CIMjournal

อาจารย์ เดชวิจิตร์ สุวรรณภักดี สาขาโรคติดเชื้อในเด็ก


“ความสุขของผม คือ การตรวจรักษาคนไข้ได้เต็มที่  การสอนนักเรียนแพทย์ได้เต็มที่ และมีเวลาดูแลครอบครัวได้อย่างสมดุล”

พ.อ. ผศ. นพ. เดชวิจิตร์ สุวรรณภักดี
หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
กรรมการและรองเลขาธิการ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
                                                                                        


แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคติดเชื้อในเด็ก

โดยสมัยเรียนมัธยม ชอบวิชาชีวะกับภาษาอังกฤษ จึงสนใจที่จะเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และเลือกสอบแพทย์ที่เดียวคือ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ถามว่าทำไมเลือกสอบเป็นแพทย์ทหาร ตอนนั้นยอมรับว่าคิดแบบเด็ก ๆ คือ ได้เป็นหมอด้วย ได้เป็นทหารด้วย ได้รับราชการทหารด้วย คิดว่าน่าจะทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ภายหลังได้เข้ามาเรียนก็ต้องบอกเลยว่า “เกินคาดจริง ๆ” เพราะนอกจากความรู้วิชาการซึ่งตอนจบต้องสอบพร้อมกับแพทย์ศิริราช ม.มหิดล ยังได้ฝึกปฏิบัติที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า ซึ่งมีประวัติศาสตร์ มีความพร้อมในการผลิตแพทย์ที่ยาวนาน การได้ฝึกระเบียบวินัย ฝึกวิชาทหาร ฝึกทำงานแพทย์ภาคสนามจริง เรียกได้ว่า ชีวิตได้เรียนรู้หลายอย่างในช่วงเวลานั้น

ต่อมาเป็นแพทย์ใช้ทุน ที่โรงพยาบาลค่ายธนะรัชต์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยตอนจบใหม่ ๆ อยากเรียนต่อ 2 สาขา คือ อายุรศาสตร์กับกุมารฯ แต่พอใช้ทุน 2 ปี ได้เจอผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งมักจะไม่ค่อยมาหาหมอง่าย ๆ พอมาทีก็มีอาการหนัก รักษาไปดีขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง หลาย ๆ คนไม่ได้แข็งแรงเหมือนเดิม เทียบกับคนไข้เด็กซึ่งผู้ปกครองพามาหาหมอตั้งแต่เริ่มมีอาการ รักษาหายเร็ว กลับมาสนุกสนานร่าเริงเหมือนปกติก่อนป่วย จึงตัดสินใจเลือกเรียนต่อเฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์ โดยสนใจเรียนต่อสาขาโรคติดเชื้อกับสาขามะเร็งและโรคเลือดในเด็ก แต่สุดท้ายตัดสินใจเรียนสาขาโรคติดเชื้อ เพราะเป็นโรคที่พบบ่อย และสามารถรักษาได้ด้วยยา รวมถึงสามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยวัคซีน ซึ่งเชื้อโรคก็จะมีมาอยู่เรื่อย ๆ และติดเชื้อได้ทุกระบบอวัยวะ ทำให้เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต และในช่วงที่เรียนได้เห็นอาจารย์หลาย ๆ ท่านมาถ่ายทอดให้เราฟัง ยิ่งสร้างความประทับใจ และมีความคิดอยากจะเป็นครูแพทย์โรคติดเชื้อตั้งแต่ตอนนั้น


เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต

เป้าหมายในปัจจุบันคือ การเป็นครูแพทย์ที่ประสบความสำเร็จและมีความสุข ประสบความสำเร็จหมายถึง การที่สามารถถ่ายทอดความรู้ ให้ลูกศิษย์เกิดความประทับใจ และนำความรู้ที่ได้ไปทำการรักษาได้ผลสำเร็จ หรือเก่งกว่าเราได้ในอนาคต ส่วนมีความสุข หมายถึง การที่เราสามารถตรวจรักษาคนไข้ได้อย่างเต็มที่ สอนนักเรียนแพทย์ได้อย่างเต็มที่ และมีเวลาดูแลครอบครัวได้อย่างสมดุล คือมี work life balance ที่ดี ครอบครัวผม มีภรรยาเป็นแพทย์ มีลูก ก็แบ่งเวลาและมีความสุขกับชีวิตอยู่ ทั้งหมดคือเป้าหมายในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต

ส่วนในบั้นปลายของการทำงาน นึกถึงภาพอนาคตในตอนเกษียณ ผมอยากส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคติดเชื้อในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเรื่องของการใช้วัคซีนอย่างเหมาะสม รวมถึงมาตรการป้องกันโรคด้านอื่น ๆ ซึ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีความเข้าใจแบบผิด ๆ ทำให้มีการปฏิเสธการรับวัคซีนอยู่


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ผมมองไว้ 2 – 3 ข้อ ที่ช่วยให้ทำงานได้สำเร็จ รวมถึงการที่คนไข้มารักษากับเรา และมีความพอใจกลับมาให้เราดูแลอย่างต่อเนื่อง

ข้อแรกคือ การทำงานด้วยความรักและเอาใจใส่ ผมอาจโชคดีได้ทำงานที่รัก ทั้งการเป็นแพทย์สาขาโรคติดเชื้อในเด็ก และการเป็นอาจารย์แพทย์ ทำให้ผมเอาใจใส่ ดูในรายละเอียดต่าง ๆ ในงานที่ผมทำด้วยความสุข

ข้อที่สอง การมีความพยายาม อดทน พร้อมเปิดรับเรื่องใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ อย่างบางเรื่อง ผมไม่เก่ง ผมจะยอมใช้ความพยายาม และความอดทนศึกษาเรื่องนั้น ๆ มากกว่าคนอื่น เพื่อให้ทำได้สำเร็จ หรืออย่างการตรวจรักษาคนไข้ ผมจะหาความรู้เพิ่มเติมหรือกลับมาทบทวน เพื่อหาวิธีการรักษาที่ดีที่สุดอยู่เสมอ รวมถึงการมีความสนใจทำงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

ข้อที่สาม การอ่อนน้อมถ่อมตน โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วย ผมจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเพื่ออธิบายว่า โรคเป็นอย่างไร จะรักษาอย่างไร ผลการรักษาเป็นอย่างไร แผนการรักษาต่อไปเป็นอย่างไร วิธีนี้จะทำให้ช่องว่างระหว่างแพทย์กับคนไข้ลดน้อยลง


ถึงปัจจุบันมีเรื่องอะไรในชีวิต ที่อยากปรับปรุงให้ดีขึ้น

ผมข้อเน้นเรื่องงานวิจัยก่อน จากการที่เราเป็นโรงพยาบาลทหาร มีกฎระเบียบมาก การอำนวยความสะดวกสำหรับแพทย์ที่สนใจจะทำวิจัยยังสู้คณะแพทย์หลัก ๆ ไม่ได้ ที่ผ่านมาก็มีการทำสำนักพัฒนางานวิจัยเพื่อเติมเต็มในส่วนนี้ แต่ก็ยังต้องปรับปรุง โดยการสื่อสารให้เห็นว่างานวิจัยของเรา สามารถส่งผลดีทางด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลและผู้ป่วยทั่วประเทศได้ ซึ่งยังคงต้องทำต่อไป

อีกข้อสำหรับงานวิจัย ผมคิดว่าผมมีศักยภาพในการทำงานวิจัย ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างได้มากกว่านี้ เช่น การเปลี่ยนแนวทางเวชปฏิบัติ การเปลี่ยนแนวทางการป้องกัน หรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผมต้องปรับปรุงตรงนี้ให้ดีขึ้น อาจเป็นการแบ่งเวลา การหาทีมงานเพิ่ม การเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นให้มากขึ้น เป็นต้น

