.
นพ. คมสิงห์ เมธาวีกุล
อายุรแพทย์โรคหัวใจ สถาบันโรคทรวงอก
หลังจากผ่านงานประชุม American Heart Association (AHA) Scientific Sessions 2023 ซึ่งจัดขึ้นที่ Philadelphia, Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น มีงานวิจัยใหม่ ๆ ที่น่าสนใจมานำเสนอในงานประชุมหลายการศึกษา ซึ่งอาจนำมาสู่การปรับเปลี่ยนแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจได้ ดังต่อไปนี้
- การป้องกันการเกิด ischemic stroke ในผู้ป่วยที่เป็น subclinical atrial fibrillation (SCAF) โดยมีการศึกษา ARTESIA ซึ่งเป็นการศึกษาที่เป็น prospective, double-blind, randomized controlled trial ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา การศึกษานี้เปรียบเทียบการให้ apixaban 5 มิลลิกรัม (มก.) วันละ 2 ครั้ง (ลดขนาดยาลงเหลือ 2.5 มก. วันละ 2 ครั้งตามข้อบ่งชี้ของยา) กับการให้ aspirin 81 มก.ต่อวันในผู้ป่วยที่มี SCAF นาน 6 นาทีถึง 24 ชั่วโมงจากการตรวจพบใน pacemaker, implantable cardioverter-defibrillator (ICD) หรือ cardiac monitoring และมี CHA2DS2-VASc score ≥ 3 เพื่อดูว่า apixaban สามารถลดการเกิด stroke หรือ systemic embolism ได้หรือไม่ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า apixaban สามารถลดการเกิด stroke หรือ systemic embolism ลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ aspirin อย่างไรก็ตาม การให้ apixaban เพิ่มการเกิด major bleeding โดยเฉพาะ gastrointestinal bleeding อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติด้วยเช่นกัน การศึกษานี้ถือว่าเป็นการศึกษาแรกที่แสดงให้เห็นว่าการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (oral anticoagulants) สามารถลดการเกิด stroke หรือ systemic embolism ในผู้ป่วย SCAF ได้ อย่างไรก็ตาม American College of Cardiology (ACC) ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติเกี่ยวกับ AF มาในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่ได้มีคำแนะนำการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (oral anticoagulants) ตาม ARTESIA เนื่องจากผู้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติของ ACC ได้สืบค้นข้อมูลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เท่านั้น คงต้องติดตามดูต่อไปว่าทาง ACC จะมีการออก focused update เพิ่มเติมอีกหรือไม่ และคงต้องติดตามดูว่าทาง European Society of Cardiology (ESC) ที่วางแผนจะออกแนวทางเวชปฏิบัติเกี่ยวกับ AF มาในปีหน้าจะมีการเพิ่มคำแนะนำในการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (oral anticoagulants) ในผู้ป่วยกลุ่มนี้หรือไม่
- การให้ยากลุ่ม sodium-glucose cotransporter 2 inhibitors (SGLT2i) ในผู้ป่วย acute myocardial infarction (AMI) โดยมีการศึกษา DAPA-MI ซึ่งเป็นการศึกษาที่เป็น registry-based, randomized, double-blind, placebo-controlled trial ที่ได้รับการเผยแพร่ออนไลน์ทาง NEJM Evidence เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา การศึกษานี้เปรียบเทียบการให้ dapagliflozin 10 มก.ต่อวัน กับการให้ placebo ในผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลด้วย AMI ร่วมกับมี imaging evidence of regional or global left ventricular systolic impairment หรือมี definite evidence of Q-wave MI จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานหรือ Heart failure with reduced ejection fraction (HFrEF) มาก่อน การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า dapagliflozin สามารถทำให้ cardiometabolic outcome [death, HF hospitalization, nonfatal MI, AF/atrial flutter event, new diagnosis of type 2 diabetes, New York Heart Association (NYHA) Functional Classification และน้ำหนักตัวลดลง ≥ 5% เมื่อเทียบกับตอนเริ่มการศึกษา] ดีขึ้นมากกว่า placebo ในแง่ของ win ratio อย่างไรก็ตาม dapagliflozin ไม่สามารถลด cardiovascular death หรือ HF hospitalization ลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับ placebo คงต้องรอดูการศึกษา EMPACT-MI ที่ศึกษาการใช้ empagliflozin ในผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลด้วย AMI ร่วมกับมี new onset HF หรือมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด HF ว่า empagliflozin จะสามารถลด HF hospitalization หรือ all-cause mortality ได้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าการศึกษานี้น่าจะได้รับนำเสนอในงานประชุม ACC 2024 และได้รับการตีพิมพ์ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 ต่อไป
งานประชุมสาขาหัวใจและหลอดเลือดที่น่าสนใจ ปี 2567
.
• The 14th Siriraj Cardiovascular Conference (SiCC 2024) | วันที่ 12 – 14 มกราคม พ.ศ. 2567
• Cardio Cocktail | วันที่ 9 – 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
• การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (56th Annual Scientific Meeting the Heart Association of Thailand under the Royal Patronage of H.M. the King) วันที่ 22 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2567
• การประชุม ACC 2024 ที่ Atlanta ประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 6 – 8 เมษายน พ.ศ. 2567
• การประชุมประจำปีครั้งที่ 40 ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย (40th Annual Meeting of The Royal College of Physicians of Thailand) ที่ Centara Grand @ Central World กรุงเทพมหานคร วันที่ 24 – 27 เมษายน พ.ศ. 2567