที่เด็กผ่านในแต่ละชั้นปี เราจะมีอาจารย์อายุรศาสตร์เป็น advisor ของนักศึกษาแพทย์หนึ่งคนที่ดูแลตั้งแต่ ปี 4-ปี 6 คือเราตามไปเรื่อย ๆ ทำให้เรารู้จักนักศึกษาแพทย์เป็นอย่างดี และไม่ว่าเขาจะผ่านปีไหน เราจะดู progression ของนักศึกษาแพทย์ ก็เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของทีมงาน undergrad ของเราว่า เราได้ตามดูแลนักศึกษาแพทย์ เมื่อขึ้นชั้นปีมารายงานฉบับแรกจะต้องส่งอาจารย์ที่ปรึกษา เพราะฉะนั้นนักศึกษาแพทย์จะมาเจอเราแล้ว ก็จะตรวจว่าเขาเขียนรายงานถูกไหม การปรับตัวในอายุรศาสตร์เป็นอย่างไร อ่านหนังสือหรือเปล่า มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ตนเองเป็นคนปฐมนิเทศนักศึกษาแพทย์ขึ้น ปี 4 อายุรศาสตร์ทุกกลุ่ม เดิมที่เราเคยบอกเด็กว่าถ้ามีปัญหาอะไรมาคุยกับอาจารย์ได้หรือปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาก็ได้ สุดท้ายเรื่องทั้งหมดก็จะส่งมาถึงตนเอง ซึ่งเป็นประธาน undergrad ก็จะช่วยแก้ปัญหาให้แม้กระทั่งเรื่องเงินก็มีทุนการศึกษาของคณะที่ช่วย นศพ. ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้ คือในแง่ของความเป็นอาจารย์แพทย์ก็อยากจะช่วยเหลือนักศึกษาแพทย์ คือมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นอาจารย์ที่พร้อมจะช่วย  5) เรื่องครอบครัว คือส่งลูกเรียนให้จบแล้วก็ไม่บังคับ มีหลายคนพูดว่าเห็นหมอหลาย ๆ คนบังคับให้ลูกต้องเป็นหมอ แต่สามีไม่ได้เป็นหมอเขาก็จะมองว่าแล้วแต่ลูกเลยว่าอยากเรียนอะไร ตนเองมีลูก 2 คนลูกสาวและลูกชาย ลูกสาวเรียนหนังสือดีมาก ก็ถามลูกว่าอยากเป็นหมอไหม เขาก็บอกว่าไม่ชอบเลยเขาชอบคำนวณคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์มากกว่า เราก็เลยถามลูกว่าสนใจ data science ไหมก็หาครูมาสอนพิเศษ ปรากฏว่าลูกเรียนแล้วชอบมาก แล้วตอนนั้นคณะแพทย์ มช. มีหลักสูตรที่เรียกว่า Life long Education ให้เด็กมัธยมมาเรียนหลักสูตร data science โดยให้เด็กสอบเข้ามา เป็นหลักสูตรร่วมระหว่างคณะวิศวะกับคณะแพทย์ อาจารย์วิศวะ สอน data science ส่วนคณะแพทย์ก็เอาข้อมูลทางการแพทย์ให้เด็กเอาไปวิเคราะห์ ลูกสาวก็สอบเข้าไปเรียน เขาชอบมากแต่ตอนนั้นเป็นการเรียนออนไลน์เพราะเป็นช่วงโควิด ตอนนี้ลูกสาวก็เรียนวิศวะคอม ที่จุฬาฯ ส่วนลูกคนเล็กก็ชอบไปทาง drama acting ตอนนี้ก็เรียนไฮสคูลที่อเมริกาเป็นโรงเรียน art ในสาขา drama เลย คือในแง่ของครอบครัวเราสนับสนุนให้ลูกไปถึงฝั่งฝันที่เขาฝันไว้ ถ้าลูกต้องการอะไรก็ขอให้เขาตั้งใจและเราพร้อมจะสนับสนุนเขา

 

“ไม่เคยคิดว่าตนเองจะทำอะไร
หลายอย่างพร้อมกันได้
แต่พอถึงเวลามีงาน
หลายอย่างเข้ามา    

เราเรียง priority ได้ว่า
อันไหนสำคัญที่สุด
สำคัญรองลงมาหรือรอก่อน
งานก็สำเร็จได้”


ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร

ปัจจัยแรก การมีความตั้งใจ ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่มีความตั้งใจที่ดีอยู่แล้ว แต่ตนเองมองว่าที่ผ่านมาถ้าตนเองตั้งใจจะทำอะไร มักจะทำได้จริง

ปัจจัยที่สอง การเป็นคนที่ทำแบบ multitask ได้ เพราะมีหลายคนบ่นว่าการเป็นอาจารย์แพทย์มันเหนื่อยมากทำตั้งหลายอย่าง ตนเองเคยพูดในที่ประชุมด้วยซ้ำว่า ไม่เคยคิดว่าตนเองจะทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันได้ แต่พอถึงเวลามันกดดันมีงานหลายอย่างเข้ามา เรายังสามารถจัดสรรเวลาและทำแต่ละเรื่องให้สำเร็จได้ คือเราเรียง priority ได้ว่าอันไหนสำคัญที่สุด สำคัญรองลงมา หรือรอก่อนได้ โดยเราจะไม่รอจนกระทั่งเดตไลน์แล้วค่อยทำ

ปัจจัยที่สาม การมองทุกคนเท่ากัน ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแพทย์ เธอเป็นทีมสนับสนุน เรามองทุกคนเท่ากันเพราะเราทำงานกันเป็นทีม มีบทบาทหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือกัน ไม่รู้สึกว่าจะทำงานกับใครไม่ได้ เวลาประชุมก็จะถามความเห็นทุกคนไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เจ้าหน้าที่ ใครมีความเห็นอะไรก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ เช่น เคยเป็นตัวแทนภาคที่ไปทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่พยาบาล เจ้าหน้าที่ออฟฟิศและอาจารย์แพทย์เพื่อไปทำงานเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของคณะ ตนเองไปทำอยู่หลายปี เขาบอกว่าเขาไม่คิดว่าอาจารย์แพทย์จะเข้ามา involve กับเขาขนาดนี้ เขามองว่าให้ทำอะไรก็ทำ และทำด้วยกัน


มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร

เป้าหมายที่ไม่สำเร็จ เรื่องแรก การยังไปไม่ถึงตำแหน่งศาสตราจารย์ ซึ่งหลายคนก็ขอตำแหน่งนี้แล้ว และหลายคนก็ถามถึงเรา ต้องยอมรับว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ priority  แรก ๆ สำหรับเรา ตัวเองมองงานในภาคส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว แต่ถ้ามีโอกาสในการทำ ศ. ก็จะทำ ทุกวันนี้ก็เขียน paper อยู่ แต่ไม่ได้ทิ้งงานที่ค้างคาเพื่อไปเน้นการทำ ศ. อย่างเดียว

เรื่องที่สอง การบริหาร undergrad เป้าหมายของตนเองคือ อยากให้อาจารย์ในภาค เดินไปในเส้นทางเดียวกัน พัฒนาการเรียนการสอนของเราให้เป็นมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ข้อสอบของเราได้มาตรฐาน การเรียนการสอนไม่ลึกเกินกว่าระดับ พ.บ. นักศึกษาแพทย์รักการเรียนรู้สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต เราจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ มันมีปัญหาใหม่เข้ามาทุกวันเราทำข้อที่ 1 เสร็จก็จะมีข้อที่ 2, 3, 4 มา ทำมาจนตอนนี้คิดว่าน่าจะอยู่ประมาณ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว คิดว่าเกินครึ่งแล้วที่เราพัฒนาไปเยอะ ต้องบอกว่าภาควิชาอายุรศาสตร์ของ มช. เป็นภาควิชาที่เป็น Role Model ของภาคอื่นในแง่การเรียนการสอนหรือในการพัฒนาด้านอื่น ๆ เราทำให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น แต่เราก็ยังคิดว่าเราต้องพัฒนาต่อไป


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

คนแรกเลยคือ ศ.คลินิก พญ. บุญสม ชัยมงคล ท่านเป็นต้นแบบของความเป็นครูแพทย์ ท่านเป็นครูที่รักในการสอนนักศึกษาแพทย์ เรายกให้เป็นอาจารย์แม่ของพวกเรา อาจารย์ไม่ได้อยู่ endocrine อาจารย์เป็น hematologist แต่อาจารย์สอนทุกคน ทุกคนที่จบ resident อายุรศาสตร์ มช. ทุกคนจะต้องเรียนกับอาจารย์ จนตอนนี้อาจารย์อายุจะ 90 ปีแล้ว แม้จะไม่ได้สอนแล้ว แต่อาจารย์ก็ยังมาประชุมวิชาการเพื่อจะอัพเดตตัวเองตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นว่าถ้าเราเกษียณ เราต้องอัพเดตตัวเองอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ได้ในความเป็นครูแพทย์ของอาจารย์

คนที่สองคือ รศ. พญ. อัมพิกา มังคละพฤกษ์ อาจารย์เป็นต้นแบบในแง่ของการมีความรู้รอบด้าน อาจารย์ทำให้เราเห็นว่าชีวิตเราอย่ามองแต่ความเป็นแพทย์ เราต้องมีอย่างอื่นด้วย เช่น อาจารย์ชอบพฤกษศาสตร์ชอบต้นไม้ มีความโอบอ้อมอารี อาจารย์มีความเป็นผู้นำก็ได้สิ่งเหล่านี้จากอาจารย์ อาจารย์เคยเป็นหัวหน้าภาคฯ เคยเป็น รองผอ.สถาบันวิจัยฯ อาจารย์ทำให้เห็นว่านอกจากความเป็นแพทย์เราสามารถทำงานบริหารไปพร้อมกันได้

คนที่สามคือ รศ. นพ. เฉลิม ลิ่วศรีสกุล อาจารย์เป็นต้นแบบของการบริหารงานอย่างเป็นระบบ อาจารย์ทำให้งานทุกอย่างมีระบบมากขึ้น เช่น สมัยก่อนทีม undergrad มีประชุม 3 เดือนต่อหนึ่งครั้ง มาตอนนี้ประชุมกันทุกเดือน ไม่ใช่เฉพาะ undergrad อย่างเดียว งานทุกอย่างมีประชุมทุกเดือนเพื่อให้งานมันก้าวหน้า ก็เป็นต้นแบบของผู้บริหารที่ทำให้งานเกิดเป็นรูปธรรมสำหรับตนเอง

คนที่สี่คือ สามี รศ. ดร. สิริวุฒิ บูรณพิร ซึ่งเป็นอดีตคณบดี คณะบริหารธุรกิจ มช. เป็นต้นแบบในด้านการเรียน เขาเป็นคนเรียนรู้ตลอดเวลา ส่วนหนึ่งที่ตนเองอยากไปเรียนต่างประเทศก็เป็นเพราะสามี ตอนแรกตนเองตั้งเป้าไว้ว่าเรียนจบ fellow ก็พอแล้ว แต่สามีบอกว่า ไม่ได้เราต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ เราต้องมีผลงานวิชาการ สามีเป็น Role Model ให้กับตนเอง เนื่องจากสามีอยู่ในสายบริหารทำให้ตนเองรู้สึกว่า เราไม่ต้องเป็นอาจารย์เพียงอย่างเดียว เราทำงานบริหารไปด้วยได้ ทำวิจัยได้ ทุกวันนี้ก็ยังใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดชอบเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะคนเราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

 

“เราพยายามบอก นศ.แพทย์ว่า
ถ้าเรา investigate เยอะ
แต่ถ้าไม่เปลี่ยน treatment

 เราจะไป investigate
เยอะเพื่ออะไร”


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร

โดยภาพรวม ๆ การแพทย์ไทยเจริญขึ้น มีสิ่งที่กังวลอยู่ 3 – 4 เรื่อง เรื่องแรก over investigation การตรวจร่างกายและซักประวัติคนไข้โดยแพทย์น้อยลง แต่ส่งตรวจด้วยเครื่องมือเยอะขึ้น เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเรียนแพทย์  อย่างเช่น นศพ. บอกว่า คนไข้คนนี้มาด้วยอาการอ่อนแรงข้างขวา ทำ CT brain พบว่า ตนเองก็จะบอกว่าไม่ได้ การอ่อนแรงไม่จำเป็นต้องอยู่ในหัว ต้องซักประวัติ ตรวจร่างกายต่อไปอีก จนคิดว่ามีความผิดปกติบางอย่างที่สมอง ถึงจะต้องไปทำ CT brain แต่ถ้าคิดว่ามันเป็นเรื่องของกล้ามเนื้อก็ต้องไปตรวจกล้ามเนื้อ คือพยายามให้นักศึกษาแพทย์กลับไปมุ่งว่า การซักประวัติคนไข้มีความสำคัญ ตรวจร่างกายมีความสำคัญ ไม่ใช่แต่จะส่งตรวจเป็นหลัก

