“อยากมีส่วนร่วมช่วยประเทศให้ยุติปัญหาเอดส์ให้สำเร็จในปี 2030 โดยไม่ให้เอดส์เป็นปัญหาสำคัญที่คุกคามทางด้านสาธารณสุขต่อไป”
อ.พญ. รังสิมา โล่ห์เลขา
Chief, HIV Treatment and Care Section,
Division of Global HIV and TB, U.S. CDC Thailand Office
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคติดเชื้อ
เรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยมีความคุ้นเคยกับความเป็นแพทย์และการดูแลคนไข้มาตั้งแต่เด็ก เพราะตอนอยู่ที่บ้านก็จะเห็นคุณพ่อคือ อาจารย์ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ทำคลินิกเด็กโดยมีคนไข้เด็กมารับการรักษาเป็นประจำ ตัวเองได้เห็นคุณพ่อพูดคุยกับคนไข้เด็กและพ่อแม่เด็ก มีความสุข สนุกสนาน อารมณ์ดี และในแต่ละวันหลังเลิกเรียนคุณแม่ก็จะไปรับลูก ๆ มารอคุณพ่อที่โรงพยาบาลรามาธิบดีทุกวัน ทำให้ลูกทุกคนคุ้นเคยกับโรงพยาบาล หรืออย่างในแต่ละปีก็จะมี residents เด็กมาที่บ้านปีใหม่ รู้สึกชื่นชม พี่ ๆ ที่เป็นหมอว่าเก่ง ทำให้ตนเองรู้สึกคุ้นเคยและอยากที่จะเป็นหมอ โดยนอกจากจะมีความคุ้นเคยแล้ว ส่วนตัวยังเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ได้ทำประโยชน์ให้คนไข้และสังคม และสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ตนเองชัดเจนจึงตัดสินใจที่จะเรียนแพทย์ โดยสอบเทียบได้ที่ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทั้งพี่ชายคือ นพ. ปกรณ์ และน้องชายคือ นพ. ประวีณ โล่ห์เลขา ก็เป็นหมอเช่นเดียวกัน
สำหรับเหตุผลในการเลือกเรียนกุมารเวชศาสตร์ มี 2 เหตุผล เหตุผลแรกเป็นสาขาที่ตนเองถนัด โดยสอบได้คะแนนที่หนึ่งในรุ่น วิชาทางสาขากุมารฯและสาขาหูคอจมูก แต่สุดท้ายตัดสินใจเลือกเรียนกุมารเวชศาสตร์ เนื่องจากตนเองไม่ถนัดเรื่องการทำหัตถการ ประกอบกับความชอบส่วนตัวจากประสบการณ์ที่บ้านทำให้คุ้นเคยกับเด็ก
โดยหลังจากจบคณะแพทยศาสตร์ รามาฯ (เกียรตินิยมอันดับ 1) ได้เลือกไปสมัครเป็นแพทย์ใช้ทุน ที่รพ. ศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับพี่ชาย ตอนเป็นแพทย์ใช้ทุนแผนกกุมารเวชศาสตร์ ปี 4 ต้องเลือกว่าจะไปต่อเฉพาะทางของเด็กในด้านไหน ซึ่งตอนแรกส่วนตัวสนใจ Allergy และโรคติดเชื้อ ได้ไปปรึกษาท่านอาจารย์ พญ. ศรีเวียง ไพโรจน์กุล ซึ่งเป็นหัวหน้าภาคกุมาร ฯ แนะนำว่าวิชาที่มีความก้าวหน้าในด้านการวิจัยมาก ๆ คือ โรคติดเชื้อและฮีมาโต ซึ่งก็สอดคล้องกับที่คุณแม่แนะนำและคุณพ่อก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ จึงตัดสินใจเลือกเรียนเฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ พอดีช่วงนั้นอาจารย์ พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ เพิ่งจบจากอเมริกามาใหม่ ท่านมีชื่อในการเป็นอาจารย์ที่แอคทีฟและเก่งทางด้านนี้ จึงไปสมัครเรียนโรคติดเชื้อในเด็กที่ศิริราช โดยเรียนรุ่นเดียวกับอาจารย์ พญ.วนัทปรียา พงษ์สามารถ โดยได้มีโอกาสดูแลคนไข้เด็กโรคเอดส์ค่อนข้างเยอะ
พอเรียนจบได้รับโอกาสจากท่านอาจารย์ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ชวนไปทำงานโครงการของ U.S. CDC ที่ รพ.เด็ก ส่วนตัวได้ยินชื่อเสียงของ U.S. CDC ว่าเป็นหน่วยงานควบคุมป้องกันโรคระดับนานาชาติ จึงตัดสินใจเข้าทำงานในปี 2002 เป็นโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด้านคลินิก เพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ซึ่งตอนนั้นการติดเชื้อยังสูงมากและโรงพยาบาลต่าง ๆ ในประเทศก็ดูแลคนไข้ด้วยคุณภาพที่แตกต่างกัน ต้องขอบพระคุณท่านอาจารย์ นพ. ทวี อีกครั้ง ที่ให้โอกาสตนเองได้ทำงานหลายอย่างทั้งงานวิจัยและงานดูแลคนไข้ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สนุกมาก หลังจากทำงานที่ รพ.เด็กได้สองปี ได้มีโอกาสเข้าทำงานในหน่วยการดูแลรักษาเอชไอวี ที่ศูนย์ความร่วมมือไทย สหรัฐด้านสาธารณสุข หรืออีกชื่อคือ U.S. CDC ประจำประเทศไทยตามที่ตั้งใจไว้ จากนั้นก็ได้รับการโปรโมทเป็นหัวหน้าหน่วยการดูแลเด็กและครอบครัวของโครงการเอดส์และวัณโรคโลก ได้มีโอกาสทำโครงการสำคัญ ๆ หลายอย่างร่วมกับหลายหน่วยงาน รวมถึงต่างประเทศ เช่น การทำเครือข่ายคุณภาพการดูแลเด็กติดเชื้อเอชไอวี โครงการพัฒนาคุณภาพบริการด้านเอชไอวีร่วมกับสถาบันเอดส์ของนิวยอร์ก (HIVQUAL-T) ทั้ง 2 โครงการได้ขยายไปทุกจังหวัด โครงการติดตามประเมินผลและอบรมการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน การให้บริการปรึกษาแบบคู่ในคลินิกฝากครรภ์ ซึ่งปัจจุบันขยายไปเป็นระบบปกติทั่วประเทศ การทำเครือข่ายการดูแลทารกที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รับยาป้องกัน ได้รับการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีและหากติดเชื้อเอชไอวีให้เริ่มยาต้านเอชไอวีโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ทำร่วมกับ รพ. เด็ก และ รพ.ศิริราช เช่น การเปิดเผยผลเลือดเด็กติดเชื้อเอชไอวี โครงการวัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวีและการส่งต่อเด็กวัยรุ่นไปคลินิกผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ทำร่วมกับสปป.ลาว เช่น การนำร่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในสปป.ลาว 4 แขวง ได้มีโอกาสไปร่วมทำงานในปาปัวนิวกินี ยูกันดา ศรีลังกาและมาเลเซีย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีและมีคุณค่ามากค่ะ
“ประเทศไทยเป็น
ประเทศที่สองของโลก
และประเทศแรกของเอเชีย
ที่ได้รับการรับรอง
การยุติการติดเชื้อเอชไอวี
และซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกได้”
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
เป้าหมายที่เคยตั้งไว้คือ การมีส่วนร่วมช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับรองการยุติการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้ ซึ่งตอนนี้ก็ทำสำเร็จแล้วตั้งแต่ปี 2016 ด้วยความร่วมมือของหลาย ๆ ท่าน จากหลายภาคส่วน ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สองของโลก และประเทศแรกของเอเชียที่ได้รับการรับรองการยุติการติดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกได้ ซึ่งจากผลงานนี้ทำให้เป็นพนักงานท้องถิ่นที่ไม่ได้เป็นคนอเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัล Kellie Elizabeth Lartigue-Ndiaye Humanitarian Award จาก Division of Global HIV and TB (DGHT), U.S. Centers for Disease Control and Prevention ซึ่งรู้สึกเป็นเกียรติและเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก ทำให้มีความตั้งใจที่จะทำงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประเทศต่อไป
หลังจากเป้าหมายแรกสำเร็จ ก็ได้รับโอกาสให้ไปเป็นหัวหน้าหน่วยดูแลรักษาผู้ใหญ่ด้านเอชไอวีและวัณโรค ซึ่งก็ทำโครงการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลในสังกัดกทม. โรงพยาบาลจังหวัดของกระทรวงสาธารณสุขใน 10 จังหวัดและสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) มีการทำโครงการส่งเสริมให้เริ่มยาต้านเอชไอวีโดยเร็วที่สุด ให้การปรึกษาเพื่อส่งเสริมการกินยาต้านเอชไอวีและลดการขาดนัดต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีคงอยู่ในระบบและกดระดับไวรัสได้สำเร็จ ได้ทำโครงการเครือข่ายยุติปัญหาเอดส์ในกทม. หรือโครงการ NEAB (Network to End AIDS in Bangkok) โดยเน้นการทำเรื่องการสนับสนุนให้โรงพยาบาลที่มีความพร้อมได้รับการรับรองเฉพาะโรคเอชไอวีจาก สรพ. และได้ทำโครงการส่งเสริมการวินิจฉัยวัณโรคให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มาด้วยอาการเอดส์โดยใช้ TB Urine LAM ซึ่งโครงการนี้ได้รับรางวัล Global TB champion จาก CDC ในปี 2024
เป้าหมายต่อไปที่อยากทำให้สำเร็จ จากงานที่ทำคือ อยากมีส่วนร่วมช่วยประเทศให้ยุติปัญหาเอดส์ให้สำเร็จในปี 2030 โดยไม่ใช่แปลว่าเป็นศูนย์ แต่หมายถึง ไม่ให้เอดส์เป็นปัญหาสำคัญที่คุกคามทางด้านสาธารณสุข และร่วมกันทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยกิจกรรมที่ทำเริ่มจาก 14 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากในปีหน้า ตอนนี้ก็เป็นกิจกรรมหลักที่ทาง office DGHT CDC PEPFAR Thailand ให้ความสำคัญโดยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กทม. เครือข่ายภาคประชาสังคม ผู้ติดเชื้อฯ และหน่วยงานหลายภาคส่วน
สำหรับเป้าหมายด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการเป็นแพทย์ก็จะเหมือนท่านอื่น ๆ ที่อยากจะเสริมโดยส่วนตัว ในฐานะแม่ก็จะเป็นการดูแลครอบครัวให้ลูกเติบโตเป็นคนดี พัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ มีความสุข สุขภาพดีและมีคุณภาพในสังคม ในฐานะลูกและภรรยาก็จะเป็นการสนับสนุนให้ทั้งคุณพ่อและสามีมีความสุข ได้ทำในสิ่งที่ชอบ โดยการช่วยแบ่งเบาภาระการบริหารจัดการบางเรื่องมา อีกเป้าหมายคือ มีงานอดิเรกที่ตนเองชอบทำและสามารถทำต่อไปได้ในวัยเกษียณ ซึ่งนอกเหนือจากงานที่ทำด้านเอชไอวีและการเป็นหมอเด็กแล้ว ตอนนี้ก็มีความสนใจเรื่องการทำสวนและการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ต่าง ๆ ให้มีสวนที่เป็นศูนย์รวมของครอบครัวและลูกหลานในอนาคตที่จะสามารถใช้เวลาร่วมกัน
“การเป็นคนตอบรับโอกาส
ที่มีผู้มอบให้ และหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง
ในเรื่องนั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง”
ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร
จริง ๆ แล้ว เป้าหมายที่สำเร็จได้จะประกอบด้วยปัจจัยทั้งจากภายในและภายนอก แต่จะขอเน้นเฉพาะในส่วนที่น่าจะเกิดจากตัวเองหรือเป็นปัจจัยภายใน ปัจจัยแรก เป็นคนตอบรับโอกาสที่มีผู้มอบให้ และหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองในเรื่องนั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่สอง เป็นคนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยจะมีการประเมินและปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องให้ดีขึ้นตลอด ปัจจัยที่สาม เป็นคนให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และการทำงานเป็นทีม
ขอยกตัวอย่างการใช้ปัจจัยทั้ง 3 ข้อในการทำงานพอให้เห็นภาพนะคะ ตอนปี 2015 ก่อนประเทศไทยจะได้รับ EMTCT of HIV and syphilis validation ทางหัวหน้า UNAIDS regional office ติดต่อมาถามว่า เป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยจะส่งรายงานเพื่อขอรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ภายในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยจะมีทีมงานลงมา pre-visit 2 สัปดาห์หลังส่งรายงาน เพื่อสรุปผล เพราะจะมีประชุมใหญ่ที่ NewYork ถ้าประเทศไทยผ่านการประเมินจะได้ไปรับรางวัลเดือนมิถุนายนในปีนั้น หลังจากนั้นก็มีการติดต่อไปทางกระทรวงสาธารณสุข นพ. สราวุธ บุญสุข กรมอนามัย ว่าเป็นไปได้ไหม ซึ่งหมอสราวุธก็บอกว่าเอาเลยอาจารย์ทำได้ ทำด้วยกัน แล้วก็ร่วมมือกันไปประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัย NGO และเครือข่ายผู้หญิงติดเชื้อ และโรงพยาบาลต่าง ๆ ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันที่อยากทำให้สำเร็จและให้ความสำคัญ ช่วยกันลงข้อมูลในระบบประเมินติดตามระดับประเทศ โดยเราเป็นตัวเชื่อมทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่าง ๆ นำข้อมูลระดับประเทศมาสรุปตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก และตอบคำถามต่าง ๆ ตามที่มีการสอบถามไปมาหลายครั้ง ช่วงนั้นทำงานหนักมาก ๆ แต่ทุกคนในทีมก็เอาเป็นธุระทำงานร่วมกันอย่างหนักเช่นกัน รวมถึงหัวหน้า CDC ที่ office Dr. Mike Martin ก็ให้การสนับสนุนงาน อนุญาตให้ใช้เวลาในการทำงานด้านนี้ได้ ทุกคนช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ เมื่อมีอุปสรรคก็แก้กันไปเป็นรอบ ๆ จนประเทศไทยได้รับการรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกจนสำเร็จ ก็ต้องชื่นชมความร่วมใจของทุกคนในงานนี้ค่ะ
มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
งานทุกงานมีอุปสรรคอยู่แล้ว เข้าใจว่าทุกคนก็ต้องแก้ปัญหากันไป ขอยกตัวอย่าง เช่น บางครั้งโครงการที่ทำจบไป 4 – 5 ปี จนผลงานที่ทำไว้ข้อมูลเก่า ยังไม่ได้ตีพิมพ์ ไม่น่าสนใจ ก็จะหาวิธีใหม่ เช่น paper HIV และ STI ที่ทำร่วมกับหลายโรงพยาบาลใน กทม. จึงได้ปรึกษาหัวหน้างานที่ CDC ภายหลังมีการปรับวิธีเขียนใหม่เป็น Number need to screen ทำให้ข้อมูลยังทันสมัยและน่าสนใจ และสามารถตีพิมพ์ในวารสารที่ดีได้แม้ข้อมูลจะเก่า อีกตัวอย่างเช่น ก่อนปี 2020 งานที่ทำยังทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยค่อนข้างน้อย ก็ปรึกษาหัวหน้าเพื่อปรับโครงการและ site ที่ดำเนินการให้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการมากขึ้น ทำให้งานมีคุณภาพและงานด้านเอชไอวีที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ PEPFAR มีการขยายไปในกลุ่มเป้าหมายสถาบันที่มีผู้เชี่ยวชาญที่มีการเรียนการสอนให้นักศึกษาแพทย์และพยาบาลมากขึ้น ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้จบออกไปก็อาจนำความรู้ด้านเอชไอวีไปปรับในการทำงานในหลากหลายโรงพยาบาลในจังหวัดต่าง ๆ ต่อไป
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ในชีวิตการทำงานทั้งเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานหลายคนทั้งคนไทยและจาก CDC office เป็นต้นแบบในด้านต่าง ๆ ที่ตนเองได้เรียนรู้มาเสมอ อย่างไรก็ตามคนที่เป็นต้นแบบมาก ๆ ในชีวิต ท่านแรกเลยคือ คุณพ่อ อาจารย์ นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ อดีตนายกแพทยสภา ท่านเป็นต้นแบบเราในหลายเรื่อง เช่น เรื่องของความขยัน หมั่นเพียร เรียนรู้ต่อเนื่อง การมีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำงานได้ดีทั้งด้านวิชาการและการบริหาร เสียสละช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ทั้งการสอนหนังสือ การช่วยเหลือคนไข้หรือหมอต่าง ๆ แม้ไม่รู้จักกันมาก่อน การปล่อยวางไม่คิดเล็กคิดน้อย ใจเย็น มองโลกในแง่บวกและการเป็นพ่อที่ดีที่บริหารเวลาคุณภาพให้การสนับสนุนลูก ๆ ได้ตลอดแม้จะยุ่งแค่ไหนก็ตาม ท่านที่สองคือ อาจารย์ พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ท่านเป็นต้นแบบเราในเรื่องของการทำทันที ตอนที่เป็น Fellow กับอาจารย์ อาจารย์จะแนะนำให้จดบันทึกงานที่จะต้องทำ และโทร.ติดต่อประสานงานทุกอย่างทันที ไม่ทิ้งไว้ นอกจากนี้เห็นตัวอย่างเวลามีปัญหาต่าง ๆ อาจารย์จะไม่ย่อท้อ พยายามหาทางออกในการแก้ปัญหาต่าง ๆ และมีกัลยาณมิตรต่าง ๆ มาช่วยเหลือร่วมมือในการทำงานให้สำเร็จ ท่านที่สามคือ ศ.พิเศษ หิรัญ รดีศรี ท่านเป็นน้องชายของคุณย่า และเป็นคนที่ทุกคนในตระกูลให้ความเคารพ เป็นอดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นอาจารย์ทางด้านการบัญชีที่ประสบความสำเร็จในหลายด้าน แม้ท่านจะอายุมากกว่า 90 ปีแล้วแต่ยัง active เป็นผู้ให้และเป็นศูนย์รวมนัดรวมลูกหลานในตระกูลให้มาพบเจอกัน ทำให้รู้สึกมีความอบอุ่นและเป็นปึกแผ่นในครอบครัว แม้ส่วนตัวยังทำไม่ได้ทุกอย่างเหมือนบุคคลต้นแบบ แต่ก็เป็นสิ่งที่ชื่นชมและอยากพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากเล็ก ๆ ที่เราทำได้ก่อน
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
คิดว่าทิศทางในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยี เช่น Telehealth รูปแบบต่าง ๆ มาใช้ ในการดูแลผู้ป่วย ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือใช้ในการอบรมแพทย์มากขึ้น เพื่อสร้างชุมชนนักปฏิบัติ หรือ Community of Practice ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในเมืองใหญ่สามารถให้ความรู้และการปรึกษากับแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลขนาดเล็กหรืออยู่ในที่ห่างไกลที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ทำให้คุณภาพบริการดูแลรักษาผู้ป่วย และการพัฒนาศักยภาพแพทย์ต่าง ๆ มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตตนเองมองว่าอาชีพแพทย์ ยังเป็นอาชีพยอดนิยมเหมือนเดิม แต่รูปแบบการทำงานอาจเปลี่ยนไป โดยภาพกว้าง ๆ แพทย์น่าจะต้องมีการประสานระหว่างแพทย์สาขาอื่น ๆ บุคลากรทางการแพทย์ และวิชาชีพอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น และอาจมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการทำงาน มีการประสานงานกันในระบบเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้โครงการต่าง ๆ สำเร็จและมีความยั่งยืน
“อยากให้มีแพทย์
มาทำงานด้าน
public health
และงานวิจัยมากขึ้นเพราะระบบสาธารณสุขไทย
แม้จะมีความเข้มแข็ง
แต่ยังมีอีกหลายด้านที่พัฒนาให้ดีขึ้นได้”
ถ้าให้เลือกปรับปรุง 2 ข้อ เพื่อที่จะทำให้การแพทย์ไทยในอนาคตดีมากขึ้นไปกว่าเดิม อยากปรับปรุงเรื่องใด เพราะอะไร
เรื่องแรก อยากให้มีแพทย์มาทำงานด้าน public health และงานวิจัยมากขึ้น แพทย์ส่วนใหญ่จะสนใจในการดูคนไข้เป็นหลัก แต่จริง ๆ แล้วงานด้านสาธารณสุขก็เป็นอีกด้านที่มีความสำคัญ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็งมากในหลายด้าน แต่ก็ยังมีอีกหลายด้านเช่นกัน ที่อาจพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ทั้งด้านการนำข้อมูลที่มีการจัดเก็บไว้ในระบบปกติมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพ เพื่อช่วยแก้ปัญหาในบางกลุ่มคน อายุและเพศ ที่ยังมีช่องว่างในการบริการสำหรับโรคต่าง ๆ และข้อมูลนี้ยังสามารถนำไปพัฒนาบริการให้เหมาะสมกับคนไข้รายบุคคล (client centered) และเชิงระบบได้ ซึ่งจะมีผลกับคนไข้จำนวนมาก
เรื่องที่สอง อยากให้มีการทำวิจัยและให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพในทุก ๆ เรื่องให้มากขึ้นเป็น culture หรือวัฒนธรรมองค์กร ตอนสมัยเรียนแพทย์ มีโอกาสทำวิจัยเหมือนกันแต่น้อย เข้าใจว่าปัจจุบันมีการส่งเสริมการวิจัยมากขึ้น ก็น่าจะมีการจัดสรรทุนวิจัยให้มากขึ้น และเรื่องของการพัฒนาคุณภาพ ก็เช่นกัน ตอนไปประชุมต่างประเทศจะเห็นว่า นักศึกษาแพทย์ต่างประเทศมานำเสนอโครงการพัฒนาคุณภาพ เมื่อเขาขึ้นปฏิบัติงานในแผนกต่าง ๆ ทำให้เข้าใจ concept ในการพัฒนาคุณภาพและสามารถทำต่อเนื่องได้ในระบบปกติได้ เทียบกับตอนสมัยที่ตัวเองเรียน การพัฒนาคุณภาพเรียนน้อยมากค่ะ
ฝากข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไป ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคต เราต้อง 1) ปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เช่น การใช้ AI สามารถพัฒนางานให้มีคุณภาพได้ดีขึ้น ทั้งด้านช่วยคิด ช่วยเขียนต่าง ๆ แพทย์รุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับงานของเรา หรือจากสถานการณ์ COVID ทำให้การใช้ Telemedicine มีบทบาทมากขึ้น การประชุม online ก็มีบทบาทมากขึ้นเช่นกัน ทุกเรื่องมีข้อดีและข้อจำกัดที่แพทย์รุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้ และปรับตัว 2) การมองโลกในด้านบวก ข้อนี้มีความหมายกว้าง ๆ ให้แพทย์รุ่นใหม่ที่เจออุปสรรคในการประกอบวิชาชีพ มองในด้านที่เป็นประโยชน์ว่าปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ทำให้เราได้เติบโตและพัฒนาตนเอง พร้อมทั้งมีความอดทน หนักเอาเบาสู้ในการทำงานและการแก้ปัญหา ยิ่งเด็กต้องยิ่งเรียนรู้ 3) การให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ทั้งกับคนไข้และผู้ร่วมงาน ควรให้เกียรติทุกหน้าที่ที่ร่วมงานกับเรา และควรมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมบรรยากาศการทำงานที่ดี 4) สุดท้ายคือ การศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาด้วยตัวเอง การปรึกษาผู้รู้ การเปิดใจรับและเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ
สำหรับเรื่อง เอชไอวี อยากจะเพิ่มเติมในส่วนของ U=U= Undetectable = Untransmittable เอชไอวีไม่เหมือนเดิมแล้ว เอชไอวีรักษาได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัย รักษาเร็ว สามารถกดระดับไวรัสในเลือดได้สำเร็จและดูแลสุขภาพตนเองดี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีชีวิตยืนยาวใกล้เคียงหรือเท่ากับคนทั่วไป และไม่ถ่ายทอดเชื้อให้คู่ น่าสนใจว่าโครงการที่ทำร่วมกับโรงเรียนแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข พบว่านักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลบางคน ยังไม่ทราบว่า U=U คืออะไร และข้อมูลพบว่า บางคนก็ยังมีการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี เช่น ใส่ถุงมือสองชั้น หลีกเลี่ยงไม่อยากดูแลคนไข้เพราะกลัวติดโรค ซึ่งคิดว่าความรู้เรื่อง U=U และเรื่อง Universal precaution ร่วมกับการสร้างความตระหนักถึงปัญหาและการจัดระบบในโรงพยาบาลที่ดี มีความสำคัญที่จะช่วยลดเรื่องการรังเกียจตีตรา ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในสถานพยาบาลและชุมชน ซึ่งก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน สามารถมีส่วนร่วมในการช่วยในการยุติปัญหาเอดส์ในไทยได้ค่ะ