การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ส่งผลกระทบไปยังหลาย ๆ ธุรกิจ รวมถึงธุรกิจการดูแลสุขภาพด้วย โรงพยาบาลถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในธุรกิจสุขภาพ โดยทั้งภาครัฐบาลและเอกชนจะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี และการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ทีมกองบรรณาธิการได้สรุปสาระสำคัญมานำเสนอเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการปรับตัวของแพทย์ทุกท่าน
ในอนาคตอันใกล้โรงพยาบาลมีความท้าทายในการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนปลงทางเทคโนโลยี การต้องรักษาผู้ป่วยในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 การปรับเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงของประเทศไทยเอง และพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้โรงพยาบาลและหน่วยงานที่ให้บริการด้านสุขภาพจำเป็นต้องปรับตัว โดยมีแนวโน้มของการปรับตัวดังนี้
- การปรับปรุงห่วงโซ่อุปาทาน (Supply chain) ของธุรกิจโรงพยาบาลใหม่ จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เห็นปัญหาของการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีอยู่เดิม และจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งความยืดหยุ่น ความรวดเร็ว ความสามารถในการบริหารสินค้าคงคลัง การติดต่อสื่อสารจากระยะไกล เป็นต้น โดยแต่ละโรงพยาบาลต้องวิเคราะห์และเลือกแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตัวอย่างได้แก่ การกระจายหรือจัดส่งด้วยตนเอง การร่วมมือกับเครือข่ายร้านยาหรือร้านสาขาขนาดใหญ่ การร่วมมือกับผู้จัดส่งนอกธุรกิจสุขภาพ รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence, AI) มาปรับใช้เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน รวมถึงการวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการของผู้ใช้ในอนาคตด้วย
.
- การร่วมมือกับพันธมิตรในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้โรงพยาบาลตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ หรือผู้ป่วยได้ดีขึ้น โดยสามารถเป็นพันธมิตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย การรักษา และการดูแลหลังการรักษา โดยพันธมิตรนั้นอาจมาจากคู่ค้า คู่แข่ง หรือเพื่อนร่วมธุรกิจโรงพยาบาลด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ในต่างประเทศ CVS online drug store และ Walmart ร่วมเป็นพันธมิตรในการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิด้วยต้นทุนที่ต่ำ ทำให้การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของชุมชนโดยรวมดียิ่งขึ้น
.
- การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ หรือผู้ป่วยรายย่อย ๆ (Health consumers) ปัจจุบันผู้รับ หรือผู้ซื้อบริการทางด้านสุขภาพมีประสบการณ์ที่ดีจากหลายๆการบริการ โดยเฉพาะบริการที่เป็นออนไลน์ซึ่งให้ความรวดเร็ว แม่นยำ ไม่ต้องรอนาน โปร่งใส่ตรวจสอบได้ ทำให้ผู้รับบริการเหล่านั้นมีความต้องการการบริการด้านสุขภาพจากโรงพยาบาลในระดับเดียวกัน ดังนั้น โรงพยาบาลจึงมีความจำเป็นต้องวิเคราะห์ และปรับใช้เทคโนโลยีโดยมีผู้รับบริการ หรือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และกำหนดมาตรฐานการบริการให้อยู่ในระดับเดียวกัน หรือสูงกว่า
.
- การตอบสนองความต้องการตามลำดับความสำคัญ ที่ผู้เข้ารับบริการ หรือผู้ป่วยต้องการ แน่นอนว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทำให้โรงพยาบาลมีแนวโน้มในการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว มีความแม่นยำมากขึ้น ขณะที่งานสำรวจยืนยันตรงกันว่า การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีในการดูแลผู้ป่วยเป็นมาตรฐานสำคัญที่ทำให้มีการใช้บริการของโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยต้องการให้แพทย์ใช้เวลาในการฟัง แสดงความห่วงใย และสื่อสารอย่างชัดเจน ดังนั้น ยิ่งเทคโนโลยีมีความรวดเร็ว เฉพาะเจาะจงมาก ยิ่งต้องการแพทย์ พยาบาลที่มีความสามารถในการสื่อสารเพื่อให้ผู้รับบริการ เข้าใจถึงเหตุผล ข้อจำกัด ข้อปฏิบัติ และที่สำคัญการดูแลเอาใจใส่ของโรงพยาบาลเพื่อชดเชยข้อจำกัดของเทคโนโลยี
.
- การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของแรงงานที่หลากหลาย จากการเคลื่อนไหวเดินทางของประชาชนและสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ทำให้โรงพยาบาลมีโอกาสพบผู้ป่วยที่มีความหลากหลาย ในเวลาตลอด 24 ชม. โรงพยาบาลในอนาคตจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มความยืดหยุ่นของบุคลาการเพื่อให้บริการได้หลายชาติ โดยควรลงทุนในเครื่องมือ โปรแกรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ลงทุนในบุคลากรที่สามารถดูแลและให้บริการผู้ป่วยได้หลายภาษา รวมถึงการมีสวัสดิการและการป้องกัน ที่สร้างความมั่นใจได้เพียงพอในการให้บริการ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของเชื้ออุบัติใหม่
.
- การเพิ่มการดูแลผู้ป่วยแบบเสมือนจริง (Virtual care) จากการระบาดของเชื้อโควิด 19 ในระบบ Medicare พบจำนวนผู้เข้ารับการตรวจ primary care แบบเสมือนจริง เพิ่มขึ้นจากต่ำกว่าร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 43 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2563 ทำให้องค์กรด้านสุขภาพรวมถึงโรงพยาบาลต่างๆ หันมาใส่ใจกับการบริการ โดยมีการเพิ่มการดูแลผู้ป่วยแบบเสมือนจริง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น
.
- การปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) โดยเทคโนโลยีของ AI สามารถทำให้การเข้าถึงการตรวจวินิจฉัย การพยากรณ์โรค การรักษา การดูแลภายหลังการรักษา การลดความซ้ำซ้อนในแต่ละขั้นตอน รวมถึงการป้องกันโรคทำได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้โรงพยาบาลมีทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ รวมถึงการปรับลดต้นทุนด้วย
.
- การลงทุน และการปรับใช้ข้อมูลมีเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจะเปรียบเสมือนเงินในอนาคต ทำให้มีแนวโน้มว่าธุรกิจโรงพยาบาลจะมีการลงทุนด้านข้อมูลมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อยกระดับ และสร้างรายได้จากการใช้ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ เช่น ปรับปรุงการรักษาผู้ป่วย สร้างพันธมิตรใหม่ ๆ เป็นต้น
.
- การควบรวมกิจการ (Consolidations) ของโรงพยาบาลมีเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลหลายแห่งประสบปัญหาขาดทุน ทั้งจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด 19 การแข่งขันในการให้บริการที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ภาระด้านกฎระเบียบ ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเงินที่สูง โดยโรงพยาบาล หรือหน่วยให้บริการสุขภาพขนาดเล็กไม่สามารถอยู่ได้ลำพัง ทำให้มีแนวโน้มในการควบรวมกับโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่กว่า
.
- การเป็นพันธมิตรกับผู้ชำระเงิน และผู้รับบริการเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด 19 ทำให้โรงพยาบาลมีแนวโน้มร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ชำระเงิน และผู้รับบริการมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านการเงิน โดยอาจปรับให้บริการในแบบผู้ป่วยนอก รวมถึงแบบเสมือนจริงหรือ Virtual care เพิ่มขึ้น และมีการกำหนดรูปแบบการชำระเงินที่สอดคล้องยิ่งขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.hhmglobal.com
ภาพประกอบจาก healthcareglobal.com