สมัยก่อนเราจะเห็นอาจารย์แพทย์หลาย ๆ ท่านวินิจฉัยโรคคนไข้ได้จากประวัติการตรวจร่างกายโดยที่ไม่ต้องส่งตรวจ อยากให้ investigate เท่าที่จำเป็น จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ซึ่งมันเข้ากับนโยบายตอนนี้ของรัฐบาล เราพยายามบอก นศพ. ว่า ถ้าเรา investigate เยอะ แต่ไม่เปลี่ยน treatment เราจะไป investigate เยอะเพื่ออะไร ส่วนในอนาคตของแพทย์ตนเองมองว่า อีกเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ ความต้องการ work life balance มากขึ้น เริ่มมีกฎออกมาแล้วว่า แพทย์ต้องทำงานกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไม่ให้เกินกว่านี้ ซึ่งก็เข้าใจได้เหมือนกันว่า ทุกวันนี้ที่มันน่ากลัวคือ คุณหมอควบเวร อย่างสมัยก่อนตนเองทำงานวันนี้อยู่เวรคืนนี้ พรุ่งนี้เช้าก็ต้องทำไปจนเย็นอีกวัน ไม่ได้นอนข้ามวันข้ามคืน เพราะสมัยก่อนเราไม่ได้ไปไหนมันก็ไม่เป็นไร แต่สมัยนี้ลงเวรแล้วไปไหนไกล ๆ ก็จะกลัวอุบัติเหตุ เพราะฉะนั้นต่อไปการเป็นแพทย์อาจจะเหมือนพยาบาลคือ ทำงานเป็นกะ เช่น 8 ชั่วโมง คือ จบกะก็ลงเวรไป

ส่วนในเรื่องสมองไหลตราบใดที่ค่าตอบแทนมันยังเป็นแบบนี้คือ คนที่ทำงานเอกชนรายได้มากกว่าทำงานรัฐบาลหลายเท่า และคนรุ่นใหม่ก็อยากจะทำอะไรที่มันทำให้รวยเร็ว แม้กระทั่งเป็นแพทย์สาขาไหนที่จะรวยเร็วหรืองานสบายแต่เงินเยอะ เพราะฉะนั้นก็จะมีสมองไหลจากทำงานรัฐบาลไปทำงานเอกชนเยอะขึ้น (คลิกอ่านเพิ่มเติม) แม้กระทั่งลูกศิษย์ตัวเอง fellow ที่จบ Endocrine หลายคนก็ไปอยู่เอกชน ก็เลยมีการคุยกันว่า เราต้องทำยังไง ในหน่วยจะรับ fellow 1 คน เราต้องมองทิศทางว่าจบแล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าเขาอยู่รัฐบาลเราก็น่าจะเลือกเขามากกว่า แม้กระทั่งเรารับลูกศิษย์ที่เอาทุนรัฐบาลมาเรียนกับเรา แต่ทำงานไม่กี่ปีก็ย้ายออกไป เราไม่มีทางรู้ว่าเขาจะทำงานอยู่ รพ.รัฐบาลได้นานแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าถ้าจะบอกว่าจะ freetrain แล้วก็ไปอยู่เอกชนตั้งแต่แรก อย่างน้อยเขาก็ทำงานให้รัฐบาล 2 – 3 ปี ก็เลยคุยกันในหน่วยว่าเราจะพยายามช่วยกันตรงนี้

ถ้าอยากจะแก้ปัญหาสมองไหลก็ควรจะให้ค่าตอบแทนที่ต่างกันไม่มาก แต่ก็คงจะเป็นไปไม่ได้แน่ เพราะว่าอย่างรพ. รัฐบาลเขาแทบไม่เก็บเงินคนไข้ตามสิทธิ์ของเขา  แต่เอกชนนี้เขาเก็บเงินหมด เพราะฉะนั้นค่าตอบแทนของหมอก็ต้องเยอะกว่า รัฐบาลต้องให้ค่าตอบแทนมากขึ้นสำหรับแพทย์ที่อยู่ในภาครัฐฯไม่ใช่เฉพาะหมอ รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทันตแพทย์ เภสัชกรหรือพยาบาล โดยเฉพาะพยาบาลนี้น่าสงสารมาก พยาบาลมาอยู่ในภาครัฐฯคือ ฝึกให้เก่งแล้วเอกชนมาซื้อตัวไปเยอะมาก เพราะว่าค่าตอบแทนมันต่างกันเยอะ ทำอย่างไรรัฐบาลจะมองเห็นคุณค่าของบุคลากรเหล่านี้และให้ค่าตอบแทนเขาที่สมน้ำสมเนื้อและเขาอยู่ได้หรือถ้าค่าตอบแทนไม่เยอะก็ต้องมีสวัสดิการอื่นเพิ่ม เช่น สิทธิ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งตัวเขาและครอบครัว แต่ของต่างประเทศค่าตอบแทนของภาครัฐฯเยอะอยู่แล้ว ค่าตอบแทนของพยาบาลเยอะมาก มีพยาบาลคนไทยไปทำงานต่างประเทศก็เยอะเพราะค่าตอบแทนมันเยอะมาก ถ้าทำได้ก็อยากจะให้ทำตรงนี้


ถ้าให้เลือกปรับปรุง 2 ข้อทำให้การแพทย์ไทยในอนาคตดีมากขึ้น อยากปรับปรุงเรื่องใด เพราะอะไร

สิ่งที่พยายามคุยกันถ้าเป็นในโรงพยาบาลคือ rational drug  use กับ rational lab use ถ้าปรับปรุงได้อยากปรับปรุงตรงนี้ เพราะแพทย์รุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะ over investigation เยอะขึ้น เราก็เลยมองว่าอะไรไม่จำเป็นเราไม่ทำได้ไหม เวลาเข้า conference จะเห็นว่า resident จะ present ว่าทำอะไรไปบ้าง เราก็ถามว่า lab นี้จำเป็นไหม ทำไมถึงต้องเจาะ เด็กก็ตอบว่ามันเจาะมาจาก ER เราก็ถามว่าแล้วมันจำเป็นหรือเปล่า เขาก็ตอบว่าไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นหมอเราก็จะต้องรู้ว่า อันนี้มันไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทำ คือบางอย่างเราไม่เห็น indication ในการทำ  แต่เขาทำเป็น routine เราก็ต้องคอยช่วยกันย้ำว่าอันนี้ไม่จำเป็น เพราะมันต้องมีค่าใช้จ่ายของภาครัฐฯ รพ.ของรัฐบาลก็มีแนวโน้มว่า อยากทำ rational drug  use เช่น คนไข้เบาหวานมาตรวจ ลูกศิษย์ก็ตรวจการทำงานของไต แต่ลูกศิษย์ตรวจทุก visit ไม่ว่าจะมาตรวจกับเราหรือตรวจโรคอื่นก็ตรวจการทำงานของไต ก็เลยเข้าไปดูปรากฏว่าในช่วง 3 เดือน คนไข้ที่มาโดนตรวจการทำงานของไตไป 7 ครั้ง โดยที่ไม่ใช่คนไข้ที่นอนใน รพ. เป็นคนไข้นอกทั้งหมด ทำไมเราจะต้องตรวจทุก visit และทั้ง 7 ครั้งค่าไตก็ปกติ ทำไมไม่เข้าไปดู lab ย้อนหลัง อีกอันหนึ่งคือ  rational drug use ต้องยอมรับเรามียาใหม่ ๆ ที่ดีเยอะ แต่บางทีคนไข้ก็ไม่จำเป็นต้องไปถึงตัวนั้น เนื่องจากราคามันสูง ถ้าเขารักษาโดยใช้ยาในบัญชียาหลักได้ก็อยากจะส่งเสริมอยู่ มันมีความจำเป็นไหมที่เราต้องใช้ยาแพงขนาดนั้น เป็น 2 อย่างที่อยากจะแก้ไขและทุกคนสามารถช่วยกันได้ ถ้าเปลี่ยนระบบตรงนี้ได้มันจะช่วยทั้งระบบได้เยอะเลย  rational drug use กับ rational lab use มันทำให้ค่ารักษาพยาบาลถูกลงเยอะมาก

 

“ตนเองมองว่า Lifelong
education เป็นเรื่องสำคัญ
ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต
ต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ
มันไม่สามารถบอกว่า
เรียนจบแล้วไม่ต้องทำอะไรแล้ว
มันจะต้องมีการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต”


ฝากข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร

ต้องบอกว่าไม่คิดว่าตนเองเป็น role model ไปชี้แนะได้ขนาดนั้น เพียงแต่อยากจะบอกว่า อยากให้มีความตั้งใจในการทำงาน ตนเองทราบว่าหลายคนทำอย่างอื่นด้วยไม่ได้มี job เดียว และทำให้เวลาในการทำงานปกติมันน้อยลง ตนเองมองว่าขอให้ตั้งใจทำงาน ในเวลาราชการก็ขอให้ทำงานอย่างเต็มที่ แพทย์รุ่นใหม่ไม่ต้องมานอกเวลาเหมือนในสมัยก่อนก็ได้ แต่ในเวลาราชการก็ต้องเต็มที่ ถ้ามาทำงานก็ต้องตั้งใจจริง ๆ อยากให้มองว่าเรามาช่วยกัน และในความเป็นแพทย์มันไม่ใช่แค่ OPD หรือ IPD มันมีอย่างอื่น เช่น งานเอกสารต่าง ๆ งานประกันคุณภาพ

สำหรับ resident หรือ fellow การมองคนไทยทุกแง่มุม เช่น สิทธิ์การรักษาของคนไข้เป็นอย่างไร คนไข้คนนี้มีอาการตั้งนานแล้วมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเขาไม่ตระหนักว่าเขาป่วย ควรจะรีบมาหาหมอทำไมต้องรออยู่ตั้งนานกว่าจะมา หรือมองในเรื่องของการพูดคุยกับคนไข้ ตนเองจะเน้นกับนักศึกษาแพทย์ปี 4 ว่า การสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญ เขาจะต้องสื่อสารกับคนไข้ให้รู้ว่าคนไข้เป็นอะไรและเกิดอะไรขึ้น (คลิกอ่านเพิ่มเติม) ถ้าจะทำหัตถการก็ต้องบอกว่าการทำหัตถการมีข้อดีข้อเสียอะไรและมันจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง เพื่อไม่ให้ถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้อง เพราะฉะนั้นอยากจะให้แพทย์รุ่นใหม่เน้นการสื่อสารกับคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในเรื่องซักประวัติ สื่อสารในแง่ของการ education ถามถึงปัญหาหรือความไม่เข้าใจอะไรก็ตาม ก็มองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่แพทย์รุ่นใหม่ต้องมีทักษะติดตัว

ส่วนแพทย์รุ่นใหม่ในสาขาต่อมไร้ท่อ ถ้าอยากประสบความสำเร็จ ต้องบอกว่าสาขาต่อมไร้ท่อเป็นสาขาที่พัฒนาเยอะมากเทียบกับเมื่อ 40 ปีก่อน สมัยที่ตนเองเรียนกลไกในการเกิดโรคเบาหวานมี 3 อย่าง  แต่ตอนนี้มี 12 อย่าง ต่อไปอาจจะมีเท่าไหร่ไม่รู้มันไปเรื่อย ๆ ศาสตร์มันลงไปลึกมาก ยารักษาก็มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้กระทั่งโรคบางโรคที่เราคิดว่าไม่มียารักษา ปัจจุบันก็มียาใหม่ ๆ เข้ามา ตนเองมองว่า Lifelong education เป็นเรื่องสำคัญ ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ มันไม่สามารถบอกว่าเรียนจบแล้วไม่ต้องทำอะไรแล้ว มันจะต้องมีการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็น paper ใหม่ การประชุมวิชาการของสมาคมฯ (คลิกอ่านเพิ่มเติม) ที่จะได้อัพเดตความรู้ของตนเองเพื่อกลับไปพัฒนา ถ้าแพทย์รุ่นใหม่ย่ำอยู่กับที่ เราจะกลายเป็นแพทย์ที่ล้าหลัง จากที่รักษาถูกก็อาจจะเป็นการรักษาผิดไปแล้วก็ได้ แพทย์รุ่นใหม่ต้องเข้าไปไขว่คว้า เข้าไปเรียนรู้ เพื่อที่เราจะได้เป็นแพทย์ที่ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ ตอนนั้นเรื่องบางเรื่องเคยเป็นแบบนี้ แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว แพทย์รุ่นใหม่ต้องใฝ่หาความรู้ (คลิกอ่านเพิ่มเติม)

 

แนะนำอ่านเพิ่มเติม
  1. Let’s get updated อาจารย์ พญ. อภัสนี บุญญาวรกุล 
  2. Expert interview อาจารย์ นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ
  3. Expert interview อาจารย์ นพ. ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์
  4. Expert interview อาจารย์ พญ. ทิพาพร ธาระวานิช

 

 

PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก