การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ ของโลกโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมด้านสุขภาพ โดยภาพกว้าง ๆ จะเป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริการ การรักษาพยาบาล และการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการป้องกัน และควบคุมโรคระบาด เช่น โรค COVID-19 ด้วย
ตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาใช้ ได้แก่ การให้คำปรึกษาออนไลน์ (E-consultations) การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การวินิจฉัยแบบเรียลไทม์ (Real-time diagnosis) การรักษาแบบดิจิตอล (Digital therapeutics) การวิเคราะห์ทางพันธุกรรม การรวบรวมข้อมูลทางคลินิก และการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data management) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) และระบบอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things, IoT) เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพที่สำคัญ มีดังนี้
- การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ให้บริการทางการแพทย์ ตัวคนไข้ ผู้พัฒนายาและเครื่องมือแพทย์ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยเทคโนโลยีของ AI สามารถทำให้การเข้าถึงการตรวจวินิจฉัย การพยากรณ์โรค การรักษา การดูแลภายหลังการรักษา รวมถึงการป้องกันโรคทำได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างได้แก่ การใช้ AI ช่วยจัดคิวให้แพทย์พบผู้ป่วยตามความเร่งด่วน การใช้ AI ช่วยวินิจฉัยมะเร็งผิวหนัง และจอประสาทตาจากภาพถ่าย การใช้ AI คัดกรองวัณโรคปอดจากภาพเอกซเรย์ หรือที่สหรัฐอเมริกา มีแพลตฟอร์ม AI ช่วยในการดูแลผู้ป่วย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย หรือที่ลิทัวเนียมี AI สำหรับวินิจฉัยความเสี่ยงโรคหัวใจ Cardio Echo สามารถลดขั้นตอนการตรวจหัวใจจาก 30 นาทีเป็น 5 นาที และเพิ่มความแม่นยำโดยรวมด้วย
.
- การใช้ระบบอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Medical Things, IoMT) เป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์การแพทย์เข้ากับเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มการใช้งานให้หลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การฝังชิปในตัวผู้ป่วยให้สามารถติดต่อกับแพทย์ได้โดยอัตโนมัติหากมีความเจ็บป่วย การเชื่อมต่ออุปกรณ์ทางแพทย์ตั้งแต่ 2 อุปกรณ์ขึ้นไป เพื่อการวินิจฉัย และการจัดการผู้ป่วยจากระยะทางที่ไกลกว่าปกติ เป็นต้น
.
- การแพทย์ระยะไกล (Telemedicine) เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทำให้บุคลากรการแพทย์สามารถให้บริการผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องเจอตัวกันจริงๆ เทคนิคนี้ถูกใช้มากขึ้นในช่วงระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งช่วยลดภาระในหลายด้าน ทั้งการลดภาระด้านอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโควิด 19 การลดภาระด้านการใช้ห้อง ภาระการใช้เตียง ภาระด้านความเสี่ยงในการติดเชื้อ
.
- การวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data & Analytics) เทคโนโลยีนี้จะทำให้ตลาดดูแลสุขภาพได้รับข้อมูลที่เจาะลึกภายในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถนำมาปรับปรุงบริการทางด้านสุขภาพ ทั้งการตรวจวินิจฉัย การรักษา ให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาบริการทางสุขภาพใหม่ ๆ ให้ตรงกับความต้องการได้
.
- การใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Immersive Technology, IMT) เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ทางด้านสุขภาพมากขึ้น ทั้งด้านการรักษา และการบำบัดฟื้นฟู ตัวอย่างเช่น การใช้ในการรักษาโรควิตกกังวล การใช้ฟื้นฟูสมรรถภาพการรับรู้ การฉายภาพช่วยในการผ่าตัด การใช้เสมือนผู้ดูแลผู้ป่วย ช่วยจัดการความเครียด ลดความวิตกกังวลในบางโรค
.
ภาพจาก Braintomourresearch.org
.
- การใช้เทคโนโลยีสุขภาพเคลื่อนที่ (Mobile Health, mHealth) เป็นการใช้เทคโนโลยีระบบติดตามดูแลสุขภาพผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน (Smart Phone) สมาร์ทวอทช์ (Smart Watch) และอื่น ๆ โดยจะช่วยบันทึกข้อมูลสุขภาพ เช่น ชีพจร ความดัน การนอนหลับ ข้อมูลสำคัญ ๆ ในขณะเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย โดยสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การส่งให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย เป็นต้น
.
- การพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) สามารถช่วยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ได้หลากหลาย เช่น การพิมพ์ขาเทียมขึ้นรูปด้วยวัสดุน้ำหนักเบา การหล่อเพื่อซ่อมแซมส่วนของร่างกายที่แตกหัก การพัฒนาแบบจำลองอวัยวะและเครื่องมือผ่าตัดเฉพาะผู้ป่วย เพื่อทำให้การผ่าตัดดีขึ้น เร็วขึ้น และบาดแผลเล็กลง เป็นต้น
.
- การใช้บล็อกเชน (Blockchain) ด้วยจุดเด่นในการจัดการข้อมูลที่มีความถูกต้อง ความโปร่งใส มีความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว บล็อกเชนจึงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ เช่น การจัดเก็บ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ การส่งต่อข้อมูลทางคลินิก การเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติเพื่องานวิจัย การสร้างระบบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ การสร้างระบบ การจัดการ supply chain ของยา การแก้ปัญหาการปลอมแปลงข้อมูล ช่วยให้การจัดเก็บยาสามารถทำได้จากระยะไกล
.
- การใช้คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud computing) โดยเทคโนโลยีที่สามารถใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ เอาชนะข้อจำกัดในด้านการจัดการข้อมูลปริมาณมาก ทำให้สามารถให้บริการทางการแพทย์แบบดิจิตอล ทั้งการบริการทางการแพทย์แบบทั่วไป และบริการทางการแพทย์แบบระยะไกล ทั้งการวินิจฉัย การให้การรักษา การประเมินการรักษา การดูแลหลังและระหว่างการรักษา ช่วยให้ในแต่ละขั้นตอนทำได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
.
- การใช้เทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์ (Genomics) เป็นนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่น ๆ มาใช้ในการวินิจฉัย รักษา และทำนายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยำ เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ที่อิตาลีมีการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับคาดการณ์ความเสี่ยงต่อโรค ระบุบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งและหัวใจจากพันธุกรรม และที่สหรัฐอเมริกา มีการพัฒนาการทดสอบพันธุกรรมหาความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ทางน้ำลาย อาทิ ความผิดปกติของหัวใจ มะเร็ง ภาวะมีบุตรยาก อาการไม่พึงประสงค์จากยา โรคระบบประสาท การสูญเสียการมองเห็น เป็นต้น
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูลจาก
1. www.startus-insights.com
2. www.aiforall.or.th
3. www.nbtc.go.th
ภาพประกอบจาก www.freepik.com