สุดท้าย การมีความสุขคือ การทำงานในด้านต่าง ๆ และมีสมดุลในการใช้ชีวิตที่ดี มีเวลาเหลือดูแลคนในครอบครัวอย่างเหมาะสม ผมรู้สึกว่าในปัจจุบัน ผมยังดูแลคุณพ่อคุณแม่ได้ไม่เต็มที่ คือ ตอนนี้ภาระงานและครอบครัวผมเองกำลังไปได้ดี แต่สุขภาพคุณพ่อคุณแม่ผมโรยราลง แบบสวนทางกัน ผมอยากจะจัดสรรเวลา ดูแลท่านทั้งสอง และมีกิจกรรมด้วยกันมากขึ้น

 

“สุขภาพคุณพ่อคุณแม่ผมโรยราลง
ผมอยากจะจัดสรรเวลา
ดูแลท่านทั้งสอง
และมีกิจกรรมด้วยกันมากขึ้น”


มีหลักในการแบ่งเวลาอย่างไร

ผมไม่มีตารางเวลาเป็นวัน เพราะถ้าทำขนาดนั้น ผมจะรู้สึกว่ามันเครียด ทำให้งานผมออกมาไม่ดี ผมเน้นการทำงานให้สำเร็จและมีความสุข มีสมดุลที่ดีระหว่างงานกับครอบครัว ผมจึงยึดการทำตามเป้าหมายเป็นหลัก ในแต่ละช่วงของชีวิต อย่างเช่นในเดือนนี้ ในสัปดาห์นี้งานหลัก ๆ ที่ต้องทำคืออะไร แล้วทำให้เสร็จตามเป้าหมายนั้น 


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

ศ.เกียรติคุณ พ.อ. พญ. ศรีลักษณ์ สิมะเสถียร อาจารย์เป็นผู้ก่อตั้งหน่วยโรคติดเชื้อของรพ.พระมงกุฎเกล้า อาจารย์เป็นตัวอย่างของครูแพทย์สำหรับผม เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเรียนสาขาโรคติดเชื้อ อาจารย์สอนลูกศิษย์ด้วยความเมตตา เป็นคนที่คิดถึงคนอื่นตลอดเวลา ให้ความสำคัญกับผู้ร่วมงานทุกระดับ ช่วยเหลือทุกคนอย่างจริงใจ ผมจำคำที่อาจารย์เคยบอกว่า “สาขาโรคติดเชื้อไม่มีอวัยวะที่เป็นของตัวเอง แต่เราต้องช่วยแพทย์ทุก ๆ สาขาดูแล เพราะทุกระบบมีการติดเชื้อได้ โดยเราต้องแม่นในวิชาการของเรา และเราต้องอยู่ร่วมกับแพทย์สาขาอื่น ๆ ให้ได้ เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด” โดยเวลามีปัญหาในการรักษาคนไข้กับแผนกอื่น อาจารย์จะมาคิดเสมอว่าจะสื่อสารกับแพทย์สาขานั้น ๆ อย่างไร ให้เขาเข้าใจ เพื่อให้การดูแลป้องกันทางด้านโรคติดเชื้อสำเร็จ


มองการแพทย์ในอนาคต และมีข้อแนะนำถึงแพทย์รุ่นใหม่อย่างไร

การเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้การวินิจฉัยหลาย ๆ โรค ทำได้รวดเร็ว และลงลึกไปในระดับโมเลกุล อย่างเรื่องเชื้อโรค สมัยก่อนกว่าจะรู้ว่าเป็นเชื้อตัวไหนอาจใช้เวลาเป็นวัน ๆ เพื่อตรวจทีละเชื้อ เดี๋ยวนี้ตรวจหลาย ๆ เชื้อพร้อมกันใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง หรืออย่างตรวจหายีนมะเร็ง ก็มีชนิดที่ตรวจเพียงครั้งเดียว สามารถพบยีนกลายพันธุ์หลาย ๆ ตัวได้ ส่วนการรักษาก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปแบบสอดคล้องกัน โดยมีความแม่นยำมากขึ้น เป็น “Precision medicine” ที่มีความเฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งรูปแบบการรักษา ชนิดของยา การป้องกันและการสร้างเสริมสุขภาพ ทำให้การบริการทางการแพทย์สะดวกรวดเร็วและให้ผลการรักษาที่มีแนวโน้มดีขึ้น

สำหรับโรคติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อที่อุบัติใหม่ วัคซีนจะเข้ามามีบทบทมากขึ้น โดยการผลิตวัคซีนจะรวดเร็ว มีความปลอดภัยสูง และผ่านทุกขั้นตอนสำคัญและนำออกมาใช้ได้เร็วขึ้น ทั้งนี้เพื่อควบคุมการระบาดของโรคให้ทัน ในขณะที่ปัญหาเชื้อดื้อยายังคงมีอยู่ ยาใหม่ก็สร้างไม่ทันเชื้อ อนาคตก็ต้องกลับไปสู่การป้องกันโรค และการใช้ยาเท่าที่จำเป็น

โดยผมมีข้อคิดที่อยากฝากถึงแพทย์รุ่นใหม่ ๆ นอกเหนือจากหลักที่ผมยึดปฏิบัติ  1) การทำงานด้วยความรักและเอาใจใส่  2) การมีความพยายาม อดทน พร้อมเปิดรับเรื่องใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตัวเอง  3) การให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับผู้ป่วย และยังมีอีก 3 เรื่องที่ผมอยากฝากเพิ่มคือ 4) การใส่ใจกับการป้องกันโรค โดยให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการรักษา เพราะหลาย ๆ โรค เช่น NCDs เราลดความเสี่ยงหรือป้องกันโรคได้  5) การดูถึงความจำเป็นในการตรวจและรักษาด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันมีราคาสูง ไม่ใช่มีเคสไหนมาก็ส่งตรวจหมด ทำให้เกิดการใช้งบประมาณหรือรายจ่ายที่เกินความจำเป็น  6) การใส่ใจกับอาการทางคลินิกของคนไข้ โดยต่อให้ส่งตรวจด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ แล้ว การตรวจดูอาการทางคลินิกต่าง ๆ ยังจำเป็น เช่น คนไข้บางคนอาจติดเชื้อ 4 – 5 ตัว แพทย์ก็ต้องกลับมาดูอาการทางคลินิกด้วยว่า ตรงกับเชื้อตัวไหน เป็นโรคอะไร เพื่อวางแผนการรักษาได้ตรงกับโรค

 

“วัคซีนจะเข้ามา
มีบทบาทมากขึ้น การผลิตจะรวดเร็ว
ปลอดภัยสูง
และผ่านทุกขั้นตอน

และนำออกมาใช้ได้เร็วขึ้น”


อยากปรับปรุงเรื่องใด เพื่อที่จะทำให้การแพทย์ดีขึ้นกว่าเดิม

เรื่องแรกคือ การปรับโครงสร้างและงบประมาณต่าง ๆ  มามุ่งเน้นการป้องกันและการดูแลสุขภาพให้ไม่น้อยไปกว่าการรักษา ถ้าทำได้ผู้ป่วยโรคต่าง ๆ จะลดลง สุขภาพของประชาชนโดยรวมจะดีขึ้น งบประมาณที่ใช้ในการรักษาจะลดลงอย่างชัดเจน

เรื่องที่สองคือ ปรับโครงสร้างการให้บริการและเพิ่มแพทย์ในส่วนที่ขาดแคลน เพื่อเป็นการลดภาระงานที่หนักของแพทย์รพ.รัฐ และเพิ่มการเข้าถึงของประชาชนให้มากกว่าเดิม ในเบื้องต้นควรมีการนำการแพทย์ทางไกลมาใช้พร้อมกับการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ดี และอาจมีการปรับหลักสูตรเพื่อให้ผลิตแพทย์บางประเภทได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก