CIMjournal
Banner CIM PED05

อาจารย์ นพ. รุจิภัตต์ สำราญสำรวจกิจ สาขากุมารเวชศาสตร์


เมื่อเห็นคนไข้อาการดีขึ้นโดยเฉพาะคนไข้วิกฤต ก็จะทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อไปในแต่ละวัน ไม่ย่อท้อ

ศ. นพ. รุจิภัตต์ สำราญสำรวจกิจ
หัวหน้าสาขาวิชาเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองนายกสมาคมโรคระบบหายใจ และเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขากุมารเวชศาสตร์โรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤต

ผมจบมัธยมต้นที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดม พญาไท ซึ่งเพื่อนหลัก ๆ ก็จะเรียนแพทย์ วิศวะ พอดีคุณพ่อผมเป็นหมอด้วย ช่วงที่เรียนมัธยมเราก็ได้ดู ได้พูดคุยกับคุณพ่อ ได้เห็นการทำงานอย่างจริงจัง จึงเกิดความประทับใจ ตอนสอบจึงเลือกสอบคณะแพทย์ 3 อันดับแรก ต่อท้ายด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่ในใจอยากเรียนคณะแพทย์มากกว่า สุดท้ายสอบได้เรียนคณะแพทย์ จุฬาฯ

ตอนเรียนแพทย์ ผมเรียนปานกลางไม่ได้สุดโต่งมาก มีทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ ทั้งในและนอกคณะ พอมาเรียนชั้นคลินิกปี 4 – 6 ได้เรียนตามวอร์ดต่าง ๆ ตอนนั้นก็เริ่มสนใจทำงานในวอร์ดเด็ก เพราะมีความสุขในการดูแลคนไข้เด็กและชอบบรรยากาศการทำงานในวอร์ดเด็กด้วย และได้มีโอกาสเรียนกับท่านอาจารย์ รศ. พญ. รัชนี เซ็นศิริวัฒนา ซึ่งต่อมาเป็น หัวหน้าภาควิชากุมารเวชสาสตร์ และท่านอาจารย์ รศ. พญ. นวลจันทร์ ปราบพาล หัวหน้าหน่วยโรคทางเดินหายใจ ในช่วงนั้นทั้งสองท่านเป็นอาจารย์หมอที่ทุ่มเทดูแลผู้ป่วยเด็ก ๆ ด้วยความตั้งใจ และมีความเมตตาปราณี ทำให้ผมเกิดความประทับใจมาก พอเรียนชั้นปีที่ 6 ผมได้มีโอกาสออกไปสร้างเสริมประสบการณ์แพทย์ที่จังหวัดระยองและปราจีนบุรี ได้ทำหน้าที่เป็นแพทย์จริง ๆ ได้ช่วยเหลือคนไข้ที่มีอาการบาดเจ็บหรือป่วยอย่างฉุกเฉิน ได้ผ่าคลอด ผ่าตัดไส้ติ่ง เย็บแผลสด รักษาทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน รวมถึงผู้ป่วยวิกฤต ทำอะไรเองเหมือนแพทย์คนหนึ่ง ได้เห็นคนไข้ได้รับการรักษาแล้วดีขึ้น ก็รู้สึกภูมิใจและมีความสุข ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน

ช่วงนั้นการสมัครเรียน
ถือว่ายากมากเนื่องจาก
ยังไม่มีประสบการณ์

แต่ผมคิดว่า
ความพยายามอยู่ที่ไหน
ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

หลังจากเรียนจบแพทย์แล้ว ผมมีความตั้งใจชัดเจนแล้วว่าอยากจะไปเรียนแพทย์เฉพาะทางเพื่อเป็นกุมารแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากชอบทางนี้อยู่แล้ว ผมขอใช้ทุนก่อนหนึ่งปี และได้ไปใช้ทุนที่ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก กรุงเทพฯ วัดธาตุทอง และที่ศูนย์คลองเตย ในช่วงนั้นผมได้เตรียมตัวอ่านหนังสือไปด้วยเพื่อสอบข้อเขียนและสมัครสอบสัมภาษณ์ไปยังมหาวิทยาลัยแพทย์ต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมที่ติดต่อไปหลายแห่ง เนื่องจากช่วงนั้น การสมัครไปเรียน ถือว่ายากมากเนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์ แต่ผมคิดว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เพราะในที่สุดผมได้มีโอกาสไปศึกษาต่อ เรียนรู้วิชากุมารเวชศาสตร์จากท่านอาจารย์ ศ. พญ. อรดี จันทวสุ โดยตอนนั้น ท่านดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยทารกแรกเกิด และอาจารย์ นพ. สุรศักดิ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ซึ่งเป็นแพทย์ไทยและจากอาจารย์แพทย์หลาย ๆ ท่าน ที่โรงพยาบาลแพทย์ Jersey City Medical Center, New Jersey โดยผมได้มีโอกาสทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขากุมารเวชศาสตร์ เป็นเวลา 3 ปี แล้วได้เรียนต่อเฉพาะทาง Sub-board of Pediatric Pulmonary ระบบทางเดินหายใจเด็ก ที่โรงพยาบาลแพทย์ Long Beach Medical Center, University of California, Irvine อีก 3 ปี เมื่อสำเร็จแล้วได้สมัครเรียนต่อและทำงานเพิ่มเติมด้าน Pediatric Critical Care อีก 1 ปีครึ่ง ที่โรงพยาบาลแพทย์ Loma Linda Medical Center, California โดยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ทางเมืองไทยว่า ควรจะหาความรู้เพิ่มเติมทางเวชบำบัดวิกฤตไว้ด้วย เนื่องจากในประเทศไทยยังขาดบุคลากรในด้านนี้ สรุปการเรียนแพทย์เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญ ผมใช้เวลาในการเรียนเฉพาะทางเชี่ยวชาญทั้งหมดเกือบแปดปี ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วผมกลับมาสมัครเป็นแพทย์แผนกทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต เด็กที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลจุฬาฯ นับตั้งแต่ปี 2543 จนภายหลังแยกออกเป็นหน่วยกุมารเวชบำบัดวิกฤต เป็นหัวหน้าหน่วยจนถึงปัจจุบัน


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด

สิ่งที่ภูมิใจจริง ๆ แล้วมีหลายเรื่อง แต่ที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด เรื่องแรกคือ การได้ทำงานและค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ในฐานะอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชบำบัดวิกฤตและโรคทางเดินหายใจเด็ก โดยได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด ทั้งการเรียนการสอน การรักษาผู้ป่วย และงานด้านวิจัย และที่สำคัญผมได้มีโอกาสใช้ความรู้วิชาการ งานวิจัยที่ศึกษาและทดลอง ค้นคว้าวิธีการรักษาและนำมาประยุกต์ ใช้รักษาคนไข้ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยกุมารวิกฤต (PICU) จนสามารถมีชีวิตรอดได้ มีการพัฒนาการรักษาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีหลายคนที่มีความประทับใจ มีหนึ่งรายที่ได้ร่วมดูแลคนไข้เด็กวิกฤติที่มีความประทับใจเป็นพิเศษ ตอนนี้น้องอายุ 17 ปีแล้ว มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเหมือนเป็นคนครอบครัวเดียวกัน 

ผมได้มีโอกาสใช้ความรู้วิชาการ
งานวิจัยที่ศึกษาและทดลอง
ค้นคว้าวิธีการรักษาและนำมา
ประยุกต์ใช้รักษาคนไข้
ที่เข้ารับการรักษา
ในหอผู้ป่วยกุมารวิกฤต (PICU)
จนสามารถมีชีวิตรอดได้

เรื่องที่สองที่ผมดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ คือ ผมมีโอกาสได้ริเริ่มโครงการช่วยผู้ป่วยที่ยากไร้ให้มีโอกาสใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจ (ECMO) ในหอผู้ป่วยวิกฤตโรงพยาบาลจุฬาฯ โครงการเริ่มต้นประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจเป็นเคสแรกของหอผู้ป่วยกุมารวิกฤต (PICU) จำได้ว่าเริ่มแรกต้องขอรับบริจาคเพื่อนำเงินมาซื้ออุปกรณ์ซึ่งยากมาก แต่ที่ทำครั้งแรกมีผู้ใจบุญบริจาคอุปกรณ์ให้ ต่อมาได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายผ่านทางโครงการนี้จาก รพ.จุฬาฯ จนในปัจจุบัน รัฐบาลให้ความสนใจและสามารถเบิกจ่ายได้บางส่วนจากรัฐบาล ถือเป็นโครงการที่ทำให้คนยากไร้สามารถเข้าถึงการรักษาโดยอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้

และเรื่องที่สาม ในด้านวิชาการแพทย์ ผมต้องขอบอกว่า สถานที่ทำงานแห่งนี้ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพระคุณกับผมมาก ที่ให้โอกาสและส่งเสริมให้ผมได้มีโอกาสทำงานสอนผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพเพื่อจบมารักษาผู้ป่วยในหลายแห่งของประเทศไทย ได้ดูแลรักษาทั้งผู้ป่วยทางเดินหายใจ และทางเวชบำบัดวิกฤต โดยเฉพาะได้ทำงานงานวิจัย มีโอกาสพัฒนาความรู้ได้ รับทุน ทำวิจัย และเพื่อเดินทางไปเข้าร่วมประชุมวิชาการจากหลาย ๆ ที่ ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เพื่อมาพัฒนาการรักษาการเรียนการสอนผู้ป่วยให้ดีขึ้น ทำให้ผมได้เรียนรู้ และนำความรู้ใหม่ ๆ มาพัฒนาตนเอง และภาควิชาอยู่เสมอ และผมได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน รวมทั้งเป็นวิทยากรรับเชิญในหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และผมได้มีโอกาสที่ดี ได้ช่วยทำงานให้กับทางสมาคมโรคระบบทางเดินหายใจ และเวชบำบัดวิกฤติในเด็กแห่งประเทศไทย ในการจัดการประชุมวิชาการ ในแต่ละปีที่ประทับใจและดีใจมากคือ การประชุมวิชาการเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเป็นประธานร่วมกับ รศ. พญ. จิตลัดดา ดีโรจนวงศ์ ซึงเป็นนายกสมาคมในตอนนั้นดำเนินการจัดงานประชุมนานาชาติ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทยของสมาคมฯ ของเราในหัวข้อเรื่องการประชุม “4th Asian Pediatric Intensive care congress # apicc 23”  มีผู้เข้าร่วมประชุมและวิทยากรรับเชิญจากกว่า 20 ประเทศ และในครั้งนั้นก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานของ The Pediatric Acute and Critical Care Medicine Asian Network (PACCMAN) ซึ่งในปัจจุบันขยายไปโดยมีสมาชิกมากกว่า 40 PICU. ใน 20 ประเทศ จัดเป็น research PICU network ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

“ผมภูมิใจที่ได้เป็นผู้ร่วม
ริเริ่มสร้างหลักสูตร
แพทย์เฉพาะทาง
กุมารเวชบำบัดวิกฤต
เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
โดยร่วมกับคณะกรรมการ
อาจารย์จากหลากหลายสถาบันฯ”

นอกจากนี้ สิ่งที่ผมภูมิใจที่ได้เป็นผู้ร่วมริเริ่มสร้างหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางกุมารเวชบำบัดวิกฤตเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยร่วมกับคณะกรรมการ อาจารย์จากหลากหลายสถาบันฯ โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหลักสูตรนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 ปัจจุบันมีแพทย์ที่จบเฉพาะทางกุมารเวชบำบัดวิกฤตกระจายตามที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยประมาณกว่า 30 ท่าน โดยในอนาคตอันใกล้ กำลังจะนำหลักสูตรเพื่อขอรับรองจากแพทยสภา เพื่อปรับเป็นวุฒิบัตร อนุสาขาเฉพาะทางกุมารเวชบำบัดวิกฤต 


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

ปัจจัยที่ 1 การทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ขยัน รู้จักหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และต่อผู้อื่น โดยเมื่อเรามีหน้าที่ดูแลรักษาคนไข้ เราก็ต้องนำความรู้ที่ศึกษามาประยุกต์ใช้ในการรักษาอย่างเต็มที่ นอกจากผู้ป่วยก็ต้องมีความเห็นใจกับคนรอบข้าง หมายถึงทีมรักษา และครอบครัวของผู้ป่วยด้วย เมื่อเห็นคนไข้อาการดีขึ้น ก็จะทำให้มีกำลังใจไม่ย่อท้อ นอกจากนั้นเมื่อเราในฐานะเป็นอาจารย์แพทย์ เราต้องมีความเมตตา เข้าใจและเห็นอกเห็นใจ แพทย์น้อง ๆ ผู้มาเรียน ให้ความรู้ทางวิชาการกับเขาอย่างเต็มที่ หากลูกศิษย์ทำไม่ถูกต้อง ทำได้ไม่ดี มีความผิดพลาดเกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่ว่ากล่าวจน เสียกำลังใจ ต้องให้กำลังใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คอยให้คำแนะนำ ส่งเสริมเมื่อมีโอกาสปรับปรุงให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป เป็นต้น

ปัจจัยที่ 2 การมองโลกในแง่บวกและมีความยืดหยุ่นในการทำงาน ทัศนคติอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการทำงานคนเดียวหรือร่วมกับผู้อื่น เพราะจะทำให้เราเข้าใจและสามารถปรับตัวให้สอดรับกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เข้ามาทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ การปรับตัวรวมถึงการเปิดรับคำแนะนำการพัฒนาให้มี mentorship คอยให้คำปรึกษาในแต่ละด้านของชีวิต การมองโลกในแง่บวก จะสามารถให้เราสามารถทำงานร่วมกับหลาย ๆ คนได้ดีขึ้น การสร้างทีมให้มีพลังบวก ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนางาน การทำงานเป็นทีมต้องมีผู้นำ ผู้ร่วมงาน มองโลกในมุมมองที่เป็นบวก ปัญหาสามารถเกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถช่วยกันแก้ปัญหาได้เช่นเดียวกัน

ปัจจัยที่ 3 การบริหารเวลา การแบ่งเวลาและการเดินทาง สายกลาง เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะไม่ว่าเราจะทำงานในหน้าที่อย่างทุ่มเทมาก งาน ICU เป็นงานที่หนักเละต้องมีความรับผิดชอบสูง ดังนั้น เราต้องแบ่งเวลาการทำงาน การพักผ่อนให้เพียงพอ และต้องแบ่งเวลาให้กับครอบครัวด้วยเสมอ เพราะการที่เราประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ ไม่ได้เกิดจากเราคนเดียว แต่คนข้างหลังเรา เช่น คุณพ่อ คุณแม่ ภรรยา และลูก ๆ ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่เป็นกำลังสำคัญ คอยสนับสนุนและให้กำลังใจเราอยู่เสมอ


กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร

งานทุกงานโดยเฉพาะงานในการรักษาผู้ป่วยวิกฤต เป็นงานที่หนักและค่อนข้างจะต้องมีความรับผิดชอบสูง ดังนั้น ในการรักษาจะมีความกังวลในอาการผู้ป่วยอยู่แล้ว เพราะว่าเกี่ยวกับความเป็นความตายของคนไข้ ซึ่งก็เป็นความหวังของคนในครอบครัว สำหรับวิธีแก้อุปสรรคหลัก ๆ สำหรับผมคือ การทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ตรงไปตรงมา รับผิดชอบงานอย่างเต็มที่ การตั้งเป้าการทำงานอย่างชัดเจน การทำงานเป็นทีม รวมถึงมีการสื่อสารกับครอบครัวผู้ป่วยเสมอ หากเจอปัญหาเบื้องต้นก็จะคิดบวกว่า ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขไม่กังวลจนมากเกินไปนัก คิดให้รอบคอบ แม้ว่าผลที่ได้อาจจะไม่ perfect และใช้ความยืดหยุ่นค่อย ๆ ปรับหาวิธีแก้ไข ในแต่ละปัญหาให้ดีที่สุดในแต่ละเรื่องไม่กล่าวโทษใคร ซึ่งบางปัญหาอาจจะมีความผิดพลาดได้ ต้องมีการใช้ mentorship จากคนที่มีประสบการณ์มากกว่า และจะเน้นการทำงานช่วยกันเป็นทีม ซึ่งจะช่วยเราแก้ปัญหาในแต่ละเรื่องได้เป็นอย่างดี การสร้างทีมปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาต้องหาวิธีร่วมกัน

 

ก่อนไปศึกษาต่อต่างประเทศ
ถ้าทำได้

ผมอยากทำงาน
ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี


ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด

ก็น่าจะเป็นช่วงก่อนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ถ้าทำได้ผมอยากทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก 2 – 3 ปี หรือไปหาประสบการณ์ เช่น ทำวิจัยเพิ่มเติมก่อนไปเรียนต่อ เพราะตอนไปเรียนต่อช่วงนั้น ผมจบปี 6 แล้วใช้ทุนเพียง 1 ปี แล้วไปเรียนเลยสิ่งที่ดีคือ เรียนเร็วกว่าคนอื่น ๆ แต่การทำงานช่วงแรก ต้องปรับตัวค่อนขางมาก  เพราะที่นั่น ทีมแพทย์เน้นคนมีประสบการณ์ ต้องทำงานเป็นเลย การรักษาต้องมีความรับผิดชอบสูง ซึ่งตอนที่ผมเรียนต่อแพทย์ ประจำบ้านทางกุมารเวชศาสตร์ ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ ถ้ามีประสบการณ์ก็จะได้ปรับตัวเร็วขึ้น ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะที่อเมริกาต้องมีความรับผิดชอบสูง การแข่งขันสูง การสื่อสารกับญาติซึ่งภาษาที่ต่างกัน ก็เป็นความท้าทายอย่างมาก เวลานั้นผมต้องขยัน ทำงานหนัก เพื่อหาความรู้ให้มากขึ้น ต้องปรับตัวในช่วงแรก ๆ มากกว่าคนอื่น เพื่อให้ได้รับการยอมรับในการทำงาน รวมถึงเรื่องภาษา ซึ่งก็พัฒนาขึ้นมาตามลำดับจนจบการเรียนที่นั่น


บุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

คนแรกเลยคือ คุณพ่อและคุณแม่ของผม ท่านเป็นต้นแบบในเรื่องของการดูแลครอบครัว ให้การสนับสนุนลูก ๆ ทุกอย่าง คุณพ่อท่านเป็นสูตินรีแพทย์ ก่อนเกษียณท่านดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดี กรมการแพทย์ ซึ่งก่อนหน้านั้น ท่านเป็นแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศ ปราจีนบุรี หลายปีเป็นแพทย์ที่ผู้ร่วมงานให้ความรักและเคารพ และคนไข้รัก ผมคิดว่าการเป็นผู้นำทีมงานและมารยาทในการทำงานของคุณพ่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผม ส่วนคุณแม่เคยเรียนฝึกหัดแพทย์อยู่ 1 ปี แต่ต้องลาออกไปช่วยกิจการที่บ้าน คุณแม่เป็นแบบอย่างของคนที่ขยันในการทำงาน กล้าตัดสินใจ มีความนิ่ง ๆ สยบปัญหา และการแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ เป็นแบบอย่างให้ผมเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์แพทย์ที่ผมนับถือ เริ่มจากท่าน อาจารย์ รศ. พญ. รัชนี เซ็นศิริวัฒนา อดีตหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และอาจารย์ รศ. พญ. นวลจันทร์ ปราบพาล ซึ่งทั้งสองท่านเป็นต้นแบบด้านการทำงานที่ดีมาก ทั้งในฐานะแพทย์รักษาผู้ป่วย และการเป็นอาจารย์แพทย์ตัวอย่าง ท่านเป็นอาจารย์แพทย์ที่ใจดี ตั้งใจสอนด้วยความปรานี มีเมตตา เป็นที่เคารพต่อศิษย์ ต่อมาอีกท่าน คือ อาจารย์ ศ. นพ. ยง ภู่วรวรรณ ท่านเป็นต้นแบบเราในเรื่องของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดควบคู่ไปกับการทำวิจัยเพื่อพัฒนาตนและเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อสังคม ท่านช่วยแนะนำและชักชวนผมทำงานวิจัยเกี่ยวกับ respiratory virus ในช่วงที่ผมกลับมาทำงานที่เมืองไทยใหม่ ๆ ซึ่งเป็นการต่อยอดงานวิจัยที่เขียนทำมาก่อนหน้า ท่านเป็นกุมารแพทย์และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกของคณะแพทย์จุฬาฯ สุดท้ายคือ ท่านอาจารย์ รศ. นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ท่านคณบดี และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์คนปัจจุบัน ผมได้มีโอกาสพบเจอท่านตั้งแต่ตอนเรียนแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา ท่านเรียนจบสาขาคล้าย ๆ กัน แต่ผมเรียนด้านเด็ก ท่านเป็นต้นแบบทางด้านการส่งเสริมวิชาการ การพัฒนาความรู้ การบริหารจัดการคน ความเป็นกันเอง และการปฏิบัติตัวที่ดีกับผู้ร่วมงาน  


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ผมยึดหลัก 1) ทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต และทำให้ดีที่สุดในทุก ๆ วัน หลักการนี้มักจะทำให้ผลลัพธ์ดีเสมอ 2) อย่าท้อต่ออุปสรรค เมื่อมีปัญหาก็หาวิธีแก้ไข ไม่ปล่อยปละละเลย หรือเพิกเฉยเพราะมองว่าเป็นโอกาสให้เราได้พัฒนาตน ได้ก้าวหน้าและได้พบความรู้ใหม่ ๆ หรือสิ่งใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ต่อชีวิต ไม่ควรจะมองเพื่องผู้ร่วมงาน หรือปัญหาในแง่ลบ  3) การมีมนุษยสัมพันธ์ น้ำใจไมตรี เป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว เราต้องพึ่งพาอาศัยกันจึงจะประสบความสำเร็จในการทำงาน และ 4 การตั้งเป้าหมาย ในการทำงานให้ชัดเจนและไปให้ถึง


มองการแพทย์ไทยในอนาคตเป็นอย่างไร

ประเทศไทยในอนาคตน่าจะคล้ายกับต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยจะเป็นสังคมสูงอายุ ที่ประชากรของประเทศที่มีอายุเกิน 60 ปี จะอยู่ในสัดส่วนที่สูง ขณะที่เด็กเกิดใหม่น้อยลง ซึ่งการดูแลเด็กที่เกิดมาก็จะเน้นคุณภาพมากขึ้น มีการดูแลเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เป็นการดูแลรักษาแบบองค์รวมให้เด็กมีความพร้อมในการใช้ชีวิตในโลกที่มีการแข่งขันสูง ต้นทุนในการเลี้ยงดูก็จะสูงขึ้น ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลมีอายุเฉลี่ยมากขึ้น แพทย์ก็จะเจอเคสผู้ป่วยสูงอายุในหลากหลายโรค และสังคมก็จะเจอกับปัญหาการดูแลผู้ป่วยสูงอายุทั้งขณะอยู่ที่บ้าน ขณะเข้าและภายหลังรับการรักษา การฟื้นฟู สวัสดิการรองรับต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาล ทีมบริหาร ทุกภาคส่วนและแพทย์เองก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ขณะที่การฟ้องร้องก็จะสูงขึ้น เนื่องจากทัศนคติจะเปลี่ยนไปในแนวทางของการเป็นผู้ให้และผู้รับบริการ เป็นแนวแพทย์การตลาดมากกว่า มีความเป็นกันเองระหว่างแพทย์และผู้ป่วยลดลง


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคต ในฐานะที่เป็นแพทย์ เราต้อง 1) มีความรักในงานดูแลรักษาคนไข้เป็นพื้นฐาน เมื่อมีความรักในงานที่ทำ สร้างเป้าหมายในการทำงานให้ชัดเจน ก็จะมีความมุ่งมั่นตั้งใจในงานที่เราทำ 2) ปรับวิธีการทำงานหรือการดูแลรักษาคนไข้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างเช่น ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีดิจิตอล มีการใช้การแพทย์ทางไกลเข้ามาใช้ หรืออาจมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาในอนาคต แพทย์ก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับ 3) พัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง วิธีการรักษามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้ทุก ๆ 3 – 4 ปี ทำให้แพทย์ทุกสาขาจำเป็นต้องติดตามอัพเดทความรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกในหลายช่องทาง ซึ่งเข้าถึงง่ายกว่าสมัยก่อน 4) ให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับคนไข้และญาติคนไข้ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาและการสร้างความสัมพันธ์อันดีอันเป็นการป้องกันข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต 5) อ่อนน้อม ถ่อมตน ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติงาน ร่วมกับผู้อื่น 6) มี Work life balance หรือสมดุลในการทำงานที่ดี ควรแบ่งเวลาในการทำงาน พักผ่อน ออกกำลังกาย ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ดูแลครอบครัว อย่างเหมาะสม ให้เวลากับตัวเองและครอบครัวอย่างเพียงพอ สุดท้ายสำหรับแพทย์สาขาทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤติว่า อาจมีงานที่หนัก กดดันหรือเครียดกว่าสาขาอื่น ๆ ซึ่งคิดว่าจะเป็นจุดท้าทายในการทำงานมากกว่าแพทย์ในสาขาอื่น ๆ แต่แพทย์สาขานี้ก็มีจุดแข็ง เช่น เป็นแพทย์ที่ต้อง เสียสละเวลาดูแลคนไข้หนัก ต้องมีความรอบรู้แม่นยำในการทำงาน สำหรับดูแลผู้ป่วย ซึ่งก็มีโอกาส มีความสามารถที่จะช่วยชีวิตคนไข้ได้มากได้โดยตรง ตรงกับปณิธานของการเป็นแพทย์เช่นกัน

 

 

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก