“ผมเป็นคนชอบเอาชนะอุปสรรค ทำให้เต็มที่จนถึงที่สุด และคนจะยอมรับเรามากขึ้นเรื่อย ๆ และพอผ่านไป 5 ปี หรือ 10 ปี ทุกคนก็จะนึกถึงเราและจดจำในสิ่งที่เราทำ”
ศ.ดร. นพ. เมธี ชยะกุลคีรี
รองประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย
หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคติดเชื้อ
ผมเรียนจบมัธยมต้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาคุณพ่อให้ผมมาสอบเข้าเตรียมอุดมศึกษา ก็เป็นคนแรก ๆ ของอำเภอลำปลายมาศ ถามว่าตอนนั้นผมชอบแพทย์ที่สุดไหม จริง ๆ คือ ผมนึกภาพไม่ออก เพราะผมไม่มีต้นแบบหรือโมเดลให้ได้เรียนรู้ว่าแพทย์ทำงานอย่างไร ผมเป็นคนที่ชอบชีววิทยามากกว่าฟิสิกส์ จึงตัดสินใจที่จะเรียนแพทย์ และสอบได้ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ช่วงเรียนก็มีความประทับใจอาจารย์ผู้ใหญ่ซึ่งเก่งมาก เวลาไปดูคนไข้เราจะรู้สึกว่าทำไมโรคยาก ๆ อาจารย์รู้ได้ยังไง นอกจากนั้นก็ประทับใจในการช่วยเหลือกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องและเพื่อนในรุ่น ทำให้การเรียนแพทย์ที่เรียนหนักมาก สามารถผ่านไปได้ด้วยดี หลังจากเรียนจบแล้วไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่แม่ฮ่องสอน โดยเป็นปีแรกที่มีโครงการเพิ่มพูนทักษะ ปีที่ 1 ผมไปอยู่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ปี 2-3 ผมไปอยู่ โรงพยาบาลปาย โดยที่ปายจะมีหมอ 3 คน ผมได้ตรวจคนไข้เกือบ 100-200 คนต่อวัน เจอโรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อต่าง ๆ โดยคนไข้ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาซึ่งกระจายอยู่ตามภูเขาต่าง ๆ ผมก็ได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ไปค้างคืนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ด้วย หลังใช้ทุนเดิมผมว่าจะไปฝึกอบรมด้านอายุรศาสตร์ทั่วไปแล้วจะกลับไปสมัครเป็นหมอที่ภาคเหนือแต่ยังไม่รู้ที่ไหน จึงเลือกเรียนเป็น free training ทางด้านอายุรศาสตร์ที่ศิริราช ต่อมาก็คิดจะเรียนเฉพาะทางไปเลย ด้วยความที่ไม่ได้ชอบเรียนอวัยวะเดียว และคิดว่าโรคติดเชื้อได้ดูแลผู้ป่วยทั้งร่างกาย ซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทายสำหรับผม จึงตัดสินใจที่จะเรียนสาขาโรคติดเชื้อต่อที่ศิริราช โดยเป็น Fellow รุ่นที่ 1 ปี 2540 มีผู้เรียน 2 คน ทำให้ที่คิดไว้ว่าเรียนจบแล้ว จะไปเป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลทางเหนือก็ไม่ได้ไป เพราะจบแล้วก็เป็นอาจารย์ที่ศิริราชเลย
หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา ที่ Duke University Medical Center ทางด้าน Molecular Mycology ไปทำวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับ Gene ของเชื้อรา ที่เลือกเรียนด้านนี้ผมอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ว่า งานวิจัยทางด้านโรคติดเชื้อจะต้องลึกหรือลงรายละเอียดถึงขนาดไหน ก็สนุกดี มีความสุขในการเรียนมาก มีงานได้ลงตีพิมพ์ด้วย ไปเรียนที่อเมริกาอยู่ 2 ปี จากนั้น ผมได้รับทุนจากรัฐบาลออสเตรเลียไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ University of Sydney และก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่ศิริราช
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
เริ่มที่การเป็นแพทย์ก่อน เป้าหมายแรกคือ การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในสาขาโรคติดเชื้อ ตอนที่ผมจบสาขาโรคติดเชื้อแล้วถูกวางตัวเป็นอาจารย์ ก็มีคำถามว่าผมอยากทำงานวิจัยแบบไหน สิ่งที่คนไม่ค่อยสนใจแต่มีความท้าทายและก็มีอาจารย์หลายท่านแนะนำมาก็คือ งานวิจัยเรื่องเชื้อรา สมัยก่อนนั้นแทบไม่มีคนสนใจเลย แล้วยาต้านเชื้อราก็มีแค่ 2-3 ตัว สมัยนั้น HIV กำลังแพร่ระบาดมียาใหม่ ๆ เข้ามาเยอะ คนไปสนใจ HIV มากกว่า เชื้อราจึงไม่มีคนสนใจแต่มันเป็นความท้าทายของผมมาก ที่ผ่านมาหลาย ๆ อย่าง ผมเริ่มจากสิ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่สนใจ แต่ผมเป็นคนแรกที่สนใจและเข้าไปคลุกคลี บวกกับที่เราเป็นคนชอบเอาชนะอุปสรรค กัดไม่ปล่อย ทำให้เต็มที่จนถึงที่สุดและสิ่งที่ได้มาคือ คนจะยอมรับเรามากขึ้นเรื่อย ๆ พอผ่านไป 5 ปีหรือ 10 ปี ทุกคนก็จะนึกถึงเราและจดจำในสิ่งที่เราทำ จะเป็น career path ในเส้นทางอาชีพของเรา เราทำเรื่องเชื้อราก็ทำเรื่องเชื้อราไปตลอด เมื่อคนรู้จักเราในประเทศ ต่อไปก็จะรู้จักเราในระดับนานาชาติ แต่ทั้งหมดนี้ต้องบอกว่ามันใช้เวลา 10 ปีขึ้นไป เพราะมันต้องใช้เวลาโดยเฉพาะเรื่องที่เป็นของใหม่ ตอนนี้โรคติดเชื้อเกี่ยวกับเชื้อราเข้าไปอยู่ในบัญชี priority list ของ WHO แล้ว เป็นโรคที่สำคัญที่ทั่วโลกต้องจับตามอง แล้วตอนนี้ยาต้านเชื้อราใหม่ ๆ ออกมาหลายตัวมาก ๆ จากแต่ก่อนที่ไม่ค่อยมีเลย แล้วยิ่งตอนนี้มีคนไข้เปลี่ยนอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูก ใช้ยากดภูมิคุ้มกันเยอะขึ้น ทำให้เชื้อรามาเยอะมาก การรักษาโรคมะเร็งมียากดภูมิเยอะมาก การรักษาโรคติดเชื้อต่าง ๆ ก็ต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน
เป้าหมายที่สองคือ การมีสุขภาพที่แข็งแรง ผมมาคิดเรื่องนี้ตอนอายุ 40 กว่า ถ้าเราอายุมากขึ้นแล้วสุขภาพไม่ดีก็จะลำบาก ผมจึงหันมาออกกำลังกาย ตอนนี้หลัก ๆ ก็จะเป็นการวิ่ง เมื่อร่างกายแข็งแรงเราจะมีความสุขในการทำงาน มีสุขภาพจิตที่ดี ต่อไปแม้จะเกษียณก็จะไม่เป็นปัญหา
เป้าหมายที่สามคือ การมี work life balance ที่ดี เพราะก่อนหน้านี้ไม่ดี ผมทำงานเกือบตลอดเวลาและไม่ออกกำลังกายเลย ตั้งแต่เริ่มเป็นอาจารย์งานเยอะมาก งานสอน งานวิจัย ช่วยอาจารย์ผู้ใหญ่ แต่ช่วงที่ทำงานของเราเองมากที่สุด จะเป็นช่วงที่ไปเรียนต่างประเทศ 6 ปี ไปเรียนปริญญาเอก ช่วงนั้นผมโฟกัสกับงานมาก ทำวิจัยเยอะไม่สนใจร่างกายตนเองเลย แต่ตอนนี้ร่างกายผมดีขึ้น ผมทำเป้าหมาย จัดแบ่งเวลาได้ดีขึ้น
เป้าหมายที่สี่คือ การทำงานอย่างมีความสุข ความสุขของผมกับคนอื่นอาจไม่เหมือนกัน ผมชอบทำในสิ่งที่ท้าทาย แล้วก็สนุกไปกับสิ่งนั้น โดยไม่ชอบแข่งกับคนอื่นและไม่ชอบแข่งกับตนเอง ใครได้อะไร ผมก็จะยินดีกับเขาด้วย ขณะที่ผมก็ไม่คิดที่จะเอาชนะตนเองเพื่อให้ก้าวต่อไป เพราะถ้าเรามองแบบนั้น นั่นหมายความว่าเรายังไม่พอใจในทุกวันนี้ที่เราเป็น แต่ทุกวันนี้ผมพอใจตัวเอง แต่จะสนุกกับการเอาชนะอุปสรรคที่ท้าทาย เพื่อจะดูว่าเราทำได้ไหม ถ้าทำไม่ได้เราก็ปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ ถ้าเราทำได้ก็จะทำไปเรื่อย ๆโดยไม่กดดันตนเอง เมื่อเราผ่านอุปสรรคไปได้ ก็จะรู้สึกดีใจ ผมชอบทำอะไรที่ท้าทายเพื่อพัฒนาตนเอง
ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร
จริง ๆ แล้วเป้าหมายที่สำเร็จได้จะประกอบด้วย หลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอก แต่จะขอกล่าวเฉพาะในส่วนที่น่าจะเกิดจากตัวเอง
ปัจจัยแรกคือ ผมมีมุมมองในการทำงานที่เปิดกว้าง ส่วนหนึ่งที่ผมไปเรียนต่างประเทศเพราะว่าต้องการมุมมองใหม่ ๆ อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เกี่ยวกับงานวิจัยโรคติดเชื้อ การไปศึกษาเพิ่มเติมที่ต่างประเทศ ทำให้ผมเห็นว่าการมีงานวิจัยใหม่ ๆไม่ใช่จะอยู่เฉพาะคนไข้ที่เรารักษาเพียงอย่างเดียว เราต้องเชื่อมโยงความคิดในการทำงาน การคิดคำถาม การออกแบบงานวิจัย ทำทั้งหมดให้สอดคล้องกันเพื่อพิสูจน์สมมติฐานให้สำเร็จ ต้องฝึกทักษะกระบวนการเหล่านั้น
“ขอให้มองอุปสรรคเป็นเกมส์
เล่นกับมัน สนุกกับมันไป
อย่าไปเครียดว่าทำไม่ได้
หลาย ๆ เรื่องทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
ชีวิตไม่ได้อยู่แค่นี้
ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด”
ปัจจัยที่สอง การไม่ยอมแพ้อุปสรรค ตรงนี้เป็นนิสัยส่วนตัวของผม หลาย ๆ เรื่องทำแล้วไม่ใช่จะสำเร็จในครั้งแรก ผมจะไม่ยอมแพ้ โดยจะทำซ้ำหรือปรับเปลี่ยนวิธีทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ และทุกครั้งที่ทำแม้จะไม่สำเร็จ ผมไม่เคยรู้สึกท้อ แต่จะรู้สึกสนุกในการแก้ปัญหา ยกตัวอย่างตอนที่รัฐบาลออสเตรเลียให้ทุนเรียนปริญญาเอก โดยต้องมีคะแนน TOEFL อยู่ในเกณฑ์ของเขาซึ่งสูงมาก แต่คะแนนของผมไม่ถึง ถ้าจะเรียนต้องออกเงินเรียนเอง ถ้าจะรับทุนต้องสอบให้ผ่าน ผมมีเวลา 3 เดือน ส่วนที่มีปัญหาของผมคือการเขียน (essay) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ท้าทายผมมาก สมัยนั้นสอบ TOEFL ได้เดือนละ 1 ครั้ง ผมสอบไม่ผ่านหลายครั้ง ก็พยายามแก้ไข จนสุดท้ายผมสอบผ่านเกณฑ์ได้ทุนไปเรียนต่อ ตรงนี้อยากให้มองว่า เมื่อมีอุปสรรค ขอให้มองอุปสรรคเป็นเกมส์ เล่นกับมัน สนุกกับมันไป อย่าไปเครียดว่าทำไม่ได้ หลาย ๆ เรื่องทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ผมจะปล่อยผ่านทันทีไม่ไปคิดวนเวียน ชีวิตไม่ได้อยู่แค่นี้ ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
ปัจจัยที่สาม การคิดนอกกรอบ ถ้าเราคิดแบบเดิม ๆ ผลที่ได้ก็จะเหมือนเดิม เราต้องออกนอกกรอบบ้าง แม้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งใหม่ไม่มีใครทำ เหมือนที่ผมเรียนอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อที่ศิริราชเป็นรุ่นแรก หรือผมไปเรียนเรื่องเชื้อรา ไปทำ Lab คืออาจจะไม่ใช่คนแรกที่ทำ แต่สิ่งนั้นมีคนทำน้อยมาก คือมันอาจจะเหนื่อยที่ไม่ค่อยมีใครทำแต่มันเป็นโอกาสที่สำคัญ พอเราเป็นคนแรกที่ทำได้จะไม่มีใครมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราทำ และเราจะไม่เหนื่อยมาก ถ้าเราทำเหมือนคนอื่น ๆ ที่ทำกันมากมายมันจะเหนื่อยกว่าเยอะมาก เพราะมีคนอื่นอีกมากมายที่ทำเรื่องเดียวกับเรา
“ถ้าเรามี Passion จริง
ขอให้ทำไปเรื่อย ๆ อย่าหยุด
แล้วเราจะได้สิ่งนั้น
แต่ถ้าเราทำหลายครั้ง
แล้วยังไม่ได้
ต้องถามตัวเองว่า
เรามี Passion จริงหรือเปล่า”
มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
งานทุกงานมีอุปสรรคอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนก็ต้องแก้ปัญหากันไป ถ้าไม่หยุดไปเสียก่อนโอกาสสำเร็จก็มีอยู่สูง ซึ่งแพทย์โดยส่วนใหญ่ก็จะมีกันอยู่แล้ว ที่ผมจะขอเสริมก็คือเรื่องของ “ความพร้อม” “จังหวะเวลา” และ “Passion” หมายถึงช่วงเวลาที่เราทำบางอย่างไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะเราเตรียมตัวไม่ดีหรือเรายังไม่พร้อม จังหวะเวลายังไม่มา เหมือนเรื่องก่อนหน้าที่ผมสอบ TOEFL ไม่ผ่าน นั้นคือตัวอย่างของ ความพร้อม จังหวะเวลา แต่ถ้าทำไม่สำเร็จหลาย ๆ ครั้ง เราก็ต้องถามตัวเองว่า จริง ๆ เรามี Passion ที่จะทำเรื่องนั้น ๆ หรือเปล่า เพราะถ้า Passion ไม่พอโอกาสสำเร็จก็จะน้อย ตอนที่ผมเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ที่ปาย มีรุ่นพี่ไปสอบ USMLE เพื่อไปเรียนต่อแพทย์ประจำบ้านที่สหรัฐอเมริกา เขาก็ชวนผมสอบด้วย ซึ่งตอนนั้นรักษาคนไข้เสร็จก็ไม่ได้ทำอะไร ผมก็ลองสอบดู ปรากฏว่าผมสอบผ่าน แต่ตอนนั้นผมไม่มี Passion ในการไปเรียนต่างประเทศเลย ไม่มี background ความคิดในชีวิตแบบที่ต้องไปต่างประเทศเลย ผมก็ตัดสินใจไม่ไปและไม่ได้ทำอะไรต่อเนื่องหลังจากสอบผ่านแล้ว แต่พอผมมาเป็นอาจารย์ที่ศิริราช คราวนี้ Passion ความพร้อมและจังหวะเวลามันมาถึง ผมทำเต็มที่เพื่อให้ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ จะบอกเพื่อน ๆ และน้อง ๆ แพทย์ทุกท่านว่า ถ้าเรามี Passion จริง ขอให้ทำไปเรื่อย ๆ อย่าหยุด แล้วเราจะได้สิ่งนั้น แต่ถ้าเราทำหลายครั้งแล้วยังไม่ได้ เราต้องถามตัวเองว่าเรามี Passion จริงหรือไม่ ถ้าเราไม่มีเราก็ไปทำอย่างอื่นก็ได้ เราต้องไม่ท้อและมุ่งมั่นกับสิ่งที่เราทำ หรืออีกเรื่อง ผมเคยส่งบทความตีพิมพ์ลงวารสาร ผมเคยโดนปฏิเสธ มากกว่า 10 ครั้ง แต่ก็ไม่ยอมเลิกส่ง ปฏิเสธมาผมก็ส่งใหม่ ส่งไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาเกือบปีจนได้ตีพิมพ์ในวารสาร เวลานั้นอย่ามองว่าเราไม่มีความสามารถหรือไม่มี Passion แต่ด้วยความพร้อมและจังหวะเวลา มันอาจจะไม่ใช่เวลาและที่ของเราก็ได้
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
คนแรกเลยคือ คุณพ่อ ท่านเป็นต้นแบบในเรื่องของการไม่ยอมแพ้อุปสรรค ตั้งแต่ผมเด็กคุณพ่อทำงานเริ่มจากไม่มีอะไร จนตอนนี้เป็นนักธุรกิจสบายแล้ว เวลามีอุปสรรคจะไม่ยอมแพ้จะแก้ปัญหาให้ได้ สิ่งที่ได้จากคุณพ่อคือ การไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ต้องบอกว่าพื้นฐานครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
สำหรับอาจารย์แพทย์แล้ว ต้องขอบอกว่าจริง ๆ คืออาจารย์ทุกท่านทั้งในและต่างประเทศ มีส่วนหล่อหลอมให้ผมมีวันนี้ แต่จะขอเอ่ยชื่อ 2 ท่าน ที่ผมดูวิธีการทำงานจากท่านมากหน่อย คือ ศ.เกียรติคุณ นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล ท่านเป็นต้นแบบในเรื่องของการทำงานวิชาการ การทำงานวิจัยให้กับผม และสุดท้ายคือ ศ.เกียรติคุณ พญ.นลินี อัศวโภคี ท่านเป็นต้นแบบของความเป็นครู ท่านใจดีมาก สอนนักเรียนแพทย์ด้วยความเข้าใจ ผมได้แบบอย่างดี ๆ ในความเป็นครูแพทย์หลาย ๆ เรื่องจากอาจารย์
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
ภาพกว้าง ๆ เลยก็คือ การแพทย์ทั่วโลก รวมถึงเมืองไทยมีความก้าวหน้ามากกว่าสมัยก่อนมาก ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีหลาย ๆ ด้าน ทำให้โรคหลายโรคที่อดีตอาจรักษาไม่หาย ปัจจุบันรักษาหายได้หรือถ้าไม่หาย ก็ทำให้คนไข้มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ ซึ่งพัฒนาการเหล่านั้น ทำให้แพทย์ต้องพยายามตามให้ทัน การศึกษาเฉพาะทาง เพื่อให้ลงลึกเข้าไปในการรักษาระบบใดระบบหนึ่งจึงมีความจำเป็น เพราะแพทย์ไม่สามารถศึกษาให้เชี่ยวชาญในทุกระบบได้
แม้ว่าแพทย์ควรเรียนเฉพาะทาง แต่ปัจจุบันบางสาขาก็มีแพทย์เรียนเฉพาะทางน้อย ด้วยปัจจัยหลาย ๆด้าน ทั้งเวลาการทำงานที่มาก รูปแบบการทำงานที่หนัก มีเวลาส่วนตัวน้อย ในขณะที่บางสาขาเป็นที่นิยมมากขึ้น และแพทย์ที่จบเฉพาะทางส่วนใหญ่ก็จะอยู่โรงพยาบาลใหญ่ ๆในเมือง ทำให้รวม ๆ แล้วการกระจายตัวของแพทย์จึงยังไม่ดี แพทย์ที่มีความชำนาญในชนบท นอกเมืองยังมีจำนวนน้อยกว่าในเมือง
อีกเรื่องคือ อนาคตมีแนวโน้มที่จะมีการฟ้องร้องกันมากขึ้น แพทย์ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับคนไข้มากขึ้น สื่อสารให้ชัดเจน หลาย ๆ เรื่องจำเป็นต้องตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์กับคนไข้ ยึดไกด์ไลน์หรือแนวทางเวชปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ส่งตรวจคนไข้หรือให้ยาเกินความจำเป็น การใช้สื่อออนไลน์ก็ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคนไข้ เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ถ้าเลือกปรับปรุง 2 ข้อ เพื่อทำให้การแพทย์ไทยดีมากขึ้นไปกว่าเดิม อยากปรับปรุงเรื่องใด
ข้อแรกคือ distribution การกระจายของแพทย์ออกไปตามเมืองต่าง ๆ ให้มีความสมดุล เพราะมันกระจุกที่เมืองใหญ่ ให้แพทย์เฉพาะทางในแต่ละสาขา กระจายออกไปให้มีความสมดุล รวมถึงการเห็นความสำคัญของแพทย์เฉพาะทางโดยกระจายทุนให้ไปอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ข้อสองคือ ให้ค่าตอบแทนที่ทำให้แพทย์มีชีวิตที่ดีได้ ถ้ารายได้ของแพทย์ต่างกันมาก ยังไงแพทย์ก็ไม่อยู่ในระบบโดยเฉพาะแพทย์สาขาโรคติดเชื้อค่าตอบแทนจะน้อยมาก
“โรคติดเชื้อจะกระทบทุกระบบ
ของร่างกาย ทุกอวัยวะ
ติดเชื้อได้หมด
ทำให้แพทย์สาขาโรคติดเชื้อ
ต้องประสานงานกับ
แพทย์สาขาอื่น รวมถึง
ทีมห้องแลบด้วย จึงต้อง
มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
มีทักษะในการสื่อสาร
อย่างมาก”
ฝากข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไป แนะนำว่า 1) ถ้าเลือกที่จะมาเรียนแพทย์แล้ว ต้องรู้ว่าหน้าที่แพทย์คือ ผู้รักษาคนไข้ ต้องพัฒนาตนเองให้เป็นแพทย์ที่ดี โดยบางอย่างก็ต้องมองข้ามไปบ้าง เช่น ถ้าเราโฟกัสที่รายได้ เวลาทำงานเราก็อาจจะไม่มีความสุข แต่ถ้าเรามองว่าได้ทำหน้าที่แพทย์ ได้ช่วยเหลือคนไข้อย่างดีที่สุด สมกับความตั้งใจที่มาเป็นแพทย์ ก็จะมีความสุข ซึ่งอาจหาไม่ได้ในอาชีพอื่น และ 2) ขณะเดียวกันก็หาความสมดุลในการทำงาน หาเวลาพักผ่อนออกกำลังกายมีชีวิตของตัวเองด้วย งานบางอย่างต่อให้ไม่มีเรา ก็มีคนมาทำงานแทนเราจนได้ เรื่องนี้ปัจจุบันผมก็ทำอยู่เช่นเดียวกัน เวลามีอุปสรรคก็อย่าไปคิดว่ามันจบแล้ว มันทำไม่ได้แล้ว ไม่สำเร็จก็ทำใหม่แค่นั้นเอง ชีวิตต้องไปต่อไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันมีทางออกของมันเสมอ
สำหรับแพทย์ที่อยากเรียนสาขาโรคติดเชื้อ อยากให้เข้าใจว่า สาขาโรคติดเชื้อมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีในมุมมองผมคือ เป็นสาขาที่แพทย์มีสมดุลในชีวิตและการทำงาน หรือ work life balance ที่ดีในระดับหนึ่ง เพราะโรคติดเชื้อไม่มีหัตถการมาก ไม่ค่อยมีภาวะฉุกเฉิน ส่วนใหญ่เป็นการใช้ยา สมัยก่อนถึงกับมีแพทย์บางคนเข้าใจว่า แค่สั่งยาปฏิชีวนะ แพทย์ทุกคนก็สั่งได้ไม่ต้องให้แพทย์โรคติดเชื้อสั่ง จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ ยิ่งปัจจุบันการรักษามันก้าวหน้ามาก โรคเองก็มีความซับซ้อน ผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นหลายโรค และยารักษาก็มีมาก การให้ยาก็ต้องแม่นยำมีความเหมาะสม ในส่วนข้อเสียก็คือ พอเราไม่มีหัตถการ รายได้ก็อาจจะน้อยกว่าสาขาอื่นบ้าง ก็ต้องเข้าใจตรงนี้ อีกเรื่องคือ โรคติดเชื้อจะครอบคลุมทุกระบบของร่างกาย ทุกอวัยวะติดเชื้อได้หมด ทำให้แพทย์สาขาโรคติดเชื้อต้องประสานงานกับแพทย์สาขาอื่นเยอะ รวมถึงทีมห้องแลบด้วย ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีทักษะในการสื่อสารอย่างมาก ตรงนี้เป็นคาแร็คเตอร์สำคัญของแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