“เราจะไปรักษาคนอื่น แต่สภาพเราไม่แข็งแรง ไม่สามารถอุ้มชูใครได้ ก็เลยเริ่มย้อนมามองที่ตัวเอง”
น.อ. หญิง พญ. วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี
ผู้อำนวยการกองอายุรกรรม โรงพยาบาลจันทรุเบกษา กรมแพทย์ทหารอากาศ
เลขาธิการเครือข่ายลดบริโภคเค็ม
กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ สาขาวิชาโรคไต
แรงบันดาลใจการเลือกเรียนแพทย์มาจากคุณแม่ไม่สบาย เป็นมะเร็งเต้านม รู้สึกว่าท่านทรมานมาก ตอนนั้นอยู่ ม.4 พอมีโอกาสได้เรียนที่ รร.เตรียมอุดม ก็ทำให้ความฝันของเราที่อยากจะเป็นอะไรก็เริ่มแคบขึ้นนั่นคือ การเป็นแพทย์ เพราะเราอยากจะเข้าใจที่เขาบ่นปวด มันคืออะไร แล้วก็อยากทำให้เขาหาย ตอนนั้นเช้าก็ไปเรียน เลิกเรียนก็กลับมาโรงพยาบาลอยู่เป็นเพื่อนคุณแม่ ทำอยู่อย่างนั้นทุกวันเป็นปี ๆ ก็เลยซึมซับเข้าไปว่าต้องเป็นแพทย์ให้ได้ พอ ม.6 ก็เอนฯ ติดแพทย์ ที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พอบอกคุณแม่เสร็จ หลังจากนั้นไม่นานท่านก็เสียเลย
พอเรียนแพทย์จบมาแล้วตอนนั้นก็รู้ว่าเราไม่ชอบการผ่าตัด อะไรที่ใช้การผ่าตัดก็ถูกตัดออกจะเหลือทางด้านอายุรกรรมกับเด็ก ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะพูดคุยกับเด็กได้ไหม ยังไม่แน่ใจ ก็เลือกมาทางอายุรกรรมซึ่งมีหลายโรคที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ซึ่งตัวเองจะคุ้นเคยมากกว่าเด็ก จากการที่ต้องดูแลแม่อยู่หลายปี ก็ตัดสินใจเรียนอายุรแพทย์ โดยมาเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
สาเหตุที่เลือกเรียนทางด้านโรคไต ด้วยความบังเอิญแพทย์ที่ปรึกษาหรือแพทย์ประจำวอร์ดก็คือ อาจารย์ นพ. อนุตตร จิตตินันทน์ เวลาที่ซักถามหรือดูการทำงานของอาจารย์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับไตแล้วดูเท่ ดูสมาร์ท ดูท่านเฉียบมาก ตั้งแต่นั้นเลยยึดท่านเป็นแรงบันดาลใจ ทำเคสตัวอย่าง ทำวิจัยก็ขอให้ท่านเป็นอาจาย์ที่ปรึกษา ดังนั้นส่วนตัวแล้ว ตอนเรียนแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 ก็ชัดเจนเลยว่า เราจะเรียนทางด้านโรคไต มีอาจารย์อนุตตรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอินเป็นพิเศษ และถ้าเป็นหมอไต เราก็มั่นใจว่าเราก็จะรักษาได้เกือบทุกโรคทางอายุรกรรม
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
เป้าหมายการเป็นแพทย์ ในระยะสั้นก็คือ ดูแลผู้ป่วย ทำงานทุกเรื่องที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ระยะที่ไกลไปอีกนิดก็คือ อยากจะให้ผู้ป่วยโรคไตมีอัตราการเติบโตที่น้อยลง ขณะนี้อัตราการเติบโตเป็นแบบก้าวกระโดด และเราเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและการชะลอการเสื่อมของไต แต่ว่าทำไมยอดจำนวนผู้ป่วยไตที่ต้องฟอกเลือดยังเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้นเป้าหมายก่อนเกษียณ อยากจะเห็นว่าอย่างน้อยยอดผู้ป่วยฟอกเลือดของไตไม่เพิ่มขึ้นเร็ว หรืออยู่ในเส้นราบ ๆ
ส่วนเป้าหมายการใช้ชีวิต ในวัย 30 – 40 ส่วนใหญ่ก็จะมุ่งทำงานกันอย่างเต็มที่ ซึ่งหมอก็เหมือนกับทุก ๆ คน งานเช้าก็มีราวด์เคส เสร็จจากราวด์ก็ไป OPD ตรวจจนหมด เสร็จก็ไปประชุมเคส มีสอนนักศึกษาแพทย์ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เย็น เสาร์ อาทิตย์ ก็จะมีเวร เพราะไตเป็นภาวะกึ่งฉุกเฉินเหมือนกัน เราก็จะทำงานในแต่ละวันประมาณนี้ ประกอบกับมีงานอะไรเข้ามา เรามองเป็นโอกาส เป็นความมั่นใจของเรา ทำได้ก็รับทำหมด แต่เมื่อ 5 ปีก่อน หมอเริ่มป่วย เป็นโรคภูมิคุ้มกันไวเกิน และไปทำร้ายกล้ามเนื้อตัวเอง ทำให้ไม่สามารถที่จะเดินได้ต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเดือน ให้ยากดภูมิและดีขึ้น กลับมาฝึกเดินจนมาทำงานได้ แต่ก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม จนกลับมาป่วยอีกครั้ง ครั้งหลังนี้อยู่อีก 1 เดือน โรคนี้มันหาสาเหตุไม่ได้ ตอนนั้นการใช้ชีวิตตามหลักสุขภาพที่ถูกต้องไม่มีเลย นอนไม่พอ ทานไม่ดี ทานไม่ตรงเวลา ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เครียด ไม่ออกกำลังเลย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคได้ ระหว่างที่รักษาอยู่โรงพยาบาล หมอก็คิดว่าออกไปคราวนี้ เราจำเป็นต้องเซ็ตเป้าหมายใหม่แล้ว คือ เรื่องของ work life balance งานก็สำคัญแต่สุขภาพเราก็สำคัญ เราจะไปรักษาคนอื่น แต่สภาพเราไม่แข็งแรง ไม่สามารถอุ้มชูใครได้ ก็เลยเริ่มย้อนมามองที่ตัวเอง ต้องทำให้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานสมดุลกัน ก็มาปรับเวลาในการกินอาหารสุขภาพ ทานให้ตรงเวลา มีเวลาออกกำลังกาย แต่ก่อนหน้าเราบอกไม่ว่าง ไม่เคยออกกำลังกายเลย แปลกที่ตอนนี้เวลามันมาเองโดยอัตโนมัติ พอเราจัดให้การออกกำลังกายสำคัญเหมือนการกินข้าว ซึ่งต่อให้เรายุ่งแค่ไหนเราก็ต้องหาเวลามากินข้าว ออกกำลังกายก็เป็นอีกกิจวัตรประจำวันที่เราจะต้องทำ หลังจากเปลี่ยนวิธีการคิดก็ทำให้ในวันหนึ่ง ๆ ได้มีเวลาออกกำลัง 30 – 45 นาที ซึ่งการออกกำลังเป็นประจำเป็นเรื่องที่ต้องมีวินัยเป็นอย่างมาก ก็รู้สึกดีใจที่เราทำได้
“หมอป่วย เป็นโรคภูมิคุ้มกันไวเกิน
และทำร้ายกล้ามเนื้อตัวเอง
ทำให้ไม่สามารถที่จะเดินได้”
เริ่มจากการเดินจนได้ไปวิ่งมินิมาราธอน จากคนที่นอนอยู่บนเตียง ขาเดินไม่ได้ แล้วใช้เวลาไม่ถึงปี สามารถไปวิ่งมินิมาราธอนได้ เป็นความภูมิใจในตัวเองมาก ๆ ที่เราสู้กับสิ่งที่เราคิดว่ามันไม่สำคัญมาก่อน ก็เลยคิดว่าเราไม่มีเวลา แต่เรากลับทำสิ่งนั้นได้ แล้วก็กู้ตัวเองจากคนที่เดินเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวบ่อย ๆ กลายเป็นคนที่แข็งแรง จากวันนั้นถึงวันนี้โรคก็ไม่ได้รุนแรงอีกเลย ดีขึ้นมาก กลับไปให้เวลากับครอบครัว กลับบ้านเร็วขึ้น ได้ทันกินข้าวเย็นกับคุณพ่อ เสาร์อาทิตย์ได้พาท่านไปโน่นไปนี่บ้าง รู้สึกดีใจที่ได้ทำ เพราะคุณพ่อเพิ่งเสียไปเมื่อปีที่แล้ว ถ้าก่อนหน้านั้นเราทำตัวเหมือนเดิม เราก็ไม่มีเวลาอยู่จนวาระสุดท้ายของท่าน
ปัจจัยที่ทำให้เป้าหมายสำเร็จได้
ถ้าในด้านการเป็นแพทย์ ปัจจัยแรกคือ การมีตัวอย่างที่ดี เพราะตัวอย่างที่เราเห็น คนรอบข้าง ผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงานที่เราอยู่ด้วย ที่บอกว่าคบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล มันก็เป็นเช่นนั้นเลย โชคดีมากที่ได้ทำงานกับเพื่อนร่วมงานและอาจารย์ที่เป็นแบบอย่างในการทำงานที่ดี เช่น ท่านอาจารย์ นพ. อนุตตร จิตตินันทน์ อาจารย์ นพ. กลศร ภัคโชตานนท์ อาจารย์ นพ. ทวีพงษ์ ปาจารีย์ ซึ่งตอนนั้นเป็นลูกศิษย์ของท่านในทีมไต ทั้ง 3 ท่านทำงาน เราดูเป็นเศษเสี้ยวธุลีเลย เมื่อเทียบกับอาจารย์ทั้ง 3 ท่าน พอเราเห็นแบบอย่างที่ดีความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ก็เข้ามาในตัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีก็สามารถแนะนำรุ่นน้องได้ เป็นเพราะนิสัยส่วนตัวที่อยากจะทำงาน เวลาเราส่งงานไปก็อยากได้ที่เรารู้สึกว่าภูมิใจที่ได้ทำงานนั้น ๆ ไม่ใช่แค่ทำงานให้เสร็จ ๆ ไป
ปัจจัยข้อต่อ ๆ ไปจะสัมพันธ์กับวิธีคิดและพฤติกรรมของตัวเองเป็นหลัก เริ่มจากปัจจัยที่สอง การเป็นคนไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอย จะเป็นคนคว้าทุกโอกาสที่ได้มา เพราะเราไม่รู้ว่าโอกาสนั้นจะมาถึงเราอีกเมื่อไหร่ เวลาที่ผู้ใหญ่เสนองานอะไรถึงแม้ว่าจะดูยาก แต่ในความคิดเรามองเป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่เราได้ทำงานนี้ หรือมองว่าเราโชคดีจังเลยที่ได้ทำงานนี้ ก็จะทำงานที่ได้รับด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจนสำเร็จ คิดว่าจากความคิดนี้ ผู้ใหญ่ก็จะเห็นว่าเรามีความตั้งใจและทำงานจนสำเร็จ ไม่ใช่แค่ทำตามหน้าที่ ก็จะหางานที่เหมาะสมมาให้เราทำอยู่เสมอ
ปัจจัยที่สาม คือ การเป็นคนมีความพยายามสูง งานหลายอย่างของเราเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่ใช่งานการดูแลรักษาผู้ป่วยในชีวิตประจำวัน แต่เป็นงานใหม่ ๆ ตามโอกาสที่ได้รับ เราจะตั้งใจพยายามศึกษาเรียนรู้และทำงานที่รับผิดชอบให้ออกมาดีที่สุด เช่น ตอนที่ตัวเองได้รับโอกาสให้จัดงานวันไตโลกครั้งแรกในปี 2554 จำได้เลยว่างานจัดที่สวนจตุจักร มีงานวิ่ง เดินรณรงค์รอบสวน ตอนนั้นไม่มีประสบการณ์การจัดงานใหญ่แบบนี้มาก่อนเลย เมื่อได้รับมอบหมายมาก็พยายามศึกษา ตั้งใจจัดงานจนสำเร็จราบรื่นเป็นอย่างดีจนทำให้ได้รับโอกาสจัดงานวันไตโลกของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยมาตลอดจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้รับโอกาสจากคณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ในปี 2561ให้ร่วมจัดทำโมเดลต้นแบบของรพ.เค็มน้อยอร่อย (3) ดี เพื่อให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปมีร้านค้าที่มีจำหน่ายอาหารโชเดียมต่ำ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และผู้มารับบริการ ซึ่งก็เป็นงานที่ท้าทายมาก ก็พยายาม ตั้งใจทำงานจนสำเร็จ ในปัจจุบันก็มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ รพ.เค็มน้อยอร่อย (3) ดีไปทั่วประเทศ เป็นต้น
ปัจจัยที่สี่ คือ การเป็นคนไม่กลัวความล้มเหลว เพราะทุกคนล้มเหลวได้ ไม่ใช่ว่าเราทำงานแล้วจะต้องประสบความสำเร็จทุกครั้ง เวลาที่เราล้มก็ต้องยอมรับว่าเราล้ม มันเป็นประสบการณ์เป็นบทเรียนทำให้เราได้เรียนรู้ความผิดพลาด และความล้มเหลวยิ่งเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราไปสู่ความสำเร็จ เมื่อเราล้มเราก็เรียนรู้ ทบทวนสิ่งที่เราทำผิดพลาดแล้วก็ลุกมาเริ่มต้นใหม่ ในที่สุดก็จะมีวันที่เราทำสำเร็จ เพราะว่าโตมาจนถึงขนาดนี้ ไม่มีทางหรอกที่ว่าทุกอย่างจะปูไปด้วยกลีบกุหลาบ มันมีวันที่มีอุปสรรคมากมายนานาชนิด ถ้าเราล้ม เราท้อ ยอมแพ้จมอยู่กับความล้มเหลว ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นล้มได้ แต่เราก็ต้องก้าวข้ามความล้มเหลว เปิดรับโอกาส พยายามก้าวข้ามอุปสรรคเอาชนะปัญหาทุกอย่างที่เข้ามา
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ อยากกลับไปทำเรื่องอะไร
ขออนุญาตแชร์ประสบการณ์เผื่อเป็นประโยชน์กับแพทย์รุ่นน้อง ๆในการใช้ชีวิตบ้าง คือ จากที่เคยบอกว่า เรามองทุกอย่างเป็นโอกาส เมื่อได้รับแล้วก็พยายามทำอย่างเต็มที่ มีความภูมิใจที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานนั้น ๆ แต่อีกด้านมันก็เป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบกับครอบครัวได้
สัก 10 ปีก่อน พอเราทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ เราลืมนึกถึงปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะครอบครัว เราคิดว่าทุกคนโดยเฉพาะคนที่บ้านจะเข้าใจตรงนี้ดี แต่กลับเป็นการเพิ่มรอยแยก เพิ่มระยะห่างเข้าไปเรื่อย ๆ จนทำให้วันหนึ่งแก้วมันแตกออกมา ก็เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก
ดังนั้นจึงหวังว่าเรื่องราวที่เล่ามา อาจเป็นประโยชน์กับแพทย์ในการใช้ชีวิตบ้าง ไม่มากก็น้อย สิ่งที่ตนเองอยากสื่อสารและถ้าแก้ไขได้ก็อยากทำคือ การใช้ชีวิตแบบ work life balance คือใช้ชีวิตการทำงานด้านแพทย์กับด้านอื่น ๆ เช่น ครอบครัว เพื่อน การพักผ่อน ออกกำลังกาย ให้มีความสมดุลกัน ถ้ามีปัญหาก็จะไม่แบกความเครียดไว้คนเดียว จะพูดคุยปรึกษา เพราะยังมีอีกหลายคนที่พร้อมจะให้คำปรึกษาเรา และต้องขอบคุณเรื่องราวในชีวิต ที่ทำให้หมอได้อะไรหลายอย่างกลับมา ได้รู้ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดามาก ได้รู้ว่าคนที่รักเราจริง ๆ ที่ใส่ใจเราคือใคร ได้รู้ว่าสามารถที่จะเอาชนะก้าวข้ามสิ่งที่เราคิดว่ามันทำไม่ได้ การทำอาชีพหมอต้องกลับบ้านก็มืด ดึก ๆ ดื่น ๆ แล้วจะออกกำลังกายได้อย่างไร ในที่สุดก็ทำได้ ก็ภูมิใจมาก ตอนนี้ก็ใช้ชีวิตแบบมีสมดุลมากขึ้น
“ความพยายาม ความตั้งใจ
ความมุ่งมั่น ความรับผิดชอบ
ความรักพี่น้องขั้นสุด
ได้มาเต็ม ๆ จากคุณพ่อ”
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
คนแรกคือ คุณพ่อ ซึ่งท่านเป็นต้นแบบในหลาย ๆ เรื่อง เริ่มจากการเป็น “คนขยัน” เพราะครอบครัวคุณพ่อตอนเด็กลำบาก ท่านจึงขยันทำงานทุกอย่างจนมีทุกวันนี้ได้ เราเลยซึมซับ ความขยันมาจากท่านเต็ม ๆ เพราะว่าเห็นท่านทำมาโดยตลอด ต่อมาคือ “ความมีน้ำใจ” คุณพ่อเป็นคนมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาก ไปไหนจะนึกถึงเพื่อนเสมอ หอบหิ้วของมาฝากไม่เคยขาด นอกจากนั้นสิ่งที่ลูก ๆ เห็น คือพ่อให้ความสำคัญของความกตัญญู การตอบแทนคุณ การให้กำลังใจแก่เพื่อน และคนรอบข้างเยอะมาก ทุกงานศพ งานบวช งานแต่ง ไม่ว่าจะไกลแค่ไหน อยู่จังหวัดไหนถ้าว่างคุณพ่อก็จะไปหมด พยายามไปให้กำลังใจและคอยที่จะช่วยเหลือทุกคนเท่าที่จะช่วยได้ เป็นแรงผลักดันที่เราเห็นทุกวัน เราก็ซึมซับความมีน้ำใจจากท่านมาโดยไม่รู้ตัว อีกสิ่งที่ได้มาจากท่านคือ “ความพยายาม” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้มาอีก เพราะว่าคนสมัยก่อนมาเสื่อผืนหมอนใบ เขาต้องพยายามแค่ไหนถึงจะมีที่ยืนในสังคมได้ เพราะฉะนั้น ความพยายาม ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความรับผิดชอบได้มาเต็ม ๆ จากคุณพ่อ สุดท้ายคือ “ความรักพี่น้อง” ท่านเป็นคนรักพี่น้องขั้นสุด พี่น้องมีอะไรช่วยเหลือเต็มที่ พ่อจะสอนเสมอ พี่น้องคือแขน ขา คนอื่นคือเสื้อผ้าประกอบ ถ้ามีอะไรพี่น้องตัดขาดกันไม่ได้ เลยทำให้เรา 5 คนพี่น้องรักกันดี เพราะเห็นตัวอย่างที่คุณพ่อแสดงให้เห็นสม่ำเสมอว่าท่านรักญาติพี่น้องมากแค่ไหน จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าท่านได้ปลูกฝังความมีน้ำใจ ความขยัน ความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานมาให้เราโดยไม่รู้ตัว สำหรับตนเองรู้สึกว่าคุณพ่อเป็นต้นแบบที่ดีมากในการดำเนินชีวิตและการทำงาน
คนที่ 2 คือ พล.อ.ท. นพ. อนุตตร จิตตินันทน์ อดีตเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ท่านเป็นไอดอล เรายึดถือท่านเป็นแนวทางในการทำงาน เคารพมาก ๆ ท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตึกอายุรกรรมคนแรกตอนตนเองเป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรกรรมชั้นปีที่ 1 แล้วหลังจากนั้นก็จะได้วนมาเจออาจารย์ตลอด ทำให้ได้มีโอกาสใกล้ชิด ซึมซับแนวทางการทำงานของท่านมาปรับใช้ในชีวิตเป็นอย่างมาก อาจารย์มีความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ฉลาด มีความรู้รอบด้านปรึกษาอะไรท่านแนะนำได้หมด ขยัน ท่านบริหารเวลาเก่งมาก ทำงานเยอะมากจนประหลาดใจว่าท่านทำได้อย่างไรทั้งที่วันนึงเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ท่านเป็นคนที่แก้ไขทุกปัญหา ทุกสถานการณ์ได้ดี ตอนนั้นศรัทธาความเป็นไอดอลของท่านขั้นหนักเลย อาจารย์เป็นวิทยากรที่เก่งมากเลยเป็นวิทยากรทุกงานประชุม ท่านใช้คอมพิวเตอร์จอ Touch screen ตั้งแต่สมัยเกือบ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นของล้ำสมัยมาก เราเป็นแพทย์ประจำบ้านคิดว่ามันเท่มากในการสอน อยากเก่งอยากเท่แบบอาจารย์ก็ไปซื้อใช้ตาม อารมณ์เดียวกับติ่งดาราในปัจจุบัน ที่ดาราหรือไอดอลที่เราชื่นชมเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าอะไร แฟนคลับก็ต้องไปหาซื้อมาใช้ นึกถึงเรื่องอดีตแล้วขำตัวเองมากเลย สำหรับตนเองอ.อนุตตรเป็นทั้งบุคคลต้นแบบที่ตัวเองยึดเป็นหลักในการทำงาน และ เป็นที่ปรึกษาในทุกเรื่องทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงาน
คนที่ 3 อาจารย์ นพ. สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ได้มีโอกาสทำงานกับอาจารย์ในคณะอนุกรรมการป้องกัน CKD สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยตั้งแต่ประมาณ 15 ปีก่อน จากนั้นอาจารย์ก็ให้โอกาสมาเป็นเลขาธิการเครือข่ายลดบริโภคเค็มในปี 2555 จึงได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับอาจารย์มาโดยตลอด อาจารย์เป็นคนขยัน และรับผิดชอบกับงานที่ทำมาก อาจารย์มีวินัยในการทานอาหารลดเค็มมาก ช่วงแรก ๆ ท่านจะพก salt meter จุ่มวัดปริมาณโซเดียมในอาหารตลอด หากอาหารชนิดใดมีปริมาณโซเดียมมากเกินปริมาณที่กำหนด ก็จะไม่ทาน แต่ตอนนี้ท่านไม่ต้องใช้ salt meter แล้วเพราะลิ้นของท่านสามารถเป็น salt meter ได้เองเลย ท่านมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคใด ๆ ท่านก็พยายามมุ่งมั่นที่จะก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ จนทางกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกยกย่องท่านเป็นแชมเปี้ยนในการลดโซเดียมของประเทศไทย เมื่อพูดถึงเรื่องลดเค็มอาจารย์ก็มีความสุขทุกครั้ง จากที่ได้มีโอกาสทำงานกับอาจารย์ก็พยายามเรียนรู้และนำสิ่งดี ๆ ที่อาจารย์มีมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต คิดว่าอยากจะเก่ง มีวินัย มีความมุ่งมั่นในการทำงานให้ได้สักครึ่งหนึ่งของอาจารย์ ก็คงจะดี
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
ถ้าเรื่องของความรู้ ความสามารถของแพทย์ พยาบาลเมืองไทยไม่เป็นสองรองใครแน่นอน สิ่งที่เราอาจจะแตกต่างจากบางประเทศในแถบตะวันตกหรือยุโรป มีเพียงแค่เรื่องของงบประมาณ เทคโนโลยี และความทุ่มเททำงานวิจัย
เทคโนโลยีและงานวิจัยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่ทำให้การแพทย์ของเราพัฒนาไป ตอนนี้เราอยู่ในจุดที่ว่าเราอาจจะไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางการแพทย์ในฐานะเป็นผู้คิดค้นอะไรใหม่ ๆ แต่เรามีทุกอย่างที่เขาคิดค้นมาแล้ว ซึ่งไม่ต่างจากประเทศอื่น เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเป็นศูนย์กลางในการรักษาของประเทศต่าง ๆ แต่ถ้าเราจะก้าวข้ามจากการที่เราเป็นศูนย์กลางฯ ไปเป็นผู้นำในการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ยา วัคซีน เครื่องมือต่าง ๆ ต้องมีภาครัฐช่วยผลักดัน โดยให้ทุนวิจัยและสนับสนุนให้แพทย์หรือนักวิจัยทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องที่น่าสนใจ สำหรับต่างประเทศมีงานวิจัยก้าวหน้าไปกว่าเรามาก ไม่ใช่เพราะว่านักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยเขาเก่งกว่าเรา แต่เป็นเพราะว่าเขาได้รับการสนับสนุนที่ดี ถ้าดูงบประมาณการให้ทุนวิจัยของประเทศเราน้อยมาก ซึ่งทำให้คนที่มีความรู้และอยากจะทำวิจัย ไม่มีทุนเพียงพอที่จะทำ เงินเดือนข้าราชการ ภาครัฐไม่มากพอเลยทำให้การใช้ชีวิตในปัจจุบันจะต้องไปหารายได้เสริม เลยทำให้ไม่สามารถเอาเวลามาทุ่มเทกับงานวิจัยนี้ได้ ถ้าในอนาคตเรามีงบประมาณ และมีการสนับสนุนผลักดันที่ดีพอทั้งภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าประเทศไทยจะมีงานวิจัยดี ๆ มีนวัตกรรมที่ช่วยในการรักษา เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และศูนย์การส่งออกยาและนวัตกรรมการรักษาต่าง ๆ ไปทั่วโลกได้
ถ้าสามารถปรับปรุงการแพทย์ของไทยได้จะทำอะไร
ถ้ามีอำนาจจะปรับปรุงเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการบุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มขวัญและกำลังใจ เพราะในปัจจุบันเกิดปัญหาขาดแคลน แพทย์ พยาบาลโดยเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐ ปัจจัยสำคัญคือ “งานหนัก เงินน้อย” ไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน จึงทำให้เกิดปัญหาสมองไหลไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก แม้จะทำงานหนักเช่นกัน แต่ได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่า
อีกเรื่องก็คงจะเป็นเรื่องของภาระงานที่มันเยอะ ทั้งงานรักษา และงานพัฒนาคุณภาพ ถ้าสามารถเพิ่มการบรรจุแพทย์ พยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ หรือพัฒนาบุคลากรมาช่วยที่มาทำในบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษา ก็คงจะทำให้แพทย์ทุ่มเทงานด้านการรักษา การวิจัยใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นตามมา
“ต้องเป็นคนที่รักในการเป็นหมอ
รักเพราะได้ช่วยเหลือคน
ต่อให้งานหนักแค่ไหนเราก็จะสู้
เพราะความสุขของเราคือ
คนไข้หายกลับบ้านได้”
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอะไร
งานแพทย์เป็นงานที่หนักมาก ไม่มีระยะเวลาบอกว่าเราทำงานกี่ชั่วโมง เพราะฉะนั้นการที่เราจะประสบความสำเร็จได้ ต้องเป็นคนที่รักในอาชีพนี้จริง ๆ คือ รักในการที่จะเป็นหมอ รักเพราะรู้ว่าหมอจะได้ช่วยเหลือคน ต่อให้งานหนักแค่ไหนเราก็จะสู้ไปกับมัน เพราะว่าความสุขของเราคือ ความสุขที่คนไข้หาย กลับบ้านได้ ไม่เป็นภาระของสังคม คนไข้คือ คนในครอบครัว เราอยากให้คนในครอบครัวเราหาย มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง ถ้าเราคิดอย่างนี้ได้ก็ไม่รู้สึกว่ามันเหนื่อย
เหมือนที่เราทำโครงการลดบริโภคเค็ม ทำเพื่อให้ประชาชนสุขภาพแข็งแรง ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นปากท้องเขา แต่เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนในครอบครัวของเรา ในเมื่อเราทำแล้วสุขภาพเราดีขึ้น เราก็อยากให้เขาสุขภาพดีเหมือนเรา เรารู้ว่าเป็นหมอการรักษาผู้ป่วยไตลำบากอย่างไร เราก็ไม่อยากให้เขากินเค็ม ไม่อยากให้เขาเป็นโรคไต ก็เพราะเราห่วงเขา เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจเรา ยอมปฎิบัติตัวตามที่เราแนะนำ
สำหรับแพทย์สาขาไต
สำหรับแพทย์รุ่นใหม่ ถ้าเลือกเรียนสาขาไต อยากให้เข้ามาเพราะรักในวิชาโรคไต ไม่ใช่อยากเข้ามาเพราะมีรายได้เสริม เพราะงานจะหนักมาก ไม่ว่าจะหัวใจวาย การติดเชื้อในกระแสเลือด สุดท้ายจบด้วยไตวายเฉียบพลันแทบทุกโรค การเป็นหมอไต คือ การทำงานภาวะที่เหมือนจะฉุกเฉิน ต้องฟอกไตฉุกเฉินตลอด เพราะฉะนั้น อยากให้น้อง ๆ ที่มาทำงานตรงนี้ ต้องรู้ว่างานของเรามันหนักแค่ไหน ต้องรักษาสมดุลชีวิต การทำงานของครอบครัวให้ดี เพราะว่ามันมีการทำงานเกือบ 24 ชม. ช่วงแรกของชีวิตก่อนที่จะเติบโต ที่เราจะต้องโดนตาม ครอบครัวเราก็ต้องปรับกันให้ได้ว่าอะไรอยู่ตรงกลาง ซึ่งมันหนักจริง ๆ
อยากให้น้อง ๆ รู้ว่าเป็นวิชาชีพที่ได้ช่วยเหลือคนเยอะมาก แต่มันแบกชีวิตเขาไว้ บางครั้งทำให้ชีวิตเราหนักไปด้วย ก็ต้องเตรียมกายและใจที่แข็งแรงในการที่จะมาเป็นหมอไต