“การเป็นหมอสูติฯ จะพบคนท้อง คนคลอดลูก ลูกออกมาแข็งแรง คุณแม่ปลอดภัย ทั้งครอบครัวมีความสุข เราเป็นคนดูแลเขา เราก็ได้รับความสุข”
ศ. นพ. อรรณพ ใจสำราญ
นายกสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ (ไทย)
นายกสมาคมวัยหมดระดูแห่งประเทศไทย
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
ผมเรียนจบชั้นประถมที่ รร.อัสสัมชัญนครราชสีมา จากนั้นเข้ามาเรียนต่อมัธยมที่ รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ตัวเองเป็นเด็กเรียนดี ชอบเรียนทุกวิชายกเว้นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ สมัยนั้นเด็กเก่ง ๆ มี 2 ทางเลือกในการเลือกเรียนต่อก็คือ หมอกับวิศวะ ผมก็เลยเลือกเรียนหมอก็สอบเข้าได้ที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งก็ผ่านไปได้ด้วยดี ผมจบโดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 หลังจากนั้นก็ไปใช้ทุนเป็นแพทย์กองทัพบก ที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา เป็นหมอทหารอยู่ 3 ปี ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมารักษาคนไข้ เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด สถานที่ทำงานก็ดี เพื่อนร่วมงานก็ดี พี่ที่ทำงานก็คอยสอนงานและดูแลดีมาก เป็นความประทับใจสำหรับผมในขณะนั้นมาก
ส่วนที่เลือกเรียนแพทย์เฉพาะทางในสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คืออยากเป็นหมอสูติฯ ตั้งแต่เป็นนิสิตแพทย์แล้ว ตอนเรียนในภาควิชาต่าง ๆ ก็มีความชื่นชอบและได้คะแนนดีทุกภาควิชา แต่พอได้เรียนภาควิชาสูติฯ ก็รู้สึกว่า เป็นภาควิชาที่มีเนื้อหาและลักษณะการทำงานที่เหมาะสมกับตนเองได้มากที่สุด มีความสุขมากที่เรียนวิชานี้ ที่มีศาสตร์ในการรักษาคนไข้แบบผสมผสาน ทั้งด้านการใช้ยาและการรักษาอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่น มีทั้งการใช้ยาและการทำหัตถการร่วมกันอย่างเหมาะสม อีกความรู้สึกหนึ่งคือ การเป็นหมอสูติฯ ยังไม่พูดถึงนรีเวชนะ จะพบกับสิ่งที่มีความสุข เราก็จะพบคนท้อง คนคลอดลูก มีลูกออกมาแข็งแรง คุณแม่ปลอดภัยดูมีความสุขมาก พอทำคลอดออกมาเสร็จ ให้คุณพ่อคุณแม่ดูเขาก็ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุขมาก ตรงนี้ทำให้ผมรู้สึกสดชื่น เราดูแลเขาและเขาก็ได้รับความสุข ทำให้ผมมีความสุขไปด้วย ส่วนเคสที่มีภาวะแทรกซ้อนก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี นี้คือเหตุผลที่ทำให้ชอบเป็นหมอสูติฯ
แต่นอกจากสูติฯ แล้วผมชอบจิตเวชมากเป็นอีกวิชาที่ผมก็ชอบคือ ตอนเรียนเด็กที่เรียนเก่ง ๆ เขาจะให้ไปเรียนอายุรศาสตร์ ซึ่งจะเป็นพวกเด็กเรียนเก่ง อ่านหนังสือเยอะ ๆ แต่ผมรู้สึกว่าไม่เหมาะกับตัวเอง ผมชอบจิตเวชเพราะรู้สึกว่าเป็นอะไรที่เราไม่รู้ คิดว่าน่าจะมีสิ่งต่าง ๆ ที่เราจะค้นพบมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นศาสตร์ที่มีการพัฒนาการค้นคว้ามากขึ้นในอนาคต แต่สมัยก่อนครอบครัวไม่ได้อยากให้ลูกเป็นจิตแพทย์ คิดว่าไปรักษาคนบ้า คนสมัยก่อนคิดแบบนี้ แต่ปัจจุบันเป็นจิตแพทย์นี้ดีนะ สามารถช่วยเหลือคนไข้ได้หลากหลาย
“ผมก็คิดว่าการประสบความสำเร็จ
ในประเทศนั้นยังไม่พอ
ยังมีโลกกว้างให้เราได้ไปสำรวจ
ก็เลยมีความคิดอยากทำงาน
ในระดับนานาชาติ
ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่อย่างในปัจจุบัน
ก็ได้เห็นโลกนานาชาติ
อยู่รอบตัวอยู่แล้ว
อาจจะไม่เกิด passion
มากเท่ากับผม”
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด
สิ่งที่ภูมิใจจริง ๆ แล้วมีหลายเรื่อง แต่ที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด เรื่องแรกคือ การเป็นแพทย์ที่ดี สามารถดูแลรักษาคนไข้ ทำเวชปฏิบัติได้ ประสบความสำเร็จ คนไข้ปลอดภัยหายจากโรค คนไข้รู้สึกชื่นชมแพทย์ที่ได้รักษา ทำให้เขาหายจากโรคที่เป็น รักษากับหมอแล้วความทุกข์ที่มีอยู่มันหายไปหมดเลย นี้คือสิ่งที่ภูมิใจที่สุดแล้ว
เรื่องที่สอง เนื่องจากผมเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ ดังนั้นงานทางด้านวิชาการ งานวิจัย ที่เราได้ทำและประสบความสำเร็จก็เป็นอีกสิ่งที่เราภูมิใจ ผมมีผลงานทางด้านงานวิจัยและงานด้านวิชาการจนได้เป็นศาสตราจารย์ ซึ่งไม่ใช่อาจารย์โรงเรียนแพทย์ทุกคนจะทำได้ คนเก่งมีมากแต่บางคนก็อาจจะไม่ชอบทางด้านนี้
เรื่องที่สาม ความสามารถในเรื่องของการบริหาร คือผมได้เป็นรองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจของคณะแพทย์ จุฬาฯ อย่างต่อเนื่องหลายสมัย คือดูแลกิจการด้านต่างประเทศ ดีใจที่สามารถทำงานบริหารได้อย่างประสบความสำเร็จต่อเนื่องมานานเป็นที่ไว้ใจของสถาบัน นอกจากนี้ก็ยังมีตำแหน่งในการบริหารของสมาคมหรือองค์กรในระดับชาติที่ผ่านมา ได้แก่ เลขาธิการราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมวัยหมดระดูแห่งประเทศไทย และที่เพิ่งได้รับตำแหน่งในปีนี้คือ นายกสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ (ไทย) นอกจากนี้ยังได้ทำงานกับองค์กรนานาชาติ คือองค์การอนามัยโลกที่ผมทำงานต่อเนื่องกันมากว่า 20 ปี นอกจากนี้ยังมีโอกาสทำงานกับองค์กรวิชาชีพนานาชาติ ได้แก่ Asia & Oceania Federation of Obstetrics &Gynecology (AOFOG) โดยผมได้เป็นประธานคณะกรรมการ Sexual and Reproductive Health ซึ่งเกี่ยวข้องกับอนามัยการเจริญพันธุ์ และเป็นประธานรับเลือกของ Asia Pacific Menopause Federation (APMF) ก็เป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจ
ถามว่าทำไมผมชอบประสานกับต่างประเทศ คือสมัยเด็ก ๆ ผมชอบภาษาอังกฤษ ชอบอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ สนทนาภาษาอังกฤษ คือคนในรุ่นเดียวกับผมในสมัยนั้นภาษาอังกฤษจะไม่ค่อยดีนัก และคุณแม่ท่านมองเห็นว่า ต่อไปถ้าลูกจะประสบความสำเร็จภาษาอังกฤษต้องดี ถ้าเผื่อภาษาไม่ดีก็ไม่สามารถสื่อสารกับนานาชาติได้ ตอนนั้นผมอายุ 10 กว่าขวบ คุณแม่ผมคิดว่าต่อไปจะต้องมีเรื่อง globalization เกิดขึ้น การที่เราสื่อสารกับนานาชาติได้ก็จะเป็นจุดแข็งของเรา เป็นข้อได้เปรียบของเราในการทำงาน ทำให้ผมได้รับการสนับสนุนให้เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้ผมชอบภาษาอังกฤษ อยากจะสื่อสารกับชาวต่างชาติ และผมก็คิดว่าการประสบความสำเร็จในประเทศนั้นยังไม่พอ ยังมีโลกกว้างให้เราได้ไปสำรวจ ก็เลยมีความคิดอยากทำงานในระดับนานาชาติ ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันก็ได้เห็นโลกนานาชาติอยู่รอบตัวอยู่แล้ว อาจจะไม่เกิด passion มากเท่ากับผม สมัยผมความเป็นต่างชาติไม่มีให้เห็นอยู่แล้ว ผมก็เลยรู้สึกอยากจะสำรวจ ถ้าเราอยากจะสำรวจ เราก็ต้องทำงานในระดับนานาชาติ แล้วถ้าจะทำงานในระดับนานาชาติเราก็ต้องคุยกับเขารู้เรื่อง ภาษาเราจึงต้องดี
“ผมคิดว่าหมอนั้น
เก่งเหมือนกันทุกคน
อาจารย์แพทย์เก่งเหมือนกันหมด
แต่ทำไมบางคนไปไม่ถึง
บางคนไปถึง ส่วนหนึ่งก็คือ
เรื่องของโอกาสด้วย
บางคนไม่มีโอกาส
บางคนมีโอกาส
แต่ไม่ฉวยโอกาสนั้น
เพราะถ้ามีโอกาสที่ดีและ
ตรงกับเป้าหมายที่
เราวางแผนเอาไว้ เราก็ทำเลย”
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำมาและประสบความสำเร็จก็อาจจะเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยเกื้อหนุนเป็นเรื่อง ๆ ไป แต่ที่พอจะเรียบเรียงเพื่อให้เป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านได้บ้างก็จะมี
ปัจจัยแรก ความตั้งใจจริง (intention) มีความตั้งใจอยากจะทำให้ได้คือ เราต้องตั้งเป้าหมายเอาไว้ อย่างเรื่องการทำงานกับนานาชาติก็ตั้งใจไว้ตั้งแต่สมัยเริ่มเป็นหมอ ชอบทำงานกับนานาชาติ เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสที่จะได้เข้าไปทำงานในระดับนานาชาติ เราจะไม่ทิ้งโอกาสนั้นไป
ปัจจัยที่สอง ไม่ละทิ้งโอกาสที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ตนเองต้องการ ผมคิดว่าหมอนั้นเก่งเหมือนกันทุกคน อาจารย์แพทย์เก่งเหมือนกันหมด แต่ทำไมบางคนไปไม่ถึง บางคนไปถึง ส่วนหนึ่งก็คือ ในเรื่องของโอกาสด้วย บางคนไม่มีโอกาส บางคนมีโอกาสแต่ไม่ฉวยโอกาสนั้น เพราะถ้ามีโอกาสที่ดีและตรงกับเป้าหมายที่เราวางแผนเอาไว้ เราก็ทำเลย
ปัจจัยที่สาม เราต้องมีการวางแผนบางคนไม่มีการวางแผน ทำงานก็ทำไปเรื่อย ๆ หมอจำนวนหนึ่งก็เป็นแบบนั้น คือ ทำงานวันต่อวัน วันนี้มีงานก็ทำผ่านไป ไม่มีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะทำอะไร แต่ก็เข้าใจว่าการตรวจคนไข้ทุกวัน ๆ ต้องแก้ปัญหาที่หลากหลาย เสร็จงานก็แทบจะหมดแรงกันแล้ว ทำให้หมอบางคนไม่มีโอกาสวางแผนเลย แต่การเป็นนักวิชาการมันไม่ใช่ ต้องมีการวางแผน ถ้าไม่มีการวางแผน 1 – 2 ปี มันผ่านไปเร็วมาก บางคนไปเรียนเมืองนอกกลับมาไม่ได้ตั้งใจว่ากี่ปีจะมีผลงานวิชาการ หลายปีผ่านไปไม่มีผลงาน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ผมเป็นคนขยัน ผมจะไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เลย ในแต่ละวันผมคิดตลอดว่าวันนี้ทำงานอะไรให้สำเร็จบ้าง เช่น วันนี้ผมต้องทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จ และผมก็จะทำให้เสร็จจริง ๆ คือการสั่งงานตัวเอง ถ้าไม่สั่งงานตัวเองพอเข้าออฟฟิศมาก็ไม่รู้จะทำงานอะไร คือผมอยู่เฉย ๆ ไม่เป็น ต้องหาอะไรทำอยู่ตลอด ก็ต้องคิดตลอดว่าวันนี้จะทำอะไรและก็ทำให้ได้ตามนั้น หรืออาจจะทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
ปัจจัยที่สี่ ต้องมีคุณธรรม คือมีคนที่เก่งประสบความสำเร็จมากมายในสังคมเรา แต่เป็นคนไม่มีคุณธรรม ถ้าเรามีคุณธรรมคนที่เห็นเราทำงาน จะรู้ว่าเราทำงานเป็นยังไง และเขาก็จะไว้ใจเรา
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร
งานทุกงานมีอุปสรรคอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนก็ต้องแก้ปัญหากันไป สำหรับตัวเองที่พอจะยกตัวอย่างให้เห็นอุปสรรคแรก จะเป็นเรื่องของงานที่เยอะเกินไป ทำให้บางครั้งทำไม่ทัน แล้วผลงานที่ทำก็ไม่ได้ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ผมถึงได้สอนน้อง ๆ ตลอดว่า ต้องหัดปฏิเสธ ต้องหัดเลือกบ้างว่าเราจะทำอะไร ไม่ใช่ว่างานอะไรเข้ามาก็รับหมด ทำหมด ใครขออะไรมา ใครให้ช่วยอะไรก็ช่วยหมด พอสุดท้ายตนเองแย่เพราะว่าทำงานไม่ทัน งานมากเกินไปไม่รู้จักปฏิเสธคน
อุปสรรคที่สองบางครั้งมีความไม่เข้าใจในการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน งานเราอาจจะเยอะเกินไป และต้องมุ่งมั่นกับการทำงาน ทำให้มีการสื่อสารที่น้อย ไม่มีเวลาไปสร้างความสัมพันธ์กับใคร ทำให้บางคนไม่เข้าใจเรา ความสัมพันธ์ในที่ทำงานอาจจะไม่ราบรื่น คือส่วนใหญ่ก็ดี แต่จะมีบางกรณีที่คนไม่เข้าใจหรือไม่เห็นการทำงานของเรา ใช้ความรู้สึกส่วนตัวร่วมด้วย ซึ่งผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่ได้สื่อสารหรือดึงคนเหล่านั้นมาทำงานร่วมกัน ถ้าเราดึงเขาเข้ามาทำงานไปพร้อมกับเราเขาอาจเข้าใจเรามากขึ้น แต่ถ้าทำแบบนั้นเราอาจจะเหนื่อยหนักเข้าไปอีก งานของเราก็จะยิ่งไม่ทันเข้าไปอีก หลาย ๆ เรื่องผมก็เลยเลือกที่จะทำเอง นี้ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ผมเจออยู่
อีกอุปสรรคที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ผมเคยทำงานวิจัยที่ต้องรับอาสาสมัครประมาณ 700 คน และต้องติดตามอาสาสมัครไปเป็นเวลาถึง 4 ปี ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อาสาสมัครอาจจะไม่มาตามนัด หรือย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯไปต่างจังหวัด งานวิจัยนี้เราต้องการผลที่ดีมาก ผมแก้ปัญหาโดยสร้าง Mobile ทีมขึ้นมาเป็นทีมเคลื่อนที่ในการตรวจติดตามคนไข้ เป็นทีมวิจัยแบบเคลื่อนที่ไปตามที่ต่าง ๆ สมัยก่อนยังไม่มีใครทำ อย่างคนไข้อยู่เชียงรายผมส่งพยาบาลบินไปเชียงรายเพื่อเก็บข้อมูลคนไข้ ทำแบบนี้ทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดีและงานออกมาดีที่สุด เป็นโครงการวิจัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งต่างกับสมัยนี้ที่ใช้ Telemedicine กันแล้ว ส่วนอุปสรรคในการรักษาคนไข้ อย่างถ้าเจอคนไข้รักษายาก ๆ ที่เราคิดว่าอาจเกินความสามารถเราก็ให้หมอท่านอื่นมาช่วยรักษา เราต้องลดอีโก้ตัวเองลง เช่น หมอสูติฯ มีการผ่าตัด หากมีการผ่าตัดแบบไหนที่เราไม่มั่นใจว่าจะทำได้ดี ก็ต้องให้หมอที่เก่งกว่าเข้ามาทำ แต่ก็จะมีหมอบางคนไม่ยอม พยายามที่จะทำต่อไปให้ได้ คิดว่าตนเองทำได้ สุดท้ายก็สูญเสียคนไข้ไป กับผมจะไม่ใช่แบบนั้น ถ้าผมประเมินแล้วการรักษาแบบไหนทำไม่ได้ก็ต้องให้คนอื่นช่วย
สุดท้ายไม่ว่าอุปสรรคจะเป็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องแก้ไขอุปสรรคให้ผ่านพ้นไปให้ได้ เจออุปสรรคครั้งแรกอาจจะทำอะไรไม่ถูก เราต้องรีบตั้งสติ แล้วหาสาเหตุว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ พอเจอสาเหตุแล้วต้องรีบแก้ทันที หรืออย่างน้อย ๆ เรื่องแบบนี้ครั้งหน้าต้องดีขึ้น
“อย่างผมกว่าจะได้เป็น
ศาสตราจารย์
ก็อายุมากกว่าคนอื่น
ถ้าผมทำงานวิชาการดี ๆ
อย่างเดียว ผมคงได้เป็น
ศาสตราจารย์ตั้งแต่
อายุน้อย ๆ แล้ว”
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
ผมมีแนวคิดว่า เราไม่ควรจะเก่งไปทุกเรื่อง คือมนุษย์เราควรจะต้องเลือกว่าจะเก่งอะไร อยากจะประสบความสำเร็จด้านไหน คือถ้าเผื่อว่าเราอยากจะทำสำเร็จไปทุกอย่าง มันจะทำให้เราเหนื่อยและโอกาสสำเร็จพร้อมกันในหลาย ๆ เรื่องก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ถ้าย้อนกลับไปแก้ไขได้ อยากกลับไปปรับปรุง
ข้อแรก การมี concentration มีความตั้งใจอยู่กับงานใดงานหนึ่งให้มากกว่าเดิม มีอาจารย์รุ่นพี่หลายคนบอกว่าผมเหมือนสเต็มเซลล์ หมายถึงเปลี่ยนบทบาทและการทำงานเป็นแบบนั้นก็ได้ แบบนี้ก็ได้ แล้วก็เปลี่ยนไปได้ดีด้วย แต่พอเรากลับมาคิดย้อนหลัง ผมคิดว่าการเปลี่ยนแบบนั้นแบบนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องดี อย่างผมกว่าจะได้เป็นศาสตราจารย์ ก็อายุมากกว่าคนอื่น ถ้าผมทำงานวิชาการดี ๆ อย่างเดียว ผมคงได้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุน้อย ๆ แล้ว แต่สำหรับผมก่อนหน้านี้ คนไข้ก็รักษา การวิจัยก็ทำ ตำราก็เขียน งานบริหารก็ทำอีก ทำทุกอย่างไปพร้อม ๆ กันแบบนี้มันทำให้หนัก ถ้าย้อนกลับไปได้ผมก็อยากจะ concentrate มีสมาธิกับงานใดงานหนึ่งเป็นหลัก ถ้าเลือกได้ตอนนี้ผมอยากทำงานวิชาการและงานวิจัย เลือกงานที่ตนเองชอบที่สุดและก็ทำให้ดีที่สุดในงานนั้นเพราะอะไร เพราะเราจะได้ไม่ทำงานหนักและเหนื่อยจนเกินไป
ข้อสอง การมีเวลาให้กับตนเอง มีเวลาให้กับครอบครัวและรักษาสุขภาพของตนเอง สุขภาพสำคัญมากผมจะออกกำลังกายทุกวัน ผมกำหนดการออกกำลังกายเข้าไปในตารางงานที่ต้องทำในแต่ละวัน ผมทำแบบนี้มากว่า 20 ปีแล้ว แต่ผมรู้สึกว่าผมพักผ่อนน้อยเกินไปจนเป็นความเคยชิน เมื่อปลายปีผมตรวจพบเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากแต่ก็รักษาหายขาดแล้ว สิ่งนี้ทำให้ผมตระหนักว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด อีกเรื่องที่อยากย้อนเวลากลับไปได้ก็คือ มีเวลาให้กับครอบครัว คุณแม่ผมเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้เมื่อ 2 – 3 ปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งผมโทษตัวเองว่าเป็นเพราะผมไม่ได้ดูคุณแม่อย่างที่ควรจะเป็นหรือเปล่า ถ้าผมมีเวลาดูแลสุขภาพให้กับคนในครอบครัวมากกว่านี้ก็คงสามารถที่จะตรวจพบโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และรักษาให้หายได้ ทำให้ผมคิดได้ว่าชีวิตคนเราไม่แน่นอน ถ้าอยากมีเวลาให้กับครอบครัวให้ทำเลย อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง เดี๋ยวจะไม่ได้ทำ
บุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
คนแรกเลยคือ คุณพ่อคุณแม่ ทั้ง 2 ท่านประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ ท่านเป็นต้นแบบในเรื่องของความขยัน อดทน ตื่นแต่เช้าทำงานทุกวัน เสาร์-อาทิตย์ไม่มีวันหยุด ท่านสอนว่าถ้าอยากมีความเจริญก้าวหน้าก็ต้องตั้งใจ ขยันทำงาน ความเจริญก้าวหน้าเกิดขึ้นจากตัวเราเองถึงจะประสบความสำเร็จ คนที่สองคือ ครูบาอาจารย์ เป็นต้นแบบในเรื่องความสำเร็จในหน้าที่การงาน เราเห็นอาจารย์ของเราเป็นศาสตราจารย์ ได้ทำงานกับองค์กรนานาชาติ ก็ทำให้เราอยากเอาเป็นแบบอย่างในการทำงานที่ประสบความสำเร็จ มีคำสอนของอาจารย์ที่ผมจำมาตลอด เวลาที่ผมพูดว่า ทำไมงานมันเยอะแบบนี้ เหนื่อยจัง อาจารย์จะบอกว่า ทำไปไม่ต้องบ่นเดี๋ยวมันจะได้ดีเอง อาจารย์พูดเป็นภาษาอังกฤษว่า “It will pay” ลำบากตอนนี้เดี๋ยวก็ได้รับผลตอบแทนมาเอง ไม่ต้องคิดว่าทำเยอะขนาดนี้ไม่เห็นจะได้อะไรอย่าไปคิดแบบนั้น
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ผมยึดหลัก 1) มองโลกในแง่บวกคือ ผมเป็นคนอารมณ์ดีคนจะไม่ค่อยเห็นผมอารมณ์เสียเท่าไหร่ คิดในแง่ดีตลอดก็เหมือนปลอบใจตัวเองด้วย ทำให้เราไม่เครียดมาก แต่บางทีก็ไม่ควรปลอบใจตัวเองมากขนาดนั้น จะมองโลกในแง่ดีไปตลอดไม่ได้ แต่ว่าหลาย ๆ เรื่องการมองในแง่บวกช่วยให้เรามีความเครียดน้อยลง 2) คิดดีทำดีก็คือ อย่าไปคิดร้ายกับใคร อย่าไปอิจฉาใคร อันนี้สำคัญที่สุด
“ถ้าเอาอาชีพแพทย์มาทำเพื่อ
จะให้กลายเป็นธุรกิจที่ร่ำรวย
มันไม่มีทางจะทำได้ตาม
มาตรฐานหรือมีจริยธรรม
ถ้าเขาคิดทุกอย่างเป็นธุรกิจหมด
คนอื่นก็จะคิดกับเขา
แบบธุรกิจเช่นกัน”
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันผมมีความกังวลที่มีแพทย์ส่วนหนึ่งไม่ได้มีความคิดว่าจะเป็นหมอเพื่อที่จะรักษาโรคให้กับคน ไม่ได้คิดว่าการเป็นแพทย์เป็นการช่วยเหลือให้คนหายเจ็บป่วย อย่างผมได้รับการสอนจากครูบาอาจารย์มาตลอดว่า เป็นแพทย์เราต้องรักษาเพื่อให้คนไข้หายจากโรค ถึงแม้ว่าอาชีพแพทย์เป็นการเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของเรา อย่าไปคิดรวยเร็วเพราะการเป็นแพทย์ไม่ได้รวย อาจารย์ท่านหนึ่งเคยสอนผมว่า เป็นหมอเหมือนน้ำซึมบ่อทราย น้ำไม่เคยแห้งเลย หมายถึงว่าเรามีกินมีใช้ไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้ร่ำรวย เพียงแต่แพทย์บางคนไม่ได้คิดแบบนั้น พอเรียนจบแล้วก็อยากจะรวยทันที พอคิดแบบนี้แล้วก็อยากจะทำทุกอย่างเพื่อให้รวย โดยไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นมันผิดมาตรฐานไหมหรือผิดจริยธรรมหรือเปล่า อยากจะประสบความสำเร็จอันนี้เห็นด้วย แต่ถ้าเอาอาชีพแพทย์มาทำเพื่อจะให้กลายเป็นธุรกิจเพื่อจะร่ำรวย มันไม่มีทางจะทำได้ตามมาตรฐานหรือมีจริยธรรม ถ้าเขาคิดทุกอย่างเป็นธุรกิจหมด คนอื่นก็จะคิดกับเขาแบบธุรกิจเช่นกัน คุณคิดกับคนอื่นยังไงคนอื่นเขาก็คิดกับคุณแบบนั้น ถ้าเป็นสมัยก่อนเรารักษาคนไข้ด้วยใจไม่ใช่เอาเงินนำ เอาใจนำมาก่อนตั้งใจรักษาคนไข้นำมาก่อน เงินมันก็ตามมาเอง แต่ในปัจจุบันเมื่อเอาเงินนำมาก่อน เวลามันเกิดเหตุอะไรขึ้น คนไข้ก็จะคิดถึงเรื่องเงินเป็นหลัก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้แย่ลง
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
เรื่องแรก ต้องยึดมั่นในมาตรฐานวิชาชีพ ทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาในสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการแข่งขันในตลาดบริการสุขภาพ ความคาดหวังของคนไข้ที่สูงขึ้น คดีฟ้องร้องต่าง ๆ เราต้องยอมรับว่าโรคต่าง ๆ และการแพทย์มันไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ มันไม่ใช่ขาวกับดำแต่มันเป็นสีเทา ทำให้แพทย์รุ่นใหม่ต้องยึดมั่นในมาตรฐานวิชาชีพอย่างดีที่สุด
เรื่องที่สอง ต้องตามความรู้ใหม่ ๆ ให้ทัน โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแพทย์รุ่นใหม่ต้องตามให้ทัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่น เทคโนโลยีดิจิทัลหรือ AI ที่มีเข้ามาในวงการแพทย์ ไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนกับไม้ที่ตายไปแล้วหรือ Dead wood หมอบางคนจบมา 30 ปีความรู้ยังเป็น 30 ปีที่แล้วมันก็เป็นไปไม่ได้ มันต้องมีการหาความรู้อยู่ตลอดเวลาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เรื่องที่สาม ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม อยากจะเน้นตรงนี้มาก ๆ ดูแลคนไข้ให้เหมือนเป็นเพื่อนมนุษย์ ต้องมีการสื่อสารกับคนไข้และญาติอย่างเหมาะสมเพียงพอ จะสังเกตเห็นว่าปัญหาที่พบมากที่สุดส่วนหนึ่งเกิดจากแพทย์ไม่มีการสื่อสารที่ดี ทำให้คนไข้และญาติคิดไปต่าง ๆ นานา ปัจจุบันและอนาคตแพทย์จะมีจำนวนมากขึ้น เพราะฉะนั้นเวชปฏิบัติต้องละเอียดรอบคอบมากขึ้น สมัยก่อนผมตรวจรักษาคนไข้วันหนึ่ง 50 – 100 คน ตรวจจนลืมไปแล้วว่าคนไข้คนไหนตรวจไปแล้ว ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเราต้องให้เวลาดูแลคนไข้มากขึ้นเพราะคนไข้มีความคาดหวัง และจำนวนหมอก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย สำหรับหมอสูติฯเรื่องเด็กที่มีการเกิดน้อยลงก็จะมีผลทำให้ภาระงานคลอดของหมอสูติฯ น้อยลง แต่การที่มีภาระงานคลอดน้อยลงหมอสูติฯ ก็ต้องปรับตัว ศึกษาโรคใหม่ ๆ วิธีการรักษาแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในการดูแลสุขภาพมารดาและทารกในครรภ์ ต้องปรับตัวเพื่อที่จะสามารถรักษาคนไข้ได้โดยเฉพาะผู้หญิงสูงวัย โรคที่มากับความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ เป็นสิ่งที่หมอสูติฯ จะต้องดูแล ต่อไปผู้หญิงวัยทองจะมีจำนวนมากขึ้น เพราะร่างกายก็จะมีความเสื่อมถอยตามอายุ ดังนั้นหมอสูติฯ ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและอัพเดทอยู่ตลอดเวลา เช่น เข้าร่วมประชุมทางวิชาการด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เป็นต้น
อีกเรื่องที่อยากจะแนะนำ แพทย์สมัยใหม่บางคนอาจคิดเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องส่วนรวม เช่น อาจารย์แพทย์บางท่านอาจคิดว่างานที่ได้รับมอบหมายแค่นี้พอแล้ว พอสถาบันมีงานสอนเพิ่มให้ ก็จะถามแล้วว่าเขาจะจ่ายเงินเพิ่มให้หรือเปล่า ได้ค่าสอนเพิ่มด้วยไหม ทำไมแต่ละคนทำงานไม่เท่ากัน ชอบคิดว่าตนเองถูกเอาเปรียบ โดยไม่ได้คิดว่าการที่ได้สอนมากขึ้นหรือทำงานให้องค์กรมากขึ้น ทั้งองค์กรและตนเองก็จะมีการพัฒนาเป็นประโยชน์มากขึ้น และแต่ละคนมีความสามารถและบทบาทที่ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันในองค์กร สุดท้ายทำออกมาแล้วส่วนรวมได้ผลดีก็น่าพอใจแล้ว