CIMjournal
CIM IDV103

อาจารย์ พญ. ธันยวีร์ ภูธนกิจ สาขาโรคติดเชื้อในเด็ก


“เมื่อเราสนใจค้นคว้าจนรู้ลึกรู้จริงในเรื่องหนึ่ง กระบวนการนั้น
จะสร้างคุณสมบัติความเป็นแพทย์ ความเป็นนักวิจัยที่ดีให้เรา”

ศ. พญ. ธันยวีร์ ภูธนกิจ
กรรมการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย
อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
หัวหน้าหน่วยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิจัยโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีน
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาจักรีสิรินธรในพระราชูปถัมภ์
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อในเด็ก

จบระดับมัธยมต้น จาก รร.อัสสัมชัญคอนแวนต์ แล้วมาต่อ รร.เตรียมอุดมฯ ตอนเรียนชอบชีววิทยา แล้วชอบอะไรที่เกี่ยวกับเด็กและจิตวิทยา พอจบก็มาสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  หลังจากเรียนจบก็ไปสมัครเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ ภาควิชากุมาร รพ.มหาราช จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระบบที่ใช้ทุนไปด้วยแล้วก็เรียนแพทย์เฉพาะทางไปด้วย เนื่องจากตอนนั้น มั่นใจว่า ชอบเป็นกุมารแพทย์ อยากทำงานเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน ครอบครัว การได้เห็นพัฒนาการของเด็กอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราสนุกและมีความสุข

โดยในช่วงปี พ.ศ. 2539 ถึงปี พ.ศ. 2543 เป็นช่วงเวลาที่การระบาดของเชื้อเอชไอวีในเชียงใหม่และภาคเหนือสูงมาก  มีโอกาสได้ดูแลคนไข้เด็กอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีหลายร้อยคน ซึ่งตอนนั้นยังไม่มียาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษา ในช่วงที่ดูแลคนไข้ในวอร์ด เด็กชายอายุประมาณ 9 ขวบ ที่มีเชื้อเอชไอวี และมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสจากเชื้อรา มีผื่นขึ้นเต็มตัว ต้องนอนโรงพยาบาลหลายสัปดาห์ พออาการเขาดีขึ้น ตอนเช้าเราก็พากันเดินจูงมือเขาไปซื้อขนมที่ร้านมินิมาร์ทในโรงพยาบาล ขากลับเขาก็หยุดเดิน แล้วก็มองหน้าเรา เราก็ถามเขาว่าเป็นอะไร เหนื่อยเหรอครับ เขาตอบว่าไม่เหนื่อย หมอรู้ไหม อยู่โรงพยาบาลมาเกือบเดือนหมอเป็นคนแรกที่ไม่ใส่ถุงมือแล้วมาจับมือหนู หมอไม่กลัวหนูเหรอ เราก็ตอบไปว่าไม่กลัวครับ หนูเก่งมาก รักษาใกล้หายแล้วครับ รู้สึกสะท้อนใจมากว่า เด็กเค้ารับรู้ได้ถึงการตีตรา เลือกปฏิบัติ เกิดแรงบันดาลใจ และความตั้งใจว่าอยากจะช่วยให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้สุขภาพดี แข็งแรง มีความสุข ในช่วงเวลานั้น การศึกษาวิจัยยาต้านไวรัสในต่างประเทศมีความก้าวหน้าไปมากกว่าบ้านเรามาก การรักษาได้ผลดีมาก เด็กที่ป่วยกลับมาแข็งแรงได้ ก็เลยคิดว่า เรามาสนใจเรียนรู้ ทำวิจัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อเอชไอวีในเด็กดีกว่า ตอนนั้นก็ได้ทำงานอยู่กับท่าน ศ. พญ. วิรัต ศิริสันธนะ อาจารย์ท่านเป็นแรงบันดาลใจมาก อาจารย์บอกว่า รู้ไหมว่าตอนที่อาจารย์เรียนหมอโรคติดเชื้อ ยังไม่มีไวรัสเอชไอวีนะ มันเป็นโรคใหม่ ก็เลยถามอาจารย์ว่าแล้วเราจะต้องทำอย่างไร อาจารย์ก็บอกว่า ถ้าใครอยากเป็นหมอโรคติดเชื้อจะต้องรู้เลยว่า ในชีวิตนี้จะต้องเจอโรคหรือเจอเชื้อโรคที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่ว่าเราจะเจอโรคอะไรก็ตาม ถ้าเราคิดเป็นระบบได้ เรารู้วิธีเก็บข้อมูล รู้วิธีคิดอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาไปทีละเรื่อง ในที่สุดเราก็จะจัดการกับโรคนั้นได้ ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจที่จะเรียนเฉพาะทางต่อยอดด้านโรคติดเชื้อเด็ก

หลังจากเรียนจบเป็นกุมารแพทย์ก็ได้รับทุน Fogarty AIDS International Training and Research Program ไปเรียนที่ Johns Hopkins School of Public Health เป็นทุนสำหรับแพทย์หรือนักวิจัยที่ทำงานด้านเอชไอวี โดยที่มีเงื่อนไขเดียวคือ เรียนจบแล้วต้องกลับไปทำงานในประเทศของตนเอง ซึ่งเราก็โอเคเลย เพราะเราอยากไปเรียนเอาความรู้ทักษะกลับมาดูแลคนไข้ของเรา ท่าน ศ. พญ. วิรัต ศิริสันธนะ ก็เลยส่งเราไปเรียน

อีกท่านหนึ่งคือ ท่าน ศ. นพ.ธีระ ศิริสันธนะ อาจารย์ได้แนะนำว่า หมอโรคติดเชื้อ ให้ไปเรียนวิธีเรียน ก็คือว่า ถ้าเราไปเรียนเพื่อจำว่าเขารักษาโรคติดเชื้อยังไงในอเมริกา ก็อาจจะนำมาปรับใช้ไม่ได้หมด เพราะว่าโรคติดเชื้อของไทยกับอเมริกาไม่เหมือนกัน ทรัพยากรที่เรามีไม่เหมือนกัน สภาพแวดล้อมก็ไม่เหมือนกัน อีกทั้งอนาคตเราจะต้องเจอกับโรคที่เราเองอาจไม่เคยเจอ ซึ่งย่อมจะไม่เหมือนกับในอเมริกา เราจึงควรไปเรียนรู้วิธีการทำวิจัยทางคลินิก วิธีการคิดอย่างเป็นระบบ สรุปก็เลยเลือกเรียนหลักสูตรปริญญาโท การทำวิจัยทางคลินิก Graduate Training Program in Clinical Investigation ควบคู่ไปกับ การฝึกอบรมเรื่องการดูแลรักษาคนไข้เด็กอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และเรื่องการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อต่าง ๆ  หลังจากเรียนจบก็กลับเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 ปี  แล้วจึงย้ายกลับมาอยู่ที่สาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อกลับมาอยู่กับครอบครัวที่กรุงเทพฯ


เป้าหมายที่ตั้งไว้ในการเป็นแพทย์และการใช้ชีวิต  

ก่อนหน้านั้นคิดแค่เป็นกุมารแพทย์ มีความสุขที่ได้ตรวจรักษา ดูแลคนไข้เด็ก ไม่ได้คิดว่าจะเป็นอาจารย์หรือเป็นทำวิจัย แต่เหตุการณ์ก็พาไป ให้เราได้เจอคนไข้เอชไอวี ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีวิธีการรักษา ก็เลยคิดว่าเราต้องหาทางรักษาให้ได้ ทำให้เราสนใจงานวิจัยทางคลินิก เพื่อจะได้มีแนวทางในการดูแลรักษาป้องกันโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้  หลังจากกลับมาจากอเมริกาก็ได้เริ่มทำงานวิจัย ด้านเอชไอวี และด้านวัคซีนมาจนถึงตอนนี้ เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ที่สำคัญคือ อยากถ่ายทอดความรู้หรือประสบการณ์ของเราให้กับน้อง ๆ ที่เป็นอาจารย์แพทย์หรือลูกศิษย์ รวมทั้งทีมวิจัยที่จะต้องทำงานวิจัยทางด้านโรคติดเชื้อต่อไป เป้าหมายหลัก ๆ มีดังนี้

เป้าหมายเรื่อง การจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญด้านวิจัยโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีนที่จุฬาฯ ซึ่งก็ได้จัดตั้งแล้ว โดยทีมงานวิจัยมีทั้งอาจารย์กุมารแพทย์ สูตินรีแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิจัย และนักวิจัยด้านสาธารณสุข ที่ช่วยกันทำงานวิจัยเพื่อที่จะนำความรู้ไปใช้ในการรักษาและป้องกันโรคติดเชื้อในเด็กและการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนเอชพีวี ป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไอกรน วัคซีนโควิด 19 เป็นต้น

เป้าหมายเรื่อง การเรียนการสอน พอเรามีความรู้และประสบการณ์ระดับหนึ่ง เราก็อยากจะถ่ายทอดหรือส่งต่อความรู้ให้กับน้อง ๆ ที่เป็นกุมารแพทย์หรือกุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โดยเน้นทั้งทักษะการดูแลคนไข้ ควบคุมไปกับทักษะงานวิจัยทางคลินิก จากการมาเป็นอาจารย์ที่สาขาวิชาโรคติดเชื้อเด็ก ที่จุฬาฯ มีโอกาสได้สอน น้อง ๆ กุมารแพทย์ จนเป็น กุมารแพทย์โรคติดเชื้อไป 20 กว่าคนแล้ว นอกจากนี้ ยังมีแพทย์จากต่างประเทศ มาอบรมระยะสั้น หรือ ร่วมทำวิจัยด้วยกัน เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก

เป้าหมายเรื่อง การทำงานแบบบูรณาการ ต้องเกริ่นก่อนว่าตอนเรียนที่ Johns Hopkins School of Public Health ครูจะสอนบนหลักแนวคิดที่ว่า “Protecting Health, Saving Lives- Millions at a time” ทำให้เรามีแนวคิดผสมผสานทั้งทางด้านคลินิก และสาธารณสุขศาสตร์ คิดว่าแนวทางการรักษาอะไรที่โรงเรียนแพทย์มี โรงพยาบาลอื่น ๆ  ก็ควรมีหรือได้โอกาสนั้นด้วย จะให้เกิดเฉพาะในโรงเรียนแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ ควรจะมีการประยุกต์ใช้ที่อื่นๆด้วย โดยอาจจะปรับใช้ให้เหมาะสม เข้าถึงได้ทุกที่ หรือมีระบบในคำปรึกษาส่งต่อกันเพื่อให้ความรู้ที่มีกระจายออกไปใช้ได้ในทุกที่ ปัจจุบันเราเน้นเรื่องความชำนาญแบบเฉพาะทางมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเรียนที่จะเน้นลึกมากขึ้น หรือแม้กระทั่งคนไข้เองก็ต้องการหมอเฉพาะทาง แต่จริงแล้วอยากให้ถอยมุมมองกลับมาเป็น Generalist ด้วย ซึ่งมีความสำคัญมาก ๆ สำหรับด้านโรคติดเชื้อ เราต้องถอยกลับไปมองเป็นภาพรวมมากขึ้น งานด้านโรคติดเชื้อเช่นเดียวกัน ต้องควบคู่ทั้งการรักษาและป้องกันไปพร้อม ๆ กัน เช่น ถ้าเด็กป่วยที่มาจากการติดเชื้อระหว่างคนในครอบครัว ก็ต้องดูแลผู้ใหญ่ด้วย ตัวอย่างเช่น การให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ฉีดวัคซีนให้เด็กเล็ก ก็ต้องดูแลผู้สูงอายุด้วยเพราะว่าเขาอยู่ด้วยกัน บ้านเดียวกัน
 

“ถ้าเรามีความคิดเป็นระบบ
มีความมุ่งมั่นที่จะจัดการ
เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

มันจะผ่านเรื่องนั้นไปได้”


เป้าหมายที่สำเร็จได้นั้นเกิดจากอะไรในตัวอาจารย์ 

เรื่องแรก การค้นคว้าให้รู้ลึก รู้จริงในเรื่องนั้น ๆ แนวคิดนี้ได้มาตอนเป็นนิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 5 ที่จุฬาฯ มีโอกาสได้ไปลงวิชาเลือกกับท่าน ศ. นพ. ยง ภู่วรวรรณ อาจารย์บอกว่า ถ้าจะทำเรื่องอะไรต้องรู้ให้ลึก รู้ให้จริง ถ้ามีคนพูดถึงโรคนี้ ต้องทำให้ทุกคนคิดถึงหมอ เหมือนอย่างถ้าพูดถึงโรคไวรัสตับอักเสบบี เราจะนึกถึงท่านอาจารย์ยง ก่อนเป็นท่านแรกเลย  และเมื่อเรารู้ลึก ค้นคว้า รู้จริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กระบวนการนั้น มันจะสร้างคุณสมบัติความเป็นแพทย์ความเป็นนักวิจัยที่ดีให้เราต่อยอดไปเรื่อย ๆ ได้ จากการที่มีโอกาสทำงานวิจัยทางคลินิกด้านการป้องกันและรักษาเอชไอวีในเด็กและเยาวชนมาต่อเนื่อง 20 ปี ในปี พ.ศ. 2567 ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ  สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) เป็นความภาคภูมิใจในการทำงานของตัวเองและทีมวิจัยอย่างมาก 

เรื่องที่สอง การกล้าเผชิญกับปัญหา แนวคิดนี้ได้มาจากตอนไปทำงานกับท่าน ศ. พญ. วิรัต ศิริสันธนะ อาจารย์ดูแลเด็กอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเป็นพันคน แต่อาจารย์บอกว่าสมัยอาจารย์เรียนด้านโรคติดเชื้อเด็ก ยังไม่มีโรคเอดส์ อาจารย์เห็นเด็กป่วย เด็กเสียชีวิต แล้วกล้าที่จะเผชิญกับโรคที่ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีข้อมูล ยังไม่มียาที่จะใช้รักษา อาจารย์เน้นย้ำเสมอว่า ถ้าเรามีความคิดเป็นระบบ มีความมุ่งมั่นที่จะจัดการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันจะผ่านเรื่องนั้นไปได้ เป็นสิ่งที่เรานำมาประยุกต์ใช้ในช่วงผ่านวิกฤตโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี

เรื่องที่สาม การมีเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพ แนวคิดนี้ได้มาจากท่าน ศ. นพ. ธีระ ศิริสันธนะ ท่านเป็นแพทย์โรคติดเชื้อผู้ใหญ่ อาจารย์สอนว่า เราทำงานคนเดียวไม่ได้ เราต้องมีเครือข่าย เราต้องมีทีมทำงานวิจัย เวลาเจอปัญหา เจอเรื่องที่เราไม่รู้  ต้องหาคนที่ฉลาดกว่าเรา หรือคนที่เจอเรื่องเดียวกับที่เราเผชิญอยู่ ถ้ามีเครือข่าย มีกัลยาณมิตรจะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 จำได้ว่าตอนนั้นเรารีบติดต่อเพื่อนกุมารแพทย์โรคติดเชื้อที่อยู่อิตาลี อังกฤษ อเมริกา ว่าเราจะต้องเตรียมตัวยังไง เพราะเขาเจอมาก่อนเรา มันจะทำให้เราเตรียมรับมือได้ดีขึ้น นอกจากนั้นท่านอาจารย์ธีระ ยังเป็นต้นแบบของการเป็นผู้นำ ที่ดูแล ให้โอกาส และ สนับสนุนสร้างศักยภาพให้ทีมงานวิจัยอย่างเต็มที่ สร้างความเข้มแข็งของวงการวิจัยไทย


เป้าหมายที่ยังไม่สำเร็จ เกิดจากอุปสรรคอะไร แก้ไขอย่างไร

วิธีจัดการกับปัญหาหรืออุปสรรคระหว่างการทำงาน มีอยู่ 2 ข้อหลัก ๆ คือ การแบ่งเป้าหมายใหญ่เป็นเป้าหมายหรือขั้นตอนย่อย ๆ แล้วค่อย ๆ ทำไปทีละขั้นตอน เจอปัญหาหรืออุปสรรคในขั้นตอนย่อย ๆ เราก็ค่อย ๆ แก้ แม้จะช้า แต่จะรู้สึกว่าเรายังอยู่บนเส้นทางไปสู่เป้าหมายนั้นอยู่ กับการที่เราไม่ล้มเลิกอะไรง่าย ๆ เราเจอปัญหาเราก็ยังทำต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ซ้ายก็ไปขวา ไม่ได้ขวาก็ไปซ้าย ทำไปเถอะ เดี๋ยวมันจะเจอทางออกเอง อย่าเพิ่งท้อไปเสียก่อนรู้สึกว่าทำไม่ได้ครั้งสองครั้งล้มเหลวแล้วก็เลิก ทุกอย่างมันต้องมาด้วยความอดทน ความเพียร สร้างเหตุให้ดีแล้วผลมันจะออกมาดี อย่างทุกวันนี้ยังตื่นตี 4 ครึ่ง มาอ่านหนังสืออยู่ เพราะความรู้มีมาใหม่อยู่ตลอด ในฐานะหมอโรคติดเชื้อต้องอัพเดตตลอด ต้องพร้อมสำหรับการเจอโรคติดเชื้อใหม่ ๆ ที่จะมีในอนาคต

ส่วนงานที่ยังไม่สำเร็จ ขอยกเรื่องของปัญหาสุขภาพของวัยรุ่น ที่กำลังทำวิจัยด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เรารู้สึกว่าระบบสุขภาพของไทย ยังไม่รองรับการดูแลสุขภาพเป็นช่วงวัยรุ่น ส่วนใหญ่เด็กมาหาหมอบ่อยในช่วง 5 ขวบปีแรกมารับวัคซีน ตรวจพัฒนาการ หรือเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่าง ๆ แล้วมาอีกทีก็วัยผู้ใหญ่เลย แต่หมออายุรแพทย์ คนไข้เยอะมาก คงไม่มีเวลาคุยกับวัยรุ่นมากนัก จริง ๆ แล้ววัยรุ่นยังต้องการคำแนะนำด้านการรักษาและป้องกันโรคอีกหลาย ๆ ด้าน

วัยรุ่นก็ไม่ค่อยอยากจะมาหาหมอถ้าไม่ป่วยหนักจริง ๆ ในฐานะกุมารแพทย์อยากทำเรื่องของ สุขภาวะของวัยรุ่น ซึ่งตอนนี้ก็ทำคลินิกวัยรุ่นเรื่องของเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เราทำตรงนี้มา 5 ปีแล้ว เราทำโมเดล youth friendly service ร่วมกับ สำนักเอดส์ กรมควบคุมโรค ไปร่วมมือกับจังหวัดต่าง ๆ ที่มีความพร้อมและสนใจอยากจะทำงานเชิงรุกด้านวัยรุ่น ซึ่งก็มีความท้าทายเยอะเพราะว่าระบบไม่มีโครงสร้างการบริการด้านวัยรุ่น วัยรุ่นต้องการความสะดวกรวดเร็ว one stop service เราต้องพยายามทำงานในเชิงรุก ใช้ Digital health มากขึ้น ส่งเสริมให้วัยรุ่นดูแลสุขภาวะของตนเองได้ และทำงานวิจัยเกี่ยวกับวัยรุ่นให้มากขึ้น เพราะเป็นช่วงวัยสำคัญหัวเลี้ยวหัวต่อ


เวลาเจอปัญหาหรืออุปสรรค ปรึกษาใคร

ทุก ๆ คนคงจะมี mentor ในแต่ละช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังเผชิญเรื่องอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว อาจจะเป็นอาจารย์แพทย์ คนที่เราเคารพ เพื่อนแพทย์  หรือครอบครัว อยากให้รู้สึกว่า เรามีที่ปรึกษาสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ส่วนตัวเห็นว่าอาชีพแพทย์ก็ต้องมีที่ปรึกษาเช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ

อีกเรื่องคือ ชีวิตเราต้อง balance  ระหว่างชีวิตส่วนตัว ครอบครัว งาน บางคนจริงจังกับงานจนเกินไปพอมันผิดหวังไม่ได้อย่างที่ต้องการก็จะรู้สึกแย่ จังหวะในแต่ละช่วงชีวิตก็ไม่เหมือนกัน เราต้องหาความสมดุลในแต่ละช่วงเวลา ผ่อนหนักผ่อนเบาได้ เราก็จะไม่รู้สึกถึงทางตัน


บุคคลต้นแบบในการใช้ชีวิต

ได้กล่าวถึงอาจารย์แต่ละท่านในคำถามก่อนหน้าแล้ว ทั้ง ศ. พญ. วิรัต ศิริสันธนะ ศ. นพ. ธีระ ศิริสันธนะ และ ศ. นพ. ยง ภู่วรวรรณ เป็นต้นแบบในการทำงาน ขอเพิ่มอีกหนึ่งท่านคือ ศ. นพ. ชิษณุ พันธุ์เจริญ ที่มีโอกาสทำงานร่วมกัน ที่จุฬาฯ ท่านจะให้คำแนะนำ มุมมองในการทำงาน อาจารย์จะคิดถึงประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก มีแนวคิดที่กว้างในเรื่องของการรักษาคนไข้ ผสมผสานศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งการแพทย์การสื่อสาร การดูแลให้คำปรึกษากับพ่อแม่ของเด็ก

 

“ทุกอย่างที่เกิดขึ้น
แล้วดีเสมอ”
สิ่งที่เราอยากได้
แต่มันไม่ได้
บางทีมันเป็นการพาเรา
ไปสู่ประตูบานใหม่
ที่ดีกว่าเดิม


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

หลักการแรกคือ “การทำอย่างสุดความสามารถ ผลลัพธ์จะเป็นยังไงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา” เช่น เรารักษาคนไข้อย่างเต็มที่ แต่คนไข้ก็ไม่ได้หายทุกคน ก็ไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะเราทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลมันไม่ได้เป็นแบบนั้น หรือเราทำงานวิจัยเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ ก็ไม่เป็นไรทำใหม่ คือ ทำเหตุให้ดี ส่วนผลแล้วแต่ว่าจะได้ตามที่เราคิดหรือเปล่านั้น

หลักการที่สองคือ “ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ” สิ่งที่เราอยากได้ แต่มันไม่ได้ บางทีมันเป็นการพาเราไปสู่ประตูบานใหม่ที่ดีกว่าเดิม อย่างตอนที่ไปใช้ทุนที่เชียงใหม่ ก็สนใจไปฝึกอบรมหมอเด็กที่อเมริกา ก็ส่งใบสมัครไปหลายแห่ง ไปสัมภาษณ์แต่ก็ไม่ได้รับเลือก ปรากฏว่าอีกไม่กี่เดือนถัดมา อาจารย์วิรัตก็บอกว่า มีทุนเรียนต่อด้านวิจัยเอชไอวีเด็กที่ Johns Hopkins  อยากจะไปเรียนไหมกลายเป็นว่า เราได้ทุนที่ตรงกับที่เราสนใจมากกว่า อะไรที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ เราต้องอยู่กับปัจจุบัน เราไม่รู้หรอกว่า  ความผิดหวังวันนี้ อาจจะนำพาเราไปสู่ทางที่ดีกว่าก็ได้ ทำปัจจุบันให้ดี ไม่ต้องกังวลกับอดีตเดินหน้าอย่างเดียว
 

“แพทย์ไม่ใช่ผู้ที่กำหนด
สุขภาพของคนอื่น
จริง ๆ แล้ว…แพทย์
พยาบาลมีหน้าที่ช่วยป้องกัน
ส่งเสริมเขาให้สามารถ
ดูแลสุขภาพตนเองได้ด้วย”


ความคิดเห็นที่มีต่อวงการแพทย์ไทย

ทิศทางการแพทย์ในปัจจุบันเรามองว่า แพทย์ไม่ใช่เป็นผู้ที่กำหนดสุขภาพของคนอื่นหรือเน้นการรักษาซ่อมแซมอย่างเดียว เราต้องส่งเสริมให้เด็ก หรือผู้ปกครองสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ รู้ว่าอาการแบบไหนต้องไปพบแพทย์ ทำยังไงให้เขาสามารถดูแลสุขภาพได้ หมอ พยาบาลมีหน้าที่ช่วยป้องกัน และส่งเสริมทำให้เขาสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ด้วย

อีกเรื่องคือ ความเป็นห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดูแลรักษาโรคที่ซับซ้อนมันแพงมาก ดังนั้นงานวิจัยจะทำให้เรามีความยั่งยืนทางด้านการแพทย์หรือวัคซีน ประเทศไทยต้องสามารถผลิตยาวัคซีนได้เองบ้าง อยากให้ระบบของประเทศไทยสามารถมีงานวิจัย มีการต่อยอดเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่เราสามารถนำมาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์บางตัว ยังต้องพัฒนาให้ก้าวกระโดด เพราะค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในปัจจุบันสูงขึ้นมาก ในฐานะหมอเด็กและหมอโรคติดเชื้อ อยากเห็นประเทศไทยมีศักยภาพในการวิจัย พัฒนา ผลิต วัคซีนหรือยา จนสามารถนำมาใช้ได้


ข้อคิดฝากถึงแพทย์รุ่นใหม่ ๆ

เรื่องแรก แพทย์รุ่นใหม่ ๆ ควรจะฝึกให้มีความชำนาญ เชี่ยวชาญ เวลาดูแลคนไข้เราต้องเป็นแพทย์ที่ดูแลคนไข้แบบองค์รวมได้ ถ้าเน้นเฉพาะทางเกินไปเราอาจจะพลาดได้ ในช่วงหลัง ๆ จะเห็นแพทย์จะดูเฉพาะเรื่องอย่างเดียว บางทีมันอาจจะไม่ดีกับคนไข้เสมอไป แล้วเราอาจจะพลาดก็ได้เพราะดูแคบเกินไป

เรื่องที่สอง การสื่อสารของแพทย์กับคนไข้ ปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์หาไม่ยาก คนไข้ก็เข้าถึงข้อมูลได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่หมอจะทำอะไรหมอต้องอธิบายข้อมูลหรือว่าพูดคุยกับคนไข้แบบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจตรงนี้สำคัญมาก ไม่ใช่ว่าเรารู้มากกว่าแล้วไปตัดสินใจแทนเขา มันจะเสี่ยงในการเกิดความขัดแย้ง มีโอกาสเกิดเรื่องฟ้องร้องสูง ระยะหลังมีหลายคนบ่นว่าไม่อยากเป็นหมอแล้ว เพราะว่าเจอประเด็นเรื่องความขัดแย้งกับคนไข้ หรือมีเรื่องฟ้องร้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสามารถป้องกันได้โดยการสื่อสารพูดคุยสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนไข้

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกุมารแพทย์ การที่เด็กเกิดจำนวนน้อยลงมาก พ่อแม่จะมีความคาดหวังสูงในเรื่องของการดูแลลูก เด็กจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ สุขภาพกาย สุขภาพใจเขาต้องดีด้วย แปลว่า เราต้องดูแลไปถึงบริบทของครอบครัว ว่าครอบครัวเขามีผลต่อเด็กอย่างไร สุขภาพจิตของเด็กรวมทั้งดูแลเด็กต่อเนื่องขยายไปถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น  ด้วยความเป็นแพทย์เราต้องดูคนไข้เป็นองค์รวม ดูแลให้คำแนะนำด้านสุขภาพไปถึงครอบครัวด้วย

 

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก