.
รศ. นพ. รุจิภาส สิริจตุภัทร
สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ข้อมูลด้านโรคติดเชื้อที่น่าสนใจ ได้แก่
COVID-19
คำแนะนำใหม่ของ US CDC เกี่ยวกับการแยกตัว (isolation) ของผู้ป่วยโควิด 19
คำแนะนำก่อนหน้านี้ แนะนำให้ผู้ป่วยแยกตัวอย่างน้อย 5 วัน ร่วมกับการเฝ้าระวัง (precaution) ต่อหลังแยกตัว ซึ่งคำแนะนำดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นในช่วงที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ประชากรในขณะนั้นมีระดับภูมิคุ้มกันน้อยกว่าในปัจจุบัน มีเครื่องมือในการรับมือโควิด 19 น้อยกว่า และมีผู้ป่วยอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล รวมทั้งมีผู้เสียชีวิต สูงกว่าในปัจจุบัน
คำแนะนำใหม่ ในเดือน มี.ค. 2567 แนะนำให้ผู้ป่วยอยู่บ้านแยกตัวออกจากผู้อื่น จนกว่าอาการจะดีขึ้นอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และไม่มีไข้ (โดยไม่ได้รับประทานยาลดไข้) ดังนั้นระยะเวลาการแยกตัวอาจสั้นกว่า ยาวกว่า หรือเท่ากับคำแนะนำเดิมสำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่อาการปรากฏ
- ประชาชนทุกคนในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19
- วัคซีนที่แนะนำ ได้แก่ วัคซีน mRNA สูตรปรับปรุงล่าสุด (ปี 2023 – 2024) (Moderna หรือ Pfizer-BioNTech) และ วัคซีน Novavax สูตรปรับปรุงล่าสุด (ปี 2023 – 2024) (สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปเท่านั้น)
- จำนวนโดสของวัคซีนขึ้นอยู่กับอายุและประวัติการรับวัคซีนโควิด 19 ครั้งก่อน (ตารางในเว็บไซต์ของ CDC จะมีรายละเอียดแนะนำวัคซีนตามช่วงวัยและประวัติการรับวัคซีนโควิด 19)
- อายุ 5 ปีขึ้นไป: โดยปกติจะต้องได้รับวัคซีนสูตรปรับปรุงล่าสุดเพียง 1 เข็ม
- อายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี: อาจจะต้องได้รับวัคซีน 2 หรือ 3 เข็ม ขึ้นอยู่กับประวัติการรับวัคซีน
- ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป: แนะนำให้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมอย่างน้อย 4 เดือนหลังจากเข็มล่าสุด
- ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน จะต้องได้รับวัคซีนมากกว่าผู้ที่เคยได้รับวัคซีนแล้ว
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ปานกลางหรือรุนแรง: อาจจะต้องได้รับวัคซีนเพิ่มเติมหลังจากได้รับวัคซีนชุดแรก
HIV
การนำยาฉีด long-acting cabotegravir (CAB) และ rilpivirine (RPV) มาใช้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมี HIV viremia
การใช้ยาฉีดชนิดออกฤทธิ์ยาวนาน CAB-RPV สำหรับรักษาเอชไอวีในผู้ป่วยที่มีภาวะ HIV viremia (มีเชื้อ HIV ในเลือดสูง) เป็นเรื่องใหม่ เนื่องจาก ยา CAB-RPV ได้รับอนุมัติให้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่สามารถควบคุมเชื้อเอชไอวีด้วยยารับประทานได้สำเร็จแล้ว (HIV suppression) เท่านั้น ทั้งนี้จากการศึกษาแบบสังเกตที่ผู้ป่วยได้รับบริการดูแลอย่างใกล้ชิด พบว่า 57 – 100% ของผู้ป่วยที่มี HIV viremia สามารถควบคุมเชื้อ HIV ด้วยยา CAB-RPV ได้สำเร็จ แต่การศึกษาเหล่านี้มีขนาดเล็กและติดตามผู้ป่วยในระยะเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม ในเดือน มี.ค. 2567 คณะกรรมการของ IAS-USA ได้ปรับปรุงแนวทางการรักษาเอชไอวี ดังนี้
ยาฉีด CAB-RPV สามารถพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะ HIV viremia ที่ตรงตามเกณฑ์ต่อไปนี้ เมื่อได้รับการสนับสนุนด้วยบริการติดตามผลการรักษาและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด กรณีที่ไม่มีทางเลือกการรักษาอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาต้านไวรัสแบบรับประทานได้อย่างต่อเนื่อง (ระดับการแนะนำ AIIa ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด)
- ไม่สามารถรับประทานยาต้านไวรัสแบบรับประทานได้อย่างต่อเนื่อง แม้ทางแพทย์ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว
- มีความเสี่ยงสูงต่อ HIV disease progression (จำนวนเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำกว่า 200/mm3 หรือเคยมี AIDS-defining complications)
- เชื้อเอชไอวียังไวต่อยา CAB และ RPV
กรณีที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาภาวะการใช้สารเสพติดหรือโรคทางจิตเวชร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยทางคลินิกแบบสุ่มตัวอย่างเพื่อสนับสนุนคำแนะนำนี้ และข้อมูลที่มีอยู่ยังจำกัด จึงต้องติดตามต่อไปในระยะยาว
การรักษาเอชไอวีด้วยยารับประทานสัปดาห์ละครั้ง
ยาต้านเชื้อ HIV ชนิดใหม่ 2 ชนิด ได้แก่ islatravir (ISL) ยาต้านไวรัสชนิด nucleoside reverse transcriptase translocation inhibitor และอีกชนิดคือ lenacapavir (LEN) ยาต้านไวรัสชนิด capsid inhibitor ยาเหล่านี้มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1 ได้ดี และออกฤทธิ์ได้นาน จึงอาจนำมาพัฒนาเป็นยาสูตรรับประทานสัปดาห์ละครั้ง
จากการศึกษาระยะที่ 2 แบบสุ่มตัวอย่าง (n = 104) เปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา ISL+LEN รับประทานสัปดาห์ละครั้ง (n = 52) กับ bictegravir/emtricitabine/tenofovir alafenamide (BIC/FTC/TAF) รับประทานวันละครั้ง (n = 52) ในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวีและสามารถควบคุมเชื้อไว้ได้แล้ว (HIV suppression) พบว่า
- ที่สัปดาห์ที่ 24 ผู้เข้าร่วมวิจัย 49 ราย (94.2%) ในกลุ่ม ISL+LEN และ 48 ราย (92.3%) ในกลุ่ม BIC/FTC/TAF ยังคงสามารถควบคุมเชื้อ HIV ไว้ได้ ส่วนอีก 2 ราย (3.8%) ในกลุ่ม ISL+LEN และ 4 ราย (7.7%) ในกลุ่ม BIC/FTC/TAF ขาดข้อมูลผลเลือดที่สัปดาห์ที่ 24 เนื่องจากหยุดยาหรือขาดนัดหมายติดตามผล
- ไม่มีข้อแตกต่างระหว่างกลุ่มยาในแง่ของการเปลี่ยนแปลงจำนวน CD4+ T cells หรือ absolute lymphocyte count ที่สัปดาห์ที่ 24
- ผู้เข้าร่วมวิจัย 39 ราย (75.0%) ในกลุ่ม ISL+LEN และ 38 ราย (73.1%) ในกลุ่ม BIC/FTC/TAF มีอาการข้างเคียง อาการข้างเคียงที่พบบ่อยในกลุ่ม ISL+LEN ได้แก่ ท้องเสีย (7 ราย; 5%) ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (6 ราย; 11.5%) และ ปวดข้อ ปวดแขนขา อ่อนเพลีย (แต่ละอาการ 3 ราย; 5.8%) ไม่มีรายงานอาการข้างเคียงรุนแรง (ระดับ 3 หรือ 4) ที่เกี่ยวข้องกับยา ผู้เข้าร่วมวิจัย 2 ราย ในกลุ่ม ISL+LEN หยุดยาเนื่องจากอาการข้างเคียงที่ไม่เกี่ยวข้องกับยา
โดยสรุป การใช้ ISL + LEN รับประทานสัปดาห์ละครั้ง มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยดี ผลการศึกษานี้เป็นแนวโน้มที่น่าสนใจสำหรับทางเลือกการรับประทานยาต้านไวรัสแบบลดจำนวนครั้งต่อสัปดาห์ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี
งานประชุมสาขาโรคติดเชื้อที่น่าสนใจ ปี 2567
• International Symposium on Antimicrobial Agents and Resistance & Annual Conference of the Korean Society for Antimicrobial Therapy (ISAAR & KSAT) | 8 – 10 April 2024, Seoul, South Korea
• European Congress of Clinical Microbiology and Infectious Diseases (ECCMID) | 27 – 30 April 2024, Barcelona, Spain
• Siriraj Infectious Disease Conference 2024 (SiID 2024) | 25 – 26 May 2024, Bangkok, Thailand
• ASM Microbe 2024 | 13 – 17 June 2024, Atlanta, USA
• International AIDS Conference (AIDS) | 22 – 26 July 2024, Munich, Germany
• IDWeek 2024 | 16 – 19 October 2024, Los Angeles, CA, USA
• International Congress of Antimicrobial Chemotherapy (ICC) | 3 – 6 November 2024, Istanbul, Türkiye
• International Congress on Infectious Diseases (ICID) | 3 – 6 December 2024, Cape Town, South Africa